[ตอนที่ 2] เทคโนโลยีการซูมมุมกว้างล่าสุดที่ Canon ภูมิใจในเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM และ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM
ในปี 2014 Canon ทุ่มเทอย่างมากกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้ ความพยายามครั้งนี้รวมไปถึงการเปิดตัวเลนส์มุมกว้างสองรุ่นต่อเนื่องกัน คือ EF16-35mm f/4L IS USM และ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM ในบทความนี้ ผมจะมุ่งเน้นที่สาระสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีในเลนส์ตัวใหม่ล่าสุดทั้งสองรุ่นนี้ ซึ่งมีทางยาวโฟกัสและค่ารูรับแสงกว้างสุดแตกต่างจากเลนส์รุ่นอื่นๆ (เรื่องโดย: Junichi Date)
หน้า: 1 2
ภาพถ่าย (จากซ้ายไปขวา)
Shota Shimada: ICP กลุ่มที่ 1, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, CANON INC./ Kunihiko Sasaki: ศูนย์พัฒนา ICP 1, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, CANON INC./ Shunji Iwamoto: ศูนย์พัฒนา ICP 1, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, CANON INC./ Makoto Nakahara: ศูนย์พัฒนา ICP 1, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, CANON INC./ Masayasu Mizushima: ศูนย์พัฒนากล้อง/ Masami Sugimori, ศูนย์พัฒนา ICP 1, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, CANON INC.
EF-S10-18mm สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมหล่อพลาสติก
― เอาล่ะ ต่อไป ผมอยากจะรู้จักเลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM ให้มากขึ้น ราคาของเลนส์รุ่นนี้นับว่าเป็นราคาที่คุ้มค่าน่าซื้อใช้มาก ความตั้งใจของการออกเลนส์รุ่นนี้คืออะไรครับ?
Shimada เราวางแผนมาตลอดที่จะให้ผู้ใช้มีเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์สำรองไว้เป็นเลนส์คิทอีกหนึ่งตัวหลังจากซื้อเลนส์ซูมมาตรฐานหรือชุดเลนส์ซูมคู่แล้ว จากการสำรวจที่เราจัดทำขึ้นพบว่า ลูกค้าประมาณ 40-50% ที่ซื้อเลนส์คิทดังกล่าวแล้วสุดท้ายมักจะใช้เลนส์เพียงแค่เลนส์เดียว แม้ว่าพวกเขาจะใช้กล้อง DSLR แต่ก็สูญเปล่าถ้าไม่สามารถสนุกกับการใช้เลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้ให้หลากหลาย ดังนั้น เลนส์นี้จึงทำขึ้นเพื่อขยายขอบเขตการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายให้กับผู้ใช้ของเรา ในการสำรวจนี้ เรายังพบอีกว่าผู้ใช้ไม่ได้ใช้อะไรมากไปกว่าชุดเลนส์ที่มีอยู่ เพราะหลายคนมองไม่ค่อยเห็นความแตกต่างของภาพที่ได้จากเลนส์คิทและเลนส์อื่นๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือเลนส์ถอดเปลี่ยนได้มีราคาแพง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจทำเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 16 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. ในราคาที่ย่อมเยากว่าเมื่อเทียบกับเลนส์ทั่วๆ ไป ขณะเดียวกัน ขนาดที่ค่อนข้างเล็กและน้ำหนักเบาทำให้มีสมดุลเหมาะพอดีเมื่อใช้งานกับกล้อง DSLR รุ่นเริ่มต้นใช้งาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้ผู้ใช้ได้เพลิดเพลินกับสไตล์การถ่ายภาพใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเลนส์คิทอย่างชัดเจน
― อย่างนี้จะซ้ำกับกับเลนส์ EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM ที่มีอยู่หรือเปล่าครับ?
Shimada เลนส์ EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM มีทางยาวโฟกัส 22 มม. ที่ฝั่งเทเลโฟโต้ ซึ่งค่อนข้างจะซ้อนกับเลนส์ซูมมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีวงแหวนสเกลโฟกัสและรูปลักษณ์ที่สวยสง่า แม้จะไม่มีคุณสมบัติ IS ในตัว แต่ด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่ f/3.5-4.5 จึงสว่างกว่าถึงประมาณ 1/3 ถึง 2/3 สต็อป ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์มากขึ้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ครับ
― เลนส์ไหนให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดีกว่ากันครับ?
Nakahara อย่างที่คุณเห็นจากลักษณะเส้นกราฟ MTF เลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM นั้นให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแม้ว่าจะมีราคาประหยัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีค่ารูรับแสงกว้างสุดที่น้อยลงนั่นเอง ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมวางอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของระบบออพติคอล เพื่อลดความโค้ง ความบิดเบี้ยว และความคลาดทรงกลม ในขณะเดียวกัน ชิ้นเลนส์ UD ยังใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผลในการออกแบบเพื่อลดความคลาดสีอีกด้วย
― ข้อกังวลอย่างหนึ่งของผม คือเมาท์เลนส์พลาสติก จะมีความทนทานเพียงพอหรือครับ?
Mizushima เราถูกถามด้วยคำถามนี้บ่อยมากครับ เลนส์นี้ใช้วัสดุ (พลาสติกสำหรับงานวิศวกรรมที่มีความสามารถในการใช้งานสูง) ซึ่งมีความทนทานดีเยี่ยมในแง่ของการทนต่อแรงกระแทกและการสึกหรอ ผ่านการทดสอบต่างๆ ที่เราจัดทำขึ้นภายใน และพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยต่อการใช้งาน
― ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมยังมีการใช้เมาท์เลนส์โลหะกับเลนส์รุ่นอื่นๆ อีกล่ะครับ?
Mizushima ความแข็งแรงที่จำเป็นของเมาท์แตกต่างกันไปตามขนาดและน้ำหนักที่เลนส์ต้องการในการช่วยให้ใช้งานสะดวก สำหรับเลนส์น้ำหนักมาก เช่น เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ เมาท์โลหะอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในแง่ของความแข็งแรงทนทาน แต่เลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM มีน้ำหนักเบามาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงตัดสินใจว่า เมาท์พลาสติกสามารถให้ความแข็งแรงได้มากเพียงพอ
ขนาดและน้ำหนักของเลนส์ EF-S มุมกว้างทั้งสองรุ่น
ด้วยการออกแบบที่ประกอบด้วยมุมรับภาพที่แคบลง ค่ารูรับแสงกว้างสุดในระยะเทเลโฟโต้ที่ต่ำลง และการใช้ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมหล่อพลาสติกและเมาท์พลาสติก ทำให้เลนส์รุ่นนี้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และราคาไม่แพง เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ตัวนี้มีราคาไม่สูง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายแม้จะเป็นผู้ใช้ที่ไม่ได้ถ่ายภาพบ่อยนัก
― ประเด็นสำคัญด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ได้การออกแบบออพติคอลสำหรับเลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM คืออะไรครับ?
Nakahara คุณลักษณะพิเศษของเลนส์นี้คือ การใช้เลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่เป็นชิ้นเลนส์ที่สองจากชิ้นหน้าสุด ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบาและราคาประหยัด ทั้งยังให้คุณภาพภาพถ่ายที่ดียิ่งขึ้นอย่างชัดเจน เราเคยใช้ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมหล่อพลาสติกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก แต่สำหรับเลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM นั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่มาก เพื่อให้การออกแบบสำเร็จ เราจำเป็นต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานคุณภาพที่เคร่งครัด อันเป็นความท้าทายที่เราไม่สามารถก้าวผ่านได้ในอดีต ดังนั้น จึงไม่เกินความจริงหากจะกล่าวว่า การเพิ่มมูลค่าของเลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM เกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างเทคโนโลยีเพื่อผลิตเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมหล่อพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงการนำไปใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหว เรายังนำระบบ STM มาใช้เพื่อให้มั่นใจได้ถึงระบบโฟกัสอัตโนมัติที่เงียบและราบรื่น และใช้การออกแบบที่ลดความผันผวนในการขยายภาพระหว่างการโฟกัส
― เข้าใจแล้วครับ เรียกได้ว่า การพัฒนาในด้านเทคโนโลยีการผลิตสำหรับเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลม เป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับเลนส์ทั้ง EF16-35mm f/4L IS USM และ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM
บทสรุปการสังเกต
ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสองด้านสร้างรากฐานเทคโนโลยีออพติคอลสำหรับเลนส์มุมกว้างแห่งอนาคต
หากเทียบกัน ผมชอบกล้องขนาด APS-C มากกว่ากล้องฟูลเฟรม แต่ผมยังไม่เจอกล้อง APS-C ระดับมืออาชีพตัวจริง ปัจจุบันนี้ ผมใช้กล้อง EOS 5D Mark III เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงได้อย่างดีเยี่ยมและมอบประสิทธิภาพของระบบ AF และการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ผมก็ยังสับสนทุกครั้งที่ต้องเลือกเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ น่าเสียดายที่ผมยังไม่เจอเลนส์ที่มีคุณภาพบริเวณขอบภาพในระดับที่น่าพอใจในกลุ่มเลนส์ EF ที่มีอยู่แล้ว ผมจึงถ่ายภาพมุมกว้างอัลตร้าไวด์ด้วยกล้อง APS-C แบบมิเรอร์เลสเป็นหลัก ในความเป็นจริงแล้ว เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์สำหรับกล้องมิเรอร์เลสในปัจจุบันให้คุณภาพบริเวณขอบภาพที่สูงมาก ยิ่งกว่านั้น ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติ IS และราคาที่เหมาะสม แม้ว่าจะใช้การแก้ไขแบบดิจิตอล แต่การแก้ไขความบิดเบี้ยวก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ แล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผมประเมินเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ไว้ครั้งแรกอาจจะร้ายแรงไปหน่อย แต่หลังจากได้ลองใช้งาน ผมพบว่าคุณภาพบริเวณขอบภาพนั้นมีความเสถียรสูงมาก อย่างที่ระบุในแค็ตตาล็อก และให้ความมั่นใจในการถ่ายภาพเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างเต็มที่ หากจะเปรียบเทียบกับโครงสร้างเลนส์ EF16-35mm f/2.8L II USM ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า อาจบอกได้ว่า ไม่มีความแตกต่างมากนัก ยกเว้นเรื่องชุดระบบ IS ที่เพิ่มเข้ามา
นี่คือเหตุผลที่ผมต้องค้นหาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายในบริเวณขอบภาพพัฒนาดีขึ้นในการพูดคุยครั้งนี้ ดูเหมือนว่า การนำชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสองด้านมาใช้ทำให้เกิดสมดุลระหว่างลักษณะที่ข้ดแย้งกันของเส้นโค้งและความบิดเบี้ยวของภาพในระดับสูงได้อย่างยอดเยี่ยม สาเหตุที่ทำให้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เหล่านี้มีคุณภาพบริเวณขอบภาพสูงสำหรับใช้กับกล้องมิเรอร์เลสอาจไม่ใช่แค่ประโยชน์จากแบ็คโฟกัสที่สั้นสำหรับเลนส์มุมกว้าง แต่เป็นเพราะการทุ่มเทความพยายามที่จะแก้ไขเส้นโค้งที่มีความบิดเบี้ยวซึ่งผ่านการแก้ไขแบบดิจิตอลแล้ว ในทางกลับกัน การแก้ไขภาพแบบดิจิตอลจะไม่ปรากฏให้เห็นในช่องมองภาพเมื่อใช้เลนส์ SLR จึงต้องแก้ไขความบิดเบี้ยวด้วยระบบออพติคอล กุญแจสำคัญในการแก้ไขอยู่ที่การใช้ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสองด้านและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของ Canon
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM
เกิดที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 1962 จบการศึกษาจากแผนกวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบา นอกจากงานด้านช่างภาพ เช่น ถ่ายภาพให้นิตยสาร Date ยังมีส่วนในงานเขียนโดยใช้สิ่งที่เขาถนัดอย่างขะมักเขม้น