บทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้อง: PowerShot G7 X Mark II (ตอนที่ 3) -การออกแบบและการใช้งาน-
PowerShot G7 X Mark II มีฟังก์ชั่นมากมายที่ให้คุณถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น และบอดี้ขนาดกะทัดรัดที่ออกแบบมาเพื่อถ่ายทอดแก่นแท้ของกล้อง บทสัมภาษณ์นักพัฒนาของเราในบทความตอนนี้ เราจะเจาะลึกเบื้องหลัง "ความลับ" ของการออกแบบกล้องรุ่นนี้ ที่คุณจะอยากเป็นเจ้าของและใช้ถ่ายภาพ
จากซ้าย:
หัวหน้าฝ่ายออกแบบ Hideaki Yamaki: ผู้จัดการศูนย์การพัฒนา ICP 3, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products
อินเตอร์เฟซผู้ใช้ Seiji Ogawa: ศูนย์วิจัยและพัฒนา ICP 2, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products
ระบบกลไก Akihiko Masuki: ศูนย์พัฒนา ICP 3, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product
การออกแบบ Keita Takatani: แผนกออกแบบผลิตภัณฑ์ 1 ศูนย์การออกแบบ
ส่วนจับถือใหม่ที่ผสานความต้องการสำหรับการใช้กล้องของคุณ
- ทำไมกล้องนี้ถึงต้องมีส่วนจับถือ
Takaya: สำหรับกล้อง PowerShot G7 X รุ่นก่อนหน้ามีการออกแบบที่ลดพื้นที่ของส่วนจับถือลง แต่ครั้งนี้เราตั้งต้นใหม่ เราทบทวนตัวเองด้วยคำถามต่างๆ เช่น "บทบาทของไลน์ผลิตภัณฑ์ G7 X ในซีรีส์ G ที่เพิ่มขึ้นมาคืออะไร" "อะไรคือหัวใจหลักของกล้องรุ่นนี้" และ "สไตล์ที่เหมาะสมคืออะไร" แผนกวางแผนและแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมปรึกษาหารือกันหลายครั้ง และสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าส่วนจับถือนั้นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก PowerShot G7 X คือกล้องในไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดกะทัดรัด เราไม่ต้องการทำส่วนจับถือที่ใหญ่เกินไป ถึงอย่างนั้น ส่วนจับถือที่อยู่แบนราบเท่ากับพื้นผิวกล้องส่วนอื่นก็ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยคำนึงถึงน้ำหนักของกล้อง เราจึงทำกล้องจำลองและปรับแก้หลายครั้ง ปรับขนาดความเว้านูนที่ส่วนขอบและส่วนจับถือในระดับตัวเลขทศนิยม เพื่อให้แน่ใจว่าได้สมดุลระหว่างการวางนิ้วและศูนย์ถ่วงน้ำหนักที่เหมาะที่สุด
ผลคือส่วนจับถือที่ไม่ใหญ่จนเกินไปที่เกิดจากความทุ่มเทและพยายามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่ทำให้กล้องมีส่วนจับถือที่ดีเยี่ยมและใช้งานได้คล่องตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนจับถือที่มีความเฉพาะตัว คงสัมผัสความเป็นกล้องที่แท้จริงในระดับไฮเอนด์สมเป็นกล้องพรีเมี่ยม
Masuki: แผนกที่มีส่วนในการออกแบบรวมตัวกันหลายครั้งเพื่อลองใช้ส่วนจับถือจำลองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน นอกจากความเว้านูนของส่วนจับถือแล้ว ผมยังคิดว่าพื้นผิวยางที่ครอบคลุมตั้งแต่ข้างท่อเลนส์ถึงพื้นที่ที่เรียบก็สำคัญ
Takaya: ใช่ครับ เมื่อเพิ่มพื้นผิวยางเข้าไปที่พื้นที่วางนิ้ว ความรู้สึกเวลาจับกล้องจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง จับได้พอดีสบายมือซึ่งผมคิดว่าทำให้มั่นใจเวลาถือกล้อง
ระบบควบคุมเพื่อความไวในการสื่อสารสิ่งที่คุณต้องการ
- รายละเอียดอื่นๆ ของระบบควบคุมมีอะไรบ้าง
Takaya: รูปทรงของที่วางนิ้วหัวแม่มือได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้วงแหวนชดเชยแสง ขณะเดียวกัน เราปรับวงแหวนชดเชยแสงให้กว้างขึ้นและวางในแนวตั้งเพื่อให้ใช้งานง่ายด้วยการปัดนิ้วหัวแม่มือ เพียงแค่สไลด์นิ้วหัวแม่มือจากที่วางนิ้ว คุณจะสามารถควบคุมการชดเชยแสงได้อย่างรวดเร็วไม่ยุ่งยาก
เลย์เอาต์ปุ่มกดรอบปุ่ม 4 ทิศทางผ่านการปรับปรุงเพื่อป้องกันความผิดพลาดขณะใช้งาน ปุ่มถ่ายภาพเคลื่อนไหวและปุ่ม MENU ซึ่งอยู่ในระยะที่กดใช้ด้วยนิ้วหัวแม่มือได้ง่ายที่สุด และปรับส่วนรองรับฝ่ามือให้แบนราบขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการใช้งาน บริเวณนี้ได้รับการออกแบบตามข้อเสนอแนะของผู้ใช้กล้อง PowerShot G7 X
Ogawa: จุดสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่ PowerShot G7 X Mark II ใช้อินเตอร์เฟซผู้ใช้ที่ใกล้เคียงกับกล้อง EOS มาก แม้ว่ากราฟิกต่างๆ ยังคงเหมือนกันกับกล้อง PowerShot G3 X, G5 X และ G9 X แต่ผู้ใช้ EOS จะคุ้นเคยกับหน้าจอเมนูของกล้องนี้ เพราะมีอินเตอร์เฟซที่ใช้งานง่ายเหมือนกัน
หน้าจอเมนูของกล้อง PowerShot G7 X Mark II
หน้าจอเมนูของ PowerShot G7 X
วงแหวนควบคุมที่คุณเลือกสัมผัสการควบคุมได้
- ดูเหมือนสามารถสลับความรู้สึกในการควบคุมของวงแหวนควบคุมได้
Yamaki: ใช่ครับ สามารถทำได้ ก้านด้านข้างท่อเลนส์สามารถใช้สลับได้อย่างสะดวกระหว่างวงแหวนเลนส์แบบสเต็ปซึ่งให้คุณสามารถเปลี่ยนค่าตัวเลขได้อย่างไม่สะดุด กับการปรับค่าที่ละเอียดและราบรื่นของวงแหวนถ่ายภาพต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถสั่งงานได้ด้วยมือซ้าย คุณจึงทำการปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ ขณะที่ถือกล้อง
Masuki: การออกแบบนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความชอบที่ต่างกันของผู้ใช้ การเพิ่มก้านสวิตช์เป็นประโยชน์มากสำหรับการใช้งานอย่างมีอิสระ เพราะผู้ใช้สามารถสลับวิธีการควบคุมได้ตามความเหมาะสมกับฉากภาพที่ถ่าย
Ogawa: จริงครับ ยกตัวอย่างเช่นว่า วงแหวนเลนส์แบบสเต็ปสามารถใช้เปลี่ยนค่าตามขั้นสต็อป เช่น ความเร็วชัตเตอร์และความไวแสง ISO จากนั้น คุณสามารถเปลี่ยนมาใช้วงแหวนการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องสำหรับการปรับค่าที่ไม่มีสต็อป เช่น การโฟกัสแมนนวล ทางเลือกเหล่านี้ช่วยให้คุณควบคุมกล้องได้ง่ายและไวยิ่งขึ้น
การซูมแบบไร้รอยต่อที่เพิ่งออกแบบใหม่สามารถควบคุมได้ด้วยวงแหวนควบคุมเช่นกัน แน่นอนว่ายังสามารถใช้การซูมแบบสเต็ปหรือก้านซูมได้ แต่ซูมแบบไร้รอยต่อให้คุณปรับมุมรับภาพได้ละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากคุณสามารถกำหนดซูมแบบไร้รอยต่อได้แม้ในโหมด Auto และอื่นๆ* ผมจึงเชื่อว่า ผู้ใช้จะสนุกกับการกำหนดฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่างๆ ที่จะใช้กับวงแหวนควบคุม
* บางส่วนของโหมด Auto, Plus Movie และ SCN ที่เพิ่มเติมจากโหมด C, M, Av, Tv และ P
Ogawa: แม้การตั้งค่าบนกล้อง PowerShot G7 X สามารถปรับได้ระหว่างการบันทึกภาพเคลื่อนไหวโดยใช้ระบบสัมผัสเพียงอย่างเดียว ใน PowerShot G7 X Mark II สามารถเปลี่ยนค่าได้แล้วโดยใช้วงแหวนควบคุม
Yamaki: การกำหนดฟังก์ชั่นที่ไม่เพียงแค่ระบบสัมผัสแต่ยังรวมถึงระบบการควบคุมแบบแมนนวล เช่น การหมุนวงแหวนขณะถ่ายภาพ ทำให้การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์และการถ่ายภาพด้วยกล้องสนุกมากขึ้น คุณควรเรียนรู้วิธีใช้วงแหวนและล้อควบคุมจนคล่องมือเพื่อให้ถ่ายภาพได้สวยและใช้ความสามารถที่เป็นหัวใจหลักของกล้องได้
“ดีไซน์เหนือกาลเวลา” ที่แสดงแก่นแท้ความเป็นกล้อง
(จากซ้าย) PowerShot G7 X, PowerShot G7 X Mark II
- ดูเหมือนว่าการออกแบบจะเปลี่ยนไปมากจากกล้อง PowerShot G7 X
Takaya: ตั้งแต่กล้อง PowerShot G3 X, G5 X, and G9 X วางจำหน่ายเมื่อปีที่แล้ว เราตั้งใจที่จะออกแบบกล้องที่มีความเป็นกล้องอย่างแท้จริงในซีรีส์ G ที่มีคอนเซ็ปต์ "เหนือกาลเวลา" เพราะเรายึดแนวคิดนี้ในการออกแบบ PowerShot G7 X Mark II ผมเชื่อว่าเราได้ดีไซน์ที่ตรงเป้า คงทน และสมเป็นกล้องมากยิ่งขึ้น
Canon มุ่งมั่นคิดค้นดีไซน์ที่เหมาะสมที่จะผนวกหัวใจสำคัญของกล้องไว้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเรากลับไปใช้การออกแบบดั้งเดิมในอดีต เราขวนขวายที่จะใช้องค์ประกอบใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น และพยายามอย่างที่สุดในการคิดค้นดีไซน์ที่ผสมผสานทั้งองค์ประกอบที่คลาสสิกและความทันสมัย
แม้จะดูเผินๆ เหมือนเรียบง่ายและโบราณ แต่เราใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ จนถึงที่สุด ตั้งแต่เส้นสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์ G ไปจึงถึงลวดลายเส้นต่างๆ บนกรอบบนที่ตัดอย่างคมชัด และการกลึงพื้นผิวกรอบ และตัวอักษรสลักเลเซอร์
ความสามารถในการผลิตที่สมดุลทั้งปริมาณและประสิทธิภาพ
- ต้องใช้ความพยายามอย่างไรบ้างเพื่อทำให้กล้องมีขนาดกะทัดรัด
Masuki: นอกจากแกนแนวตั้งของหน้าจอ LCD 180° ตามแบบเดิมแล้ว เราได้นำกลไกแกนเอียงเบนล่าง 45° มาใช้ด้วย ทำให้ต้องจัดการกับความหนาของชิ้นส่วนที่เพิ่มเข้ามา เราจัดการกับขนาดของกล้องด้วยการลองปรับทุกๆ ชิ้นส่วนหลายครั้งเพื่อหาความลงตัวที่สุด สุดท้ายก็ค่อยๆ วางชิ้นส่วนในตำแหน่งที่ตายตัว
อย่างไรก็ตาม การออกแบบที่กล้าเสี่ยงนี้ทำให้กระบวนการผลิตยากขึ้น เราศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตปริมาณมากที่โรงงานในนางาซากิขณะที่ทำการปรับในขั้นตอนการออกแบบ
กล้องรุ่นพรีเมี่ยมในปัจจุบัน รวมถึงกล้องดิจิตอลคอมแพคจำเป็นต้องผ่านการผลิตที่มีความแม่นยำในรายละเอียดสูงกว่าปกติ ในการแก้ไขปัญหานี้ Canon นำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อป้องกันความไม่สม่ำเสมอและข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผลิตอย่างได้ผล
แน่นอนว่างานยากย่อมเสร็จเร็วกว่าและผิดพลาดน้อยกว่าเมื่อมีคนทำงานที่มีทักษะความสามารถ เราผลิตกล้องแบบปริมาณมากได้สำเร็จเพราะการผสานระบบอัตโนมัติกับช่างเทคนิคที่มีฝีมือ
Takaya: ส่วนตัวผมมีคำขอในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เยอะมากครับ (หัวเราะ)
Masuki: ทีแรก เราใส่ก้านสวิตช์สำหรับเลือกการควบคุมวงแหวนเลนส์แบบสเต็ปกับต่อเนื่องห่างจากท่อเลนส์ที่ด้านหน้าตัวกล้อง แต่ก็มีข้อแนะนำมาถึงเราว่าทำแบบนี้จะดูเทอะทะนะ (หัวเราะ) เราจึงพยายามใหม่อย่างเต็มที่และสุดท้ายก็สามารถย้ายเจ้าก้านสวิตช์นี้มาไว้ใกล้เลนส์ได้ สุดท้าย การที่ก้านสวิตช์การควบคุมและวงแหวนควบคุมอยู่ใกล้กันทำให้คุณไม่ต้องคอยจับตรงนั้นแล้วย้ายมาตรงนี้มากเกินไป ช่วยให้สั่งการระบบของกล้องได้ง่ายกว่า
Takaya: ผมเชื่อว่าดีไซน์ทั้งหมดนี้เหมาะกับรูปโฉมของกล้องในซีรีส์ G ใหม่ เพื่อให้เป็นกล้องที่สร้างความสุขในการถ่ายภาพได้ยาวนาน
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดของกล้อง PowerShot G7 X Mark II เพิ่มเติม