เทคนิคการใช้เลนส์มาโคร - ถ่ายภาพทาร์ตและเพสตรี้ให้ดูใหม่สดน่ารับประทาน
เพสตรี้ที่ดูสวยงามและน่าทานช่วยเพิ่มสีสันให้กับโต๊ะอาหาร ฉันแนะนำให้ถ่ายภาพโคลสอัพโดยใช้เลนส์มาโครในการถ่ายภาพประเภทนี้ หากคุณถ่ายภาพความแวววาวซึ่งเปลี่ยนไปตามแสงที่กระทบ คุณก็จะได้ภาพถ่ายที่ดึงดูดตาและมีบรรยากาศสว่างและนุ่มนวล ในบทความนี้ เราจะมาดูเทคนิคที่ช่วยให้คุณถ่ายภาพประเภทนี้ให้ดูมีเสน่ห์สวยงาม (เรื่องโดย: Yoriko Yamagishi)
สร้างความแวววาวที่สวยงามด้วยการใช้การย้อนแสงครึ่งหนึ่งและเบลอสีสดด้วยเลนส์มาโคร
เวลาถ่ายภาพเพสตรี้หน้าตาน่าทาน คุณอาจจะอยากทำให้น่าอร่อยซะจนคนเห็นอดใจไม่ไหว เรียกว่าต้องน้ำลายสอใส่ภาพกันเลยทีเดียว แม้ว่าคุณจะอยากถ่ายภาพเพสตรี้เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกเฉยๆ แต่ก็สามารถถ่ายให้ดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้นได้ถ้าจับภาพตรงจุดที่ดึงดูดใจที่สุดในระยะโคลสอัพ ในส่วนนี้ คุณจะต้องใช้เลนส์มาโคร
แสงเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการถ่ายทอดพื้นผิวที่แวววาว ในภาพนี้ ฉันถ่ายภาพให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาจากหน้าต่างเพื่อขับความมันวาวของขนมให้เด่นชัด ฉันจัดวางเพสตรี้ในตำแหน่งที่มีแสงย้อนสักครึ่งหนึ่งและใช้กล่องเค้กแทนแผ่นรีเฟล็กเตอร์เพื่อปรับทิศทางแสงอ่อนๆ ไปยังพื้นที่ส่วนหน้าซึ่งมืดกว่า
ฉันตั้งค่ารูรับแสงไปที่ขนาดกว้างสุดเพราะต้องการทำให้ภาพคมชัดเฉพาะจุดที่โฟกัส (ในภาพนี้คือสตรอเบอร์รี่) ขณะที่สร้างความพร่ามัวในพื้นที่อื่นๆ แบบกว้างเพื่อให้มองเห็นเฉพาะสี ภาพที่ได้คือ ภาพเพสตรี้ที่สว่างและดูนุ่มนวล
EOS 750D/ EF-S60mm f/2.8 Macro USM/ FL: 60 มม. (เทียบเท่า 96 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture Priority AE (f/2.8, 1/100 วินาที, EV+0.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ทาร์ตหน้าตาน่าทานที่ตกแต่งด้วยผลไม้นานาชนิด ฉันใช้แสงเพื่อแสดงความยั่วยวนชวนกินของผลไม้หลากสีสัน
เคล็ดลับที่ 1: สังเกตการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวกับแสง
ใช้การย้อนแสงโดยไม่มีแผ่นรีเฟลกเตอร์
เลนส์มาโครให้คุณขยายวัตถุขนาดเล็กให้ใหญ่ แต่ภาพที่ได้อาจดูแตกต่างไปเพราะแสง ในภาพนี้ แม้ว่าส่วนบนสุดจะแบ่งเป็นสามส่วนเพราะแสงที่เข้ามาจากด้านหลังทางมุมขวา แต่โฟร์กราวด์ทางซ้ายยังมีเงาอยู่ทั่ว
ใช้แสงส่องตรงด้านหน้า
แสงส่องตรงที่สตรอเบอร์รี่เมื่อฉันโฟกัส ทำให้สตรอเบอร์รี่ดูน่าทาน แต่พอถ่ายภาพแล้วชิ้นแอปเปิ้ลและท้อปปิ้งอื่นๆ ในแบ็คกราวด์มีสีเข้ม บรรยากาศภาพโดยรวมกลับดูทื่อและมืดไปหน่อย
เคล็ดลับที่ 2: ใช้กล่องเค้กและผ้าม่านลูกไม้
ฉันยืนตรงตำแหน่งที่แสงธรรมชาติส่องเข้ามาเป็นการย้อนแสงครึ่งหนึ่งบนโต๊ะใกล้หน้าต่างและปิดม่านลูกไม้เพื่อให้แสงอ่อนลง ฉันลองขยับตัวเข้าและออกจากทาร์ตผลไม้หลากสี ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 ซม. เพื่อให้แน่ใจว่าได้วางกรอบภาพในลักษณะที่ทำให้อาหารน่ากินแล้วจึงถ่ายภาพจากระยะห่างประมาณ 25 ซม. จากผิวหน้าเลนส์ นอกจากนี้ ฉันยังใช้กล่องเค้กแทนแผ่นรีเฟลกเตอร์เพื่อปรับทิศทางแสงไปยังโฟร์กราวด์ทางซ้ายซึ่งมีความสว่างน้อยกว่า
การใช้งานเลนส์: ถ่ายภาพด้วยขาตั้งกล้อง
เมื่อถ่ายภาพเพสตรี้ เลนส์มาโครเหมาะกับการใช้ถ่ายภาพที่ต้องการระยะห่างสั้นซึ่งช่วยให้เกิดโบเก้ขนาดใหญ่ โฟกัสส่วนที่น่าทานที่่ดึงดูดใจคุณและถ่ายภาพด้วยรูรับแสงที่ใกล้เคียงระดับกว้างสุดเพื่อให้ได้บรรยากาศภาพที่นุ่มนวล วิธีนี้ทำให้เอฟเฟ็กต์โบเก้ใหญ่ขึ้น ซึ่งเสริมให้เพสตรี้ดูน่าทานยิ่งกว่าเดิม ในการถ่ายภาพโคลสอัพ การที่วัตถุอยู่นอกโฟกัสแม้เพียงนิดเดียวจะทำให้ตัวแบบเบลอได้ การใช้ขาตั้งกล้องช่วยให้คุณรักษาโฟกัสภาพให้เสถียร ช่วยให้จดจ่อกับการจัดองค์ประกอบภาพและปรับแสงได้ถูกต้อง
ข้อดีของเลนส์มาโครคือสามารถถ่ายตัวแบบขนาดเท่าจริงได้ ฉันชอบเลนส์นี้เพราะมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาประมาณ 335 กรัม เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพแบบจัดวางบนโต๊ะแทนที่จะเป็นแค่สิ่งเล็กๆ ในธรรมชาติจริง เช่น ดอกไม้และแมลง นี่คือเลนส์ที่เหมาะสำหรับการสร้างภาพถ่ายเพื่อการแสดงผลงานแทนที่จะเก็บไว้ดูเล่นเฉยๆ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดไอชิ Yamagishi ผันตัวมาเป็นช่างภาพอาชีพหลังจากพัฒนาความสนใจด้านการถ่ายภาพของเธอระหว่างช่วงชีวิตในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1997 เธอเชี่ยวชาญการถ่ายภาพสแน็ปพอร์ตเทรตและภาพโคลสอัพธรรมชาติ