กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R เป็นกล้องความละเอียดสูงสุดยอดของ Canon ในบทความนี้ ช่างภาพที่ทดลองใช้กล้องแล้วจะมาบอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อกล้องทั้งสองรุ่น (เรื่องโดย: Rika Kasai, ภาพถ่าย: Hiroyuki Kato)
หน้า: 1 2
การจดจ่อในการถ่ายภาพที่ชวนให้นึกถึงกล้องฟิล์ม
- เทียบกับกล้องฟูลเฟรมที่มีอยู่แล้ว คุณรู้สึกว่าจำนวนพิกเซลที่สูงขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพลังการถ่ายทอดภาพในด้านใดบ้าง?
Nomachi ประการแรก ผมพึงพอใจกับพลังการถ่ายทอดภาพของกล้องทั้งสองรุ่นนี้อย่างมาก ผมคิดว่าประสิทธิภาพของกล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R สามารถทำได้ดีที่สุดเมื่อขยายภาพเป็นขนาด B0 (1,030 × 1,456 มม.) ถึงแม้กระบวนการถ่ายภาพอาจง่ายขึ้นเพราะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R ให้สัมผัสบางอย่างที่ทำให้ผมนึกถึงยุคกล้องฟิล์ม
Ishibashi ผมเข้าใจที่คุณพูดถึงครับ ด้วยกล้องสองรุ่นนี้ ผมรู้สึกอยากจะเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพ
Nomachi ถ้าเราไม่วิเคราะห์แสงอย่างรอบคอบ รายละเอียดของภาพจะไม่ปรากฏเลย
กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R เป็นกล้อง EOS รุ่นแรกที่มีเซนเซอร์ภาพความละเอียด 50.6 ล้านพิกเซล
Ishibashi ผมสงสัยว่าเราอาจคุ้นเคยกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวกสบายของกล้องดิจิตอลเกินไปเสียแล้ว สำหรับกล้อง EOS 5DS และ 5DS R ช่างภาพจำเป็นต้องจดจ่อกับการควบคุมกล้องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการถ่ายภาพ เราไม่สามารถเผลอกดปุ่มชัตเตอร์จนกว่าจะพิจารณาองค์ประกอบภาพให้เสร็จก่อนและแน่ใจว่าเราเข้าใจตัวแบบภาพที่จะถ่ายเพียงพอ สิ่งนี้จะทำให้เกิดการไตร่ตรองในขณะถ่ายภาพ เราอาจจำเป็นต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาในยุคกล้องฟิล์ม นอกจากนี้ หากเรามีเป้าหมายที่จะแสดงภาพถ่ายขนาดใหญ่ ทางเลือกหนึ่งที่เรานำมาพิจารณาได้ในอนาคตคือการนำเสนอภาพผ่านหน้าจอความละเอียดสูง เช่น หน้าจอระดับ 4K
Nomachi ผมลองพิมพ์ภาพที่ถ่ายในโหมด JPEG ขนาดใหญ่ให้เป็นขนาด B0 และผลที่ได้รับก็นับว่าน่าทึ่ง ฟอร์แมตภาพขนาดใหญ่เปลี่ยนการรับรู้งานภาพถ่ายของเรา ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนขยายขนาดของภาพและลองดูเช่นกันครับ วิธีนี้ใช้ได้จริงหากคุณใช้กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R
* คลิกภาพเพื่อขยาย
EOS 5DS R/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 55 มม./ Shutter-priority AE(f/8, 1/180 วินาที, EV-1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ (ภาพถ่ายโดย: Kazuyoshi Nomachi)
ที่ราบสูงซึ่งผ่านการกัดเซาะตั้งอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตรในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโบลิเวีย ความละเอียด 50.6 ล้านพิกเซลให้ภาพแสงอาทิตย์สาดส่องผ่านเมฆได้อย่างละเอียดประณีตราวกับแสงสปอตไลต์ ให้การเกลี่ยแสงที่สมบูรณ์แบบดูมีมิติ ยิ่งผมขยายภาพขณะปรับแต่งภาพ RAW ก็ยิ่งเห็นรายละเอียดที่ประณีตซ่อนอยู่ในข้อมูลที่มีความละเอียดสูงนี้ ในอีกแง่หนึ่ง การเกลี่ยสียังไม่ออกจากสมดุลง่ายๆ แม้ว่าจะใช้การปรับแต่งภาพแบบลงน้ำหนักมือมาก ภาพนี้ถ่ายแบบถือกล้องถ่าย ขณะที่ผมยืนบนพื้นที่ลาดชันและไม่ค่อยมั่นคงสักเท่าไหร่ จึงไม่สามารถใช้ขาตั้งกล้องได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผมสัมผัสการทำงานของชัตเตอร์ที่นิ่งได้จริงเพราะมีระบบการควบคุมการสั่นไหวของกระจกภายในแบบใหม่
เปลี่ยนผลภาพด้วยจำนวนพิกเซลสูง
- ด้วยจำนวนพิกเซลที่สูงเป็นพิเศษและเอฟเฟ็กต์ฟิลเตอร์ Low-pass ที่สามารถยกเลิกได้ ส่งผลให้ภาพที่ออกมาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
Nomachi ผมไม่ได้ให้ความสนใจกับฟิลเตอร์ Low-pass ขณะถ่าย เมื่อลองเทียบภาพที่ถ่ายโดยกล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R ผมไม่พบความแตกต่างที่สำคัญเลย ผมคิดว่าจะมีความแตกต่างเพียงแค่ในสภาพการถ่ายบางแบบเท่านั้น
Ishibashi แทบจะไม่มีความแตกต่างใดๆ ในแง่ของการสร้างภาพถ่าย การเกลี่ยแสงนั้นทำได้ดีเยี่ยม แม้ว่าปัจจัยนี้จะเป็นองค์ประกอบที่ขึ้นอยู่กับตัวแบบด้วย สีอ่อนและการเกลี่ยแสงต่างๆ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่คุณจะต้องใช้เลนส์คุณภาพดีนะ
Nomachi ในกรณีของผม หลังจากถ่ายภาพและเลือกภาพที่ต้องการจะใช้แล้ว ผมพบว่าภาพที่เลือกส่วนมากถ่ายด้วยกล้อง EOS 5DS R แม้ว่าผมจะไม่ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น ผมอาจบอกความแตกต่างได้หากผมขยายภาพเป็นขนาดใหญ่มาก
- เมื่อสักครู่คุณเอ่ยถึงเรื่องของเลนส์ คุณมีเลนส์เฉพาะที่เลือกใช้กับกล้องที่มีจำนวนพิกเซลสูงทั้งสองรุ่นนี้บ้างไหมครับ
Ishibashi ผมคิดว่าเลนส์ EF11-24mm f/4L USM อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ผมต้องการนำมาใช้ถ่ายภาพที่ผมจะครอปเป็นรูปแบบภาพกว้างได้ และสร้างผลงานที่ดูเหมือนภาพวาดบนฉากพับ เลนส์นี้สามารถถ่ายภาพพื้นที่กว้างๆ ได้โดยไม่เกิดความบิดเบี้ยว
Nomachi ในความเห็นของผม เลนส์มุมกว้าง เช่น EF14mm f/2.8L II USM ใช้งานร่วมกับกล้อง EOS 5DS และ 5DS R ได้ดี ผมยังใช้เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ด้วยซึ่งใช้งานได้ดีด้วยเหมือนกัน สำหรับเลนส์เทเลโฟโต้ ผมคงแนะนำเลนส์ EF70-200mm f/2.8L IS II USM
Ishibashi ผมขอแนะนำเลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM ด้วยอีกตัวครับ เลนส์นี้ดีกว่าเลนส์ซูมเทเลโฟโต้อื่นๆ ที่ผมเคยใช้มาจนกระทั่งถึงช่วงระยะหลังๆ มานี้
เลนส์แนะนำสำหรับการใช้งานกับกล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R
- มีประเด็นที่ควรรู้เมื่อใช้กล้องจำนวนพิกเซลสูงๆ ไหมครับ
Ishibashi ผมคงให้ความสำคัญกับคุณภาพของภาพเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์เป็นอันดับแรก ดังนั้นจึงอาจมีการลดขนาดรูรับแสง [ตัวเลขค่า f เพิ่มขึ้น] อย่างมากและการเพิ่มความไวแสง ISO โดยไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ผมต้องการเพิ่มระยะชัดลึกของภาพด้วย จึงเป็นงานยากที่จะต้องพยายามหาสมดุลที่เหมาะสม ด้วยความละเอียดที่สูงถึง 50.6 ล้านพิกเซล รูรับแสงและการตั้งค่าความไวแสง ISO จะมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพของภาพถ่าย และอาจส่งผลต่อตัวแบบที่เลือกด้วยระดับหนึ่ง
Nomachi พิจารณาจากภาพที่ทดลองถ่ายด้วยกล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R คุณภาพของภาพถ่ายออกมาดีเมื่อใช้ขนาดรูรับแสงที่ f/8 ถึง f/11 อย่างไรก็ตาม ผมไม่กังวลมากนักถึงการลดขนาดรูรับแสงมากนัก ตราบใดที่ภาพที่ออกมายังอยู่ในโฟกัส นอกจากนี้ ทุกวันนี้เรายังมีคุณสมบัติ Digital Lens Optimizer แม้ว่าผมจะเข้าใจความต้องการในการดึงความละเอียดคมชัดที่ 50.6 ล้านพิกเซลออกมา แต่เราไม่จำเป็นต้องยึดกับจุดนี้จุดเดียว
การใช้คุณสมบัติ Digital Lens Optimizer ในซอฟต์แวร์ "Digital Photo Professional" ที่มาพร้อมตัวกล้อง การกระจายแสงที่เกิดเมื่อลดขนาดรูรับแสงสามารถแก้ไขได้เพื่อให้ภาพกลับคืนสู่สภาพไม่บิดเบี้ยว
Ishibashi ใช่ครับ บ่อยครั้งเราพบว่าเราให้ความสำคัญกับสเปคกล้องมากจนเกินไปเวลาที่เราพยายามให้ได้มาซึ่งการถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ที่ลงรายละเอียด
Nomachi สำหรับภาพถ่ายที่ใช้การเปิดรับแสงนาน ผมคิดว่าภาพที่จะได้ความละเอียดคมชัดสูงสุดจนถึงระดับความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 4 วินาทีและความไวแสง ISO 400 แน่นอนว่า เมื่อใช้ค่าความไวแสง ISO 100 และ 200 คุณจะพบว่าคุณเริ่มใช้งานขาตั้งกล้องบ่อยขึ้น ถึงกระนั้น คุณยังสามารถถ่ายภาพแบบถือกล้องถ่ายด้วยกล้องทั้งสองรุ่นนี้ได้ด้วยหากคุณไม่กังวลมากนักกับการใช้ศักยภาพความละเอียดระดับ 50.6 ล้านพิกเซล
Ishibashi สำหรับกล้อง EOS 5D Mark II ซึ่งมีช่วงความไวแสง ISO ปกติสูงถึง 25600 เราจึงสามารถถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนที่ไม่สามารถถ่ายได้ในยุคกล้องฟิล์ม แต่ขณะที่กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R มอบความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพตอนกลางคืนน้อยกว่าเพราะค่า ISO ปกติสูงสุดอยู่ที่ 6400
* บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากกล้องรุ่นทดลอง ข้อมูลบางอย่างเช่นลักษณะของผลิตภัณฑ์และคุณภาพของภาพอาจแตกต่างจากผลิตภัณฑ์จริงบ้างเล็กน้อย
เกิดที่เมืองโคชิเมื่อปี 1946 Nomachi เริ่มต้นเรียนถ่ายภาพกับช่างภาพ Takashi Kijima ในปี 1968 และเริ่มเดินทางไปยังแม่น้ำไนล์ เอธิโอเปีย และพื้นที่แห้งแล้งอื่นๆ ในแอฟริกาหลังจากทริปทะเลทรายซาฮาราเมื่อปี 1972 จุดถ่ายภาพของเขาในปัจจุบันคือเทือกเขาแอนดีสและอินเดีย เคยได้รับเหรียญเกียรติยศสายม่วงเมื่อปี 2009
เกิดที่จังหวัดชิบาเมื่อปี 1947 Ishibashi เดินทางทั่วประเทศตั้งแต่สมัยวัยรุ่นตอนปลายเพื่อสัมผัสแหล่งธรรมชาติในญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1975 เขากำหนดแนวการถ่ายภาพให้แคบลงเป็นแหล่งธรรมชาติในภูมิภาคโทโฮกุ งานของเขาเน้นการถ่ายทอดความงดงามทางธรรมชาติอันมีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นซึ่งเกิดจากอากาศที่ชื้น นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับป่าอีกหลายฉบับ
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation