[ตอนที่ 7] เทคนิคการใช้แฟลชกลางแจ้งง่ายๆ ในการถ่ายภาพดอกไม้และแมลง
ดอกไม้ที่กำลังบานและดึงดูดให้แมลงต่างๆ เข้ามานั้นเป็นตัวแบบที่มีเสน่ห์ซึ่งสามารถถ่ายออกมาให้สวยงามได้ และเนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพกลางแจ้ง คุณอาจจะต้องใช้แฟลชให้เชี่ยวชาญ ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคการใช้แฟลชที่คุณสามารถนำไปใช้ในการถ่ายภาพกลางแจ้ง เมื่อต้องถ่ายในฉากที่มีแสงน้อยหรือในสภาพย้อนแสง (เรื่องโดย: Akira Ozono/ Yoshichika Ishii)
[1] ใช้แฟลชหัวกล้องเพื่อถ่ายความสว่างของดวงอาทิตย์และดอกไม้ในภาพเดียวกัน
EOS 60D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 10 มม./ Aperture-priority AE (f/22, 1/250 วินาที EV-3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด (ภาพโดย: Yoshichika Ishii)
เพราะมีดอกทานตะวันขนาดใหญ่เป็นตัวแบบหลัก ผมจึงปรับรูรับแสงให้แคบลงและถ่ายภาพนี้ด้วยองค์ประกอบที่ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากความสว่างเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เราจะไม่สามารถถ่ายให้เห็นความสว่างนั้นได้เว้นแต่ว่าความสว่างของท้องฟ้าจะถูกปรับลดลงและเปิดรับแสงอันเดอร์ และเนื่องจากดอกทานตะวันจะกลายเป็นภาพซิลูเอตต์หากถ่ายในสภาพแสงนี้ ผมจึงใช้แฟลชหัวกล้องเพื่อถ่ายภาพดอกทานตะวันให้ดูสว่าง ผมปรับเฟรมภาพเพื่อให้แสงแฟลชไม่ถูกบังด้วยฮู้ดของเลนส์และเว้นพื้นที่เหนือดอกทานตะวันเพื่อให้เห็นความกว้างใหญ่ของท้องฟ้าในภาพ
เมื่อใช้แฟลชเป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักของภาพดอกทานตะวัน ผมปรับการตั้งค่าด้วยตัวเองและปรับความเร็วชัตเตอร์ให้คงที่ที่ 1/250 วินาที นอกจากนั้นผมยังตั้งค่าชดเชยแสงแฟลชที่ EV+3 เพราะแฟลชติดกล้องนั้นมีความเข้มของแสงต่ำ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผมสามารถถ่ายภาพที่มีสีสันชัดเจนซึ่งไม่สามารถถ่ายได้หากใช้เพียงแค่แสงตามธรรมชาติ
แฟลชหัวกล้องยังมีประโยชน์มากแม้แต่สำหรับการถ่ายภาพกลางแจ้ง คุณคงอยากเข้าใจทั้งหมดว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง
สำหรับกล้อง EOS เมื่อคุณปรับรูรับแสงให้แคบลงและใช้แฟลชในโหมดระบุค่ารูรับแสง กล้องจะตั้งค่าความเร็วซิงค์ให้อัตโนมัติ ซึ่งทำให้พื้นหลังที่จะถ่ายดูสว่างด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณควรใช้การตั้งค่าแบบกำหนดเองและใช้ความเร็วแฟลชคงที่ที่ 1/250 วินาที จากนั้นตั้งโหมดการถ่ายภาพเป็นแบบแมนนวล ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 วินาทีและปรับรูรับแสงให้มีค่า f ที่เหมาะสม
และคุณยังสามารถปรับความเข้มของแสงแฟลชได้ด้วยในการตั้งค่าแบบกำหนดเอง การชดเชยปริมาณแสงแฟลชจะไม่ถูกยกเลิกแม้คุณจะปิดสวิตช์จ่ายไฟ เนื่องจากค่าชดเชยนี้อาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด ให้ย้อนกลับไปใช้การตั้งค่าเริ่มต้นหลังจากถ่ายเสร็จ
[2] ถ่ายภาพแมลงให้สว่างในสภาพที่มีแสงน้อยด้วยการใช้แสงจากตัวกระจายแฟลช
EOS 5D Mark II/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/125 วินาที)/ ISO 500 /WB: อัตโนมัติ (ภาพโดย: Akira Ozono)
ด้วงกว่างนั้นอาศัยอยู่ในที่ที่มีแสงรำไร บ่อยครั้งที่จะเห็นแสงอาทิตย์สว่างจากพื้นหลัง ดังนั้น จึงมักมีความแตกต่างของความสว่างมากในฉากเดียวกันเมื่อถ่ายภาพแมลงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้แฟลชเป็นแหล่งกำเนิดแสงเสริมเช่นในภาพนี้ คุณก็สามารถทำให้ภาพโดยรวมดูสว่างขึ้นได้
หลังปรับการรับแสงให้พอดีกับพื้นหลังแล้ว ก็ใช้วิธีตบแสงเบาๆ ด้วยแฟลชเสริมขนาดเล็กลงไปที่ตัวด้วงกว่างผ่านตัวกระจายแสง (Diffuser)
ตัวกระจายแสงซึ่งทำหน้าที่กระจายแสงแฟลชเพื่อให้ได้ภาพที่มีความนุ่มนวลขึ้น ถูกนำมาใช้ด้วยการติดเข้าที่หัวแฟลช ภาพนี้ถ่ายโดยใช้แฟลช Speedlite 430EX-RT การใช้อะแดปเตอร์สะท้อนแสงแฟลชจะทำให้ได้เอฟเฟ็กต์เช่นเดียวกับการใช้ตัวกระจายแสง
แฟลช Speedlite 430EX III-RT
EOS 7D/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/80 วินาที EV{0.3)/ ISO 500/ WB: แสงแดด (ภาพโดย: Akira Ozono)
แมลงทับมีลักษณะเป็นมันเงาที่มีความสวยงาม อย่างไรก็ตาม สีที่มีความสดใสซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไม่สามารถถ่ายให้เห็นเช่นนั้นได้จากการใช้เพียงแค่แสงธรรมชาติ และไม่สามารถถ่ายได้ดีด้วยการใช้แสงเทียมจากแฟลชเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผมจึงใช้ทั้งแสงตามธรรมชาติและแสงจากแฟลชในการถ่ายภาพ
ด้วยการใช้แสงตามธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดแสงหลัก แสงจากแฟลชหัวกล้องจะส่องไปยังพื้นที่ที่เป็นเงาบนตัวแมลงทับโดยตัวกระจายแสง ตัวกระจายแสงทำหน้าที่กระจายแสงที่มาจากหลายทิศทาง ทำให้สามารถถ่ายและแสดงสีต่างๆ ของแมลงทับได้
ตัวกระจายแสงบางตัวนั้นสามารถเชื่อมต่อเข้ากับแฟลชหัวกล้องได้ ทำให้แสงมีการกระจายและดูนุ่มนวลขึ้น
[3] แม้จะใช้เพียงแฟลชหัวกล้อง แต่ก็สามารถถ่ายทั้งวัตถุหลักและวัตถุรองได้อย่างชัดเจน
EOS 60D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/80 วินาที EV-1)/ ISO 100/ WB: แสงแดด (ภาพโดย: Yoshichika Ishii)
ผมต้องการถ่ายภาพดอกคาเมเลียที่กำลังบานท่ามกลางแสงแดด รวมทั้งต้นแปะก๊วยสีทองที่เป็นประกายอยู่ด้านหลัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรับแสงระหว่างโฟร์กราวด์กับแบ็คกราวด์มีความแตกต่างกันมาก เมื่อปรับค่ารูรับแสงให้เหมาะสมกับดอกคาเมเลีย (วัตถุหลัก) ต้นแปะก๊วย (วัตถุรอง) จะได้รับแสงมากเกินไป ดังนั้น ผมจึงถ่ายภาพวัตถุทั้งสองโดยการใช้แฟลชหัวกล้อง ด้วยการเอียงภาพทั้งภาพเล็กน้อย ผมทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
เพื่อให้ดูเหมือนกับว่ามีการใช้แผ่นสะท้อน ผมใช้แฟลชหัวกล้องเพื่อเป็นแหล่งแสงเสริม ผมปรับการรับแสงให้อันเดอร์และไม่ใช้การชดเชยปริมาณแสงแฟลชเพื่อดึงเอาความเปรียบต่างระหว่างท้องฟ้าและต้นแปะก๊วยออกมาให้เต็มที่ และให้ความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่อัตโนมัติด้วย การที่คุณสามารถทำให้บางจุดของวัตถุสว่างขึ้นได้โดยการใช้มุมแฟลชที่แคบของแฟลชหัวกล้องก็ถือเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง
ในภาพนี้ แสงแฟลชที่ออกมามีส่วนมืดเนื่องจากติดตัวเลนส์และฮู้ดเลนส์ ทำให้เกิดเงาปรากฏอยู่บนดอกไม้ คุณควรทราบในข้อนี้ด้วยเมื่อใช้แฟลชหัวกล้อง
[4] ถ่ายภาพแมลงปอขณะที่กำลังบินด้วยแฟลช Macro Twin Lite
EOS 7D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 10 มม./ รับแสงแบบแมนนวล (f/8, 1/15 วินาที)/ ISO 250/ WB: อัตโนมัติ (ภาพโดย: Akira Ozono)
ผมใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ของแมลงปอตัวใหญ่ที่บินมาวางไข่ในลำธารใต้ร่มไม้พร้อมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ แมลงปอไม่ได้เคลื่อนไหวมากนักขณะที่วางไข่ จึงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ ถ้าคุณรู้คร่าวๆ ว่ามันจะมุ่งหน้าไปทางไหน คุณก็สามารถกำหนดทิศทางแฟลชได้ล่วงหน้าและรอให้โอกาสถ่ายภาพมาถึง
การเคลื่อนไหวขอแมลงปอถูกถ่ายที่ระยะใกล้ด้วยแฟลช Macro Twin Lite เนื่องจากแบ็คกราวด์มักจะมืดได้ง่ายในการถ่ายภาพระยะโคลสอัพ แฟลชที่ถูกติดตั้งลงบนขาตั้งขนาดเล็กจึงถูกวางไว้ใกล้ขอบเพื่อทำให้แบ็คกราวด์สว่างขึ้นเล็กน้อยโดยที่แสงแฟลชไม่เข้าไปในภาพ นอกจากนี้ผมยังคำนึงถึงความสมดุลระหว่างแมลงปอกับแบ็คกราวด์ด้วยในขณะที่ตั้งค่าความเข้มของแสง
แฟลช Macro Twin Lite MT-24EX สามารถกระจายแสงออกไปรอบๆ วัตถุทั้งหมดเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์แสงขณะที่ถ่ายวัตถุขนาดเล็ก เช่น แมลงต่างๆ เป็นรุ่นที่มีฟังก์ชั่นหลากหลาย มาพร้อมกับอุปกรณ์ควบคุมแสงหลายจุดแบบไร้สาย รวมทั้งฟังก์ชั่นอื่นๆ
Speedlite Macro Twin Lite MT-24EX
เกิดในโอซาก้าเมื่อปี 1976 เขาเป็นนักถ่ายภาพแมลงผู้ซึ่งถ่ายภาพแมลงและธรรมชาติตั้งแต่ยังเป็นเด็ก นอกจากการถ่ายภาพแมลงในภูมิภาคต่างๆ เขายังถ่ายภาพสัตว์ป่าบนเกาะ Bonin ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นมรดกโลกอีกด้วย
เกิดที่โยโกฮามะ จังหวัดคานากาวะเมื่อปี 1967 หลังจากทำงานเป็นช่างภาพในสตูดิโอ เขาผันตัวมาเป็นช่างภาพธรรมชาติเมื่อปี 2000
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก&