เคล็ดลับในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำ: เพลิดเพลินกับแอ่งน้ำ!
ภาพสะท้อนบนผิวน้ำเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนโลกแห่งความมหัศจรรย์ แต่คุณไม่จำเป็นจะต้องตามหาผืนน้ำที่กว้างใหญ่เพื่อถ่ายภาพเสมอไป ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเคล็ดลับบางประการในการถ่ายภาพสะท้อนบนแอ่งน้ำต่างๆ ที่คุณพบบนท้องถนนหลังจากฝนตก (เรื่องโดย studio9)
EOS 5D Mark II, f/4, 1/50 วินาที, ISO 6400
3 ขั้นตอนในการถ่ายภาพสะท้อนของแอ่งน้ำ
อย่างน้อย 3 ขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยให้คุณถ่ายภาพผิวน้ำได้ ขั้นตอนต่อไปนี้ไม่ยากจนเกินไป แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการฝึกฝนแต่ละขั้น
1. ค้นหาแอ่งน้ำ
2. ลดระดับสายตาเพื่อมองหาภาพสะท้อนต่างๆ
3. โฟกัสอย่างเหมาะสม
เราลองมาดูทีละขั้นตอนกันเลย!
EOS 5D Mark II, f/5, 1/3200 วินาที, ISO 320
ขั้นตอนที่ 1: ค้นหาแอ่งน้ำเพื่อถ่ายภาพสะท้อนที่สวยงาม
แอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเราสามารถถ่ายภาพสะท้อนได้ง่ายกว่านั้นจะปรากฏอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากฝนตก การถ่ายภาพสะท้อนที่สวยงามและคมชัดขณะฝนตกนั้นทำได้ยากกว่า เนื่องจากหยดน้ำฝนจะทำให้น้ำกระเพื่อม ด้วยเหตุนี้คุณควรลองถ่ายภาพหลังจากที่ฝนหยุดตก ช่วงเวลาที่ดีเป็นพิเศษที่จะถ่ายภาพคือหลังจากผ่านช่วงที่ฝนตกหนักไปแล้ว พื้นที่โล่งและผืนดินที่ว่างเปล่าคือสถานที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการค้นหาแอ่งน้ำ เนื่องจากไม่มีสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่อยู่รอบๆ คุณจะสามารถมองเห็นภาพสะท้อนต่างๆ มากมายจากทุกทิศทาง
EOS 5D Mark II, f/2.8, 1/4000 วินาที, ISO 800
ขั้นตอนที่ 2: ลดระดับสายตา จากนั้นมองหาภาพสะท้อนต่างๆ
ทุกคนทราบว่าเมื่อฝนตกจะมีแอ่งน้ำเกิดขึ้น แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะสังเกตว่าท้องถนนดูต่างไปอย่างไรบ้างเมื่อสะท้อนในแอ่งน้ำ นั่นเป็นเพราะการมองเห็นภาพสะท้อนดังกล่าวจากภาพระดับมุมสูงของผู้ใหญ่นั้นทำได้ค่อนข้างยาก หากต้องการเห็นโลกมหัศจรรย์ภายในชั่วพริบตานี้ ก่อนอื่นคุณจำเป็นต้องลดระดับสายตาลง
ภาพสะท้อนนี้เป็นไปตามกฎการสะท้อนของแสง ดังที่แสดงในภาพด้านล่าง ให้สังเกตเพียงแค่ว่าเราสามารถมองเห็นท้องฟ้าในภาพสะท้อนได้อย่างไรเมื่อเรามองท้องฟ้าจากระดับสายตาของผู้ใหญ่ (B)
(1) ไม่มีอะไรนอกจากท้องฟ้าเท่านั้นที่จะสะท้อน
(2) เราสามารถถ่ายภาพของอาคารได้เป็นส่วนใหญ่
(3) แอ่งน้ำ
ในระดับสายตาของคนธรรมดาทั่วไป เมื่อเรามองไปที่แอ่งน้ำเบื้องล่างเราจะมองเห็นแต่ภาพสะท้อนของท้องฟ้าเท่านั้น ดังนั้น หากคุณต้องการถ่ายภาพอาคาร ความคิดที่ดีคือการตั้งกล้องให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม (A)
นอกจากนี้ ยังอาจมีอีกหลายครั้งทีุ่คุณจำเป็นต้องย่อตัวลงไปใกล้พื้นดินเพื่อถ่ายภาพ ตัวอย่างเช่น ในภาพด้านล่างนี้ กล้องแทบจะแตะกับพื้นดินเลยทีเดียว! ทั้งนี้เพื่อถ่ายภาพส่วนล่างของอาคารนี้
อ่านบทความนี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ ความแตกต่างระหว่าง "ตำแหน่ง/ระดับ" และ "มุมกล้อง"
EOS 5D Mark II, f/4, 1/400 วินาที, ISO 1000
EOS 5D Mark II, f/4, 1/30 วินาที, ISO 1600
ขั้นตอนที่ 3: จับโฟกัสที่ตัวแบบจริงหากคุณไม่สามารถจับโฟกัสที่ภาพสะท้อนได้
เมื่อคุณพบแอ่งน้ำที่สามารถเก็บภาพสะท้อนที่สวยสดงดงามแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือโฟกัสกล้องของคุณตามปกติ อย่างไรก็ดี หากแอ่งน้ำตื้นหรือผิวน้ำไม่นิ่ง กล้องของคุณอาจไปจับภาพพื้นดินแทนก็เป็นได้ ดังนั้น วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้คือ ปรับโฟกัสด้วยตนเอง แต่นั่นก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ ในกรณีเช่นนี้ ให้ย้อนกลับไปดูกฎการสะท้อนของแสงอีกครั้ง จากที่คุณเห็นในภาพด้านล่าง ตัวแบบและภาพสะท้อนของตัวแบบบนแอ่งน้ำมีระยะห่างจากกล้องเท่ากันโดยประมาณ
(1) ระยะห่างจากอาคารจริง
(2) ระยะห่างจากภาพสะท้อนของอาคาร
(3) เมื่อมองจากมุมมอง A ภาพสะท้อนของอาคารจะปรากฏลึกเข้าไปในน้ำ
ดังนั้น เมื่อคุณไม่สามารถโฟกัสที่ภาพสะท้อนบนแอ่งน้ำได้ ให้ลองโฟกัสที่ตัวแบบจริง จากนั้นจึงเล็งกล้องกลับไปที่แอ่งน้ำอีกครั้งโดยที่มีการล็อคโฟกัสไว้ (กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง) เนื่องจากระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบจริงเกือบจะเท่ากันกับระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบที่ชัดเจนในภาพสะท้อน ดังนั้น ภาพสะท้อนบนแอ่งน้ำจึงมักจะอยู่ในโฟกัสด้วย และด้วยวิธีนี้ คุณจะสามารถโฟกัสไปที่โลกใบที่คุณอาจไม่เคยมองเห็นมาก่อน คนที่รู้สึกว่าการโฟกัสแบบแมนนวลเป็นเรื่องยากควรนำเคล็ดลับนี้ไปลองใช้กันดู
เคล็ดลับที่ 1: พื้นดินมีสีเข้มจึงควรใช้การชดเชยแสงเป็นลบ
โดยทั่วไปผิวของพื้นดินซึ่งทำจากยางมะตอย อิฐ หรือกรวดมักมีสีเข้ม ดังนั้น เมื่อคุณถ่ายภาพตามปกติ กล้องจะกำหนดว่าฉากที่จะถ่ายนั้นค่อนข้างมืด จึงอาจถ่ายภาพให้ออกมาสว่างกว่าฉากจริง หากคุณต้องการให้ภาพของคุณออกมาสมจริง ควรลดค่าชดเชยแสงลงเหลือที่ประมาณ EV-1
EOS 5D Mark II, f/4, 1/500 วินาที, ISO 400
เคล็ดลับที่ 2: ผมแนะนำใช้ให้ค่ารูรับแสงกว้างสุด
คุณอาจต้องการลองใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด (ค่า f ต่ำสุด) เพื่อถ่ายภาพที่มีเอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกล้อง DSLR และกล้องมิเรอร์เลสเท่านั้น แม้แต่กล้องคอมแพคบางรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่สูงๆ ขึ้นไปก็สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามน่ารักในส่วนแบ็คกราวด์ได้ โดยกล้องจะจับโฟกัสไปที่ตัวแบบในภาพสะท้อน จากนั้นจะสร้างภาพเงาสะท้อนที่ดูน่ามหัศจรรย์โดยการทำให้พื้นดินเบลอได้ ซึ่งเอฟเฟ็กต์นี้จะเห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างด้านล่าง
EOS 5D Mark II, f/4, 1/400 วินาที, ISO 500
ผมโฟกัสที่ภาพสะท้อน (ต้นซากุระด้านบน) ของก๊อกน้ำดื่ม บริเวณรอบๆ ถูกทำให้เบลอและเกิดเป็นภาพสะท้อนในโฟกัสบนผิวน้ำ
EOS 5D Mark II, f/4, 1/500 วินาที, ISO 500
เมื่อผมถ่ายภาพผิวน้ำและบริเวณโดยรอบตามปกติ (ก๊อกน้ำดื่ม) ระยะห่างจนถึงตัวแบบที่ชัดเจนนั้นต่างออกไป ดังนั้นกล้องจึงไม่ได้โฟกัสที่ภาพสะท้อน
เคล็ดลับที่ 3: หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพสถานที่ที่คนพลุกพล่าน
ควรระมัดระวังในการถ่ายภาพสะท้อนที่ใกล้กับพื้นดินในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้หญิงที่สวมใส่กระโปรงยืนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพราะแน่นอนว่าคุณคงไม่ต้องการให้เกิดการเข้าใจผิดอันเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง! ดังนั้น อันดับแรก ผมจึงไม่แนะนำให้คุณถ่ายภาพในสถานที่ที่คุณอาจไปกีดขวางทางเดินของผู้คนที่่ผ่านไปมา
การถ่ายภาพสะท้อนบนแอ่งน้ำเป็นวิธีที่คุณจะเพลิดเพลินกับช่วงเวลาหลังฝนตกได้ดีเยี่ยมทีเดียว เพราะการออกไปเดินบนท้องถนนในยามฝนตกอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เมื่อฝนหยุดตกแล้วคุณสามารถออกไปค้นหาประตูสู่โลกอันน่าพิศวงในภาพถ่ายของคุณตามต้องการได้
สำหรับการถ่ายภาพสะท้อนบนแอ่งน้ำในหลากหลายสไตล์ โปรดดูที่บทความนี้
สร้างโลกแห่งความสงบเยือกเย็นด้วยภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำและค่าสมดุลแสงขาว
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย