สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเวิร์คช็อปการถ่ายภาพเด็กและการประดิษฐ์ภาพถ่าย
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2016 มีการจัดงานสัมมนาและเวิร์คช็อปการประดิษฐ์ภาพถ่ายเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพเด็กๆ ไว้เป็นที่ระลึกขึ้นที่ Canon Image Square จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย และต่อไปนี้คือไฮไลต์บางส่วนเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ในครั้งนี้ (บรรณาธิการโดย Etica)
ฉากหลังและของประกอบฉากน่ารักๆ สามารถนำมาใช้ถ่ายภาพเด็กๆ ให้ดูงดงามได้!
บทเรียนนี้ดำเนินการสอนโดย Naomi Yajima ซึ่งเป็นบรรณาธิการของนิตยสารกล้องของญี่ปุ่นฉบับหนึ่ง และช่างภาพ masacova! โดยผู้สอนทั้งสองท่านเคยจัดงานสัมมนาการถ่ายภาพเด็กขึ้นในประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งแล้ว
สำหรับเวิร์คช็อปในครั้งนี้มีการจัดเตรียมของประกอบฉากต่างๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงฉากหลังที่มีสีสันสวยงามและเก๋ไก๋ แผงประดับด้วยตัวเลข ลูกโป่ง หมวก กระโปรง กรอบ และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พบกับความสนุกสนานเพลิดเพลินในระหว่างการถ่ายภาพ
เรามาดูกันว่าเวิร์คช็อปครั้งนี้มีอะไรกันบ้าง
จุดสำคัญ 2 ประการในการถ่ายภาพเด็ก
จุดที่ 1: จินตนาการถึงวิธีถ่ายภาพก่อนที่จะถ่ายจริง
- ก่อนการถ่ายภาพ ให้ลองใช้ของประกอบฉากเพื่อสร้างความเก๋ไก๋ให้กับภาพ
- ตัดสินใจเลือกการจัดเฟรมและองค์ประกอบภาพไว้ล่วงหน้า หากคุณสามารถจินตนาการถึงวิธีการที่จะให้เด็กเข้ามายืนในจุดใดจุดหนึ่งหรือให้พวกเขานั่งลง วิธีขยับเข้าใกล้เพื่อถ่ายภาพหรือถ่ายจากระยะไกล และอื่นๆ ก่อนที่จะถ่ายภาพจริง คุณจะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การถ่ายภาพได้โดยที่ไม่ต้องเร่งรีบ
- ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องและจัดองค์ประกอบภาพจริง สังเกตแกนแนวตั้งและแนวนอน จากนั้นปรับแกนให้สอดคล้องกันเพื่อไม่ให้แกนทั้งสองเบี้ยว
หากต้องการภาพถ่ายที่ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป ขอแนะนำให้ลองใช้ การถ่ายภาพเด็กจากมุมที่หลากหลาย หรือ การใช้ประโยชน์จากการจัดแสงและโบเก้
และหากคุณต้องการถ่ายภาพพี่น้อง เรายังมี แนวคิดที่น่ารักๆ ที่คุณอาจลองนำไปใช้ได้อีกด้วย
จุดที่ 2: ดึงเอาสีหน้าท่าทางที่สวยงามของเด็กๆ ออกมา
- สร้างอารมณ์ที่สนุกสนาน
- ปรับจังหวะการถ่ายภาพให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของเด็กๆ แทนที่จะบังคับให้เด็กเคลื่อนไหวตามจังหวะการถ่ายภาพของคุณ
- อย่าใช้เวลาในการถ่ายภาพนานเกินไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ ควรถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว
- แม้แต่ภาพเด็กที่กำลังร้องไห้ก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเด็ก จึงควรเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
เคล็ดลับ: เมื่อภาพถ่ายดูมืด ให้ใช้การชดเชยแสงเพื่อทำให้ภาพสว่างขึ้น!
มีหลายครั้งที่ภาพออกมาดูมืดเมื่อถ่ายภาพตัดกับฉากหลังที่เป็นสีขาว ให้ตั้งค่าโหมดการถ่ายภาพเป็นโหมด < P > (Program AE), โหมด < Av > (Aperture-priority AE) หรือโหมด < Tv > (ระบุค่าความเร็วชัตเตอร์) และตั้งค่าฟังก์ชั่นการชดเชยแสงเป็นบวกเพื่อปรับค่าความสว่างตามต้องการ
ในกล้อง EOS 80D เราสามารถปรับการชดเชยแสงได้โดยการหมุนวงแหวน Quick Control
การประดิษฐ์ภาพถ่ายเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ตกแต่งภาพถ่าย!
หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้ว เราได้คัดเลือกภาพที่พวกเราชื่นชอบมากที่สุดและนำไปสั่งพิมพ์ ทุกคนดูมีความสุขมากที่ได้ถ่ายภาพช็อตน่ารักๆ ของเด็กๆ มากมาย!
หลังจากพิมพ์ภาพออกมาแล้ว เราได้นำไปใส่กรอบภาพ จากนั้นก็นำมาตกแต่งด้วยสติกเกอร์และเทปตกแต่ง ซึ่งวิธีดังกล่าวเรียกว่าการประดิษฐ์ภาพถ่าย
จุดสำคัญ 2 ประการในการประดิษฐ์ภาพถ่าย
จุดที่ 1: ดูภาพถ่ายอย่างละเอียดและกำหนดวัสดุที่จะนำมาปะติดให้สอดคล้องกัน
การใช้สีสันของวัสดุต่างๆ ให้กลมกลืนกัน และเลือกใช้วัสดุที่มีรูปร่างคล้ายกันจะทำให้เราได้กรอบภาพที่มีความสวยงาม
จุดที่ 2: สนุกกับการปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์!
ลองสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใครด้วยตัวเองโดยใช้กรรไกรตัดเทปตกแต่งออกเป็นวงกลมหรือฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำมาเรียงให้เป็นรูปทรงต่างๆ ที่หลากหลาย
ทุกครั้งที่ฉันมองดูภาพ ฉันก็จะหวนนึกถึงความทรงจำอันแสนอบอุ่นในวันที่ถ่ายภาพ ซึ่งทำให้กรอบรูปเหล่านั้นดูสวยงามมากจริงๆ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
ทีมงานเบื้องหลังนิตยสารกล้องสัญชาติญี่ปุ่น "Camera Biyori" และหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย จัดงานอีเว้นต์ต่างๆ และเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพ "Tanoshii Camera School" (@tanoshiicamera)