3 ขั้นตอนในการสร้างภาพถ่ายที่ปรับแต่งได้ตามใจคุณด้วยฟังก์ชั่นรูปแบบภาพ
บ่อยครั้งที่คุณต้องการถ่ายภาพให้ดูน่าสนใจหรือน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมไม่ลองใช้ฟังก์ชั่นรูปแบบภาพดูบ้างล่ะ บทความนี้จะแนะนำวิธีพื้นฐานในการใช้ฟังก์ชั่นรูปแบบภาพ (บรรณาธิการโดย studio9)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ FL: 16 มม./ f/8/ 1/800 วินาที/ ISO 400
ใช้รูปแบบภาพเพื่อเปลี่ยนภาพถ่ายของคุณ
เมื่อคุณรู้สึกคุ้นเคยกับการถ่ายภาพมากขึ้นอีกนิด คุณอาจจะสามารถจับภาพตัวแบบ จัดองค์ประกอบภาพและความสว่างได้เป็นอย่างดี แต่คุณอาจเจอกับอุปสรรคอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ บรรยากาศของภาพที่ไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้
ในกรณีเช่นนี้ คุณสามารถใช้ฟังก์ชั่นรูปแบบภาพเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศภาพให้เหมาะสมกับความต้องการได้ ซึ่งเพียงแค่ปรับการตั้งค่านี้ คุณจะได้ภาพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง!
ฟังก์ชั่นรูปแบบภาพเต็มไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ มากมาย แต่ในบทความนี้ผมจะเน้นไปที่โหมดสองโหมดและพารามิเตอร์ความเปรียบต่างเท่านั้น เพื่อแสดงวิธีการปรับแต่งภาพต่างๆ
คุณชอบบรรยากาศที่ดูนุ่มนวลมากขึ้น หรือบรรยากาศที่ดูมืดครึ้มยิ่งขึ้นมากกว่า
การปรับค่าพารามิเตอร์ความเปรียบต่างในรูปแบบภาพจะช่วยสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลน่ารักหรือบรรยากาศที่มืดครึ้มและเร้าอารมณ์ได้
เราลองมาดูตัวอย่างจากภาพแต่ละภาพกัน
ภาพที่ดู "นุ่มนวล"
ผมต้องการสื่อถึงเวลาที่เดินไปอย่างช้าๆ ในภาพริมฝั่งแม่น้ำนี้ ผมจึงตั้งค่ารูปแบบภาพไปที่ "ปกติ" ซึ่งเมื่อถ่ายภาพโดยใช้ค่าเริ่มต้น ผลภาพที่ได้จะเป็นเช่นนี้ (ตัวอย่างนี้เป็นภาพที่จำลองขึ้นใน Digital Photo Professional โดยใช้ไฟล์ RAW)
รูปแบบภาพ: ปกติ/ WB: แสงแดด
เพียงแค่ปรับการตั้งค่ากล้องอย่างง่ายๆ ผมก็สามารถสร้างภาพถ่ายที่มีบรรยากาศนุ่มนวลดังเช่นในภาพด้านล่างนี้
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ f/4/ 1/4000 วินาที/ ISO 250
รูปแบบภาพ: ปกติ (Contrast -4), WB: แสงแดด, การชดเชยแสง: EV+1
การตั้งค่าความเปรียบต่างเป็นค่าต่ำสุดและใช้การชดเชยแสงเป็นบวกจะช่วยให้ภาพที่ได้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ต้นไม้มีโทนสีอ่อนลงและก้อนเมฆสร้างบรรยากาศที่ค่อนข้างนุ่มนวล จึงสื่อถึงบรรยากาศของกาลเวลาที่ผ่านไปอย่างช้าๆ ได้เป็นอย่างดี
บรรยากาศที่มืดครึ้ม
ภาพด้านล่างนี้ผมต้องการสื่อถึงรัศมีอันเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ผมจึงเลือกรูปแบบภาพเป็น "ภาพวิว" ซึ่งจะให้โทนสีฟ้าและสีเขียวที่กระจ่างชัดยิ่งขึ้น และเมื่อผมถ่ายภาพโดยใช้การตั้งค่าเริ่มต้น ผลภาพที่ได้จึงเป็นเช่นนี้
รูปแบบภาพ: ภาพวิว/ WB: แสงแดด
ต่อจากนั้น ผมปรับการตั้งค่าเพื่อให้ภาพมีบรรยากาศที่ดูมืดครึ้มยิ่งขึ้น
EOS 5D Mark II/ FL: 33 มม./ f/16/ 1/25 วินาที/ ISO 800
รูปแบบภาพ: ภาพวิว (Contrast +4), WB: อัตโนมัติ, การชดเชยแสง: EV -0.33 (-1/3)
ผมปรับค่าความเปรียบต่างและใช้การชดเชยแสงเป็นลบเพื่อสร้างความเปรียบต่างให้เห็นเด่นชัดในบรรยากาศที่มืดครึ้ม และเมื่อผมทำให้กำแพงอาคารและพื้นที่ชุ่มไปด้วยน้ำดูมืดสลัวยิ่งขึ้น ก็จะสื่อให้เห็นถึงความเปรียบต่างของดวงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การกำหนดการตั้งค่าต่างๆ
ในส่วนนี้ ผมจะอธิบายถึงขั้นตอนในการตัดสินใจว่าเราควรจะกำหนดการตั้งค่าอย่างไร แม้ว่าเราอาจต้องใช้พารามิเตอร์ที่มีรายละเอียดมากมาย แต่ผมจะแนะนำ 3 ขั้นตอนที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ไม่ยาก
ขั้นตอนที่ 1: เลือกโหมดรูปแบบภาพ
อันดับแรก เลือกโหมดรูปแบบภาพที่ต้องการใช้ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือดูจากคู่มือการใช้งานกล้องเพื่อเช็คว่ากล้องของคุณมีโหมดรูปแบบภาพใดให้เลือกใช้งานบ้าง นอกจากนี้ ในกล้องแทบทุกรุ่นยังสามารถเช็คโหมดรูปแบบภาพได้จากเมนูการถ่ายภาพ
แม้ว่าในกล้องแต่ละรุ่นจะมีโหมดที่แตกต่างกัน แต่ควรมีโหมดทั้ง 7 โหมดต่อไปนี้ให้เลือกใช้งานในเมนู ได้แก่ อัตโนมัติ, ปกติ, ภาพบุคคล, ภาพวิว, ภาพเป็นกลาง, ภาพตามจริง และภาพขาวดำ การที่จะใช้โหมดทั้งหมดนี้ให้ชำนาญในคราวเดียวอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ตอนนี้ผมจะขอเน้นไปที่โหมดเพียงสองโหมดเท่านั้น
ผมขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำโหมด "ปกติ" และ "ภาพวิว" ก่อน โดยให้เลือก "ปกติ" หากคุณต้องการบรรยากาศที่ดูสงบ หรือ "ภาพวิว" หากคุณต้องการบรรยากาศที่มีพลังและดูมีชีวิตชีวา แต่ละโหมดจะมีคุณสมบัติพิเศษอยู่ในตัว ดังนั้น คุณจึงควรจะสามารถเลือกโหมดที่คุณต้องการได้อย่างง่ายดาย
ขั้นตอนที่ 2: ปรับความเปรียบต่าง
ขั้นตอนนี้นับว่าสำคัญที่สุด! เพราะแม้ว่าเราจะเปลี่ยนอารมณ์ภาพได้ด้วยการปรับรูปแบบภาพ แต่การปรับความเปรียบต่างคือวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลหรือมืดครึ้ม
เลือกรูปแบบภาพแล้วกด "INFO" เพื่อไปสู่หน้าจอการตั้งค่าละเอียด
พารามิเตอร์ทั้งสี่ ได้แก่ ความคมชัด ความเปรียบต่าง ความอิ่มตัวของสี และโทนสี จะแสดงขึ้นบนหน้าจอ อย่างไรก็ดี การปรับความเปรียบต่างจะให้ผลลัพธ์ของภาพที่ดีที่สุด ดังนั้น เราควรเริ่มต้นด้วยการปรับความเปรียบต่างก่อน
พารามิเตอร์ความเปรียบต่างจะช่วยปรับพลังพลวัตระหว่างความมืดและแสงสว่างในภาพ และการใช้พารามิเตอร์ดังกล่าวเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ทั้ง 2 แบบดังที่แสดงด้านบนก็ทำได้ง่าย โดยคุณสามารถตั้งค่าไปที่ค่าต่ำที่สุด (-4) เพื่อให้ภาพดู "นุ่มนวล" หรือตั้งไปที่ค่าสูงสุด (+4) เพื่อให้ภาพดู "มืดครึ้ม" ก็ได้
เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับการตั้งค่าความเปรียบต่างแล้ว การปรับความอิ่มตัวของสีหรือความเข้มของสีในภาพจะช่วยให้คุณได้ภาพถ่ายที่ดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งหมดมีเพียงเท่านี้เอง! ง่ายมากใช่ไหมครับ และแน่นอนว่าหากคุณจะลองใช้ค่าความเปรียบต่างอื่นๆ เพื่อปรับแต่งเอฟเฟ็กต์ให้เหมาะกับความต้องการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 3: ใช้การชดเชยแสง
การชดเชยแสงคือพารามิเตอร์สำหรับการปรับความสว่างของภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภาพใดก็ตาม เพียงแค่ตั้งค่าการชดเชยแสงก็สามารถสร้างภาพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงได้แล้ว ดังนั้น จึงควรนำไปลองใช้งานดู
ในกล้องเกือบทุกรุ่น การปรับการชดเชยแสงทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หมุนวงแหวนเท่านั้น
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ หากคุณต้องการบรรยากาศที่นุ่มนวล ให้ใช้การชดเชยแสงเป็นบวก และหากต้องการบรรยากาศที่มืดครึ้มให้ใช้การชดเชยแสงเป็นลบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ได้ภาพที่ดู "นุ่มนวล" การตั้งค่าการชดเชยแสงเป็นบวกมากๆ จาก EV+1 เป็น 2 ย่อมมีประสิทธิภาพในการขับเน้นบรรยากาศได้มากกว่า ดังนั้น จึงควรลองใช้การชดเชยแสงเป็นบวกอย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าภาพจะออกมาสว่างจ้าจนเกินไป
สำหรับการสร้างบรรยากาศที่มืดครึ้ม วิธีขับเน้นบรรยากาศที่ได้ผลมากกว่าคือการลดการเปิดรับแสง ดังนั้น ผมจึงแนะนำว่าควรลดการเปิดรับแสงจาก EV0 เป็น -1 และเนื่องจากความสว่างจะแตกต่างกันไปตามตัวแบบ ดังนั้น ควรลองถ่ายภาพสักสองสามภาพเพื่อหาความสว่างที่เหมาะกับความต้องการของคุณ
เคล็ดลับคือ เริ่มต้นด้วยการใช้การชดเชยแสงเป็นบวกมากๆ จนกระทั่งคุณเริ่มคิดว่าคุณตั้งค่าชดเชยแสงมากจนเกินไป จากนั้นจึงค่อยๆ ลดลงมาทีละน้อย วิธีนี้จะช่วยให้คุณได้ความสว่างที่เหมาะสมได้รวดเร็วกว่าตั้งค่าน้อยๆ ไว้ตั้งแต่แรก
หากคุณต้องการทราบวิธีใช้คุณสมบัติการชดเชยแสง โปรดคลิกที่ลิงก์ด้านล่างเพื่อดูบทความ
[บทที่ 9] การใช้ประโยชน์จากการชดเชยแสง
สรุป
เนื้อหาหลักของบทความนี้คือ การสร้างภาพที่ให้บรรยากาศตามที่ต้องการได้ใน 3 ขั้นตอนง่ายๆ
1. เลือกโหมดรูปแบบภาพ
2. ปรับความเปรียบต่าง
3. ใช้การชดเชยแสง
เมื่อคุณใช้ 3 ขั้นตอนนี้จนเกิดความชำนาญแล้ว คุณจะได้ภาพถ่ายที่มีบรรยากาศเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงควรลองนำไปใช้งานกันดูนะครับ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย