พบกับ ภัทรินทร์ คุ้มทุกทิศ ช่างภาพไทยสมัครเล่นในด้านการถ่ายภาพนกในธรรมชาติ ในวันทำงานปกติชายคนนี้ใช้เวลาทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาจะยุ่งอยู่กับการถ่ายทอดผลงานผ่านวิธีโปรดของเขา ภัทรินทร์จึงเป็นช่างภาพที่มีแบ็คกราวด์แตกต่างจากคนอื่น เราจะมาพูดคุยและเจาะลึกถึงเรื่องราวความหลงใหลในการถ่ายภาพนกในธรรมชาติของชายผู้นี้ (บรรณาธิการโดย: SNAPSHOT, ขอขอบคุณ Obayashi Corporation)
ผมเชื่อว่าเราพบความสุขได้แม้ในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
Q1: ทำไมถึงเลือกที่จะถ่ายภาพนก ทั้งๆ ที่ในเมืองไทยมีสิ่งอื่นๆ มากมายที่น่าสนใจ
มีอยู่วันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ผมเปิดดูภาพในกล้องถ่ายรูปของเพื่อนแล้วไปเจอภาพถ่ายนกเข้า ผมรู้สึกทึ่งกับสีสันของมัน สิ่งแรกที่ผมคิดคือสีของมันสวยมาก ก่อนหน้านั้น นกที่ผมเคยเห็นบินๆ อยู่ก็มีแต่สีเทากับสีดำ ตั้งแต่นั้นมา ผมก็หันมาสนใจถ่ายภาพนกในธรรมชาติเป็นหลัก
ชื่อนก
นกเงือกหัวแรด
สถานที่ถ่ายภาพ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา สุราษฎร์ธานี
EOS 70D/ EF800mm f/5.6L IS USM/ (f/7.1, 1/800 วินาที, EV+1.3)/ AF
Q2: คาดหวังอะไรจากภาพนกที่เราถ่ายเอง
ผมไม่คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการถ่ายภาพพวกนี้ และไม่ได้ตั้งใจจะไปแข่งกับช่างภาพคนอื่นๆ สิ่งที่ผมคาดหวังจากภาพที่ถ่ายคือ คนดูแล้วมองเห็นว่าธรรมชาติเมืองไทยสวยงามแค่ไหน และหวังว่าจะทำให้เกิดการอนุรักษ์นกในประเทศนี้
ชื่อนก
นกจาบคาเคราสีฟ้า
สถานที่ถ่ายภาพ
อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ประจวบคีรีขันธ์
EOS 5D Mark III/ EF800mm f/5.6L IS USM/ (f/7.1, 1/200 วินาที, EV-0.7)/ Manual Focus/ WB: อัตโนมัติ/ ISO 200
Q3: ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพนกทั้งหมด ชอบอะไรมากที่สุด
ผมชอบการแคมปิ้งในป่ามากที่สุด ชอบมาก ผมอยากจะทิ้งโลกที่ทันสมัยแล้วมาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติจริงๆ เวลาที่ผมแคมปิ้ง ผมอยู่คนเดียวแต่กลับไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะผมมีธรรมชาติเป็นเพื่อน ผมสัมผัสได้ถึงความสุขสงบและได้พักใจ และผมเชื่อว่าเราพบความสุขได้แม้ในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อันที่จริง ถ้าเราดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เราจะมีชีวิตที่มีความสุขไม่ว่าจะรวยหรือจน
Q4: คุณคงเคยมีประสบการณ์ท้าทายระหว่างการถ่ายภาพในป่ามาเยอะ เล่าให้เราฟังสักเรื่องได้ไหมครับ
มีครั้งหนึ่ง ตอนที่ผมตั้งเต้นท์บังไพรในป่าแล้วรอนกปรากฏตัวเพื่อจะได้ถ่ายภาพ ทากเข้าไปในรูจมูกโดยที่ผมไม่รู้ตัวแล้วมันแล้วก็เริ่มดูดเลือด ผมจำเป็นต้องอยู่นิ่งๆ นานกว่า 10 นาที รอจนมันดูดเลือดจนอิ่ม ต้องสั่งน้ำมูกแรงๆ หลายครั้ง ทากจึงหลุดออกมา แต่ตลอดช่วงเวลานั้น ผมก็ยังถ่ายภาพต่อไปด้วย
ชื่อนก
นกอ้ายงั่ว
สถานที่ถ่ายภาพ
จังหวัดสระแก้ว
EOS 7D/ EF800mm f/5.6L IS USM/ (f/5.6, 1/200 วินาที, EV+2.7)/ โหมด AF: One-Shot/ WB:อัตโนมัติ/ ISO 250
Q5: ผู้อ่านของ SNAPSHOT หลายคนเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพนกในธรรมชาติด้วยเหมือนกัน คุณภัทรินทร์มีเทคนิคการถ่ายภาพที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีที่พอจะแชร์ให้เพื่อนๆ ช่างภาพไหมครับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องถือกล้องค้างไว้ให้นิ่งไม่ขยับไปมาขณะถ่ายภาพ เพื่อจะไม่ทำให้นกตื่นตัวหรือตกใจ และผมแนะนำให้ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบ Live View เพื่อตรวจสอบว่าจุดโฟกัสอยู่ในตำแหน่งที่คุณต้องการหรือไม่
Q6: เนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเจอนกที่ไหนเมื่อไหร่ โอกาสในการถ่ายภาพจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก คุณมีเทคนิคอะไรในการหาโอกาสในการถ่ายภาพไหมครับ
การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มช่างภาพแนวเดียวกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพ เนื่องจากเราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น วงจรชีวิตของนก เส้นทางการอพยพ ฤดูผสมพันธุ์ และลักษณะเฉพาะของนกแต่ละสายพันธุ์
ชื่อนก
นกขุนแผน (สาลิกาดง)
สถานที่ถ่ายภาพ
ภูแก้ว ชัยภูมิ
EOS 7D/ EF800mm f/5.6L IS USM/ (f/5.6, 1/125 วินาที, EV+0.7)/ โหมด AF: One-Shot / WB: อัตโนมัติ/ ISO 400
Q7: อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ใช้มีอะไรบ้างครับ
ตัวกล้อง DSLR ที่ผมใช้คือ EOS 5D Mark III และ EOS7 7D Mark II สำหรับกล้องคอมแพค ผมใช้ PowerShot G1 X ส่วนเลนส์นั้น ผมใช้ EF15mm f/2.8 Fisheye, EF17-40mm f/4L USM, EF24-105mm f/4L IS USM, EF70-200mm f/4L USM, EF400mm f/5.6L USM, EF300mm f/2.8L IS USM, EF100mm f/2.8 Macro USM และ EF800mm f/5.6L IS USM และอุปกรณ์เสริม ผมใช้ Speedlite 270EX II และ Speedlite 580EX
Q8: ฟังก์ชั่นไหนของกล้องที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะอะไร
ฟังก์ชั่นและการตั้งค่ากล้องที่ผมใช้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ครับ หากนกที่เป็นตัวแบบตอนนั้นกำลังเคลื่อนไหว เช่น บินอยู่หรือล่าเหยื่ออยู่ ผมจะใช้โฟกัสอัตโนมัติ (AI-Servo Focus ร่วมกับ Continuous shooting mode) แต่หากนกไม่เคลื่อนไหว เช่น ตอนที่มันกำลังเกาะกิ่งไม้ ผมจะใช้แมนนวลโฟกัสและเปิดฟังก์ชั่นการขยายบนหน้าจอในโหมด Live View เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลกระทบกับคุณภาพของภาพถ่าย ผมจะไม่ค่อยใช้ ISO ที่สูงกว่า 400 ถ้าแสงดีๆ ผมจะใช้ ISO ที่ไม่เกิน 200 สำหรับสมดุลแสงขาว ผมตั้งค่าไว้เป็นโหมดอัตโนมัติ และผมใช้รูปแบบภาพ [มาตรฐาน] เพื่อให้สีของนกออกมาสมจริง สำหรับรูปแบบการบันทึก ผมถ่ายเป็นฟอร์แมต RAW เพื่อที่จะสามารถปรับแต่งด้วยโปรแกรม Digital Photo Professional ได้
ชื่อนก
เหยี่ยวขาว
สถานที่ถ่ายภาพ
ทุ่งนาแห่งหนึ่งในเพชรบุรี
EOS 70D/ EF800mm f/5.6L IS USM/ (f/5.6, 1/1600 วินาที, EV+1.3)/ โหมด AF: AI Servo/ WB:อัตโนมัติ/ ISO 400
Q9: วันธรรมดาทำงานออฟฟิศ สุดสัปดาห์เป็นช่างภาพ ประสบการณ์ในการถ่ายภาพช่วยเสริมการทำงานประจำบ้างไหมครับ ช่วยยังไงบ้าง
เวลาที่เราดูนก เราจะต้องอดทนรอโดยไม่ส่งเสียง แต่เรายังจำเป็นต้องเตรียมพร้อมกดชัตเตอร์โดยไม่ทำให้กล้องกระตุกหรือทำให้ภาพเสีย ยิ่งไวยิ่งได้ภาพที่ต้องการ เป็นช่วงเวลาที่ดีมากเพราะจะได้ฝึกสมาธิ นี่คือประโยชน์ของการถ่ายภาพนกในธรรมชาติ เป็นการฝึกฝนเรื่องสมาธิ การมีใจจดจ่อ ความมั่นใจในตัวเอง และการตระหนักรู้ตัว และยังช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พลังการจินตนาการ ความสงบในจิตใจ และสร้างสมดุลทางอารมณ์ด้วย ที่สำคัญ ช่วยจัดการกับอารมณ์ที่ไม่ดีและลดความเครียด ประโยชน์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนถ่ายภาพ แต่มีผลกับชีวิตการทำงานในวันปกติด้วยครับ
Q10: มีช็อตในฝันไหมครับ สักวันหนึ่งอยากจะถ่ายภาพแบบไหน
ผมมองทุกภาพที่ผมถ่ายเป็นช็อตในฝัน ผมจะได้ถ่ายทุกๆ ภาพให้ดีที่สุด
เกิดเมื่อปี 1953 ปัจจุบันภัทรินทร์ทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปประจำแผนกจัดซื้อให้กับบริษัทไทย โอบายาชิหรือบริษัท นันทวัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของ Obayashi Corporation นอกจากนี้ เขายังเป็นช่างภาพ ซึ่งผลงานหลักๆ คือการถ่ายภาพนกระหว่างการไปแคมปิ้งท่ามกลางธรรมชาติตอนสุดสัปดาห์ ภาพนกที่เขาถ่ายทอดออกมานั้นยังเป็นการแบ่งปันความงดงามของผืนป่าธรรมชาติในประเทศไทยให้โลกได้รับรู้ไปด้วย