แฟลชสโตรโบสโคป (Stroboscopic Flash)
เซนเซอร์ภาพทำการสร้างภาพโดยการตอบสนองต่อแสง กล้องจึงไม่สามารถถ่ายภาพใดๆ ในสถานที่ที่มืดสนิทได้เลยแม้ว่าชัตเตอร์จะเปิดอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำแฟลชมาใช้ จะสามารถถ่ายภาพได้ทันทีที่ยิงแสงไฟแฟลชออกไป หรือสามารถพูดได้ว่า แฟลชทำหน้าที่เป็นชัตเตอร์ในที่มืดนั่นเอง ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพโดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติต่างๆ ของอุปกรณ์แฟลช (เรื่องโดย: Koji Ueda)
หน้า: 1 2
การจับภาพการเคลื่อนไหวในภาพเดียวด้วยการยิงแฟลชต่อเนื่อง
แฟลชสโตรโบสโคปเป็นคุณสมบัติที่จะให้แสงกับตัวแบบหลายครั้งในหนึ่งภาพโดยการยิงแสงแฟลชต่อเนื่อง ในบรรดาแฟลชเสริมของ Canon แฟลชที่มาพร้อมคุณสมบัตินี้ ได้แก่ Speedlite 600EX-RT และ Speedlite 580EX II ในการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชสโตรโบสโคป คุณสามารถระบุจำนวนการยิงแฟลชต่อวินาที หรือจำนวนการยิงแฟลชรวมก็ได้ อย่างไรก็ตาม ให้ระลึกไว้ว่าจำนวนการยิงแฟลชขึ้นอยู่กับแสงแฟลชด้วย ก่อนอื่น สถานที่ถ่ายจะต้องเป็นที่ที่คุณสามารถมองเห็นตัวแบบได้เลือนๆ ซึ่งคุณจำเป็นจะต้องกำหนดจุดโฟกัสล่วงหน้า เพราะอาจไม่สามารถปรับโฟกัสได้เนื่องจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
EOS 60D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS/ Manual exposure (f/8, 4 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ Speedlite 580EX II (Manual, 1/16)/ (แฟลชสโตรโบสโคป) ความถี่การยิงแฟลช: 1Hz; จำนวนแฟลช: 3
เคล็ดลับ
- ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของตัวแบบโดยควบคุมจำนวนการยิงแฟลชและระยะเวลาที่แฟลชกลับมาพร้อมใช้งาน
- กำหนดจุดโฟกัสล่วงหน้า
สภาพการถ่าย
ภาพนี้ถ่ายในร่มในเวลากลางคืนและปิดไฟ ภาพซิลูเอตต์ของตัวแบบอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ผมติดตั้งกล้องกับขาตั้งกล้อง และหันแฟลช Speedlite ตรงไปที่ตัวแบบ ผมคลุมฉากด้านหลังไว้ด้วยผ้าดำเพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ต้องการปรากฏในภาพ ผมตั้งค่าจำนวนการยิงแฟลชไปที่ [3] ตามด้วยตั้งค่าความถี่การยิงแฟลชไปที่ [1Hz]
ตำแหน่งของตัวแบบ กล้อง และแฟลช Speedlite
A: ประมาณ 2 เมตร
B: การเคลื่อนไหวหลังจากการยิงแฟลชแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการใช้งานแฟลชสโตรโบสโคป
1. เลือกโหมดการถ่ายภาพ
แนะนำให้ใช้โหมดการเปิดรับแสงแบบแมนนวล (Manual Exposure) เนื่องจากกำหนดความเร็วชัตเตอร์ตามจำนวนการยิงแฟลชได้ง่าย
2. จับโฟกัส
เมื่อทำการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยซึ่งแทบจะมืดสนิท ให้กำหนดจุดโฟกัสล่วงหน้าโดยใช้ระบบแมนนวลโฟกัส
3. กำหนดจำนวนการยิงแฟลช
กำหนดจำนวนการยิงแฟลชตามจำนวนครั้งที่คุณต้องการให้ตัวแบบปรากฏอยู่ในภาพ
4. ตั้งค่าความถี่การยิงแฟลชและความเร็วชัตเตอร์
ความถี่การยิงแฟลช (Hz) เป็นตัวกำหนดจำนวนครั้งที่มีการยิงแฟลชต่อวินาที หลังจากทำเช่นนั้น กำหนดความเร็วชัตเตอร์ตามระยะเวลาจนกระทั่งถึงเวลาสิ้นสุดของแฟลชสโตรโบสโคป ต่อไป ลั่นชัตเตอร์ตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
เคล็ดลับการใช้แฟลชสโตรโบสโคป
1. อย่าวางสิ่งของใดๆ ในบริเวณฉากหลัง
ระหว่างการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชสโตรโบสโคป สำคัญว่าคุณต้องไม่วางสิ่งของใดๆ ไว้ด้านหลังตัวแบบ เพราะเมื่อถ่ายภาพซ้อน สิ่งของในฉากหลังจะซ้อนทับกับตัวแบบ ส่งผลให้ภาพดูระเกะระกะ ดังนั้น ฉากหลังควรจะอยู่ในลักษณะเรียบๆ เช่น กำแพง เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าลืมว่ากำแพงสีขาวอาจทำให้ตัวแบบดูโปร่งแสง ในกรณีนี้ คุณสามารถคลุมกำแพงด้วยผ้าหรือกระดาษสีดำ
2. ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ตามจำนวนภาพที่ต้องการถ่ายให้อยู่ในหนึ่งภาพ
คุณจำเป็นต้องกำหนดความถี่การยิงแฟลช (Hz) จำนวนการยิงแฟลช และความเร็วชัตเตอร์ ตามจำนวนครั้งที่ต้องการให้ตัวแบบปรากฏอยู่ในภาพ เช่น หากคุณต้องการถ่ายภาพตัวแบบทั้งหมด 3 ครั้งในหนึ่งภาพ แต่ละครั้งที่ถ่ายที่ระยะเวลารอบละ 1 วินาที ให้กำหนดความถี่การยิงแฟลชเป็น 1 Hz และจำนวนการยิงแฟลชเป็น 3 ครั้ง ในกรณีนี้ ให้ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 3 วินาที อย่าลืมตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ตามความถี่การยิงแฟลช และจำนวนการยิงแฟลช
3. ให้ตัวแบบเคลื่อนไหวในแนวนอนให้สอดคล้องกับกล้อง
เนื่องจากการถ่ายภาพด้วยแฟลชสโตรโบสโคปมักทำในสถานที่ที่แทบจะมืดสนิท จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปรับโฟกัสให้เป็นไปตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบ จึงจำเป็นต้องกำหนดโฟกัสที่แน่นอนล่วงหน้า จำไว้ว่า เมื่อเลื่อนตัวแบบไปด้านข้างให้สอดคล้องกับกล้องแทนที่จะเลื่อนไปทางด้านหน้าหรือด้านหลัง คุณจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องโฟกัสที่หลุดออกนอกแนวกล้อง ในกรณีที่ตัวแบบจะเลื่อนไปด้านหน้าหรือด้านหลังเล็กน้อย ให้ลดขนาดรูรับแสงลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ยังคงรักษาโฟกัสได้
เกิดที่ฮิโรชิมาในปี 1982 Ueda เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพชื่อ Shinichi Hanawa จากนั้น เขาหันมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ และในปัจจุบันเขามีส่วนในงานถ่ายภาพหลากหลายประเภท ตั้งแต่นิตยสารไปจนถึงงานโฆษณา ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ถ่ายภาพในเมืองต่างๆ และภาพทิวทัศน์ขณะเดินทางไปทั่วโลก นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียนและผู้บรรยายเรื่องการถ่ายภาพทั้งในห้องบรรยายและในเวิร์คช็อป