”เราไม่เพียงแค่ถ่ายภาพ แต่เราสร้างสรรค์ผลงาน” - อันเซล อดัมส์ สิ่งที่แยกระหว่างภาพถ่ายที่ดีกับภาพถ่ายทั่ว ๆ ไปคืออะไร? นับแต่อดีตมา ภาพถ่ายนับล้านจากสถานที่หลากหลายแห่ง เหตุใดบางภาพถึงช่างดูน่าอัศจรรย์ใจนัก แต่บางภาพกลับดูเรียบ ๆ เคล็ดลับพื้นฐาน 10 ประการต่อไปนี้สำหรับตากล้องที่อยากจะพัฒนาทักษะการถ่ายภาพให้ดียิ่งขึ้น (รายงานโดย Isaiah Tan)
1) หามุมที่แตกต่างจากเดิม
ตากล้องหลายคนเดินไปรอบ ๆ และมักจะถ่ายภาพแค่ในระดับสายตา ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีที่ผิดอะไร แต่ตากล้องที่แตกต่างมักจะหามุมถ่ายภาพที่น่าทึ่งอยู่เสมอ การถ่ายภาพมุมต่ำทำให้วัตถุดูสูงเด่นเป็นสง่า ขณะที่ถ่ายภาพมุมสูงจะให้ภาพออกมาตรงกันข้าม
ตัวอย่างของภาพถ่ายมุมต่ำที่ใช้เทคนิคการรับแสงระยะยาว
2) จัดวางองค์ประกอบด้วยกฎสามส่วน
กฎสามส่วนที่ว่านี้ (Rule of thirds) คือแนวทางที่เป็นประโยชน์วิธีหนึ่ง โดยการวางตำแหน่งวัตถุให้อยู่ในเฟรม กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีตัวช่วยเพื่อใช้กฎสามส่วนนี้อยู่ในตัว
อย่าเคยชินกับการที่ต้องจัดวางวัตถุให้อยู่ตรงกลางเฟรม เพราะภาพอาจจะดูสมดุลก็จริง
แต่ก็จะทำให้เป็นภาพที่ดูไม่น่าสนใจไปด้วย กฎนี้ยังนำไปใช้ได้ดีกับการภาพถ่ายแนวนอน อย่างไรก็ดี ให้มองว่ากฎนี้มีไว้เป็นแนวทางมากกว่าเป็นกฎที่เข้มงวด
ทำตามกฎสามส่วนเพื่อให้ได้ภาพที่น่าสนใจและชวนมอง
3) ใช้ขาตั้งกล้อง
หากคุณจริงจังกับการถ่ายภาพให้ออกมาสมบูรณ์ คุณจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง
ซึ่งใช้งานได้ดีกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน การเพิ่มค่า ISO จะทำให้ภาพมีรอยจุดมากกว่าเดิม
ขาตั้งกล้องทำให้คุณกดชัตเตอร์ช้าลงได้ และสามารถเก็บภาพอย่างน่าสนใจ ด้วยมุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ
อีกทั้งยังมีประโยชน์มากเมื่อต้องถ่ายภาพที่ใช้เลนส์ถ่ายไกล ซึ่งมีน้ำหนักมากและยากที่จะถือให้นิ่งได้
4) ถ่ายภาพแบบ High Dynamic Range หรือ HDR
การถ่ายภาพแบบ HDR จะให้ความรู้สึกของการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ และสิ่งที่วิเศษสุดของกล้อง Canon EOS DSLR คุณภาพสูงทั้งหลาย คือมีโหมดใช้งาน HDR
คุณสามารถถ่ายภาพความคมชัดสูงได้ด้วยการถ่ายภาพที่มีช่องรับแสงหลายช่องร่วมกับการใช้ขาตั้งกล้อง ค่า Dynamic range โดยพื้นฐานแล้วจะแตกต่างกันตรงค่าแสงที่สว่างสุดกับค่าแสงมืดสุดในแต่ละภาพ
ผลที่ได้จะมีตั้งแต่ภาพถ่ายที่มีค่าความต่างของแสงสูงไปจนถึงงานศิลปะเหนือจริงอันน่าทึ่ง
เพื่อภาพ HDR ที่ดี ขอแนะนำให้ใช้โหมด Auto Exposure Bracketing ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์สำหรับแต่งภาพ HDR ที่ดีด้วย
5) ถ่ายภาพด้วยเลนส์ไวแสง
ยิ่งมีเลนส์ไวแสงมากเท่าไร (f stop จะยิ่งต่ำ) ระยะชัดลึกและชัดตื้นจะน้อยเท่านั้น โดยระยะชัดลึกและชัดตื้นในที่นี้หมายถึงระยะที่ปรากฏความคมชัดของภาพในระดับที่พอใจ คงเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจและน่าตื่นเต้นอย่างมากที่การใช้ระยะชัดลึกและชัดตื้นแคบแล้วทำให้วัตถุคมชัดด้วยพื้นห
น้าเบลอหรือพื้นหลังเบลอ และคงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความเชื่อของหลาย ๆ คน นั่นคือ เราสามารถหาซื้อเลนส์ไวแสงด้วยราคาที่ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วงได้ คุณสามารถซื้อเลนส์ไวแสงคุณภาพดีมาใช้ในราคาสมเหตุสมผล
เลนส์ชนิดนี้ใช้ถ่ายภาพโดยทั่วไปและถ่ายภาพกลางคืนได้เป็นอย่างดี การใช้เลนส์ไวแสงทำให้คุณมั่นใจได้ว่าแม้กดชัตเตอร์ด้วยความเร็วมาก ก็จะได้ภาพที่มีความสั่นน้อย
ทั้งยังใช้งานได้ดีในสภาพที่มีแสงน้อยอีกด้วย เลนส์ไวแสงนี้ยังลดความจำเป็นในการตั้งค่า ISO สูง (ซึ่งทำให้ภาพแตก) และยังเหมาะกับการแยกวัตถุออกจากพื้นหลังได้อย่างดีเยี่ยม
6) การปรับลดแสงด้วยฟิลเตอร์แปรผัน Neutral Density (ND) (ใช้ได้ดีกับเลนส์ไวแสง)
อย่าเพิ่งออกจากบ้าน หากไม่มีฟิลเตอร์แปรผัน Neutral Density (ND) ติดตัวไปด้วย จริง ๆ แล้วฟิลเตอร์แปรผัน
ND คือตัวปรับลดแสงเพื่อใช้ลดหรือปรับค่าความเข้มของความยาวคลื่นหรือสีของแสงเท่า ๆ
กันโดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเฉดสี คุณสามารถปรับรูรับแสงให้กว้างสุดพร้อมกับกดชัตเตอร์อย่างช้า ๆ
ในวันที่แสงจ้า ไม่ว่าจะถ่ายภาพน้ำตกฟุ้งเหมือนฝันในตอนกลางวันที่แดดจ้า
หรือเส้นแสงไฟของการจราจรยามค่ำคืนก็ทำได้อย่างไร้ที่ติ ฟิลเตอร์แปรผัน ND ทำให้เป็นเรื่องกล้วย ๆ ในการปรับค่าการรับแสง ในสภาพที่แสงเปลี่ยนรวดเร็ว
7) ใช้เลนส์มาโคร
เลนส์มาโคร คือเลนส์ที่ทำให้คุณถ่ายภาพระยะใกล้ออกมาชัดและดีที่สุด โดยเฉพาะวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก ๆ
ราวกับใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง ไม่ใช่แค่ความสนุกเท่านั้นแต่คุณจะทึ่งกับสิ่งที่เห็นจากเลนส์มาโคร
คุณอาจต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อการถ่ายภาพมาโครที่แม่นยำ เพราะอาจยากพอสมควรที่จะโฟกัสวัตถุขนาดเล็กมาก ๆ แต่ถ้าคุณไม่มีเลนส์มาโคร ลองใช้ท่อเลนส์หรือใช้เลนส์ 500D สำหรับถ่ายระยะใกล้
ซึ่งเป็นเลนส์คู่ขนาดเล็กพอที่ต่อเข้าตัวฟิลเตอร์ของเลนส์ได้ แถมมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก และเปลี่ยนให้เป็นเลนส์มาโครได้ทันที
ตัวอย่างของภาพที่ได้จากเลนส์มาโครและระยะชัดลึกและชัดตื้นแคบ
8) ชั่วโมงทองคำ
ชั่วโมงทองคำ หมายถึงช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ไม่มีเวลาตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ส่วนไหนของโลก ในช่วงเวลาชั่วโมงทองคำ
สีอบอุ่นของพระอาทิตย์จะเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้แสงสวยงามขึ้น
เพราะแสงเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศหนา แสงก็จะหักเหมาก และจะทำให้ค่าความต่างของแสงเบาบางลง
9) รวมพื้นหน้าในภาพถ่าย
คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นหากรวมภาพพื้นหน้าลงไปในภาพทิวทัศน์เพื่อเพิ่มความลึกและองค์ประกอบ บางครั้ง เอาขาตั้งออกไป แค่วางกล้องลงบนพื้นก็ได้ ส่วนการใช้เลนส์มุมกว้าง อาจจะใช้ทราย หิน
หรือหญ้าเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับภาพของคุณ และยังทำให้ภาพน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้น
10) ทดลองและสนุกไปกับประสบการณ์
การถ่ายภาพคือการทดลองอย่างหนึ่ง เมื่อใดที่มีเทคนิคอยู่ในใจแล้ว ก็อย่ากลัวที่จะแหกกฎทั้งปวง ปกติแล้ว จะแนะนำให้คนใช้เทคนิคนี้ก็ต่อเมื่อแม่นมือแล้ว อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องยึดกฎใด ๆ เลย ทุกอย่างมีแนวทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิคหรือความคิดสร้างสรรค์ ลองมองโลกผ่านเลนส์ด้วยมุมใหม่ ๆ ที่น่าทึ่ง และมีความสุขไปกับเส้นทางนี้
ภาพถ่ายหลอดไฟทังสเตนแบบดั้งเดิมด้วยเลนส์มาโคร
*ภาพตัวอย่างถ่ายด้วย EOS 5D Mark II
เป็นช่างภาพมืออาชีพผู้หลงใหลการถ่ายภาพ ดำเนินกิจการบริษัทผลิตวิดีโอ ธุรกิจถ่ายภาพหรือวิดีโอแต่งงาน และมีบาร์เล็ก ๆ อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นคนที่สนุกกับการได้ลองเทคนิคการถ่ายภาพใหม่ ๆ ชอบเรียนรู้และค้นหาสิ่งใหม่ ๆ จากโลกรอบตัวอยู่เสมอ