นอกจากภาพเซลฟี่และการเดินทางแล้ว ภาพถ่ายอาหารดูเหมือนจะเป็นภาพที่ถูกแชร์บ่อยที่สุดบนโซเชียลมีเดีย กล่าวคือมีจำนวนกว่า 260 ล้านโพสต์ และตัวเลขนี้ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการใส่แฮชแท็ก #food บน Instagram แล้วคุณอยากแชร์ภาพอาหารบนโซเชียลมีเดียบ้างไหม มาอ่านบทความนี้กัน แล้วเราจะสอน 5 วิธีถ่ายภาพอาหารยั่วน้ำลายที่จะทำให้คนที่เข้ามาดูอดใจไม่ไหว
ถ้าคุณเลื่อนอ่านฟีด Instagram ทุกวันนี้คุณจะต้องเห็นภาพอาหารน่าอร่อยเต็มไปหมด ถ้าภาพอาหารของคุณดูน่าเบื่อหรือไม่แตกต่างจากของคนอื่น ๆ มาดูกันว่าเราจะใส่ความเย้ายวนลงในภาพอาหารได้อย่างไรด้วยเคล็ดลับ 5 ข้อ นี้ ที่จะทำให้ทุกคนอดใจกลืนน้ำลายไม่ไหวเมื่อเห็นภาพอาหารของคุณ
1. ถ่ายด้วยแสงธรรมชาติ
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM, f/4, 22 มม., 1/125 วินาที, ISO100
แสงธรรมชาติคือคำตอบหากคุณต้องการถ่ายภาพอาหารสวย ๆ โดยเก็บสีสันและรายละเอียดที่แท้จริงของอาหารไว้ แต่ถ้าคุณออกไปถ่ายภาพกลางแจ้งไม่ได้ ก็ให้เลือกถ่ายภาพใกล้หน้าต่างหรือบริเวณที่แสงแดดไม่ได้ส่องลงมาโดยตรง แต่หากแสงแดดแรงเกินไป ให้กระจายแสงโดยใช้ผ้าม่านหรือผ้าสีขาว อย่าลืมคำนึงถึงทิศทางของแสง วัตถุที่แสงเน้นย้ำในภาพถ่าย บริเวณที่แสงตกกระทบ และบริเวณที่เกิดเงา ไม่ควรใช้แฟลชเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาหารของคุณได้รับแสงมากเกินไป จนสีสันและคุณภาพของภาพถ่ายถูกทำลายไปหมด
2. สูงเข้าไว้
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM, f/2, 22 มม., 1/15 วินาที, ISO200
การจัดองค์ประกอบสำคัญมากในการถ่ายรูปอาหารให้ดูน่ารับประทาน เทคนิค Flat Lay หรือการถ่ายภาพจากด้านบนของวัตถุ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการถ่ายภาพอาหาร เพราะจะเน้นสีสันและรูปทรงของอาหารในภาพถ่าย ให้คุณตัดสินใจว่าคุณจะโฟกัสองค์ประกอบใดของอาหาร จากนั้นจึงจัดกรอบภาพให้เหมาะกับสิ่งที่จะโฟกัส ก่อนถ่าย ให้ถือกล้องไว้เหนืออาหารเพื่อเก็บภาพรายละเอียดทั้งหมด ภาพถ่ายของคุณอาจจะมีองค์ประกอบความมนุษย์ติดเข้าไปด้วยก็ได้ เช่น มือที่กำลังเอื้อมไปหยิบอาหารในจาน ซึ่งจะเพิ่มชีวิตชีวาและบริบทให้กับภาพถ่าย
รับกลเม็ดเคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพอาหารด้วยเทคนิค Flay Lay เพิ่มเติมจากบทความวิธีถ่ายภาพ Flat Lay อย่างเซียน
3. ใช้เส้นนำสายตา
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM, f/2, 22 มม., 1/15 วินาที, ISO200
ดวงตาของคนเรามักจะมองตามเส้นสายต่าง ๆ ดังนั้นการใช้เส้นนำสายตาจะดึงความสนใจของผู้ชมมายังวัตถุ ส่วนประกอบในอาหารอย่างเช่น ก้านเซเลอรี่ อุปกรณ์ทำอาหารอย่างตะกร้อตีไข่หรือไม้พาย หรือแม้แต่เศษคุกกี้ สามารถนำมาใช้เป็นเส้นนำสายตาเพื่อช่วยให้ผู้ชมโฟกัสอยู่กับอาหารได้ ในภาพนี้ กาแฟลาเต้ด้านหน้าดึงดูดสายตาของผู้ชมได้ทันที จากนั้นจึงดึงสายตาไปยังพื้นหลัง การสร้างเส้นทแยงเส้นนี้ขึ้นมาให้มองเห็นโดดออกจากเส้นแนวนอนและขอบแนวตั้งของกรอบภาพ จะเป็นการเติมมิติเพิ่มเข้าไปในภาพถ่าย
คุณจะเข้าใจเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้มากขึ้นเมื่อได้อ่านวิธีใช้เส้นสายและลวดลายในการถ่ายภาพ
4. สำรวจมุมต่าง ๆ
ทวนเข็มนาฬิกาจากซ้าย:
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM, f/2.8, 22 มม., 1/160 วินาที, ISO100
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM lens, f/2.8, 22 มม., 1/320 วินาที, ISO100
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM เลนส์, f/2.8, 22 มม., 1/400 วินาที, ISO100
การถ่ายรูปจากมุมที่แตกต่างกันจะช่วยเน้นย้ำรายละเอียดของอาหารและเป็นการดึงผู้ชมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพ ถ่ายรูปอาหารจากด้านบน หรือลดระดับกล้องลงมาให้ทำมุม 30-40 องศากับโต๊ะอาหาร หากต้องการถ่ายภาพสามมิติ ให้ถ่ายตัวแบบจากมุมทแยงเพื่อให้มองเห็นทั้งด้านข้างและด้านบน ทดลองถ่ายรูปจากมุมต่าง ๆ จนกระทั่งได้รูปภาพอาหารที่น่าดึงดูดใจที่สุด
5. เติมเต็มกรอบภาพ
EOS M5, เลนส์ EF-M 22 มม. f/2 STM, f/2.8, 22 มม., 1/60 วินาที, ISO640
อย่ากลัวที่จะโชว์อาหารและรายละเอียดที่ชวนให้น้ำลายไหล ให้คุณเข้าไปใกล้ ๆ ตัวแบบ เพื่อให้อาหารปรากฎอยู่เต็มภาพ วิธีนี้เหมาะอย่างยิ่ง หากคุณต้องการดึงความสนใจของผู้ชมมายังองค์ประกอบบางอย่างในจาน อย่างเช่น ส่วนผสมสดใหม่อย่างในภาพด้านบน หรือแม้แต่วิธีการจัดจาน
อยากเรียนรู้เพิ่มเติมใช่ไหมล่ะ ลองอ่านบทความเรื่องเติมความคูลให้ภาพถ่ายบน Instagram ด้วยกล้องมิเรอร์เลส
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!