ด้วยเลนส์ซูมมาตรฐาน "EF24-105mm f/4L IS USM" คุณสามารถเพลิดเพลินกับการถ่ายทอดภาพที่นุ่มนวลด้วยปริมาณเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เพียงพอ ในบทความนี้ ฉันนำรีวิวภาพถ่ายสแนปสตรีทแบบถือกล้องถ่ายมาฝากผู้อ่านทุกท่าน (เรื่องโดย: Tomoko Suzuki)
หน้า: 1 2
เลนส์ที่วางใจให้ประสิทธิภาพการโฟกัสอัตโนมัติที่น่าพอใจ
Canon เพิ่งมีสมาชิกใหม่ในกลุ่มเลนส์ 24-105mm คือเลนส์ “EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM” ถึงแม้ช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์รุ่นนี้จะไม่ต่างจากรุ่น “EF24-105mm f/4L IS USM” แต่เป็นเลนส์ที่มีราคาพอเหมาะและประสิทธิภาพคุ้มราคาอย่างมาก ความแตกต่างระหว่างเลนส์ “EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM” และเลนส์ “EF24-105mm f/4L IS USM” คือ แทนที่จะมีค่ารูรับแสงสูงสุดตายตัวที่ f/4 เพียงค่าเดียวตลอดช่วงทางยาวโฟกัส เลนส์รุ่นใหม่นี้ใช้ค่า f แบบปรับเปลี่ยนตามระยะ ค่ารูรับแสงสูงสุด f/5.6 ที่ฝั่งเทเลโฟโต้อาจทำให้รู้สึกมืดไปเล็กน้อย แต่ทำให้คุณถ่ายทอดภาพที่ดูนุ่มนวลได้ด้วยปริมาณเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เพียงพอ นอกจากนี้ เลนส์รุ่นใหม่ยังใช้ Stepping Motor (STM) ใหม่เพื่อการใช้โฟกัสอัตโนมัติที่ราบรื่น ซึ่งเห็นผลได้ดีเมื่อถ่ายภาพที่จำเป็นต้องใช้การถ่ายแบบเงียบ หลังจากลองใช้เลนส์นี้แล้ว ฉันรู้สึกทึ่งกับการโฟกัสอัตโนมัติที่มีความเร็วสูงแต่กลับทำงานเงียบเชียบ การใช้งานเลนส์แบบนี้ช่วยลดความกังวลในการถ่ายได้อย่างเป็นปลิดทิ้ง
เนื่องจากประเภทงานภาพถ่ายหลักของฉัน คือ ภาพสแนปช็อตแบบถือด้วยมือ ประโยชน์ที่ได้จากเลนส์นี้ก็คือขนาดเลนส์กะทัดรัดและน้ำหนักเบาประมาณ 525 กรัม ฉันไม่สงสัยเลยว่าเลนส์นี้มีข้อได้เปรียบมากกว่าเลนส์กลุ่ม 24-105mm รุ่นก่อนหน้าในการถ่ายภาพที่ต้องการความคล่องตัวสูง ด้วยช่วงทางยาวโฟกัสที่ครอบคลุมตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงเทเลโฟโต้ระยะกลาง เลนส์ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM จึงมอบความยืดหยุ่นในการจัดองค์ประกอบภาพ อีกทั้งระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.4 เมตรเอื้อให้คุณขยับเลนส์เข้าหาตัวแบบที่มีขนาดเล็กมากได้ คุณสมบัติ IS ให้ความมั่นใจในการถ่ายภาพกลางคืนแบบถือกล้องถ่ายในสภาวะแสงน้อยตลอดจนสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้ใช้แฟลช คุณสมบัตินี้จึงเป็นเสมือนคู่หูที่ไว้ใจได้และสามารถใช้เป็นประโยชน์ได้ในหลากหลายสถานการณ์
IS ทำให้การถ่ายภาพแบบถือกล้องถ่ายเป็นไปได้แม้ในสภาวะที่มีแสงน้อย
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (1/100 วินาที, f/5.6, −0.3EV)/ ISO 10000/ WB: แสงแดด
โมเดลรถไฟในภาพนี้ถ่ายผ่านบานกระจก คุณสมบัติ IS ซึ่งมีระดับการแก้ไขด้วยความเร็วชัตเตอร์ ถึง 4 ระดับ เป็นประโยชน์เมื่อถ่ายภาพจากระยะไกล อย่างเช่น ในเวลาที่ต้องการซูมเข้าใกล้ตัวแบบที่มีขนาดเล็กมากขึ้น
การซูมช่วยเพิ่มความหลากหลายในการถ่ายภาพ
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 85 มม./ Aperture-priority AE (1/80 วินาที, f/5.6, −0.3EV)/ ISO 800/ WB: เมฆครึ้ม
ของตั้งโชว์ที่ถ่ายผ่านบานกระจก ฉันเลือกใช้รูรับแสงกว้างสุดเพื่อเบลอเงาสะท้อนบนกระจก ช่วงทางยาวโฟกัสกว้างทำให้เลนส์นี้เป็นอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์มากๆ
การใช้ STM เอื้อต่อการทำงานของการโฟกัสแบบเงียบ
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL:105 มม./ Aperture-priority AE (1/800 วินาที, f/5.6, +0.6EV)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เลนส์นี้ช่วยขยายขอบเขตการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายด้วยการโฟกัสที่รวดเร็วและเงียบเชียบ เช่น ภาพถ่ายในร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่เสียงการทำงานของกล้องอาจรบกวนบรรยากาศโดยรอบได้
เลนส์ซูม 24-105 มม. ตัวแรกที่มีกลไกล็อควงแหวนซูม
เมื่อคุณพกกล้องโดยมีสายคล้องคอ บางครั้ง น้ำหนักของเลนส์ซูมอาจทำให้เลนส์ยื่นออกไปเองและชนกับวัตถุหรือผู้คนที่เดินสวนไปมาได้โดยไม่ทันระมัดระวัง เลนส์ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM มาพร้อมกับล็อคซูมที่เพิ่มความสะดวกในการพกพา ขอแนะนำคุณสมบัตินี้เป็นพิเศษเพื่อใช้งานสำหรับการถ่ายภาพมุมสูงด้วยระยะมุมกว้างเมื่อเล็งเลนส์ลงต่ำ
ภาพถ่ายมุมกว้างที่มีดวงอาทิตย์ในองค์ประกอบ
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (1/30 วินาที, f/18, ±0EV)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ด้วยเงาที่ทอดบนอาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปเป็นธีมหลัก ฉันจัดเฟรมภาพให้มีดวงอาทิตย์และต้นไม้ในบริเวณนั้นเข้ามาในองค์ประกอบภาพด้วย แสงแฟลร์และแสงหลอกเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมากในภาพนี้
เอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่กว่า EF24-105mm f/4L IS USM ที่ระยะมุมกว้าง
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (1/1,600 วินาที, f/3.5, +0.7EV)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ที่รูรับแสงกว้างสุดขนาด f/3.5 เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เกิดขึ้นในฝั่งมุมกว้างใหญ่กว่าเอฟเฟ็กต์ในเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM ในภาพนี้ ฉันถ่ายภาพมุมกว้างที่มีดอกไม้ขนาดเล็กๆ และเงาบนทางเดินเป็นตัวแบบหลักและทำให้แบ็คกราวด์เบลอ
ภาพคมชัดที่สุดเมื่อลดขนาดรูรับแสงลงที่ f/8
EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (1/100 วินาที, f/8, -0.3EV)/ ISO 500/ WB: แสงแดด
ฉันถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสง f/8 เพื่อการถ่ายทอดภาพที่คมชัด คุณสมบัติ IS ทำให้ฉันสามารถถ่ายภาพแบบถือกล้องถ่ายให้ออกมาคมชัดได้
* บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากผลิตภัณฑ์รุ่นทดลอง ข้อมูลบางอย่างเช่นลักษณะของผลิตภัณฑ์และคุณภาพของภาพอาจแตกต่างจากผลิตภัณฑ์จริงบ้างเล็กน้อย
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง