เลนส์ EF85mm f/1.4L IS USM คือผลงานชิ้นเอกที่ Canon ผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไว้มากมาย ในตอนที่ 1 ของบทสัมภาษณ์จำนวน 2 ตอนนี้ เราจะได้เรียนรู้จากนักพัฒนาถึงการวางแผนผลิตภัณฑ์และการออกแบบออพติคอลของเลนส์ซีรีย์ L นี้
เลนส์ 85 มม. รุ่นที่สี่* ซึ่งมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวสมกับเป็นเลนส์ซีรีย์ L
(* เลนส์รุ่นที่สี่ต่อจาก EF85mm f/1.2L USM, EF85mm f/1.8 USM และ EF85mm f/1.2L II USM)
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/4, 1/2500 วินาที)/ ISO 100/ WB: Manual
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/1.4, 1/5000 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
Yamaguchi: ทางยาวโฟกัสที่นิยมใช้สำหรับถ่ายภาพพอร์ตเทรตคือ 85 มม. แต่สำหรับกลุ่มเลนส์ในปัจจุบัน EF85mm f/1.2L II USM มีราคาที่จับต้องได้ยากสำหรับผู้ใช้หลายคน ขณะที่ผู้ใช้งานเลนส์ EF85mm f/1.8 USM จำนวนมากกล่าวว่าต้องการโบเก้ที่มีเอฟเฟ็กต์นอกโฟกัสชัดเจนมากกว่านี้
ในระหว่างการวางแผนผลิตภัณฑ์ เราได้สัมภาษณ์และรับฟังความเห็นจากช่างภาพมืออาชีพ รวมทั้งช่างภาพงานแต่งงาน ซึ่งอาจมีโอกาสมากที่จะใช้งานเลนส์รุ่นนี้เมื่อออกวางจำหน่าย เราพบว่า EF85mm f/1.2L II USM สร้างความประทับใจที่ดี และได้รับการยกย่องอย่างมากในแง่ของการถ่ายทอดอารมณ์ที่ยอดเยี่ยมและโบเก้ เนื่องจากเลนส์มีรูรับแสงที่กว้าง อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบบางคนแสดงความเห็นว่าต้องการระบบ AF ที่รวดเร็วยิ่งขึ้นและตัวเลนส์ที่เบาขึ้นเหมาะกับการถือกล้องเพื่อถ่ายภาพเป็นเวลานานหลายชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีบางความเห็นที่กล่าวว่า แม้ว่า EF85mm f/1.2L II USM จะเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวที่มีรูรับแสงกว้าง [ซึ่งเรียกได้ว่าช่วยป้องกันปัญหากล้องสั่นได้ดีขึ้น] แต่การเพิ่มระบบป้องกันภาพสั่นไหวเข้ามาอาจยังคงเป็นคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการเพื่อช่วยให้ถ่ายภาพได้อย่างไร้กังวล
Yamaguchi หัวหน้าฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์
เมื่อพิจารณาความคิดเห็นเหล่านี้แล้ว เราจึงตัดสินใจเพิ่ม EF85mm f/1.4L IS USM เข้ามาในกลุ่มเลนส์ เรารับรู้ถึงความต้องการสเปคที่มีความสมดุลของช่างภาพที่ถือกล้องถ่ายภาพ นั่นคือ ไม่เพียงเลนส์ควรมีรูรับแสงกว้างที่ f/1.4 และระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่จะเป็นประโยชน์เมื่อถือกล้องถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังต้องให้คุณภาพของภาพถ่ายในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจสมกับเป็นเลนส์ซีรีย์ L โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตอีกด้วย
เราตั้งเป้าสร้างเลนส์ที่ให้อิสระแก่ผู้ใช้ในการถือกล้องเพื่อถ่ายภาพเป็นเวลานาน และยังสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นจริงได้นั้น เราต้องทำให้เลนส์มีคุณสมบัติดังนี้ คือ
- น้ำหนักเลนส์น้อยกว่า 1 กก.
- ขนาดเลนส์โดยรวมกะทัดรัด
ภาพพอร์ตเทรตรวมทั้งภาพงานแต่งงานจะบันทึกช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิต และเก็บความทรงจำต่างๆ เอาไว้ชื่นชมได้ตลอดไป เป้าหมายของเราคือ สร้างเลนส์ที่สามารถรักษาช่วงเวลาและความทรงจำที่สำคัญและงดงามเอาไว้ได้อย่างไร้กังวล และขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ใช้หลายสไตล์รวมทั้งช่างภาพงานแต่งงานได้สัมผัสถึงความสะดวกในการใช้งานเลนส์นี้ด้วยตัวเอง
เลนส์ที่มีความละเอียดสูงจากการเปิดรูรับแสงกว้างสุดสมกับเป็นเลนส์ซีรีย์ L พร้อมให้คุณภาพโบเก้ที่ยอดเยี่ยมจนถึงขอบภาพ
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/1.4, 1/8000 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เลนส์สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ที่ชัดเจนแต่ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งทำให้ตัวแบบบุคคลดูโดดเด่นยิ่งขึ้น และพื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสคมชัดอย่างไม่มีที่ติ
Iwamoto: ในปี 2006 Canon เปิดตัว EF85mm f/1.2L II USM ในฐานะเลนส์รุ่นเรือธงที่มีช่วงทางยาวโฟกัส 85 มม. และมีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องคุณภาพโบเก้ที่เรียบเนียนและนุ่มนวล ในอีกทางหนึ่ง การออกแบบออพติคอลของ EF85mm f/1.4L IS USM เน้นไปที่การถ่ายทอดภาพที่คมชัด พร้อมกับรักษาคุณสมบัติการถ่ายทอดอารมณ์ภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับที่เลนส์ f/1.2 ทำได้ นอกจากนี้ เราพิจารณาว่าผู้ใช้อาจจัดองค์ประกอบภาพพอร์ตเทรตบ่อยครั้งเพื่อวางตัวแบบไว้ที่กึ่งกลางภาพและสร้างความสมดุล ซึ่งความละเอียดที่บริเวณกึ่งกลางภาพสามารถให้ความคมชัดสมกับที่เป็นเลนส์ L ขณะเดียวกันคุณยังได้คุณภาพของโบเก้ที่สวยสดงดงามที่บริเวณขอบภาพอีกด้วย
เราดำเนินการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ได้ความละเอียดคมชัดดังกล่าว พร้อมกับพิจารณาถึงน้ำหนัก ขนาด และต้นทุนที่สมเหตุสมผล
Iwamoto หัวหน้าฝ่ายออกแบบออพติคอล
ความพยายามครั้งแรกของ Canon ในการพัฒนาเลนส์ 85mm f/1.4 ที่มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว
Okuda: เมื่อฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ขอให้เราพัฒนาเลนส์นี้ ในตอนแรกฝ่ายพัฒนาของเรารู้สึกอึ้งเมื่อต้องเจอกับความยากลำบากในการออกแบบ เมื่อเราสร้างเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างให้มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว การจัดกลุ่มโฟกัสและระบบป้องกันภาพสั่นไหวคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดขนาดและน้ำหนักของเลนส์ เลนส์ที่มีค่า f ต่ำ (รูรับแสงกว้าง) มีลักษณะพิเศษตรงที่กระจกมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ กลุ่มระบบป้องกันภาพสั่นไหวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบออพติคอล จำเป็นต้องสามารถเคลื่อนที่ได้เพื่อชดเชยการสั่นของกล้อง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ระบบนี้มีน้ำหนักมาก อีกทั้งยังจำเป็นต้องอาศัยแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนระบบนี้ จึงเป็นการเพิ่มขนาดและน้ำหนักของเลนส์ให้มากขึ้นไปอีก ดังนั้น ความประทับใจแรกของทีมพัฒนาก็คือ แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถพัฒนาเลนส์ 85mm f/1.4 ให้มีขนาดพอเหมาะ มีราคาดึงดูดใจ และมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวตามที่ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ร้องขอมาได้
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/1.4, 1/80 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เลนส์นี้ช่วยให้ไม่เกิดปัญหากล้องสั่นไหวแม้ถือกล้องถ่ายภาพในที่ร่มที่มีแสงน้อย
Okuda หัวหน้าแผนกการออกแบบเชิงกลไก
อย่างไรก็ดี ขณะที่ปรึกษาเรื่องนี้กับหัวหน้าฝ่ายการออกแบบออพติคอล เราก็พบว่ามีโอกาสเล็กน้อยที่จะสร้างเลนส์ดังกล่าวขึ้นมาได้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ เช่น การจัดเรียงออพติกใหม่ การใช้วัสดุแก้วใหม่ และการวางส่วนประกอบเชิงกลไกที่กะทัดรัดขนาด 0.1 มิลลิเมตรซ้อนกัน ดังนั้น เราจึงตัดสินใจรับความท้าทายและเข้ามาจัดการโครงการนี้
เปิดใช้งาน IS
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/4, 1/6 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ปิดใช้งาน IS
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/4, 1/6 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ลองเปรียบเทียบตัวอย่างภาพทั้งสองภาพด้านบน เมื่อเปิดใช้งาน IS เราจะไม่เห็นปัญหากล้องสั่น
การใช้ประโยชน์จากวัสดุแก้วอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขความคลาดภายใต้ข้อจำกัดด้านขนาดและน้ำหนัก
Iwamoto: อย่างที่ผมพูดถึงไปแล้วในตอนต้น ชุดเลนส์ทั้งหมดจะจัดเรียงในรูรับแสงขนาดใหญ่ ดังนั้น เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางจึงต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย ยิ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของระบบป้องกันภาพสั่นไหวซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเลนส์ที่ใหญ่และหนักมีขนาดใหญ่มากเท่าใด ขนาดของผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้ายก็จะใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการออกแบบออพติคอลของเลนส์นี้คือ ต้องลดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักของระบบออพติคอลที่ช่วยลดการสั่นไหวให้ได้ ตามปกติเลนส์ด้านหน้าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าเลนส์ด้านหลัง และเลนส์ที่อยู่ใกล้กับไดอะแฟรมจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กที่สุด
เพื่อลดขนาดและน้ำหนักของระบบออพติคอลที่ช่วยลดการสั่นไหว เราจะต้องวางระบบป้องกันภาพสั่นไหว รวมทั้งระบบออพติคอลที่ช่วยลดการสั่นไหวไว้ที่ด้านเมาท์ของเลนส์ใกล้กับไดอะแฟรม (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 การจัดเรียงแบบออพติคอล
A: ไดอะแฟรมรูรับแสง
B: ชุดทำงานระบบ IS
แต่ถึงกระนั้น เลนส์ก็ต้องมีน้ำหนักพอสมควรในระดับหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบออพติคอลที่ช่วยลดการสั่นไหวของเลนส์ยังมีขนาดและน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ EF400mm f/2.8L IS II USM (รูปที่ 2)
(รูปที่ 2) การเปรียบเทียบระบบป้องกันภาพสั่นไหวและระบบออพติคอลที่ช่วยลดการสั่นไหว
คุณสมบัติสำคัญที่สุดของ EF85mm f/1.4L IS USM คือการแก้ไขความคลาดสีและความคลาดทรงกลม อีกทั้งการแก้ไขภาพบิดเป็นเส้นโค้งยังจำเป็นต่อการได้ภาพที่มีคุณภาพสูงด้วย เนื่องจากระยะชัดลึกจะตื้นมาก ซึ่งแก้วที่มีดัชนีการหักเหแสงสูง และแก้วที่มีคุณสมบัติปรับอัตราความยาวคลื่นแสงแบบ Anomalous Dispersion จะเป็นประโยชน์ในการช่วยแก้ไขความคลาดต่างๆ เหล่านี้
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.4L IS USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure(f/5, 1/320 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เลนส์มีคุณสมบัติแก้ไขความคลาดที่โดดเด่น ส่งผลให้คุณภาพของภาพดูคมชัด
อันที่จริง ชิ้นเลนส์แก้วจำนวนมากกว่าครึ่งในเลนส์นี้ทำจากวัสดุแก้วที่ยังไม่เคยนำมาใช้งานจริงเมื่อครั้งที่พัฒนาเลนส์ EF85mm f/1.2L II USM (เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2006) ด้วยลักษณะเฉพาะของวัสดุแก้วแบบใหม่นี้เอง เราจึงสามารถลดขนาดของเลนส์และได้คุณภาพของภาพที่สูง อีกทั้งยังสามารถติดตั้งระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้อีกด้วย ในส่วนของการแก้ไขความคลาดสีตามแกน การวางแก้วที่มีคุณสมบัติปรับอัตราความยาวคลื่นแสงแบบ Anomalous Dispersion อย่างเช่น เลนส์ UD ไว้ด้านหน้าหรือใกล้กับไดอะแฟรมนับว่าใช้ได้ผลดี นอกจากนี้ การใช้แก้วที่มีดัชนีการหักเหแสงสูงสำหรับเลนส์โพสิทีฟถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยปรับปรุงคุณลักษณะเฉพาะเกี่ยวกับระนาบของภาพอีกด้วย ซึ่งในเลนส์รุ่นนี้ ความคลาดสีตามแกนและคุณลักษณะเฉพาะเกี่ยวกับระนาบของภาพได้รับการแก้ไขเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการจัดเรียงชิ้นแก้วให้มีทั้งดัชนีการหักเหแสงและคุณสมบัติปรับอัตราความยาวคลื่นแสงแบบ Anomalous Dispersion ซึ่งไม่เคยนำมาใช้งานจริงเมื่อครั้งที่พัฒนาเลนส์ EF85mm f/1.2L II USM
การจัดเรียงวัสดุแก้วแบบใหม่และเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งไม่มีในช่วงเวลานั้น นอกเหนือจากแก้วชนิดพิเศษอย่างฟลูออไรต์และเลนส์ UD ทำให้เราสามารถแก้ไขความคลาดแต่ละประเภทพร้อมกับลดขนาดของเลนส์ไปพร้อมกันได้
โดยทั่วไป ระบบออพติคอลของเลนส์รุ่นใหม่ๆ มักมีการจัดเรียงแบบออพติคอลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเรามีวัสดุจากแก้วให้เลือกมากขึ้น จึงทำให้เลนส์ในขั้นสุดท้ายให้คุณภาพของภาพที่สูงและมีรูปลักษณ์ที่กะทัดรัดกว่าเดิม และ EF85mm f/1.4L IS USM คือตัวอย่างที่ดีของเลนส์ชนิดนี้
โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2 เร็วๆ นี้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!