EOS M5 มาพร้อมคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นอีกระดับในทุกๆ ด้าน จึงได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมในฐานะกล้องที่สามารถเป็นได้ทั้งกล้องหลักและกล้องสำรองสำหรับ DSLR นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการทำงานแล้ว ความสามารถในการใช้งานของกล้องยังยอดเยี่ยมด้วยการพลิกโฉมครั้งใหญ่ทั้งในส่วนการใช้งานปุ่มและส่วนมือจับที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น และอีกมากมาย ในส่วนต่อไปนี้ ผมจะรีวิวคุณสมบัติสำคัญทั้ง 7 ประการแบบเจาะลึกทีละข้อ พร้อมกับเน้นที่การออกแบบภายนอกและความสามารถในการใช้งานของ EOS M5 (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
1. การออกแบบตัวกล้อง
การออกแบบภายนอกมีสามคุณสมบัติที่โดดเด่น ได้แก่ EVF ในตัว ส่วนมือจับที่ยึดจับได้ถนัดยิ่งขึ้น และจำนวนปุ่มและวงแหวนที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีคุณสมบัติเพิ่มเข้ามามากมาย EOS M5 จึงมีน้ำหนักประมาณ 427 กรัม
ส่วนมือจับที่ปรับปรุงใหม่ช่วยให้ผู้ใช้จับกล้องได้ถนัดมือยิ่งขึ้น
ด้านหน้า
ด้านหลัง
ซ้าย
ขวา
ด้านบน
ด้านล่าง
แม้ว่าวัสดุหลักที่ใช้ทำตัวกล้องคือพลาสติก แต่การใช้สีเทากันเมทัลช่วยให้พื้นผิวดูสวยงาม และดีไซน์กล้องในภาพรวมดูเป็นมันเงาและเฉียบคม
2. ส่วนมือจับ
ส่วนมือจับที่เว้าลึกทำให้ตัวกล้องมีขนาดที่ถือจับได้ง่าย แม้ว่ามือของผมจะค่อนข้างใหญ่ แต่เมื่อผมถือกล้องกลับรู้สึกได้ว่า EOS M5 มีขนาดพอดีมือ ส่วนที่รองรับนิ้วหัวแม่มือที่ด้านหลังกล้องยังอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผมจึงจับถือกล้องให้มั่นคงได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว
จุดที่น่าประทับใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับกล้องซีรีย์ EOS M คือ กล้องสามารถใช้งานร่วมกับเลนส์ EF และ EF-S ได้มากมายหลายรุ่น เมื่อใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS M ประกอบเลนส์ นอกจากนี้ ส่วนมือจับที่แข็งแรงยังช่วยรักษาสมดุลระหว่างการถ่ายภาพไว้ได้ แม้ในขณะที่คุณใช้เลนส์ EF หรือ EF-S ซึ่งมักมีน้ำหนักมากกว่าเลนส์ EF-M
3. ปุ่มและวงแหวน
ที่ส่วนบนของตัวกล้องมีปุ่มและวงแหวนให้ใช้งานมากขึ้น ซึ่งจะดึงดูดผู้ใช้ที่ชื่นชอบระบบควบคุมการใช้งานของกล้อง สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้ระบบควบคุมได้อย่างไรก็มั่นใจได้เลยว่าการจัดวางเลย์เอาต์ของปุ่มและวงแหวนจะมีความสมดุลและใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ส่วนที่อยู่ทางด้านขวาของผิวด้านบนได้แก่ ปุ่มชัตเตอร์ วงแหวนควบคุมหลัก วงแหวนชดเชยแสง และปุ่มมัลติฟังก์ชั่น จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือปุ่ม Dial Function ที่เพิ่มขึ้นใหม่ และวงแหวน Quick Control คุณสามารถปรับการตั้งค่าส่วนใหญ่ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพได้ง่ายๆ โดยใช้ระบบควบคุมในบริเวณนี้ ส่วนวงแหวนเลือกโหมดถูกย้ายไปไว้ทางด้านซ้าย และแต่ละวงแหวนมีลักษณะนูนขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานด้วยนิ้วมือได้อย่างสะดวก
ปุ่ม Dial Function มาพร้อมดีไซน์ที่รวมวงแหวน Quick Control เข้าด้วยกัน ปุ่ม Dial Function (DIAL FUNC.) ให้คุณลงทะเบียนการตั้งค่าแบบกำหนดเองสำหรับค่าต่างๆ อาทิ สมดุลแสงขาว ความไวแสง ISO และโหมดขับเคลื่อน และปรับการตั้งค่าโดยใช้วงแหวน Quick Control ได้
เนื่องจากเราสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าได้มากมายโดยใช้ปุ่ม Dial Function ร่วมกับวงแหวน Quick Control จึงขอแนะนำให้คุณลงทะเบียนฟังก์ชั่นที่ใช้บ่อยไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ดี คุณอาจต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับปุ่มและวงแหวนเพื่อให้การใช้งานราบรื่น เนื่องจากระบบควบคุมทั้งสองอยู่ห่างจากบริเวณที่วางนิ้วโป้งอยู่เล็กน้อย
วงแหวนเลือกโหมดและสวิตช์เปิดปิดอยู่ทางด้านซ้ายที่ส่วนบนของตัวกล้อง ซึ่งเป็นการจัดวางที่ใกล้เคียงกับในกล้อง EOS DSLR ส่วนแฟลชในตัวตั้งอยู่ตรงกลางและรวมอยู่กับ EVF
ปุ่มต่างๆ ทางด้านขวาที่อยู่ด้านหลังกล้องถูกจัดวางในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเลย์เอาต์ของกล้อง EOS DSLR ดังนั้น ผู้ใช้ EOS จะพบว่ากล้องรุ่นนี้ใช้งานง่าย
นอกจากนี้ อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือปุ่มที่อยู่ด้านหน้าทางซ้ายมือของเมาท์เลนส์ ปุ่มนี้จะถูกวางไว้ในตำแหน่งเดียวกันกับปุ่มเช็คระยะชัดลึกในกล้อง EOS DSLR พอดี ปุ่มนี้จะทำหน้าที่เหมือนกับปุ่มสวิตช์ Touch & Drag AF ตามค่าเริ่มต้น แต่สามารถกำหนดค่าด้วยตัวเองได้ โดยส่วนตัวผมมักใช้งานปุ่มนี้บ่อยครั้ง และวิธีใช้งานที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือกำหนดให้ปุ่มนี้เป็นฟังก์ชั่นสลับใช้งานโหมด AF ระหว่าง ONE SHOT และ SERVO
4. EVF ในตัว
การเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบภายนอกที่เด่นชัดที่สุดของ EOS M5 คือ EVF ในตัว ซึ่งช่วยให้คุณสลับตัวเลือกได้อย่างอิสระระหว่างการถ่ายภาพผ่านช่องมองภาพที่ให้คุณจดจ่อกับการถ่ายภาพ และการถ่ายภาพแบบ Live View ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพแบบสบายๆ มากขึ้น
EVF ในตัวประกอบด้วยไดโอดเปล่งแสงสารอินทรีย์ (OLED) ที่สามารถให้รายละเอียดของสีอย่างชัดเจนประมาณ 2.36 ล้านจุด ด้วยจุดมองภาพที่ระยะ 22 มม. EOS M5 เทียบชั้นได้กับกล้อง DSLR และคุณสามารถมองภาพในช่องมองภาพทั้งหมดได้แม้ในขณะที่สวมแว่นตา ระบบควบคุมที่ปรับปรุงใหม่นี้ให้คุณจดจ่อกับการถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องละสายตาไปจากช่องมองภาพแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากจอ OLED อาจมีความแตกต่างในเรื่องของการแสดงสีสันและความเปรียบต่างเมื่อเทียบกับจอแบบผลึกเหลว ดังนั้น ภาพที่ปรากฏขึ้นที่จอ LCD ด้านหลังอาจดูต่างจากภาพที่เรามองเห็นผ่าน EVF ในตัว คุณอาจต้องการทราบถึงความแตกต่างนี้ก่อนที่จะเริ่มใช้งานกล้อง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วย EVF ในตัว
คำแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติใหม่ใน EOS M5 ตอนที่ #2: EVF ในตัว
5. จอ LCD
จอ LCD ด้านหลังของ EOS M5 ใช้จอสัมผัส LCD ขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียดประมาณ 1.62 ล้านจุด
ส่วนบนของกล้องมีลักษณะเว้านูนอันเนื่องมาจาก EVF ในตัว จึงทำให้มีการออกแบบจอ LCD ด้านหลังเป็นบานพับที่ปรับลงได้ถึง 180° และในขณะเดียวกันก็สามารถปรับหน้าจอให้เอียงขึ้นได้ถึง 85° ดังนั้น จึงสะดวกมากสำหรับการถ่ายภาพมุมต่ำที่ต้องวางกล้องอยู่ใกล้กับพื้นดิน
จอ LCD ยังมีแผงสัมผัสที่รองรับ Touch AF อีกด้วย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชั่นนี้ได้ที่นี่:
คำแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติใหม่ใน EOS M5 ตอนที่ #1: Touch AF
การแสดงภาพบนจอ LCD ระหว่างการถ่ายภาพ
6. ช่องต่อและอินเทอร์เฟซ
กล้องมีช่องต่ออยู่ที่ตัวกล้องทั้งสองด้าน ช่องหนึ่งด้านขวาใช้สำหรับต่อกับ HDMI-micro OUT Type D และช่องต่างๆ ด้านซ้ายสำหรับต่อกับ Micro-USB, ช่องต่อ IN สำหรับไมโครโฟนเสริม (หัวเสียบขนาดเล็กแบบสเตอริโอ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 มม.) และรีโมทสวิตช์สำหรับลั่นชัตเตอร์ (ช่องต่อ E3) ทางซ้าย นับเป็นครั้งแรกสำหรับกล้องซีรีย์ M ที่มีช่องต่อรีโมทสวิตช์ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มักใช้ขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ ช่องต่อจะรองรับรีโมทสวิตช์ RS-60E3 ซึ่งสามารถใช้งานกับกล้อง EOS 750D และรุ่นอื่นๆ ได้อีกด้วย
ขวา
ซ้าย
7. ช่องใส่การ์ดหน่วยความจำและช่องบรรจุแบตเตอรี่
EOS M5 ใช้การ์ด SD เป็นสื่อบันทึก รวมถึง UHS-I Class ช่องบรรจุแบตเตอรี่สำหรับชุดแบตเตอรี่ LP-E17 และช่องใส่การ์ดได้รับการออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบ
ข่าวดีอีกข่าวหนึ่งคือ ขณะนี้แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น เนื่องจากระบบประมวลผล DIGIC 7 ที่ประหยัดพลังงานช่วยให้กล้องสามารถถ่ายภาพได้มากถึง 295 ภาพ เมื่อแบตเตอรี่ชาร์จไฟเต็ม
Battery Charger LC-E17E
สรุป
EOS M5 ที่มีรูปทรงสวยงามคือกล้องที่อัดแน่นด้วยคุณสมบัติที่ปฏิวัติวงการอย่าง EVF ในตัวความละเอียดสูง, จอ LCD ที่รองรับ Touch & Drag AF และการแสดงภาพขยาย รวมถึงปุ่มและวงแหวนที่ใช้งานง่ายเมื่อคุณมองภาพผ่านช่องมองภาพ ในแง่การใช้งาน EOS M5 ยกระดับครั้งใหญ่ด้วยเทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF ที่ถูกจับตามองอย่างมาก และการปรับปรุงฟังก์ชั่นหลักๆ ใหม่ทั้งหมด เช่น การใช้ระบบประมวลผลภาพ DIGIC 7
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
ส่งข่าวสารรายวันเกี่ยวกับเรื่องราวของกล้องดิจิตอลและอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ นอกจากนี้ยังเผยแพร่บทความต่างๆ เช่น รีวิวการใช้กล้องดิจิตอลจริงพร้อมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องรุ่นใหม่ๆ
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย