ช่างภาพวารสารศาสตร์ Mithila Jariwala ไม่เคยคิดว่าเธอจะมาถ่ายภาพอย่างจริงจัง แต่การได้เดินทางมาเยือนสหรัฐอเมริกาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนพร้อมกับกล้องดิจิทัลตัวแรกของไม่เพียงเปลี่ยนความคิดนั้น แต่ยังสร้างถนนอีกเส้นหนึ่งในเธอเลือกเดินในฐานะช่างถ่ายภาพวารสารศาสตร์อีกด้วย เธอเล่าประสบการณ์และสิ่งที่ทำให้เธอกลายมาเป็นช่างภาพในปัจจุบัน
เด็ก ๆ ในเมืองดราส แคว้นแคชเมียร์
ทำไมจึงต้องเป็นการถ่ายภาพวารสารศาสตร์
ตอนที่ฉันเริ่มงานนี้ในปี 2010 ฉันเป็นช่างภาพการเดินทางค่ะ ฉันเดินทางและถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ และทราบเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ฉันพบเจอระหว่างทางมากขึ้น ฉันไม่พอใจกับการทราบอะไรแค่ผิวเผิน ฉันอยากขุดให้ลึกลงไปและบอกเล่าเรื่องราวของคนแต่ละคน จากนั้นฉันก็ตระหนักได้ว่าฉันกำลังผันตัวเองมาเป็นช่างภาพวารสารศาสตร์ พอเวลาผ่านไป ฉันก็มั่นใจมากขึ้นและกล้าเก็บภาพของผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ ทุกชาติทุกภาษา ฉันไม่จำเป็นต้องพูดภาษาของพวกเขาก็ได้ในการบอกเล่าเรื่องราว เพราะฉันเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นผ่านกล้อง
ผู้อพยพชาวภูฏานในเนปาล
คุณชอบถ่ายอะไรมากที่สุด เพราะอะไร
ฉันไม่ได้สนับสนุนสิทธิสตรีอะไรแบบนั้นนะคะ แต่ฉันเคยเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างร้ายแรงมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ฉันพบและสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ผ่านการทำสุหนัตหญิงในซูดานและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การถ่ายภาพเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศได้กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับฉัน อย่างไรก็ตาม ฉันจะถ่ายภาพสิ่งที่ฉันพบเจอและมีรู้สึกร่วมด้วยเช่นกัน การมีอารมณ์ร่วมและใส่ใจเกี่ยวกับผู้คน/ประเด็นต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้คุณบอกเล่าเรื่องราวอย่างเป็นกลางได้
อะไรทำให้คุณอยากบอกเล่าประเด็นเหล่านี้
ฉันถูกบอกมาว่าเราไม่ควรใช้อารมณ์ในการทำงานนี้ แต่สำหรับฉันแล้ว ความอ่อนไหวและอารมณ์ของเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้ฉันอยากจะถ่ายภาพเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เอาไว้ค่ะ
แม่และเด็กในคัสซาลา ประเทศซูดาน
อะไรคือเรื่องราวที่คุณเห็นว่าท้าทายที่สุด
แต่ละเรื่องราวจะมีความท้าทายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทางอารมณ์ จิตใจ การเงิน หรือการตีพิมพ์ คงยากที่จะเลือกมาแค่เรื่องเดียว แต่ถ้าจะต้องเลือกจริง ๆ ฉันคงเลือกเรื่องราวหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลเมื่อปี 2015 ค่ะ ตอนนั้นฉันได้บอกเล่า เรื่องราว ที่น่าประทับใจจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งการขายเรื่องดี ๆ ให้กับสื่อนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ตอนนั้นฉันตระหนักว่าไม่มีใครสนใจอยากนำเสนอเรื่องราวดี ๆ เลย ทุกคนล้วนแต่ต้องการความดราม่า
สภาพบ้านเรือนหลังแผ่นดินไหวในเนปาล ปี 2015
เคล็ดลับในการถ่ายภาพที่เป็นหัวใจของเรื่องราวคืออะไร
ก่อนอื่นเลย คุณต้องมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องราวที่คุณจะบอกเล่า จากนั้น คุณจะต้องเห็นใจและเข้าใจในเรื่องราวเหล่านั้น รวมถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นด้วย คุณควรสละเวลาสักเล็กน้อยมาปลอบใจพวกเขาในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณจะถ่าย ถ้าทำแบบนี้ได้ คุณก็จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่แท้จริงและเข้าใจหัวใจสำคัญของเรื่องราว
คุณใช้กล้องและเลนส์แบบไหนระหว่างทำงาน
Canon EOS 5D Mark II ส่วนใหญ่จะใช้เลนส์หลัก EF50 มม. f/1.4 USM และเลนส์ EF24-70 มม. f/2.8 II USM ฉันมักจะพกอุปกรณ์เหล่านี้ไปทำงานเสมอ [แต่] อาจเพิ่มเลนส์อื่น ๆ เข้าไปบ้าง แล้วแต่ว่าฉันจะถ่ายอะไร
เด็กในเผ่าบาเต็กในมาเลเซีย
คุณมีคำแนะนำอะไรให้กับคนที่อยากเป็นช่างภาพวารสารศาสตร์บ้าง
หากคุณอยากทำงานด้าน การถ่ายภาพวารสารศาสตร์ หากคุณอยากบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย และไม่กลัวความความท้าทาย อย่าคิดนาน ก็ให้ลุยเลยค่ะ แม้ว่าเส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ แต่คุณจะมีความสุขกับมัน
ต้องอาศัยอะไรบ้างในการเป็นช่าวถ่ายภาพวารสารศาสตร์
ความรัก ความหลงใหล ความขยัน และความเชื่อมั่นใจตัวเองค่ะ
สุดท้าย คุณมีเป้าหมายอะไรบ้างเกี่ยวกับภาพถ่ายของตัวเอง
ฉันหวังว่าฉันจะสามารถสื่ออารมณ์ผ่านทางภาพถ่ายให้ผู้ชมได้สัมผัสเบื้องลึกของเรื่องราวที่ฉันต้องการจะเล่า
สภาพความเป็นอยู่ของผู้อพยพชาวภูฏานในเนปาล
ประวัติของช่างภาพ
Mithila Jariwala
ในทางเทคนิคแล้ว การถ่ายภาพวารสารศาสตร์หมายความว่าช่างภาพจะต้องถ่ายภาพเพื่อนำไปประกอบบทความข่าว ซึ่งฉันก็ทำแบบนั้นอยู่ค่ะ แต่ฉันจะเรียกตัวเองว่าเป็นช่างถ่ายภาพสารคดีทางสังคมมากกว่า เนื่องจากฉันถ่ายภาพของผู้คนเป็นส่วนใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมที่ควรค่าต่อการเสนอข่าวได้ ไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันที่นำมาใช้เป็นพาดหัวข่าว ฉันทำโครงการร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น UNICEF, UNDP, USAID, Chemonics, Kidasha ปัจจุบัน ฉันถ่ายภาพเกี่ยวกับไทฟอยด์ให้แก่ Sabin Vaccine Institute ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation