การสัมภาษณ์ทีมนักพัฒนากล้อง: EOS-1D X Mark II (ตอนที่ 2) - ฟังก์ชั่นเกี่ยวกับระบบโฟกัสอัตโนมัติที่ดียิ่งขึ้น
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การโฟกัสอัตโนมัติมีความแม่นยำสูงได้ด้วยจุด AF กึ่งกลาง 5 จุดที่เรียงในแนวตั้ง อะไรคือสิ่งที่ทำให้จุด AF ทั้ง 61 จุดรองรับการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8 ได้ เราจะเจาะลึกข้อสงสัยในตอนที่สองของบทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้องเพื่อทำความเข้าใจการปฏิวัติกล้อง EOS-1D X Mark II (เรื่องโดย: Junichi Date)
(จากซ้ายไปขวา)
Mitsuaki Hattori (ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product)/ Takeshi Sakaguchi (ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Tomoya Masamura (แผนก ICP 2, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Masato Seita (ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Teruyuki Okado (ศูนย์พัฒนา ICP 2, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)
กล้องและระบบเลนส์ที่ขยายกว้างขึ้น - ปัจจุบัน จุด AF ทั้งหมด 61 จุดรองรับการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8
ต่อไป ผมอยากจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโฟกัสอัตโนมัติ พื้นที่ AF ในแนวตั้งยาวกว่าเดิมเล็กน้อย แต่จำนวนจุด AF และรูปแบบเลย์เอาต์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจาก EOS-1D X ถูกไหมครับ กล้อง DSLR เซนเซอร์ขนาด APS-C และกล้องมิเรอร์เลส ในปัจจุบัน มีพื้นที่ AF กว้างครอบคลุมบริเวณขอบภาพ หากผมขอได้ ผมคงอยากให้พื้นที่ AF ของกล้อง EOS-1D X Mark II กว้างขึ้น
ในทางเทคนิค การขยายพื้นที่ AF บนกล้องฟูลเฟรมทำยากไหมครับ
เซนเซอร์ AF ที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับกล้อง EOS-1D X Mark II ใช้ระบบ AF แบบตาข่าย 61 จุด และจุด AF ทุกจุดรองรับการโฟกัสที่รูรับแสงขนาด f/8
Sakaguchi: เราลองพยายามทุกทางเพื่อขยายพื้นที่ของเซนเซอร์ และสามารถขยายพื้นที่ AF ในแนวตั้งได้ในที่สุด อาจจะยากมากจริงๆ ถ้าจะขยายพื้นที่ตรงนี้เพิ่มอีกโดยไม่เพิ่มขนาดของกล้อง
ซ้าย: EOS-1D X Mark II ขวา: EOS-1D X
ช่องมองภาพอัจฉริยะ II ของกล้อง EOS-1D X Mark II ให้ผู้ใช้ดูข้อมูลการถ่ายภาพ พื้นที่ครอบคลุมด้วยจุด AF ในแนวนอนยาวขึ้นกว่ากล้องรุ่นก่อน
Seita: ทีมของเราที่รับผิดชอบเรื่องการโฟกัสอัตโนมัติถามเราว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเพิ่มขนาดกระจกชิ้นที่สองอีกเล็กน้อย แต่เราไม่มีพื้นที่ที่จะทำได้แล้ว นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงพยายามขยายพื้นที่ AF ให้มากเท่าที่จะทำได้โดยใช้แสงไฟกะพริบจากทุกทางไปให้ถึงขอบกระจกชิ้นที่สอง
- เช่นเดียวกับ EOS 7D Mark II มีตัวเลือก “Large Zone AF” เพิ่มเข้ามาในโหมดพื้นที่ AF บนกล้อง EOS-1D X Mark II ผมอยากทราบเกี่ยวกับโซน AF แบบเพรียวบางในแนวตั้งที่กึ่งกลาง
องค์ประกอบภาพกึ่งกลางซึ่งวางตัวแบบหลักที่กึ่งกลางภาพมักไม่ได้รับความสนใจ แต่ที่จริงแล้ว จุด AF ที่กึ่งกลางมีความแม่นยำในการทำการโฟกัสอัตโนมัติสูงที่สุด จึงมีความสามารถในการถ่ายภาพตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วได้แม่นยำที่สุด ผมคิดว่าการมีโซน AF ในแนวนอนที่กว้างขึ้นจะช่วยในการรักษาโฟกัสบนตัวแบบเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเสียอีก ทำไมจึงทำเป็นโซน AF กึ่งกลางที่เรียงกันในรูปแนวตั้งและยาวบนกล้อง EOS-1D X Mark II นี้ครับ นอกจากนี้ยังสามารถจัดกลุ่มจุด AF จากโซนต่างๆ ได้หรือไม่
ภาพแสดงตำแหน่งจุด AF บนกล้อง EOS-1D X Mark II
พื้นที่จุด AF ทั้งหมดแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ ซ้าย, กึ่งกลาง และขวา แต่ละโซนจะมีเซนเซอร์แบบ Cross-type ที่มีระบบตรวจจับและความสามารถในการโฟกัสที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถวจุด AF แนวตั้งที่กึ่งกลางทำให้การโฟกัสอัตโนมัติในทั้งในแนวตั้ง แนวนอน และแนวเฉียงมีความแม่นยำสูงสุด
Sakaguchi: เราพยายามปรับทรงของเลนส์ใกล้ตาให้เหมาะสมที่สุดและปรับเลย์เอาต์เซนเซอร์ AF เพื่อเพิ่มความแม่นยำ สิ่งนี้ทำให้ได้การออกแบบที่แยกโซนกลางออกจากโซนทางซ้ายและขวา
ส่วนที่ถามว่า เราสามารถจัดกลุ่มจุด AF หลายจุดจากโซนต่างๆ ได้หรือไม่นั้น โซนทางซ้ายและขวาที่ต่อกับโซนกลางจะมีเฉพาะจุด AF ที่เป็นเส้นเท่านั้น เมื่อเราคิดถึงความสามารถในการถ่ายและติดตามตัวแบบ จึงคิดว่าไม่น่านำมารวมกับจุด AF แบบ Cross-type
Large Zone AF
ตัวเลือก Large Zone AF ซึ่งไม่เคยมีในกล้อง EOS-1D X ถูกเพิ่มเข้ามาในกล้อง EOS-1D X Mark II และเป็นประโยชน์ในกรณีที่คุณสมบัติ Zone AF ปกติจัดการกับตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วไม่ได้ โซนตรงกลางยาวถูกทำให้ยาวขึ้นเล็กน้อย
- จำนวนจุด AF มีทั้งหมด 61 จุดเหมือนกันกับ EOS-1D X แต่ที่น่าประทับใจก็คือจุด AF ทั้ง 61 จุดรองรับการโฟกัสอัตโนมัติที่รูรับแสงขนาด f/8 เมื่อกล้อง EOS-1D X เปิดตัวใหม่ๆ ไม่สามารถทำการโฟกัสอัตโนมัติด้วยรูรับแสงขนาด f/8 ได้ หลังจากเปิดตัวอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ จุด AF ที่กึ่งกลางและจุด AF 4 จุด (บน, ล่าง, ซ้าย และขวา) ในพื้นที่ AF ที่กว้างขึ้นจึงสามารถรองรับการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8
อะไรคือเหตุผลหลักที่ทำให้จุด AF ทั้ง 61 จุดของกล้อง EOS-1D Mark II สามารถรองรับการโฟกัสอัตโนมัติด้วยรูรับแสงขนาด f/8 ได้
Sakaguchi: ลูกค้าหลายรายร้องขอเข้ามาในเรื่องความสามารถในการใช้โฟกัสอัตโนมัติด้วยรูรับแสงขนาด f/8 แต่สิ่งที่เรามอบให้ได้ในกล้อง EOS-1D X ค่อนข้างจำกัด ด้วยเหตุนี้เราจึงทุ่มเทปรับปรุงในจุดนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มพัฒนากล้อง EOS-1D X Mark II
เราสามารถทำให้โฟกัสอัตโนมัติด้วยรูรับแสงขนาด f/8 ที่มีความแม่นยำในการโฟกัสที่เพียงพอ โดยการขยายระบบกล้องและเลนส์ให้แสงที่ได้รับเมื่อเปิดรับแสงผ่านรูรับแสงขนาด f/8 ถูกนำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่
ตัวต่อขยายช่องมองภาพ EF 1.4xIII การประกอบเลนส์ EF ช่วยเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ขึ้นอีก 1.4 เท่า
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเลนส์ต่างๆ มีลักษณะเฉพาะต่างกัน การจับคู่เลนส์กับกล้องบางครั้งอาจไม่รองรับการใช้จุด AF ในเส้นรอบวงชั้นนอกสุด หรืออาจไม่สามารถใชุดงานจุด AF ได้ทั้ง 61 จุด
Masamura: สำหรับเลนส์รุ่นใหม่ เช่น EF600mm f/4L IS II USM, EF500mm f/4L IS II USM และ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM สามารถใช้จุด AF ทั้ง 61 จุดได้ แม้เมื่อจับคู่กับตัวต่อขยายซึ่งทำให้รูรับแสงกว้างสุดเป็น f/8 แต่คุณจะต้องใช้ตัวต่อขยายช่องมองภาพจากซีรีส์ 3 เท่านั้น
- เรื่องนี้เป็นจริงกับกล้อง EOS 80D ด้วยเช่นกัน กล้องนี้มีจุด AF ทั้งหมด 45 จุด ซึ่ง 27 จุดทำการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8 ได้ยกเว้นในบริเวณเส้นรอบวงนอกสุด เมื่อคุณใช้เลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM ประกอบกับตัวต่อขยายช่องมองภาพ Extender EF 1.4xIII กล้องสามารถทำการโฟกัสอัตโนมัติในพื้นที่นอกเหนือจากกึ่งกลาง และผู้ใช้สามารถสนุกกับการถ่ายภาพซูเปอร์เทเลโฟโต้ได้สบายๆ
บอกตามตรง ในฐานะผู้ใช้กล้อง EOS 7D Mark II ผมอิจฉาตรงจุดนี้มาก สำหรับกล้อง EOS 7D Mark II ถ้าจะอัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อทำให้จุด AF บางจุดนอกพื้นที่จุดกึ่งกลาง หากว่าทำทั้งหมดไม่ได้ รองรับการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8 จะยากไหมครับ ก่อนหน้านี้ ประสิทธิภาพของกล้อง EOS 7D เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นด้วยการใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชั่น 2.0 ผมหวังว่าจะมีอัพเดตเฟิร์มแวร์ที่พลิกโฉมการทำงานออกมาพร้อมกับกล้อง EOS 7D Mark II ด้วย จะเป็นไปได้ไหมครับ
Sakaguchi: อย่างที่ผมพูดถึงไปบ้างแล้วในตอนต้น จุด AF ทั้ง 61 จุดสามารถทำการโฟกัสด้วยรูรับแสงขนาด f/8 บนกล้อง EOS-1D X Mark II เนื่องจากระบบกล้องและเลนส์ คงจะยากยิ่งกว่าหากจะเพิ่มจำนวนจุด AF ที่ทำงานกับรูรับแสง f/8 ด้วยการอัพเดตเฟิร์มแวร์
- จุด AF ที่กึ่งกลางรองรับแสงระดับต่ำได้ต่ำสุดที่ EV-3 แล้วสำหรับจุด AF บริเวณขอบภาพเป็นอย่างไรบ้าง
Sakaguchi: ขีดจำกัดสำหรับสภาพแสงน้อยที่ค่า EV-3 ใช้ได้กับจุด AF ตรงกลางเมื่อใช้กล้องกับเลนส์สว่างที่มีค่ารูรับแสงอย่างน้อย f/2.8 ขณะที่ขีดจำกัดสำหรับสภาพแสงน้อยของจุด AF บริเวณขอบภาพอาจมีค่าขีดจำกัดสูงกว่าประมาณ 1 ถึง 2.5 สต็อป
กล้อง EOS-1D X Mark II มอบขีดจำกัดสำหรับสภาพแสงน้อยสูงถึง EV-3 ซึ่งทำให้ใช้โฟกัสอัตโนมัติในฉากที่มืดกว่าได้
อะไรคือเหตุผลในการพัฒนาการทำงานในสภาพความไวแสงน้อยของกล้อง เป็นเพราะเซนเซอร์ AF รุ่นใหม่ที่มีความไวแสงดีขึ้นหรือเปล่า
Sakaguchi: ใช่ หนึ่งในหลายเหตุผลคือความไวแสงที่ดีขึ้นของเซนเซอร์ AF นอกจากนั้น ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการโฟกัสอัตโนมัติภายใต้สภาพแสงน้อยคือจุดรบกวน เราจึงคิดค้นเซนเซอร์ AF ใหม่ที่สามารถลดจุดรบกวนจำนวนมากได้
- AI Servo AF เวอร์ชั่นล่าสุดคือ “III+” เครื่องหมาย “+” หมายถึงอะไร
Sakaguchi: AI Servo AF III มีประสิทธิภาพดียอดเยี่ยมเมื่อติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหวเข้าหาหรือออกห่างจากตัวกล้องอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การติดตามตัวแบบอาจช้าลงในบางกรณีเมื่อตัวแบบเปลี่ยนความเร็วหรือทิศทางการเคลื่อนไหวแบบทันทีทันใด
วิธีแก้ไขการเปลี่ยนความเร็วและทิศทางของตัวแบบแบบทันทีทันใดอย่างนี้คือ เราทำการปรับประสิทธิภาพการติดตามตัวแบบระหว่างการโฟกัสอัตโนมัติแบบคาดคะเนด้วย AI Servo AF III+ ตัวอย่างเช่น อัลกอริทึม AF แบบคาดคะเนได้รับการปรับปรุงให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความเร็วและทิศทางแบบฉับพลันทันทีในภาพ เช่น กีฬาแข่งรถช่วงทางโค้ง ที่ตัวแบบซึ่งกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเข้าโค้ง เปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหวและผละออกห่างจากกล้องด้วยความเร็วสูง
การเลือกจุด AF เริ่มต้นอัตโนมัติสำหรับ AI Servo AF
- เมื่อก่อน เวลาที่เลือกจุด AF อัตโนมัติสำหรับโหมด AI Servo AF เราอาจต้องจับโฟกัสที่ตัวแบบโดยใช้จุด AF เริ่มต้นที่ผู้ใช้เป็นผู้เลือก แล้วจึงกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อเริ่ม AI Servo AF
ผมเชื่อว่า ตั้งแต่ EOS 7D Mark II เป็นต้นมาที่ได้มีการเพิ่มตัวเลือก "อัตโนมัติ" เข้ามาในการเลือกจุด AF เริ่มต้นสำหรับโหมด AI Servo AF ลำดับความสำคัญเมื่อกล้องกำหนดตัวแบบหลักในโหมดอัตโนมัติเป็นอย่างไร
Sakaguchi: เมื่อจุด AF เริ่มต้นสำหรับโหมด AI Servo AF ถูกตั้งค่าเป็น "อัตโนมัติ" กล้องจะทำงานในลักษณะเดียวกันกับ One-Shot AF ซึ่งเลือกจุด AF โดยให้ตัวแบบที่อยู่ใกล้กล้องที่สุดเป็นตัวแบบหลัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งค่าเป็น "EOS iTR AF (เน้นใบหน้า) และใบหน้าคนในภาพถูกตรวจจับด้วยเซนเซอร์ RGB+IR ความละเอียด 360,000 พิกเซล กล้องจะเลือกจุด AF เพื่อยืนยันว่าโฟกัสอยู่บนใบหน้า ฟังก์ชั่นนี้ทำให้จับโฟกัสบนใบหน้าคนได้ง่ายขึ้น แม้ว่าตัวแบบอื่นๆ ในองค์ประกอบภาพอาจอยู่ใกล้กล้องมากกว่า
EOS iTR AF บนกล้อง EOS-1D X Mark II สามารถตรวจจับและรักษา AF บนใบหน้าคนได้ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กมาก
หากองค์ประกอบภาพของคุณค่อนข้างตายตัวและคุณรู้ว่าสิ่งที่ต้องการจับโฟกัสจะปรากฏตรงไหนในภาพ วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกจุด AF ที่จะเริ่มโฟกัสด้วยตัวเอง ในทางกลับกัน หากตัวแบบเคลื่อนไหวแบบสุ่มและจับภาพได้ยาก การเลือกโหมด "อัตโนมัติ" จะทำให้กล้องจับโฟกัสแรกที่ตัวแบบซึ่งอยู่ใกล้กล้องที่สุดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
Seita: สำหรับฟังก์ชั่นการตรวจจับใบหน้า EOS iTR AF เซนเซอร์วัดแสงความละเอียด 360,000 พิกเซลเทียบได้กับกล้องดิจิตอลในยุคที่กำลังรุ่งเรือง สามารถตรวจจับใบหน้าคน แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ในภาพเท่านั้น และสร้างโฟกัสอัตโนมัติบนใบหน้า แม้ว่าตัวแบบบุคคลจะอยู่ห่างออกไปจากกล้อง
- ผมทึ่งจริงๆ ที่กล้องสามารถเลือกจุด AF ที่ตรงกับใบหน้าคนได้เองแม้ว่าขนาดใบหน้าจะเล็กแทบจะเท่ากับขนาดจุด และยังสลับไปยังจุด AF อื่นตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้ด้วย
Sakaguchi: กล้อง EOS-1D X สามารถติดตามตัวแบบด้วยจุด AF เท่านั้น เราจึงปรับแก้อัลกอรึทึมสำหรับติดตามตัวแบบของ EOS iTR AF โดยเริ่มจาก EOS 7D Mark II เพื่อให้สามารถทำการติดตามได้ทั่วพื้นที่ ด้วยอัลกอริทึมที่ปรับปรุงใหม่นี้ กล้องสามารถสลับจุด AF โดยการติดตามสีที่แตกต่างในตัวแบบ
- สำหรับตัวแบบขนาดเล็กที่เคลื่อนไหวรวดเร็วและไม่สม่ำเสมอ เช่น นกป่า เป็นเรื่องยากที่จะรักษาจุดโฟกัสที่ตัวแบบด้วยจุด AF เดิมที่เลือกไว้ ยังมีอีกหลายครั้งที่ตัวแบบเคลื่อนที่ออกจากองค์ประกอบภาพทันทีตอนที่เราไม่ทันสังเกต
แน่นอน ถ้าตัวแบบเคลื่อนที่ออกจากจุด AF กล้องอาจเริ่มค้นหา AF เพื่อระบุตำแหน่งตัวแบบ ทำให้โฟกัสเปลี่ยนตำแหน่งไปยังจุดที่มีระยะโฟกัสต่างไปจากตัวแบบอย่างสิ้นเชิง สำหรับเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีระยะชัดตื้นและมุมรับภาพแคบ อาจเป็นเรื่องยากที่จะจับภาพตัวแบบอีกครั้งในองค์ประกอบภาพเดิม
หากจุด AF หลุดจากการติดตามตัวแบบในกรณีเช่นนี้ และกล้องไม่สามารถระบุตำแหน่งของตัวแบบหลังจากค้นหาจุดที่จะโฟกัสอัตโนมัติ เลนส์จะหยุดที่ระยะโฟกัสใกล้สุดหรือที่ระยะอนันต์
Sakaguchi: กล้องจะมองหาตัวแบบใกล้ๆ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นระยะอนันต์แล้วหยุดตรงนั้น
- สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามประเภทของตัวแบบ แต่ผมเชื่อว่าจะมีโอกาสที่กล้องจะระบุตำแหน่งตัวแบบได้อีกครั้งผ่านช่องมองภาพ หากกล้องปรับโฟกัสมาเป็นระยะโฟกัสตรงจุดเดิมก่อนที่ตัวแบบจะหลุดการติดตาม คุณคิดว่าอย่างไร
Sakaguchi: คุณยังสามารถปรับค่ากล้องให้หยุดค้นหาโฟกัสได้ที่เมนู "ระบบเคลื่อนเลนส์เมื่อปรับ AF ไม่ได้"
- กว่าจะได้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องประมาณ 14 ภาพต่อวินาที มีข้อพิจารณาด้านการออกแบบที่สำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากการขับเคลื่อนกระจกและระบบ AF อีกไหมครับ
Seita: เซนเซอร์ภาพและระบบประมวลผลภาพอาจร้อนง่ายขึ้นเมื่อต้องทำกล้องให้สามารถใช้งานความละเอียดระดับ 4K/60p และมีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงขึ้น ดังนั้น เราจึงนำวิธีต่างๆ ที่จะระบายความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้
ตามที่ระบุในแค็ตตาล็อกผลิตภัณฑ์ เราติดตั้งท่อระบายความร้อนบนบอร์ดติดตั้งระบบประมวลผล เพื่อที่ว่าความร้อนจะระบายออกไปยังอะลูมิเนียมอัลลอยด้านบนของช่องใส่แบตเตอรี่ นอกจากท่อระบายความร้อนแล้ว เรายังใช้ลวดตะกั่วระบายความร้อนออกมาจากภายในตัวกล้องที่เป็นโลหะ วิธีระบายอากาศอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันความร้อนเช่นนี้ไม่มีใน EOS-1D X
A: ท่อระบายความร้อน
B: ด้านบนของช่องใส่แบตเตอรี่อะลูมิเนียมอัลลอย
ท่อระบายความร้อน
เราวางตัวประมวลผลภาพไว้ด้านหลังเซนเซอร์ภาพเพื่อให้ได้ความเร็วในการอ่านข้อมูลสูง เนื่องจากส่วนประกอบทั้งสองก่อให้เกิดความร้อน เราจึงติดตั้งท่อระบายความร้อนเพื่อวางโครงสร้างที่ทำให้ความร้อนระบายออกได้อย่างมีประสิทธิภาพจากส่วนต่างๆ ของตัวกล้อง
- นี่คล้ายกับโครงสร้างของเมนบอร์ดเครื่องพีซีสเปคสูงหรือการ์ดจออย่างมาก มีอีกหนึ่งคำถามที่ผมลืมไปในตอนเริ่มสัมภาษณ์ ก็คือ ทำไมถึงเลือกใช้ความละเอียดประมาณ 20.2 ล้านพิกเซลสำหรับกล้อง EOS-1D X Mark II
Okado: เราพิจารณาความสมดุลระหว่างจำนวนพิกเซล (ความละเอียด) ความไวแสง ISO และอัตราเฟรม การเพิ่มจำนวนพิกเซลทีละจำนวนมากทำให้เพิ่มอัตราเฟรมภาพยาก เนื่องจากความเร็วในการอ่านสัญญาณจะช้าลง ขนาดพิกเซลก็จะเล็กลงด้วย ทำให้เพิ่มความไวแสง ISO ยากยิ่งขึ้นอีก
- ความละเอียดของกล้อง EOS-1D X อยู่ที่ประมาณ 18.0 ล้านพิกเซล สำหรับผม การเพิ่มความละเอียดเป็น 20.2 ล้านพิกเซลบนกล้อง EOS-1D X Mark II เป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
Masamura: อาจมีบางคนรู้สึกว่า เราน่าจะคงจำนวนพิกเซลไว้เท่าเดิม แต่ก็มีผู้ใช้บางส่วนที่ต้องการจำนวนพิกเซลมากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกล้องรุ่นเรือธง เราเชื่อว่ามีเหตุผลสำคัญในการเพิ่มความละเอียด ไม่ว่าการเพิ่มนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
- การปรับกล้องให้รองรับภาพเคลื่อนไหว 4K/60p เป็นหนึ่งในข้อพิจารณาหรือไม่ พูดอีกอย่างก็คือ จำนวนพิกเซล 20.2 ล้านพิกเซลเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับการประมวลผลภาพ 4K/60p หรือไม่
Okado: ไม่ ความละเอียดไม่เกี่ยวข้องกับภาพเคลื่อนไหว 4K
- ในอดีต เมื่อไหร่ก็ตามที่นำเซนเซอร์ภาพหรือระบบประมวลผลภาพรุ่นใหม่มาใช้ ความไวแสง ISO สูงสุดสำหรับการใช้งานปกติอาจเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณหนึ่งสต็อปแม้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนพิกเซล ดังนั้น เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่จะพบว่าความไวแสง ISO สูงสุดของกล้อง EOS-1D X Mark II ยังคงเป็น ISO 51200 เหมือนรุ่นก่อน
Hattori: โดยหลักการแล้ว จำนวนพิกเซลที่สูงขึ้นอาจทำให้มีจุดรบกวนมากขึ้น เพื่อจะแก้ไขปัญหาจุดรบกวน เราพยายามพัฒนาโครงสร้างเซนเซอร์และใช้ระบบประมวลผลภาพล่าสุดสำหรับการประมวลผลอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่ายังสามารถใช้ความไวแสงที่ ISO 51200 เป็นความไวแสง ISO สูงสุดระดับปกติได้
แท้จริงแล้ว อาจจะเหมาะที่สุดหากเราเพิ่มความไวแสง ISO อีกหนึ่งสต็อป แต่เรายังไม่สามารถไปถึงขั้นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณจะถ่ายภาพทดสอบที่ความไวแสง ISO เท่าเดิมโดยใช้ทั้งกล้อง EOS-1D X และ EOS-1D X Mark II คุณอาจพบว่าจุดสีรบกวนมองเห็นน้อยกว่าบนกล้อง EOS-1D X Mark II ที่การตั้งค่าความไวแสง ISO สูง
ภาพที่ถ่ายโดยใช้กล้อง EOS-1D X Mark II ที่ ISO 51200 จุดสีรบกวนมองเห็นได้น้อยลงเมื่อเทียบกับกล้อง EOS-1D X และคุณภาพของภาพถ่ายยังสูงกว่าด้วย
- ผมมีข้อสงวนบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ ISO 25600 ในกล้อง EOS-1D X แต่ก็มีสีที่ไม่สม่ำเสมออยู่เล็กน้อยและจุดรบกวนที่ความไวแสง ISO ระดับเดิมในกล้อง EOS-1D X Mark II ผมคิดว่า ISO 25600 ในกล้อง EOS-1D X Mark II จะเป็นประโยชน์สำหรับภาพบางประเภทอย่างแน่นอน
Junichi Date
เกิดที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 1962 จบการศึกษาจากแผนกวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบา นอกจากงานด้านช่างภาพ เช่น ถ่ายภาพให้นิตยสาร Date ยังมีส่วนในงานเขียนโดยใช้สิ่งที่เขาถนัดอย่างขะมักเขม้น
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation