การสัมภาษณ์ทีมนักพัฒนากล้อง: EOS-1D X Mark II (ตอนที่ 1) -ฉับไว ใช้ง่าย ให้คุณภาพภาพถ่ายสูง-
กล้อง EOS-1D X Mark II ที่รอคอยกันมานาน ในที่สุดเปิดตัวแล้ว พร้อมการพัฒนาหลากหลายด้าน เช่น ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการโฟกัสอัตโนมัติ และคุณภาพของภาพถ่าย ในบทความนี้ เรานำการสัมภาษณ์เจาะลึกนักพัฒนากล้องถึงความมุ่งมั่นในการออกแบบพัฒนากล้องเรือธงรุ่นนี้ รวมไปถึงการปฏิวัติวงการกล้องถ่ายรูปมาฝากคุณผู้อ่าน (เรื่องโดย: Junichi Date)
(จากซ้ายไปขวา)
Mitsuaki Hattori (ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product)/ Takeshi Sakaguchi (ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Tomoya Masamura (แผนก ICP 2, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Masato Seita (ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)/ Teruyuki Okado (ศูนย์พัฒนา ICP 2, ปฏิบัติการแผนก Image Communication Products)
3 ด้านหลักที่มีการพัฒนาในครั้งนี้ ได้แก่ ความฉับไว ประสิทธิภาพในการทำงานระดับสูง และคุณภาพของภาพถ่ายระดับสูง
- ปีนี้ 2016 การแข่งขันโอลิมปิกจะจัดขึ้นที่ริโอเดจาเนโร กล้อง EOS-1D X Mark II พัฒนาเพื่อให้ทันกับงานนี้หรือเปล่าครับ
Masamura: เราต้องมีกระบวนการพัฒนาที่นานเพื่อให้ได้ระดับประสิทธิภาพการทำงานกล้องเรือธงที่สูง เมื่อพิจารณาเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาต่อยอดจากรุ่นก่อนหน้า เราจึงตัดสินใจที่จะเปิดตัวกล้อง EOS-1D X Mark II และวางจำหน่ายก่อนการแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโร
- การเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นของกล้อง EOS-1D X Mark II จาก EOS-1D X ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้าคืออะไร ช่วยบอกเล่าความคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ใช้เกี่ยวกับกล้อง EOS-1D X และการปรับปรุงการใช้งานและการพัฒนาในกล้อง EOS-1D X Mark II เพื่อตอบสนองต่อคำขอเหล่านั้นให้เราฟังได้ไหมครับ
Masamura: กล้อง EOS-1D X ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องด้วยระบบโฟกัสอัตโนมัติและประสิทธิภาพการถ่ายภาพต่อเนื่อง และคุณภาพของภาพถ่ายคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม เรายังคงรับคำขอเพื่อการพัฒนาต่อไปในสามด้านนี้
เราตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องโดยมุ่งมั่นพัฒนากล้องเรือธงที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น และแล้วเราก็ได้ EOS-1D X Mark II ที่รวมสิ่งสำคัญทั้งสามด้านซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของกล้อง Canon EOS ความเร็วสูง ประสิทธิภาพการทำงานสูง และคุณภาพภาพถ่ายสูงในระดับที่ประณีต
ด้วยการพัฒนาเฉพาะทาง เราพัฒนาคุณภาพภาพนิ่งโดยเพิ่มจำนวนพิกเซลจากประมาณ 18.1 ล้านพิกเซลเป็นประมาณ 20.2 ล้านพิกเซล ขณะเดียวกัน เรายังเพิ่มความรวดเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องจาก 12 ภาพต่อวินาทีให้สูงถึง 14 ภาพต่อวินาที ขณะที่จำนวนจุด AF ยังคงจำนวนเดิมที่ 61 จุด แต่เราขยายพื้นที่ AF ทั้งด้านบนและด้านล่าง และเพิ่มความไวต่อแสงระดับต่ำให้สูงถึง EV-3 เมื่อสวมท่อต่อเลนส์ซีรีส์ III เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุด f/8 จึงสามารถใช้งานจุด AF ทั้ง 61 จุดได้แล้วในตอนนี้
ความสามารถในการถ่ายภาพของกล้อง EOS-1D X Mark II เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกล้องรุ่นก่อนหน้า ด้วยความละเอียดของเซนเซอร์ภาพที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 18.1 ล้านพิกเซลเป็นประมาณ 20.2 ล้านพิกเซล และประสิทธิภาพการถ่ายภาพต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นจาก 12 ภาพต่อวินาทีเป็น 14 ภาพต่อวินาที
เซนเซอร์วัดแสง RGB+IR 360,000 พิกเซลของกล้อง EOS-1D X Mark II มีจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากกล้อง EOS-1D X ประสิทธิภาพของระบบ Scene Detection ของ EOS ก็ดียิ่งขึ้น ด้วยการรับข้อมูลจากเซนเซอร์ภาพที่ประมวลผลด้วยระบบประมวลผลภาพ DIGIC 6 เพื่อตรวจจับสีและรูปทรงของตัวแบบและสั่งการควบคุมที่เหมาะสม เช่น ระหว่างการใช้โหมด AE, AF หรือการปรับสมดุลแสงขาว สิ่งที่ควรค่าต่อการพูดถึงเป็นพิเศษคือ ความสามารถในการสร้างโฟกัสบนใบหน้าตัวแบบด้วยคุณสมบัติการเลือก AF อัตโนมัติและโซน AF ที่ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถตรวจจับใบหน้าที่เล็กลงกว่าที่เคยทำได้มาก่อน
กล้อง EOS-1D X Mark II มาพร้อมเซนเซอร์วัดแสง RGB+IR 360,000 พิกเซล สามารถตรวจจับใบหน้าและสีของตัวแบบ และช่วยให้ความแม่นยำในการตั้งค่ากล้องแต่ละแบบได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ กล้องยังมีคุณสมบัติการถ่ายแบบไร้แสงสั่นไหว ซึ่งตรวจจับวงจรความถี่ของแหล่งแสงประดิษฐ์ด้วยเซนเซอร์วัดแสง คุณสมบัตินี้ช่วยลดความไม่สม่ำเสมอของปริมาณแสงระหว่างเฟรมภาพรวมถึงสีแม้เวลาถ่ายภายใต้แหล่งแสงที่สั่นไหว
ในแง่ของความละเอียด เราปรับรูปทรงของส่วนจับถือใหม่เพื่อให้ผู้ใช้ที่มือเล็กจับถือได้ง่ายขึ้น เราเอาใจใส่กับความใช้งานง่ายของกล้อง เช่น การแสดงแสงสีแดงที่จุด AF ที่เลือกภายในช่องมองภาพ ซึ่งมีในกล้อง EOS-1D Mark IV และกล้องรุ่นก่อนๆ ด้วยเช่นกัน
กล้อง EOS-1D X Mark II มีช่องมองภาพอัจริยะ II ซึ่งรองรับการแสดงข้อมูลการถ่ายภาพในช่องมองภาพ จุด AF ที่เลือกยังสว่างขึ้นเป็นสีแดงเพื่อให้่ง่ายต่อการระบุตำแหน่ง
- กล้อง EOS-1D X และ EOS-1D X Mark II ดูจะเป็นกล้องที่ตั้งเป้าไว้ที่ช่างภาพข่าวและช่างภาพกีฬาเป็นหลัก คุณมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้อื่นๆ สำหรับกล้องนี้อีกไหมครับ
Masamura: กล้องซีรีส์ EOS-1 สามารถถ่ายภาพได้หลากหลายประเภท เราจึงไม่ได้จำกัดขอบเขตการพัฒนากล้องว่าจะต้องเป็นเฉพาะสำหรับการถ่ายภาพประเภทไหนเป็นพิเศษ ขณะที่หลายคนอาจมีความรู้สึกว่ากล้องซีรีส์นี้นิยมใช้กันทั่วในกลุ่มช่างภาพข่าวและช่างภาพกีฬา ในความเป็นจริง กล้องนี้ยังใช้สำหรับการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ อย่างกว้างขวางด้วย เช่น กีฬาแข่งรถ ภาพสัตว์ป่า รวมถึงนก พอร์ตเทรต และงานแต่งงาน
- ก่อนเปิดตัวกล้อง EOS-1D X มีกล้องรุ่นเรือธงอยู่แล้วสองรุ่น ได้แก่ EOS-1Ds ที่มุ่งนำเสนอคุณภาพของภาพถ่ายที่ดียอดเยี่ยม และ EOS-1D ที่ท้าทายความจำกัดในการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง ครั้งนี้ เรานำความโดดเด่นของกล้องทั้งสองรุ่นมารวมกันเป็น EOS-1D X ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดูเหมือนว่าบทบาทในการสร้างคุณภาพของภาพถ่ายระดับสูง หรือความละเอียดภาพในรายละเอียดปัจจุบันได้เปลี่ยนมาอยู่ที่ซีรีส์ EOS 5D แล้ว
Masamura: ที่จริง หากเรามองที่จำนวนพิกเซลและความละเอียด เป็นความจริงที่กล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R ความละเอียด 50.6 ล้านพิกเซลทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม คุณภาพของภาพถ่ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนพิกเซลเพียงอย่างเดียว แม้ว่ากล้องตระกูล EOS 5DS มีความดีเยี่ยมในการถ่ายทอดความละเอียดสูง แต่เป้าหมายของเราคือการสร้างกล้อง EOS-1D X Mark I ให้เป็นกล้องระดับท็อปในแง่ของคุณภาพของภาพถ่ายโดยรวม
Seita: หากยกตัวอย่างก็คงเป็นคุณภาพของภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยความไวแสง ISO ระดับสูง ด้วยการลดจำนวนพิกเซลให้ต่ำลงเล็กน้อย คุณภาพของภาพถ่ายก็ยังคงดีเยี่ยมเมื่อใช้ความไวแสง ISO สูง
สปริงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนมาเป็นมอเตอร์ขับเคลื่อนเพื่อควบคุมกระจกอย่างละเอียดยิ่งขึ้น
- เป็นมาอย่างไรถึงตัดสินใจปรับความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้อง EOS-1D X Mark II เป็นประมาณ 14 ภาพต่อวินาที
Masamura: ประวัติการพัฒนากล้องรุ่นเรือธงของ Canon คือที่มาที่ไปที่นำมาสู่การเพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องในปัจจุบัน กล้อง EOS-1D ซึ่งเปิดตัวในเดือนธันวาคม 2001 สามารถถ่ายได้สูงสุด 8 ภาพต่อวินาที และเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ภาพต่อวินาทีบนกล้อง EOS-1D Mark II ที่เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2004 ตามด้วย 10 ภาพต่อวินาทีเมื่อเปิดตัวกล้อง EOS-1D Mark III ในเดือนพฤษภาคม 2007 และ 12 ภาพต่อวินาทีบนกล้อง EOS-1D X ซึ่งวางขายในตลาดเมื่อเดือนมิถุนายน 2012
แม้ว่าจะมีผู้ใช้ที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องอีก แต่บางคนก็เปลี่ยนความคิดไปหลังจากได้ลองจับกล้องใหม่ที่มีความเร็วสูงกว่า เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของผู้ใช้ทั่วโลกในการจับภาพช่วงเวลาที่สำคัญ หากประสิทธิภาพการถ่ายภาพต่อเนื่องมีศักยภาพมากก็จะดียิ่งกว่า
นอกจากการถ่ายภาพช่วงเวลาที่สำคัญแล้ว ช่างภาพมืออาชีพยังพบว่าความรวดเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะช่วยเพิ่มความสามารถในการถ่ายภาพทำให้ช่างภาพถ่ายภาพคุณภาพได้มากขึ้น
กล้อง EOS-1D X Mark II รองรับการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 14 ภาพต่อวินาทีระหว่างใช้ AF และ AE แบบติดตามตัวแบบ และถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 16 ภาพต่อวินาทีด้วยโหมด AE และ AF ที่กำหนดในเฟรมแรกเมื่อถ่ายแบบ Live View ความสามารถในการถ่ายภาพช่วงเวลาที่เกิดขึ้นเพียงแวบเดียวให้ได้คุณภาพสูงนี้เป็นไปได้ด้วยประสิทธิภาพของกล้องรุ่นเรือธง
Seita: ผู้ใช้ของเราหลายคนรวมไปถึงช่างภาพมืออาชีพประทับใจมากกับการเพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องจาก 10 เป็น 12 ภาพต่อวินาทีบนกล้อง EOS-1D X ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการเพิ่มความเร็วดีกว่า ไม่ว่าความแตกต่างจะมากหรือน้อย มากกว่าที่จะปล่อยไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ว่าเราพิจารณาว่าจะตั้งเป้าหมายให้สูงกว่ามากๆ แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่จะต้องคำนึงถึง เช่น การสั่นไหว การใช้พลังงาน และความชัดใสของช่องมองภาพ เราจึงตัดสินใจทุ่มเทกับการเพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องในได้ถึง 14 ภาพต่อวินาที
- ดังนั้น ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 12 ภาพต่อวินาทีของกล้อง EOS-1D X ก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับสูงสุดแล้วในกลุ่มกล้อง DSLR การพยายามที่จะเพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องจาก 12 ภาพต่อวินาทีเป็น 14 ภาพต่อวินาทีบนกล้อง DSLR ที่มีกลไกการขับเคลื่อนกระจกต้องเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อะไรคือองค์ประกอบทางเทคนิคที่ทำให้เพิ่มความเร็วเป็น 14 ภาพต่อวินาทีได้
Seita: มีหลายองค์ประกอบครับ หนึ่งในนั้นคือการออกแบบเชิงกลไกที่ก้าวหน้าขึ้น โดยเฉพาะกลไกของกระจก กล้อง EOS-1D X เป็นกล้องรุ่นแรกที่ใช้กลไกปรับสมดุลกับกระจกรอง กลไกนี้ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในกล้อง EOS-1D X Mark II โดยรวมมอเตอร์กับลูกเบี้ยวเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของกระจกโดยตรง จึงทำให้แน่ใจได้ว่ากระจกหลักและกระจกรองจะหยุดเคลื่อนที่อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ความแตกต่างของกลไกกระจกระหว่างกล้อง EOS-1D X Mark II กับกล้องรุ่นก่อน
กล้อง EOS-1D X ใช้แรงชั่วขณะของสปริงในการขับเคลื่อนกระจกด้วยความเร็วสูง ทว่าความเร็วกลับลดลงยาก และมีการใช้ล็อกหรือกลไกการปรับสมดุลเพื่อลดการเคลื่อนของกระจก ขณะเดียวกัน กล้อง EOS-1D X Mark II ทำหน้าที่ควบคุมกระจกโดยตรงด้วยมอเตอร์และลูกเบี้ยว วิธีนี้ช่วยจัดการกับการเคลื่อนของกระจกที่เกินจำเป็น ทำให้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงขึ้น
A: การลดกลไกลูกเบี้ยว
B: ตัวปรับสมดุลกระจกหลัก
C: หน่วยมอเตอร์ชาร์จกระจก
D: ตัวยึดกระจกหลัก
E: ตัวปรับสมดุลกระจกหลัก
F: ตัวยึดกระจกรอง
G: ตัวปรับสมดุลกระจกรอง
H: ล็อกกระจกรอง
I: ล็อกกระจกหลัก
J: ตัวปรับสมดุลกระจกหลัก
แม้ว่ากลไกเดียวกันนี้จะนำมาใช้กับกล้อง EOS 7D Mark II แต่ระดับประสิทธิภาพและความทนทานที่ผู้ใช้มองหาแตกต่างกันเมื่อเป็นกล้องฟูลเฟรมซึ่งเป็นกล้องรุ่นเรือธงด้วย นี่เป็นเหตุผลที่เราออกแบบกล้องใหม่ตั้งแต่ต้น สร้างต้นแบบใหม่ๆ หลายแบบ และลองตัวเลือกแบบต่างๆ ก่อนที่จะได้ดีไซน์ที่เหมาะสม
นอกเหนือจากกลไกที่เกี่ยวข้องกับกระจกแล้ว เรายังทำให้แน่ใจว่าโหมด AF และ AE สามารถทำงานได้ราบรื่น และเราปรับเปลี่ยนระบบภายในใหม่ทั้งหมดเพื่อที่ไดอะแฟรมรูรับแสงแม่เหล็กไฟฟ้าจะสามารถรองรับความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 14 ภาพต่อวินาทีได้อย่างน้อย 3 สต็อปจากค่ารูรับแสงกว้างสุด เมื่อใช้เลนส์ระดับมืออาชีพรุ่นใหม่ๆ ความเร็วสูงสุดที่เราได้โดยรักษาข้อพิจารณาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไว้อย่างสมดุลคือ 14 ภาพต่อวินาที
- ในเชิงโครงสร้าง กระจก รูรับแสง และชัตเตอร์จะเลื่อนไปมาทางด้านหน้าและหลัง 14 ครั้งในหนึ่งวินาที ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายจริงๆ ที่จะต้องเพิ่มอัตราเฟรมภาพเมื่อเทียบกับกล้องมิเรอร์เลสซึ่งมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่น้อยชิ้นกว่า
Seita: เพื่อเพิ่มกลไกขับเคลื่อนกระจกที่เราพูดถึงตอนนี้ เราได้พัฒนามอเตอร์ขึ้นมาด้วย แม้รูปทรงของมอเตอร์จะแทบไม่เปลี่ยนเลย แต่มีการปรับองค์ประกอบภายในให้ดีขึ้น ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการพัฒนามอเตอร์ไร้แกนแบบใหม่ที่ทั้งทรงพลังและตอบสนองไว
ต้องมีระดับความทนทานที่สูงขึ้นเพื่อให้กล้อง EOS-1D X Mark II ตอบรับกับความเร็วการถ่ายภาพต่อเนื่องที่สูงสุด 14 ภาพต่อวินาทีได้ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความร้อน เราจึงปรับปรุงมอเตอร์ที่ใช้ในกล้อง EOS-1D X ด้วย
และทำให้การควบคุมมอเตอร์ตามสถานะกระจกทำได้โดยการจับกระแสเฟส (ตำแหน่งและสถานะ) ของกระจกกับเซนเซอร์ที่ไม่สัมผัสกัน สิ่งนี้ช่วยให้เราควบคุมความเร่งและการลดความเร่งในการเคลื่อนที่ของกระจกได้อย่างเหมาะสมเมื่อกระจกพลิกขึ้นลง
ไดอะแกรมอย่างละเอียดแสดงกลไกของกระจกบนกล้อง EOS-1D X Mark II
A: กลไกแกนส่งสัญญาณการกระแทก
B: ตัวปรับสมดุลกระจกรอง
C: กลไกลดความเร็วโดยใช้ลูกเบี้ยว
D: ตัวหยุดกระจกรอง
E: ตัวปรับสมดุลกระจกหลัก
F: ตัวปรับสมดุลกระจกรอง
G: มอเตอร์ชาร์จกระจก
- การเคลื่อนที่ของกระจกไม่ได้กำหนดด้วยรูปทรงของลูกเบี้ยวหรือครับ ทำไมต้องทำความเข้าใจสถานะของกระจกอย่างละเอียดก่อน
Seita: โครงสร้างของกระจกเป็นอย่างนี้คือ การเคลื่อนของกระจกไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปทรงของลูกเบี้ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลไกการเชื่อมโยงที่เคลื่อนพร้อมกับกระจกด้วย การรับข้อมูลกระแสเฟสของกระจกอย่างละเอียดช่วยให้สามารถควบคุมการหยุดเคลื่อนของกระจกขณะถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงได้แม่นยำขึ้น
กล้อง EOS-1D X Mark II ครั้งนี้มาพร้อมกับคุณสมบัติการถ่ายภาพ Live View แบบเงียบเสียงใหม่เพื่อลดเสียงกดชัตเตอร์ขณะถ่ายภาพ ในกลไกกระจกแบบเดิมที่ใช้สปริง กระจกไม่สามารถพลิกขึ้นช้าๆ ได้ และทำให้หยุดการเคลื่อนที่แบบค่อยเป็นค่อยไปได้ยาก ด้วยการควบคุมโดยตรงผ่านมอเตอร์และลูกเบี้ยว เราสามารถควบคุมปริมาณไฟฟ้าที่ใช้กับมอเตอร์พร้อมกับการติดตามเฟสของกระจก วิธีนี้ช่วยให้กระจกเคลื่อนช้าลงกว่าปกติ จึงลดเสียงกลไกการทำงานของกล้องลง
- เข้าใจแล้วครับ แสดงว่าต้องติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจจับกระแสเฟสกระจกเพื่อที่จะกำหนดระยะเวลาในการเร่งหรือลดความเร็วของมอเตอร์ได้แม่นยำขึ้น
Seita: นอกจากนี้ ยังง่ายขึ้นสำหรับเราที่จะสร้างโหมดการถ่ายภาพแบบเงียบเสียงด้วยระบบขับเคลื่อนกระจกโดยตรงที่ใช้มอเตอร์ เนื่องจากการขับเคลื่อนกระจกโดยใช้กลไกแบบสปริงมีข้อจำกัดมากกว่า
- กล้อง EOS-1D X ขับเคลื่อนกระจกผ่านแรงสปริง ขณะที่ EOS-1D X Mark II ใช้กลไกการควบคุมโดยตรงที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ พฤติกรรมหรือการเคลื่อนที่ของกระจกภายในกล้องสองรุ่นนี้ต่างกันอย่างไร ผมเดาว่ากลไกสปริงน่าจะให้แรงชั่วขณะที่ทรงพลังมากกว่าหรือเปล่าครับ
Seita: มอเตอร์เร็วกว่าหากเราว่ากันถึงเรื่องโมเมนตัมปฐมภูมิ แม้ว่ากำลังชั่วขณะของสปริงทรงพลังกว่าของมอเตอร์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่การเคลื่อนที่ระยะเริ่มต้นช้ากว่าเล็กน้อย หรือจะอธิบายง่ายๆ ได้ว่า การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เร็วกว่าเมื่อกระจกเริ่มเด้งขึ้น แต่ระหว่างทางระบบสปริงจะแซงขึ้นมา
- ดังนั้นการปลดกลไกล็อกเพื่อปลดแรงสปริงก็จะใช้เวลานานกว่าเล็กน้อยใช่ไหม
Seita: ใช่ครับ แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงเวลาที่กระจกเด้งขึ้นจนสุดไปจนถึงช่วงเวลาที่กระจกหยุดเคลื่อนที่จะสั้นกว่ากล้อง EOS-1D X Mark II เป็นเรื่องยากที่จะลดความเร็วด้วยกลไกขับเคลื่อนด้วยสปริง และใช้เวลานานกว่าที่การเคลื่อนของกระจกจะลดลง ในแง่นี้ การขับเคลื่อนโดยตรงที่ใช้มอเตอร์จะหยุดความเร็วของกระจกอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเด้งขึ้นสุด ซึ่งช่วยลดการเคลื่อนของกระจก
- แล้วเวลาที่กระจกพลิกลงล่ะครับ
Seita: หลักการเดียวกันครับ กล้อง EOS-1D X ใช้แรงสปริงเพื่อพลิกกระจกขึ้นลง แม้ว่าความเร็วขณะพลิกลงอาจเร็ว แต่หากเราพิจารณาโมเมนตัมเริ่มต้นและเวลาที่ต้องใช้ในการเด้งของกระจกเพื่อลดช่วงเวลาที่ช่องมองภาพปรับมืดลง จะสั้นกว่าสำหรับ EOS-1D X Mark II ที่ขับเคลื่อนกระจกด้วยมอเตอร์
- คุณสามารถบอกค่าที่เจาะจงของเวลาปรับมืดของช่องมองภาพได้ไหมครับ
Seita: ผมต้องขอโทษด้วย แต่เราเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ ถึงแม้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องจะเพิ่มขึ้นจาก 12 เป็น 14 ภาพต่อวินาที เวลาที่กระจกพลิกลงก็ยังไม่เปลี่ยนสักเท่าไหร่ ในทางกลับกัน การลดระยะเวลาอาจส่งผลกระทบต่อความชัดใสของช่องมองภาพและระบบ AF ระหว่างการถ่ายภาพต่อเนื่อง
นี่คือเหตุผลที่เราพยายามจะลดระยะเวลาการพลิกขึ้นลงของกระจกให้มากที่สุดเพื่อจะให้มีเวลาเพียงพอในการโฟกัสอัตโนมัติและเพิ่มความมั่นใจว่าช่องมองภาพจะชัดใสเพื่อที่จะระบุตัวแบบได้ง่าย
- มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความไวในการตอบสนองของชัตเตอร์ไหมครับ
Seita: ความไวในการตอบสนองของชัตเตอร์เหมือนกับรุ่น EOS-1D X ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.036 วินาที หากคุณตั้งค่าไปที่ระยะเวลาสั้นที่สุด ("Shortened") ในเมนูการตั้งค่าระบบส่วนตัว และ 0.055 วินาทีในการตั้งค่าเริ่มต้น ("Standard") ค่า 0.055 วินาทีไม่เปลี่ยนตั้งแต่กล้อง EOS-1 รุ่นแรก
- ในฐานะกล้องรุ่นเรือธงสำหรับการถ่ายภาพช่วงเวลาสำคัญ การปรับความไวในการตอบสนองของชัตเตอร์แต่ละครั้งที่เปิดตัวกล้องรุ่นใหม่อาจส่งผลต่อการหยั่งรู้ล่วงหน้าของช่างภาพซึ่งเป็นไปตามประสบการณ์ในการถ่ายภาพของแต่ละคน ดังนั้น การที่ช่างภาพสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งค่าความไวในการตอบสนองของชัตเตอร์ให้สั้นที่สุดหรือจะเลือกระยะที่คุ้นเคยก็จะเป็นการดีสำหรับพวกเขาเอง
Junichi Date
เกิดที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 1962 จบการศึกษาจากแผนกวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบา นอกจากงานด้านช่างภาพ เช่น ถ่ายภาพให้นิตยสาร Date ยังมีส่วนในงานเขียนโดยใช้สิ่งที่เขาถนัดอย่างขะมักเขม้น
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation