เคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดจากมืออาชีพในการเพิ่มความลึกให้กับภาพ
การถ่ายภาพคือศิลปะแบบสองมิติรูปแบบหนึ่ง การใช้ทางยาวโฟกัสเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ เช่น โบเก้ และการบีบมุมมองภาพสามารถทำให้ภาพมีความชัดลึกและมีสามมิติได้ เพื่อใช้สื่อสารถึงวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพในผลงานของเรา ต่อไปนี้ เราจะขอแนะนำเทคนิคดังกล่าว ซึ่งนิยมใช้กันในกลุ่มช่างภาพมืออาชีพ (บรรณาธิการโดย: Digital Camera Magazine)
เมื่อคุณถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีสัตว์ป่าอยู่ด้วย ให้ใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อควบคุมความชัดลึก
EOS 7D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ ทางยาวโฟกัส: 90 มม. (เท่ากับประมาณ 144 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Manual exposure (f/2.8, 1/80 วินาที)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ภาพกวางซีกาฮอกไกโดซึ่งถ่ายที่คาบสมุทรชิเรโทโคะของเกาะฮอกไกโด เนื่องจากการถ่ายภาพทำในขณะที่ในป่ามีแสงแดดไม่มาก ผมจึงเลือกใช้เลนส์ที่มีค่า F ที่ให้ความสว่าง ในการทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์โบเก้ในภาพนี้ ผมต้องใช้เลนส์ด้วยความชำนาญ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกมาจะไม่ดูรกเกินไป (ภาพและเรื่องโดย: Yukihiro Fukuda)
ใช้เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพของเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อสร้างความลึก
ในตัวอย่างนี้ ผมเลือกใช้ทางยาวโฟกัสประมาณ 140 มม. โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 สิ่งที่ผมต้องการรวมเข้าไปในภาพ เริ่มต้นจากดอกไม้สีเหลืองในโฟร์กราวด์ ตามด้วยต้นไม้ และสุดท้ายคือทิวทัศน์ที่อยู่ห่างออกไปซึ่งถูกบดบังด้วยหมอก เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพเกิดจากการที่ทางยาวโฟกัสช่วยทำให้ภาพมีความลึกได้ตามที่ตั้งใจ
ค่า F ที่ให้ความสว่างช่วยทำให้โฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์เบลอ
ผมเลือกค่ารูรับแสงสูงสุดที่ f/2.8 เพื่อเบลอวัตถุทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือจากตัวแบบหลัก ควรเลือกใช้ค่า F ที่มีค่าใกล้เคียงกับรูรับแสงกว้างสุด เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพโดยการใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ผมยังเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพออกมาเบลอเนื่องจากการสั่นไหวของกล้อง
เมื่อองค์ประกอบภาพดูแบน ให้สร้างความลึกโดยใช้เลนส์มุมกว้าง
EOS 5D Mark II/ EF24mm f/1.4L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/2, 1/6,000 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพทะเลในฤดูร้อนภาพนี้ชวนให้นึกย้อนไปถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้ทะเล ผมถ่ายภาพนี้ด้วยความหวังที่จะหวนนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ที่เห็นได้เฉพาะในฝันเท่านั้น (ภาพและเรื่องโดย: Masatsugu Koorikawa)
เคล็ดลับ: ถ่ายภาพระยะใกล้ในแนวทแยงมุมจากด้านหลังเพื่อทำให้รูปทรงของเรือบิดเบี้ยว
ตอนแรกผมถ่ายภาพเรือจากทางด้านข้าง แต่ว่ารูปทรงของตัวแบบดูแม่นยำมากเกินไป และไม่สามารถสื่อถึงพลังของภาพได้ ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้เลนส์มุมกว้างแบบใด การสร้างเอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวที่สามารถสังเกตได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหากคุณถ่ายภาพตัวแบบโดยตรงจากทางด้านหน้า หากเทียบกันแล้ว องค์ประกอบของภาพที่มีหัวเรือหันไปทางทะเลจะช่วยเพิ่มพลังและความลึกให้กับภาพ
ทางยาวโฟกัสที่สร้างระยะห่างเกินจริง
เลนส์มุมกว้างจะสร้างความแตกต่างที่สัมพันธ์กันของระยะห่างระหว่างวัตถุในระยะใกล้และระยะไกลให้ดูเกินจริง ในตัวอย่างนี้ ผมใช้คุณลักษณะนี้โดยการใช้เรือวางเป็นโฟร์กราวด์เพื่อเพิ่มพลังให้กับภาพทะเล มิฉะนั้นอาจทำให้ภาพดูแบนได้ ท้องทะเลอาจดูห่างไกลมากหากมุมรับภาพกว้างเกินไป ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจว่าทางยาวโฟกัสที่ 24 มม. น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในกรณีนี้
ระยะโฟกัสที่สร้างเอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวที่สามารถสังเกตได้
ผมจัดตำแหน่งเลนส์ให้อยู่ใกล้ตัวแบบมากที่สุด เพื่อที่เราจะยังสามารถมองเห็นหัวเรือได้จากมุมมองด้านข้าง วิธีดังกล่าวยังเป็นการสร้างเอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวให้กับเรืออย่างมาก ราวกับว่าเรือกำลังมุ่งหน้าสู่ทะเล ดังในภาพตัวอย่างนี้ คุณสามารถใช้ประโยชน์จากลักษณะพิเศษของเลนส์มุมกว้างนี้ได้ โดยการเคลื่อนกล้องเข้าใกล้ตัวแบบ
การทำให้ตัวแบบดูโดดเด่นจากแบ็คกราวด์ที่มีสีกลืนกันโดยการเปิดรูรับแสง
EOS 5D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 65 มม./ Manual exposure (f/4, 1/8 วินาที)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
ในตัวอย่างนี้ ผมต้องการสร้างภาพที่มีบรรยากาศของความนุ่มนวล โดยใช้แสงตามธรรมชาติกับแจกันดอกไม้ในห้องน้ำของผม ทั้งแบ็คกราวด์และตัวแบบมีสีขาวทั้งคู่ ดังนั้นผมจึงปรับค่า F เพื่อให้ตัวแบบดูโดดเด่นจากแบ็คกราวด์ (ภาพและเรื่องโดย: Katsura Komiyama)
ค่า F สร้างโบเก้ขนาดใหญ่เพื่อให้บรรยากาศที่นุ่มนวลอบอุ่น
เพื่อให้ตัวแบบดูโดดเด่นจากแบ็คกราวด์ที่มีสีกลืนกัน ผมจึงตั้งค่ารูรับแสงที่ค่าสูงสุด (f/4) เพื่อเบลอแบ็คกราวด์ ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศดูนุ่มนวลขึ้น นอกจากนี้ ผมยังเลือกตำแหน่งที่แสงแดดตกกระทบกับตัวแบบ เพื่อให้แบ็คกราวด์ดูดำมืดยิ่งขึ้น
ความไวแสง ISO เพิ่มความเร็วชัตเตอร์เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพออกมาเบลอเนื่องจากการสั่นไหวของกล้อง
เมื่อถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงสลัว ซึ่งจะสว่างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีแสงธรรมชาติอ่อนๆ เท่านั้น คุณสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นเพื่อสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลได้เช่นกัน ในตัวอย่างนี้ ผมเพิ่มความไวแสง ISO ขึ้นเป็น 1600 เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ 1/8 วินาที วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ภาพออกมาเบลอเนื่องจากการสั่นไหวของกล้อง
เกิดเมื่อปี 1965 ที่โตเกียว ทุกๆ ปี Fukuda ใช้เวลากว่าครึ่งไปกับการออกภาคสนาม ปัจจุบัน เมื่อมีกล้อง EOS-1D C เขาจึงขะมักเขม้นในการถ่ายภาพยนตร์ชนิด 4K เพิ่มเติมจากการถ่ายภาพนิ่ง นอกจากนี้ เขายังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มด้วยเช่นกัน
เกิดในเมืองนาระ นอกจากการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและสินค้าให้กับนิตยสารกล้องและเพลงแล้ว Masatsugu ยังมีผลงานที่ใช้ริมฝั่งบริเวณอ่าวโตเกียวเป็นธีมอีกด้วย
เกิดที่เมืองคานากาวะในปี 1979 ช่างภาพ หลังจากเรียนรู้การถ่ายภาพกับ Makoto Nakamura และเข้าทำงานที่ร้านกาแฟและสำนักพิมพ์ Komiyama ก็หันมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ Nakamura Photographic Academy/ anthony.jp ช่างภาพที่เซ็นสัญญากับ PHaT PHOTO (Amana)/ amana
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation