ภาพทิวทัศน์ – การถ่ายภาพให้น่าประทับใจด้วยการตั้งค่าความไวแสง ISO และฟังก์ชั่น Live View
ฟังก์ชั่น Live View สำหรับกล้อง EOS 70D ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยนำเซนเซอร์ Dual Pixel CMOS AF มาใช้ บทความต่อไปนี้จะกล่าวถึงเทคนิคการถ่ายภาพบางประการที่ช่างภาพมืออาชีพใช้ในการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 70D ขอแนะนำให้คุณลองถ่ายภาพให้งดงามน่าประทับใจด้วยการใช้หน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพจากมุมแปลกๆ ทำได้ง่ายขึ้น และมีช่วงความไวแสง ISO มาตรฐานให้เลือกหลายระดับ (เรื่องโดย: Aki Goto)
ถ่ายภาพทิวทัศน์ให้สวยโดนใจด้วยการใช้คุณสมบัติเด่นของกล้อง EOS 70D อย่างเต็มที่
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ซึ่งต้องเดินไปตามริมทะเลสาบ ภูเขา ชายทะเล หรือฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางไกล น้ำหนักกล้องจึงเป็นข้อพิจารณาสำคัญ น้ำหนักที่เบาของกล้อง EOS 70D จึงไม่เป็นภาระที่เพิ่มความเหนื่อยล้า แม้ว่าคุณจะถ่ายภาพติดต่อกันหลายชั่วโมง นอกจากนี้ กล้องยังสามารถใช้ถ่ายภาพในฉากหลากหลายรูปแบบ และเพิ่มความมั่นใจด้วยฟังก์ชั่นอื่นๆ อีกมาก
เปิดภาพ Live View บนจอ LCD แบบปรับหมุนได้ขณะจัดองค์ประกอบภาพหรือจับโฟกัส การทำเช่นนี้ทำให้คุณสามารถจัดกรอบภาพที่จะถ่ายได้อย่างอิสระจากหลากหลายมุม ทั้งสูงและต่ำ จึงให้ภาพถ่ายจากมุมมองที่ไม่จำเจ จอ LCD มีความชัดใสอย่างมาก ขณะที่ขั้นตอนการเช็คปริมาณแสงก็ทำได้รวดเร็ว และยังโฟกัสได้ง่าย นอกจากนี้ การใช้ชัตเตอร์แบบแตะยังตอบสนองได้ไวมากด้วย เมื่อเลือกความไวแสง ISO สูงขณะถ่ายภาพในบริเวณที่มีแสงน้อย เช่น ในป่าที่มีต้นไม้ครึ้ม คุณสามารถถือกล้องถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องกล้องสั่นไหว ด้วยความสามารถรอบตัวเช่นนี้ จึงเพียงพอที่จะถ่ายภาพได้ทุกประเภท ลองใช้กล้อง EOS 70D เพื่อเก็บภาพถ่ายที่คุณชื่นชอบ
ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์!
・Aperture-priority AE
・FlexiZone - จุดเดียว
・รูปแบบภาพ "ภาพวิว" (วันเมฆครึ้ม)
・ขาตั้งกล้อง
・รีโมทคอนโทรล
หากคุณต้องการจะได้ภาพถ่ายที่มีโฟกัสชัดลึกที่ความไวแสง ISO ต่ำๆ และภาพที่คมชัดถึงรายละเอียด หรือในช่วงเวลาที่มืดลงของวัน ซึ่งความเร็วชัตเตอร์มีแนวโน้มจะช้าลง เช่น ในเวลาเช้าตรู่หรือพลบค่ำ ให้ใช้ขาตั้งกล้องและรีโมทคอนโทรล เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาจากการสั่นไหวของกล้อง ขณะเดียวกัน ในวันเมฆครึ้มที่สีหม่นหมอง การเลือกรูปแบบภาพ “ภาพวิว (Landscape)” ช่วยให้ภาพมีสีสันเหมือนจริงในโทนสีแบบมีชีวิตชีวา
เทคนิค 1: ภาพภูเขาไฟฟูจิและดอกไม้ที่ดูมีความสมดุลเป็นอย่างดี ใช้ฟังก์ชั่น Live View และชัตเตอร์แบบแตะ
ถ่ายภาพขณะนั่งยองกับพื้น
EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 70 มม. (เทียบเท่ากับประมาณ 112 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (1/80 วินาที, f/11, +0.6EV)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
เพื่อไม่ให้สีโทนของดอกลาเวนเดอร์ที่บานสะพรั่งอยู่ดูไร้มิติจนเกินไป ผมใช้ฟังก์ชั่น Live View และจอ LCD แบบปรับหมุนจอได้เพื่อจัดองค์ประกอบภาพให้มีชีวิตชีวา พร้อมกับให้ความสำคัญกับความลึกและทิศทางของดอกไม้ ในภาพนี้ ผมตั้งค่ารูรับแสงเป็น f/11 เพื่อให้เค้าโครงของภูเขาไฟฟูจิที่อยู่ด้านหลังไม่เบลอมากนักและยังคงมองเห็นเป็นรูปทรง
ถ่ายภาพขณะยืน
ในภาพที่ถ่ายตอนกำลังยืนนี้ สิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น บ้านเรือน สายไฟ มักเข้ามาทำให้ฉากสวยๆ ดูอ่อนด้อยลงไป ในทางตรงกันข้าม การจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้ฟังก์ชั่น Live View และจอ LCD แบบปรับหมุนได้ขณะที่นั่ง ทำให้ผมสามารถจัดให้มีเฉพาะดอกไม้และภูเขาไฟฟูจิเข้ามาอยู่ในภาพได้
ตรวจดูองค์ประกอบภาพจากมุมต่ำโดยใช้จอ LCD แบบปรับหมุนได้
ผมบังเอิญเจอดอกไม้เป็นทิวแถวอยู่ที่เชิงภูเขาไฟฟูจิ หากผมถ่ายภาพในระดับสายตา สิ่งต่างๆ ในฉากปกติ เช่น สายไฟและบ้านเรือน อาจเข้ามาอยู่ในภาพร่วมกับดอกลาเวนเดอร์และภูเขาไฟด้วย ซึ่งจะทำให้ภาพขาดตัวแบบหลักที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ต้องการรวมอยู่ในภาพ ผมตั้งกล้องในตำแหน่งที่ต่ำ ขณะที่ตรวจดูภาพบนจอ LCD แบบปรับหมุนได้ ผมมองหาองค์ประกอบภาพที่มีดอกลาเวนเดอร์เป็นตัวแบบหลัก และจับโฟกัสบนดอกไม้ในระยะโฟร์กราวด์โดยใช้ฟังก์ชั่น Live View
ท้องฟ้าในวันที่ถ่ายภาพนี้ค่อนข้างจะครึ้ม เมื่อเลือกรูปแบบภาพ “ภาพวิว” ผมจึงสามารถถ่ายภาพดอกลาเวนเดอร์ให้มีสีสันสดใสมีชีวิตชีวาได้ เพื่อสื่อความรู้สึกสดชื่นของดอกไม้ให้ชัดเจนขึ้น ผมจึงเพิ่มปริมาณแสงให้มากขึ้น
เคล็ดลับการตั้งค่า
ตั้งค่าชัตเตอร์แบบแตะเป็น “เปิด” ขณะที่กำลังถ่ายภาพ Live View จากมุมต่ำ ให้แตะที่จอ LCD เพื่อกดชัตเตอร์ทันทีที่จัดองค์ประกอบภาพเสร็จ ชัตเตอร์แบบแตะมีความไวในการตอบสนองที่ดีเยี่ยม และช่วยให้ใช้งานได้ง่าย
เทคนิค 2: ใส่ฟิลเตอร์ ND ซ้อนกับฟิลเตอร์ PL เพื่อลดความเร็วชัตเตอร์และสรรค์สร้างภาพผิวน้ำที่ดูนุ่มนวลดุจแพรไหม
EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM/ FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับประมาณ 16 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (6 วินาที, f/22)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
สายน้ำที่กำลังพุ่งลงมาจากภูเขาไฟฟูจิดูเป็นเส้นสายที่นุ่มนวลเพราะความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ในภาพนี้ ผมใช้เลนส์มุมกว้างในการดึงเอามิติความลึกของน้ำตก ซึ่งแผ่ตัวอย่างมีพลังไปยังขอบภาพทั้งสองด้าน
พื้นผิวของแอ่งน้ำดูเป็นจุดๆ สีขาวเมื่อไม่ใช้ฟิลเตอร์ ND เมื่อไม่ใช้ฟิลเตอร์ ภาพการเคลื่อนไหวของสายน้ำไหลและพื้นผิวน้ำอาจห่างไกลจากความคาดหวังมาก ในการสร้างสรรค์ความละเอียดให้ดูนุ่มนวลดุจแพรไหม ผมใช้ฟิลเตอร์ ND และซ้อนด้วยฟิลเตอร์ PL เพื่อลดปริมาณแสง ขาตั้งกล้องและรีโมทคอนโทรล ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพ
ลดความเร็วชัตเตอร์โดยใช้ค่าความไวแสง ISO ต่ำและค่ารูรับแสงสูง
เพื่อถ่ายทอดความนุ่มนวลของน้ำตก คุณจะต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลง อันดับแรก ผมเลือกใช้ Aperture priority AE, ISO 200 และค่ารูรับแสงแคบสุดที่ f/22 อย่างไรก็ตาม ผมต้องใส่ฟิลเตอร์ เพราะผมไม่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเพียงพอได้ในสภาพแสงตอนกลางวัน ถึงอย่างนั้น ฟิลเตอร์ ND8 ที่ผมมีอยู่ก็ไม่สามารถให้ภาพที่น่าพอใจ ผมจึงใส่ซ้อนทับกับฟิลเตอร์ PL เพื่อตัดปริมาณแสงให้ลดน้อยลงไปอีก สังเกตว่า เมื่อคุณใส่ฟิลเตอร์เข้ากับเลนส์มุมกว้าง อาจพบว่ามีรอยฟิลเตอร์ที่มุมภาพทั้ง 4 ด้าน และอาจเกิดขอบมืดในภาพ
กำหนดองค์ประกอบภาพโดยพิจารณาถึงส่วนที่ต้องตัดออก เลนส์มุมกว้างมักจะถ่ายภาพพื้นที่กว้างๆ ดังนั้น อย่าลืมที่จะตรวจดูมุมภาพในช่องมองภาพระหว่างการจัดองค์ประกอบภาพ เพื่อไม่ให้สิ่งอื่นๆ เช่น หญ้าที่ดูรกๆ รวมอยู่เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบภาพของภาพหลักทางซ้ายมือ ผมจึงกำหนดมุมภาพ พร้อมกับลดทอนองค์ประกอบในภาพที่จะถ่ายให้น้อยลง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำ และต้นไม้เขียวชอุ่ม
เทคนิค 3: การถ่ายภาพป่าไม้ทึบด้วย ISO 12800 และปริมาณแสงสูงๆ
EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM/ FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับประมาณ 16 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (1/250 วินาที, f/16, +1EV)/ ISO 12800/ WB: แสงแดด
ในภาพต้นไม้ที่ทอดตัวยาวไปจนถึงโพรงถ้ำภาพนี้ ผมพยายามขับเน้นชีวิตชีวาของหมู่แมกไม้จากมุมต่ำ เพราะแสงลอดเข้ามาในป่าเพียงเล็กน้อย สภาพแวดล้อมที่นี่จึงค่อนข้างมืด ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาจากกล้องสั่นเพิ่มมากขึ้น แม้อย่างนั้น ผมก็ยังสามารถถือกล้องถ่ายภาพได้โดยใช้วิธีเพิ่มความไวแสง ISO
ISO 100
ISO 12800
ISO 25600
เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อป้องกันการสั่นไหวของกล้อง
ผมตั้งค่าชดเชยแสงเป็น +1EV เพื่อขับเน้นความรู้สึกสดชื่นของแมกไม้เขียวชอุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจทำให้ภาพเบลอเมื่อใช้ความไวแสง ISO 100 แต่คุณจะไม่พบภาพสั่นไหวที่ ISO 12800 และจุดรบกวนก็ยังไม่เป็นที่สังเกตเห็นแม้จะใช้ ISO 25600 ความไวแสง ISO สูงไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันปัญหาจากอาการกล้องสั่นไหว แต่ยังเอื้อให้คุณได้ลดขนาดรูรับแสงเพื่อการถ่ายทอดภาพที่มีพื้นที่ในโฟกัสกว้างขึ้น
การใช้ความไวแสง ISO สูงอย่างจงใจเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและความละเอียดของทิวทัศน์
นี่เป็นภาพที่ใช้วิธีถือกล้องถ่ายภายในป่าที่มืดทึมด้วยเลนส์มุมกว้าง แสงจากท้องฟ้าลอดผ่านใบไม้และสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวล ผมจึงเพิ่มความสว่างให้กับภาพโดยตั้งค่าการชดเชยแสงไปที่ +1EV แม้ว่า ISO 25600 จะอยู่ในช่วงที่มีความไวสูงมาก แต่ก็ยังมีจุดรบกวนให้เห็นเพียงเล็กน้อย การเพิ่มความไวแสง ISO อย่างจงใจเพื่อเพิ่มค่ารูรับแสงเอื้อประโยชน์ต่อภาพซึ่งต้องการถ่ายทอดสัมผัสหรือความละเอียดของภาพทิวทัศน์ จึงช่วยขยายขอบเขตให้กับงานถ่ายภาพของคุณ ปัญหาจากอาการกล้องสั่นไหวจะไม่เกิดขึ้นเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่ากับ “1/ทางยาวโฟกัสเลนส์” หรือช้ากว่า คุณอาจใช้แนวทางนี้ในการเลือกระดับความไวแสง ISO ก็ได้
จัดองค์ประกอบภาพที่ดูโดดเด่นด้วยมุมมองจากด้านล่าง
ในสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการวางขาตั้งกล้อง ลองนอนลงบนพื้นแล้วมองหามุมเจ๋งๆ ช่องมองภาพออพติคอลของกล้อง EOS 70D มองเห็นได้ชัดเจนดีเยี่ยม ทั้งยังมีจุด AF แบบกากบาท 19 จุดที่ใช้งานได้อย่างง่ายดาย
เคล็ดลับการตั้งค่า
ขยายช่วงความไวแสง ISO ไปที่ 25600 มีบางสถานที่ที่ไม่สามารถใช้ขาตั้งกล้อง เช่น จุดที่มีนักท่องเที่ยวคราคร่ำ สำหรับฉากเช่นนี้ ลองถือกล้องถ่าย โดยเพิ่มขีดจำกัดช่วงความไวแสง ISO ไปที่ H (25600)
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า “Landscapes” และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ “Water Silence” การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอไว้ด้วยกัน
http://www.akifoto-inc.com/