[บทที่ 5] ถ่ายภาพสิ่งที่คุณต้องการด้วยโฟกัสอัตโนมัติ
ฟังก์ชั่นโฟกัสอัตโนมัติจับโฟกัสวัตถุต่างๆ ให้โดยอัตโนมัติเพียงแค่กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง น่าแปลกใจที่หลายคนไม่รู้ว่าจะใช้คุณสมบัตินี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ในตอนที่ 5 ของบทความชุดนี้ ผมจะอธิบายวิธีการใช้โฟกัสอัตโนมัติเพื่อจับโฟกัสตรงตำแหน่งที่คุณต้องการ (เรื่องโดย: Yutaka Tanekiyo)
หน้า: 1 2
คุณสามารถกำหนดจุดโฟกัสได้ขณะที่ถ่ายภาพเท่านั้น
เมื่อเทียบกับเทคนิคการเปิดรับแสงและการจัดองค์ประกอบภาพแล้ว การพูดคุยเรื่องการโฟกัสและ AF (โฟกัสอัตโนมัติ) มีน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ขณะถ่ายภาพจริง เราอาจคิดถึงจุดที่ต้องการโฟกัสพร้อมกับกำหนดองค์ประกอบภาพโดยไม่รู้ตัว ผมแน่ใจว่าทุกคนเคยจับโฟกัสพลาดจากตำแหน่งที่ตั้งใจหรือได้ภาพที่หลุดโฟกัสมาแล้วทั้งนั้น ภาพที่หลุดโฟกัสนั้นไม่มีวิธีแก้ไข ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างพื้นฐานการถ่ายภาพที่ดีด้วยเทคนิคที่เหมาะสม
ในบทความนี้ ผมจะกำหนดเงื่อนไขตามสถานการณ์การถ่ายภาพจริงและอธิบายวิธีการใช้ฟังก์ชั่น AF จากเงื่อนไขที่กำหนด อันดับแรก สมมุติว่าเราต้องการถ่ายภาพแมวที่ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ ให้เราลองคิดว่าเราจะจับโฟกัสที่ตัวแบบผ่านช่องมองภาพได้อย่างไร
1. จะถ่ายภาพแมวที่ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้อย่างไร
ผมเจอแมวแอบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้โดยบังเอิญ ขณะที่กำลังจ้องมองเหยื่อของมันอยู่ ใบหน้าของแมวดูมีชีวิตชีวาและขึ้นกล้องมาก ผมต้องการถ่ายภาพในจังหวะที่เหมาะพร้อมกับทำส่วนโฟร์กราวด์ซึ่งเป็นต้นไม้ให้เบลอ
2. เมื่อใช้ค่า AF ตามค่าเริ่มต้น จุดโฟกัสจะไปตกที่พุ่มไม้แทน
ผมเริ่มลองถ่ายภาพ แต่กล้องจับโฟกัสที่พุ่มไม้ที่อยู่ด้านหน้าแทน เมื่อใช้การตั้งค่าเริ่มต้น กล้องจะเลือกจุด AF โดยอัตโนมัติ ทำให้กล้องจับโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้ที่สุด
3. ผมใช้จุด AF กึ่งกลางซึ่งตรงกับตำแหน่งของแมว
ผมเปลี่ยนโหมดการถ่ายบนกล้องเป็น Program AE กดปุ่มเลือกจุด AF ที่มุมขวาบนด้านหลังกล้อง แล้วใช้ปุ่ม 4 ทิศทางเลือกจุด AF ที่กึ่งกลาง วิธีนี้ทำให้ผมสามารถจับโฟกัสบนตัวแบบได้โดยใช้เพียงจุด AF ที่กึ่งกลางภาพ
4. กล้องจับโฟกัสที่แมวได้แล้ว!
กล้องจับโฟกัสโดยอัตโนมัติโดยใช้เพียงจุด AF ที่กึ่งกลาง ผมสามารถจับโฟกัสที่ใบหน้าของเจ้าแมวในพุ่มไม้ได้แทนที่จะเป็นต้นไม้ในระยะโฟร์กราวด์
[เคล็ดลับ] ล็อคจุดโฟกัสโดยกดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง
เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งแล้วค้างไว้สักครู่ คุณจะล็อคโฟกัสที่ตัวแบบนั้นๆ ได้ เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ในการปรับองค์ประกอบภาพได้ด้วย เราเรียกเทคนิคนี้ว่า "ล็อค AF" เช่น หลังจากจับโฟกัสโดยใช้เพียงจุด AF กึ่งกลางและกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว คุณจะสามารถจัดองค์ประกอบภาพใหม่ได้โดยปรับตำแหน่งของตัวแบบในภาพไปอีกจุดหนึ่งโดยที่ยังให้โฟกัสอยู่ที่ตัวแบบ
*ใช้เป็นภาพถ่ายตัวอย่างเท่านั้น ภาพนี้เป็นเพียงภาพเดียวที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 750D
การใช้ "ล็อค AF" เป็นเทคนิคในการปรับองค์ประกอบภาพด้วยการกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คุณถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็วด้วยการจับโฟกัสบนตำแหน่งใดก็ตามที่คุณต้องการ
การตั้งค่า AF ที่แนะนำสำหรับภาพประเภทต่างๆ
กุญแจสำคัญในการใช้คุณสมบัติ AF คือการใช้การตั้งค่า AF ที่แตกต่างกันตามประเภทของการถ่ายภาพ เช่น การตั้งค่าที่ใช้เมื่อต้องการปรับโฟกัสด้วยตัวคุณเองอาจแตกต่างไปจากตอนที่คุณไม่ต้องการพลาดช่วงเวลานั้นในการถ่ายภาพ ต่อไปนี้ ผมจะแนะนำการตั้งค่าการถ่ายภาพสำหรับภาพแต่ละประเภทอย่างเจาะจงเมื่อคุณถ่ายภาพผ่านช่องมองภาพ
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต
One-Shot AF+ การเลือกจุด AF แบบแมนนวล
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตคือการสร้างโฟกัสบนใบหน้า โดยเฉพาะที่ดวงตา สำหรับภาพพอร์ตเทรตซึ่งมักจะถ่ายในแนวตั้ง อาจสะดวกกว่าหากวางจุด AF ให้ตรงกับใบหน้าของตัวแบบไว้ก่อน เนื่องจากภาพประเภทนี้มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ลองเลือกการตั้งค่า One-Shot AF และกำหนดจุดโฟกัสด้วยตัวคุณเองน่าจะดีกว่า
การถ่ายภาพตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวที่คาดเดาได้ยาก เช่น เด็กและสัตว์
AI Focus AF+ การเลือกจุด AF อัตโนมัติ
ในการถ่ายภาพตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวที่คาดเดาได้ยาก เช่น เด็กที่กำลังวิ่งไปมา การตั้งค่าที่เหมาะสมน่าจะเป็นการเลือกจุด AF อัตโนมัติ และ AI Focus AF เมื่อตัวแบบยังคงอยู่ในพื้นที่ที่จุด AF ครอบคลุมถึงในช่องมองภาพ ขณะที่กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง กล้องจะสามารถจับโฟกัสบนตัวแบบได้โดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยลดแนวโน้มที่จะเกิดภาพเบลอและหลุดโฟกัสได้ด้วย
เกิดปี 1982 ในโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาจากคณะวิเทศศึกษาที่ Kyoto Sangyo University ในสาขาวิชาภาษาเยอรมัน Tanekiyo ทำงานเป็นผู้ช่วยของ Toshinobu Takeuchi จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation