คำแนะนำที่ห้ามพลาดสำหรับการถ่ายภาพยามค่ำคืนที่น่าตื่นตาตื่นใจ
หลังจากเริ่มคุ้นเคยกับการถ่ายภาพยามค่ำคืนแล้ว หลายๆ คนอาจยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพดังกล่าวให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ในบทความนี้ เราจะอธิบายถึงวิธีการดังกล่าว โดยแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันมากที่สุด (บรรณาธิการโดย: Digital Camera Magazine)
การถ่ายภาพยามค่ำคืนที่สวยสดงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจ
EOS 5D Mark III/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS USM/ FL: 180 มม./ Aperture-priority AE (f/5, 4 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
เพื่อขับเน้นแสงสว่างอันน่าทึ่งในภาพที่ถ่ายจากมุมสูงของเมืองจากบนยอดเขานี้ ผมจงใจปรับโฟกัสขณะเปิดรับแสงเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอ (ภาพและเรื่องโดย: Shigeki Kawakita)
สร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากแหล่งกำเนิดแสง
ผมเริ่มถ่ายภาพโดยโฟกัสที่ภาพ แต่หมุนวงแหวนโฟกัสไปครึ่งหนึ่งขณะเปิดรับแสงเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอ เนื่องจากการใช้รูรับแสงที่แคบอาจทำให้โบเก้ที่ได้มีขนาดเล็กลง (หากมี) ผมจึงเลือกค่ารูรับแสงกว้างสุดเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โปรดระมัดระวังอย่าหมุนวงแหวนโฟกัสแรงจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหากล้องสั่น
เลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อช่วยในการซูมขณะเปิดรับแสง
เมื่อเปรียบเทียบกับการถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงที่แคบลง หากเราใช้รูรับแสงกว้างสุด เวลาเปิดรับแสงจะสั้นกว่า ดังนั้น ก่อนที่คุณจะกดปุ่มชัตเตอร์ ควรตรวจสอบเวลาเปิดรับแสงก่อน จากนั้นจึงค่อยหมุนวงแหวนโฟกัสเมื่อเลยผ่านจุดกึ่งกลางของเวลาเปิดรับแสงไปเล็กน้อยแล้ว ตามภาพด้านบนผมหมุนวงแหวนหลังจากเวลาผ่านไปสองวินาที
คำแนะนำ: ถ่ายพื้นที่หลักของภาพให้มีความคมชัดขณะที่เบลอภาพในบริเวณโดยรอบ
แสงในเมืองที่ถ่ายแบบปกติดูขาดพลังไปบ้าง จึงจำเป็นต้องเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปอีกเล็กน้อย
เพื่อถ่ายภาพแสงไฟในเมืองที่เป็นตัวแบบหลักของภาพยามค่ำคืน ผมหมุนวงแหวนโฟกัสหลังจากเวลาผ่านไปสองวินาที ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของเวลาเปิดรับแสง วิธีนี้จะช่วยให้ผมสามารถถ่ายภาพแสงไฟในช่วงครึ่งเวลาแรกที่เปิดรับแสง และสร้างโบเก้ในช่วงครึ่งเวลาหลังได้ ยิ่งแสงส่องสว่างและมีขนาดใหญ่มากเพียงใด เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ได้จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น
การถ่ายภาพที่ทำให้เกิดภาพเสมือนอยู่ในอวกาศ
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.2L USM/ FL: 50 มม./ Manual exposure (f/1.2, 16 วินาที)/ ISO 800/ WB: 3,000K
ทะเลสาบ Lac de Chésery ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาในประเทศฝรั่งเศส ภาพนี้ถ่ายในช่วงกลางเดือนกันยายน ผมคิดว่าสถานที่นี้น่าจะคราคร่ำไปด้วยผู้รักการถ่ายภาพจำนวนมาก แต่กลับโชคดีเหลือเกินที่ผมเป็นคนเดียวที่อยู่ ณ จุดนี้ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณสามทุ่ม ไม่มีลมแล้ว และภาพสะท้อนของดวงดาวและภูเขาปรากฏบนผิวน้ำอย่างชัดเจน (ภาพและเรื่องโดย: Yosuke Kashiwakura)
การตั้งค่าสมดุลแสงขาวที่ช่วยเพิ่มโทนสีเย็นให้กับภาพ
ข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับการถ่ายภาพดวงดาว ได้แก่ ระดับของความเปรียบต่าง สมดุลแสงขาว (WB) และความอิ่มตัวของสี ในตัวอย่างนี้ ผมเพิ่มความเปรียบต่างและตั้งค่าสมดุลแสงขาวไว้ที่ 3,000 K เพื่อสร้างโทนสีเย็นให้กับภาพ ในขณะเดียวกัน ผมได้ลดระดับความอิ่มตัวของสีลงอย่างมาก ภาพท้องฟ้าที่ออกมาอาจเป็นโทนสีอุ่นหากไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ และท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวอาจออกมาพร่ามัวอันเนื่องมาจากบรรยากาศที่อยู่โดยรอบ อย่างไรก็ดี อันที่จริงแล้ว เราทราบกันดีว่าอวกาศนั้นมืดและหนาวเย็น และมีดวงดาวส่องแสงระยิบระยับ เมื่อระลึกถึงข้อสำคัญนี้ในขณะปรับการตั้งค่ากล้องแล้ว ผมจะสามารถถ่ายภาพดวงดาวและทิวทัศน์บนพื้นโลกที่มีบรรยากาศใกล้เคียงกับบรรยากาศของอวกาศได้
คำแนะนำ: ท้องฟ้าออกมาในโทนสีอุ่นเมื่อตั้งค่าแบบปกติ
หากผมถ่ายภาพโดยไม่เปลี่ยนการตั้งค่าเลย ท้องฟ้าจะออกมาในโทนสีอุ่นดังเช่นในภาพตัวอย่างนี้ ดังนั้น ผมจึงลดอุณหภูมิสีของสมดุลแสงขาวเพื่อเพิ่มโทนสีเย็นให้กับภาพ โดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ปรับลดอุณหภูมิมากจนเกินไป จากนั้น ผมลดความอิ่มตัวของสีให้อยู่ในระดับระหว่างสีและขาวดำ และปรับความเปรียบต่างเพื่อไม่ให้สังเกตเห็นส่วนที่มืดเกินไปได้ชัดเจนนัก นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับแต่งสิ่งเหล่านี้ระหว่างอยู่ในกระบวนการพัฒนา RAW ได้
การถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนที่น่าประทับใจ
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/7.1, 30 วินาที, EV ±0)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ในภาพนี้ผมพยายามสร้างสรรค์ภาพที่แสดงถึงทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่สวยสดงดงามน่าชมเมื่อมองผ่านกระจกรถขณะขับท่องราตรี เพื่อไม่เป็นการลดแสงไฟยามค่ำคืนที่มีผลต่อภาพ ผมจึงปิดไฟหน้ารถที่สว่างจ้า และเปิดไฟภายในรถแทน ซึ่งให้แสงสว่างพอประมาณ (ภาพและเรื่องโดย: Yuta Nakamura)
คำแนะนำ: ทำให้วงกลมโบเก้ของทิวทัศน์ยามค่ำคืนกลายเป็นตัวแบบหลัก
การจับโฟกัสภาพยามค่ำคืนจะทำให้แสงไฟในเมืองดูมีขนาดเล็ก ดังนั้น เราจึงต้องลดผลกระทบของวิวกลางคืนที่น่าประทับใจนี้
ผมต้องการจับโฟกัสที่รถยนต์ ซึ่งอยู่ห่างจากแสงในเมืองที่เป็นฉากหลังประมาณ 20 กม. การทำเช่นนั้นจะทำให้ฉากหลังเบลอลงอย่างมาก และทำให้เกิดวงกลมโบเก้ หลายคนอาจต้องการจับโฟกัสที่แสงในเมืองเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน แต่เพื่อสร้างวงกลมโบเก้ เราจำเป็นต้องจับโฟกัสที่ตัวแบบหลักให้ห่างจากแหล่งกำเนิดแสง
ทางยาวโฟกัสที่สร้างการบีบมุมมองภาพ
ผมสร้างวงกลมโบเก้จากแสงยามค่ำคืนโดยการจับโฟกัสที่รถยนต์ซึ่งจอดอยู่บนเนินเขา จากนั้น จึงตั้งทางยาวโฟกัสไว้ที่ 105 มม. เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพที่ทำให้ภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนดูใกล้กว่าและใหญ่กว่าความเป็นจริง เพื่อขับเน้นภาพวิวกลางคืนที่น่าประทับใจ
จุดโฟกัสสำหรับสร้างวงกลมโบเก้
แสงในเมืองอยู่ห่างจากรถยนต์ประมาณ 20 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่พอเหมาะสำหรับการสร้างฉากหลังเบลอ หากตั้งค่ารูรับแสงไปที่ f/7.1 และจับโฟกัสที่ประตูรถยนต์ ผมจะสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่บนฉากหลังของภาพได้ โดยมีแสงไฟต่างๆ ที่ปรากฏเป็นวงกลมโบเก้อันสวยสดงดงาม
Shigeki Kawakita
เกิดที่เมืองเกียวโตเมื่อปี 1967 และสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาการถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยศิลปะโอซาก้า เขาเป็นช่างภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน ที่เดินทางทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพให้กับหนังสือและภาพสต็อก ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนของสถานที่สำคัญใหม่ๆ ในเมืองเป็นหลัก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
http://www.geocities.jp/shigeki_kawakita/
Yosuke Kashiwakura
เกิดที่จังหวัดยามากะตะเมื่อปี 1978 Kashiwakura เริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเอง เขาได้รับรางวัลใหญ่หนึ่งในสองรางวัลจากการแข่งขันประกวดภาพทิวทัศน์ และผลงานของเขาถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ Smithsonian ในสหรัฐอเมริกา Kashiwakura สร้างผลงานภาพถ่ายไว้มากมาย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในบรรยากาศตามธรรมชาติ ทิวทัศน์ และสัตว์ต่างๆ
Yuta Nakamura
เกิดที่จังหวัดคานากาวะเมื่อปี 1988 เขาทำงานเป็นช่างภาพทิวทัศน์กลางคืนนับตั้งแต่ปี 2010 ไม่เพียงแค่การถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ในเวลากลางคืนเฉพาะในกรุงโตเกียวเท่านั้น แต่ถ่ายทั่วทั้งญี่ปุ่น และเขายังเปิดเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสำหรับจุดถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนชื่อว่า "Nightscape FAN"
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation