ช่วงเวลาก่อนพลบค่ำ และหลังดวงอาทิตย์ตกเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าสำหรับช่างภาพทั้งหลาย ถ่ายภาพทิวทัศน์ที่สวยน่าทึ่งของแสงไฟในสวนสนุกหรือแสงสีกลางเมืองด้วยกล้องของคุณ บทความนี้จะบอกถึงวิธีที่ช่างภาพมือโปรใช้งานกล้อง EOS 100D ซึ่งเป็นกล้อง DSLR ที่มีความสามารถในการถ่ายภาพในที่แสงน้อยและการแสดงโทนสีได้อย่างดีเยี่ยม เรียนรู้เทคนิคสำหรับภาพสวยๆ จากทิวทัศน์ยามค่ำคืน (เรื่องโดย: Yurika Kadoi)
หน้า: 1 2
EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM/ FL: 22 มม./ Manual exposure (5 วินาที, f/11)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เครื่องเล่นในสวนสนุกถูกถ่ายไว้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ฉันปรับความเร็วชัตเตอร์และเลือกเปิดรับแสงเป็นเวลานานเพื่อสร้างเส้นแสงหลายกลุ่มในภาพ
เทคนิค 1: ถ่ายทอดเส้นแสงด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
คาดการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อจับภาพเส้นแสง
ด้วยการใช้ขาตั้งกล้อง คุณสามารถตั้งเวลาเปิดรับแสงได้นานเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่น่าทึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ตัวอย่างหนึ่ง คือ เส้นแสง ซึ่งถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ไฟหน้ารถและไฟอื่นๆ ที่กำลังเคลื่อนที่จะสร้างเส้นแสงขึ้น ขณะที่ไฟจากอาคารจะอยู่นิ่ง เหมือนเป็นการสร้างสรรค์โลกใบใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งการถ่ายภาพกลางคืนเท่านั้นที่ทำให้คุณได้ สิ่งสำคัญก็คือ การตัดสินใจว่าเมื่อใดจึงควรลั่นชัตเตอร์ คุณควรจัดองค์ประกอบภาพล่วงหน้าโดยพิจารณาว่าแหล่งกำเนิดเส้นแสงจะเคลื่อนที่อย่างไร และต้องลั่นชัตเตอร์ในวินาทีที่แหล่งแสงนั้นมาถึงจุดที่กำหนดไว้ ต้องมีการปรับความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับการเคลื่อนที่ของตัวแบบด้วย ดังนั้นจึงแนะนำว่าคุณควรลองใช้ความเร็วหลายๆ ระดับ เพื่อตัดสินใจว่าควรใช้ความเร็วเท่าใดจึงจะเหมาะสม
ตรวจเช็คสถานที่
นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความรู้จักกับสถานที่ถ่ายภาพในขณะที่ฟ้ายังสว่างอยู่ ซึ่งจะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น
โหมด [ถ่ายกลางคืนแบบมือถือ] หยุดการเคลื่อนไหว
เมื่อเลือกใช้โหมด [ถ่ายกลางคืนแบบมือถือ] กล้องจะตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูงโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการหยุดการเคลื่อนที่ของตัวแบบ
ไม่เกิดเส้นแสงเมื่อตัวแบบเคลื่อนที่ช้า
หากตัวแบบของคุณเคลื่อนที่ช้าหรือหยุดอยู่กับที่ จะไม่เกิดเส้นแสงแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ป้องกันอาการกล้องสั่นด้วยขาตั้งกล้องและรีโมทสวิตช์
ท้าทายไปกับการเปิดรับแสงแบบแมนนวล
หลังจากได้ทำความคุ้นเคยกับกล้อง EOS 100D แล้ว ขอเสนอให้คุณท้าทายตัวคุณเองด้วยการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน ดูเหมือนหลายคนจะคิดว่าการถ่ายภาพตอนกลางคืนไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จริงแล้ว การถ่ายภาพยามกลางคืนก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากคุณจับหลักการสำคัญๆ ได้ ก่อนถ่ายภาพ เตรียมขาตั้งกล้องและรีโมทสวิตช์ให้พร้อม เพื่อคุณจะได้ตั้งกล้องให้มั่นคงและลั่นชัตเตอร์อย่างนุ่มนวลโดยไม่ทำให้กล้องสั่น กล้อง EOS 100D มาพร้อมโหมด [ถ่ายกลางคืนแบบมือถือ] ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง แต่เพื่อให้ได้ภาพที่งดงาม มีจุดสีรบกวนน้อย ขอแนะนำให้คุณเตรียมขาตั้งกล้องและรีโมทสวิตช์ให้พร้อม สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ตรวจสอบสถานที่ถ่ายภาพก่อนพลบค่ำ การตั้งค่ากล้องที่แนะนำ คือ โหมด Aperture priority AE และโหมด Manual exposure ผู้ใช้กล้องมักหลีกเลี่ยงการเปิดรับแสงแบบแมนนวล เพราะใช้งานยาก แต่ที่จริงโหมดการเปิดรับแสงแบบนี้เหมาะมากสำหรับภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน เพราะความสว่างรอบๆ ในเวลากลางคืนมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากคุณใช้ขาตั้งกล้อง เลือกใช้ ISO 100 หรือ 200 และตั้งค่ารูรับแสงที่ f/8 ไว้เป็นพื้นฐาน แล้วจึงปรับระดับการเปิดรับแสง โดยการปรับความเร็วชัตเตอร์
การตั้งค่ากล้อง EOS 100D ที่แนะนำสำหรับภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน!
- ขาตั้งกล้อง + รีโมทสวิตช์
- ระบุค่ารูรับแสง หรือตั้งค่าระดับแสงด้วยตนเอง
- ความไวแสง ISO ต่ำ
- ฟังก์ชั่น Live View
เทคนิค 2: การขับเน้นทิวทัศน์ยามค่ำคืนให้โดดเด่นขึ้นด้วยการใช้อัตราส่วนภาพ [16:9]
EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (6 วินาที, f/8)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
สำหรับทิวทัศน์ไกลๆ ของโยโกฮามาในภาพนี้ ฉันเลือกใช้อัตราส่วนภาพ [16:9] เพื่อครอปบางส่วนของท้องฟ้ามืดมิดออกไป และขับเน้นวิวยามค่ำคืนกับคนทั้งสองให้เด่นชัดขึ้น
ครอปท้องฟ้ามืดมิดออกไป
หลังพระอาทิตย์ตกดิน ท้องฟ้าก็จะมืดมาก พึงหลีกเลี่ยงไม่ให้ท้องฟ้ามืดกินพื้นที่่ส่วนใหญ่ในองค์ประกอบภาพ เพราะจะทำให้สีสันบรรยากาศทิวทัศน์ยามค่ำคืนด้อยลง วิธีที่ใช้ได้ผลดีในกรณีนี้ คือ การเปลี่ยนอัตราส่วนภาพ สำหรับภาพแนวนอน การเลือกใช้อัตราส่วนภาพ [16:9] จะครอปส่วนหนึ่งของท้องฟ้ามืดมัวด้านบนและพื้นดำๆ ด้านล่างออกไป ส่วนด้านบนและด้านล่างจะถูกซ่อนในภาพ Live View ทำให้คุณตรวจสอบองค์ประกอบภาพก่อนถ่ายภาพจริงได้
ท้องฟ้าหนักอึ้งด้วยอัตราส่วนภาพ [3:2]
เมื่อรวมคนคู่ที่อยู่ข้างหน้าไว้ในองค์ประกอบภาพ ก็เกิดพื้นที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ที่ด้านบนและด้านล่างของภาพ ท้องฟ้ามืดมิดให้ความรู้สึกที่หนักอึ้ง
ฟังก์ชั่น Live View ที่ใช้งานสะดวก
ฟังก์ชั่น Live View มีประโยชน์อย่างมากเมื่อถ่ายภาพด้วยขาตั้งกล้อง สำหรับกล้อง EOS 100D คุณสามารถแตะหน้าจอ LCD เพื่อกำหนดจุดที่ต้องการจับโฟกัสได้ และคุณยังสามารถใช้การแสดงตารางเพื่อให้แน่ใจว่าภาพไม่เอียงได้ด้วย
เทคนิค 3: สมดุลแสงขาว [แสงแดด] ช่วยเติมความอบอุ่น
EF-S55-250mm f/4-5.6 IS II/ FL: 65 มม./ Manual exposure (1.6 วินาที, f/11)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ฉันเลือก [แสงแดด] เพื่อเติมโทนสีอบอุ่นที่ช่วยขับเน้นการตกแต่งที่มีชีวิตชีวาในย่านไชน่าทาวน์ของโยโกฮาม่าได้
ลองใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวหลายๆ แบบ
อารมณ์ของภาพยามค่ำคืนควบคุมได้ด้วยการปรับโทนสีภาพ หากต้องการได้สีสันสมจริง ให้เลือกตัวเลือกสมดุลแสงขาว [อัตโนมัติ] แต่ถ้าคุณอยากจะถ่ายทอดบรรยากาศของสถานที่ให้เป็นไปตามที่ตั้งใจ ลองใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวแบบอื่นดู การเลือกใช้ [แสงแดด] จะเป็นการเพิ่มโทนสีส้มและเติมความอบอุ่นให้กับภาพ และขอแนะนำให้ใช้ [หลอดไฟทังสเตน] หากคุณต้องการเน้นบรรยากาศเย็นๆ ของโทนสีฟ้าและขาว
ขาดชีวิตชีวาจากการตั้งค่า [อัตโนมัติ]
[อัตโนมัติ] ถ่ายทอดสีสันได้อย่างสมจริงมาก แต่ไม่สามารถถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาและความคึกคักที่เกิดขึ้นบนถนนได้
ใช้ [ถ่ายภาพโดยล็อคกระจกขึ้น] เมื่อไม่ใช้ฟังก์ชั่น Live View
แม้ว่าคุณจะใช้ขาตั้งกล้อง การสั่นสะเทือนของกระจกก็อาจทำให้เกิดกล้องสั่นได้ ตั้งคุณสมบัติ [ถ่ายภาพโดยล็อคกระจกขึ้น] ไปที่ [ใช้งาน] เมื่อคุณถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนด้วยช่องมองภาพ เมื่อเปิดใช้งานคุณสมบัตินี้ คุณต้องกดปุ่มชัตเตอร์สองครั้งเพื่อถ่ายภาพ
การบีบมุมมองภาพ
ฉันใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อบีบมุมมองเปอร์สเป็คทีฟของภาพ เพื่อเน้นส่วนของแสงไฟมากยิ่งขึ้น
เกิดที่โตโยมะและจบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคานาซาวะ Kadoi ทำงานกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยในสตูดิโอถ่ายภาพ จากนั้น Kadoi ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ และปัจจุบันทำงานหลากหลายประเภทตั้งแต่ถ่ายภาพบุคคลไปจนถึงภาพนิ่งสำหรับภาพยนตร์