[ตอนที่ 2] การเพิ่มความสว่างให้แบ็คกราวด์เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์แสงที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น
"การยิงแฟลชสะท้อนเพดาน (Ceiling Bounce)" เป็นเทคนิคการควบคุมความสว่างของแบ็คกราวด์ และพร้อมกันนี้ยังใช้ในการปรับแสงให้นุ่มนวลขึ้นได้อีกด้วย เทคนิคนี้นำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมายสำหรับการถ่ายภาพภายในอาคาร ผมจึงขอแนะนำผู้อ่านให้ลองนำไปใช้งานกันดูครับ (เรื่องโดย: Yasuhiko Kani, นางแบบ: Sayuri Kurahashi (IARA))
เทคนิคแรกที่ควรลองเมื่อใช้แฟลชเสริม
วิธีการใช้แฟลชเสริมมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีหลักๆ เทคนิคแรกคือ "แฟลชทางตรง" จะหันหัวแฟลชไปที่ตัวแบบโดยตรง ขณะที่เทคนิคที่สอง "แฟลชทางอ้อม" จะหันหัวแฟลชไปที่ผนังหรือเพดาน เทคนิคการยิงแฟลชขึ้นเพดานอย่างหลังนี้เรียกกันอีกชื่อว่า "การยิงแฟลชสะท้อนเพดาน (Ceiling Bounce)" ซึ่งเป็นการสร้างเอฟเฟ็กต์แสงธรรมชาติที่จะครอบคลุมตัวแบบด้วยแสงที่นุ่มนวล แน่นอนว่า ด้วยฟังก์ชั่น TTL Auto คุณสามารถควบคุมปริมาณแสงแฟลชจนถึงระดับแสงแฟลชสูงสุดได้โดยอัตโนมัติ
ประเด็นหนึ่งที่ต้องระลึกเสมอคือ จะต้องเลือกเพดานที่เป็นสีขาวเพื่อให้แสงแฟลชกระจายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมว่าเทคนิคการยิงแสงแฟลชสะท้อนเพดานนี้จะไม่เกิดผลใดๆ หากเพดานเป็นสีดำ ดังนั้น หากเพดานที่คุณจะใช้อยู่สูง หรือหากต้องการให้แสงแฟลชสะท้อนครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น คุณจำเป็นต้องใช้แฟลชที่มีค่าไกด์นัมเบอร์สูงขึ้น ในทำนองเดียวกัน คุณยังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์แสงรอบข้างที่นุ่มนวลด้วยเทคนิคนี้ โดยการสะท้อนแฟลชไปที่ผนังทั้งสองด้านได้ด้วย
ปัญหาที่พบในการใช้แฟลชกล้อง
แสงดูหลอกกว่าปกติโดยมีแบ็คกราวด์มืด
- เกิดเงามืดเป็นพื้นที่กว้างในแบ็คกราวด์หลังตัวแบบ ผมไม่ต้องการให้มีเงาเกิดขึ้น
- แม้ว่าจะสามารถใช้เงาอย่างจงใจเพื่อสร้างอารมณ์ภาพอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ครั้งนี้ผมต้องการสร้างภาพถ่ายที่ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลกว่านี้
- แบ็คกราวด์มืดและความสว่างไม่สม่ำเสมอกัน ผมต้องการให้สีภาพออกมาเป็นธรรมชาติพร้อมกับคงบรรยากาศของสภาพแวดล้อมเอาไว้ด้วย
EOS 7D/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 24 มม./ Program AE (1/60 วินาที, f/4)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เนื่องจากถือกล้องในแนวตั้ง ทำให้เกิดเงามืดเป็นพื้นที่กว้างที่ต้นไม้และผนังห้องทั้งสองด้านข้างตัวแบบ ทำให้ภาพขาดความน่าสนใจ นอกจากนี้ หากคุณกำลังถ่ายภาพในห้องที่มีแสงสลัวๆ การยิงแฟลชตรงจากด้านหน้าตัวแบบจะทำให้ที่ใบหน้าวาวชัดเกินไปจากการที่มีความเปรียบต่างมาก
แก้ไขปัญหาด้วยการยิงแฟลชสะท้อนเพดาน!
สภาพการถ่ายภาพ
แฟลช: Speedlite 580 EX II
บอดี้กล้อง: EOS 7D
เลนส์: EF17-40mm f/4L USM
โหมดการวัดแสง: แบบประเมินทั้งภาพ
โหมดการถ่าย: โปรแกรมระดับแสงอัตโนมัติ (Program AE)
Program AE (1/60 วินาที, f/4)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ตัวแบบยืนอยู่ใกล้กับแบ็คกราวด์ ผมจึงหันแฟลชไปที่เพดานด้านบนตรงๆ เพื่อทำการสะท้อนแสงแฟลชลงมา หากตัวแบบอยู่ห่างจากแบ็คกราวด์ ให้ปรับมุมพื้นที่การยิงแสงเยื้องมาด้านหน้าเพื่อให้ได้สมดุลแสงแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ที่ดีกว่า การสะท้อนแฟลชจากด้านบนทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์แสงที่ใกล้เคียงกับแสงที่เรามองเห็นปกติ ทำให้ตัวแบบในภาพดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
อย่ารวมพื้นที่เพดานเข้าไปในภาพเมื่อใช้การยิงแฟลชสะท้อนเพดาน
เมื่อคุณใช้เทคนิคการยิงแฟลชสะท้อนเพดาน กฎพื้นฐานก็คือ ต้องไม่รวมเพดานเป็นองค์ประกอบภาพ การสะท้อนแสงจ้าที่ไม่กระจายแสงจะทำให้เกิดเงามืดและมองเห็นระดับแสงที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องจัดเฟรมโดยให้มีเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับแสงอ่อนลงแล้วอยู่ในภาพเท่านั้น
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
*ใช้แฟลชเสริม 580EX II ในการถ่ายภาพตัวอย่างทั้งหมดในบทความนี้
เกิดเมื่อปี 1970 และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิฮอนที่ซึ่ง Kani ได้เรียนกับช่างภาพ Shin Yamagishi ก่อนเริ่มต้นทำงานอิสระ ปัจจุบันเขาทำการถ่ายภาพพอร์ตเทรตเป็นหลัก และยังมีส่วนร่วมในงานอื่นๆ อีกมากมายในนิตยสาร อัลบั้มภาพถ่าย ปกซีดี โฆษณา และภาพยนตร์
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation