[ตอนที่ 2] การถ่ายภาพเมฆหมอกด้วยการเปิดรับแสง 60 วินาที
การถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานเป็นเทคนิคที่นำไปใช้ได้มากกว่าเพียงแค่การถ่ายภาพกลางคืน ในตอนที่สองของบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคที่เหมาะจะนำมาใช้ในการถ่ายภาพวิวตอนกลางวัน (เรื่องโดย: Aki Goto)
60 วินาที
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 121 มม./ Manual exposure(f/18, 60 วินาที)/ ISO 50/ WB: แสงแดด/ ฟิลเตอร์: ND400
ภาพเมฆหมอกบนฟ้าเหนือพื้นดินที่เกิดจากการตกตะกอนจากการปะทุของภูเขาไฟอะโซะเมื่อ 90,000 ปีก่อน ผมต้องการถ่ายภาพที่น่าหลงใหลสักภาพโดยถ่ายภาพซ้อนของกลุ่มเมฆพร้อมกับแสดงการดำเนินไปของเวลา
การถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงนาน 60 วินาทีด้วยตัวตั้งเวลาปล่อยชัตเตอร์
ผมเจอหมู่ต้นไม้ที่มีความน่าหลงใหลและมีเมฆลอยอยู่เหนือต้นไม้บนภูเขาอันห่างไกลแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีเมฆหลายกลุ่มลอยมาตามลม ผมจึงคิดจะถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เพื่อให้เห็นชัดว่ากลุ่มเมฆเป็นตัวแบบหลัก ผมจัดองค์ประกอบโดยแบ่งหน้าจอออกเป็น 3 ส่วน 2 ใน 3 ส่วนบนเป็นพื้นที่สำหรับท้องฟ้า และพื้นดินอยู่ในพื้นที่ 1 ใน 3 ส่วนด้านล่าง
ผมติดตั้งกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องบนพื้นถนน และถอดฮูดเลนส์ออกเพื่อให้กล้องไม่สั่นไหวตามแรงลม (เคล็ดลับที่ 1) จากนั้น ผมเพิ่มความมั่นคงให้ขาตั้งกล้องโดยการแขวนกระเป๋ากล้องเข้าที่แกนกลางของขาตั้งเพื่อถ่วงน้ำหนัก
เนื่องจากแสงมีความเข้มสูงมากในเวลากลางวัน การลดความไวแสง ISO เพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยลดความเร็วชัตเตอร์ลงมาก ดังนั้น ผมจึงใช้ฟิลเตอร์ ND ฟิลเตอร์ที่ผมใช้คือ ND400 ซึ่งสามารถกรองความเข้มแสงให้เทียบเท่ากับ 8.7 สต็อป ในภาพด้านบนนี้ ผมได้ปริมาณแสงที่เหมาะสมเพราะความเร็วชัตเตอร์ 60 วินาที โดยใช้การตั้งค่า ISO แบบขยาย ตั้งค่าความไวแสง ISO เป็น 50 และลดขนาดรูรับแสงเป็น f/18 (เคล็ดลับที่ 2) เนื่องจากฟิลเตอร์ ND อาจทำให้ภาพมืดลงทั้งในช่องมองภาพและบนหน้าจอ Live View และทำให้โฟกัสยากขึ้น ผมจึงติดฟิลเตอร์เข้ากับกล้องหลังจากที่ระบบโฟกัสอัตโนมัติทำงานเสร็จแล้วเท่านั้น (ต้นไม้)
สิ่งสุดท้ายที่ต้องเตรียมคือตัวตั้งเวลาถ่ายภาพ ผมติดตั้งตัวตั้งเวลาเข้ากับกล้อง และป้อนเวลาเปิดรับแสงเป็นหน่วยวินาที ตัวตั้งเวลาถ่ายภาพช่วยป้องกันปัญหาจากความสั่นไหว ดังนั้น ดูให้แน่ใจว่าคุณเตรียมอุปกรณ์นี้ไว้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน ตั้งค่าโหมดการถ่ายเป็นโหมดชัตเตอร์ B หากคุณใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่เปิดรับแสงนานกว่า 30 วินาทีด้วยตัวตั้งเวลาการถ่ายภาพ ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ผมตั้งเวลาชัตเตอร์ให้ปล่อยชัตเตอร์หลังจากผ่านไป 60 วินาที (เคล็ดลับที่ 3)
เคล็ดลับที่ 1 ถอดฮูดเลนส์
ระหว่างการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน กล้องจะสั่นเพราะแรงลมได้ง่าย ผมจึงถอดฮูดเลนส์ออกเพื่อลดพื้นที่ที่จะสัมผัสกับลม คุณอาจจะใช้ร่มหรือตัวคุณกันลมไว้ก็ได้เช่นกัน
*ภาพถ่ายสำหรับใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น ภาพถ่ายนี้ด้วยเลนส์รุ่นอื่น
เคล็ดลับที่ 2 เปิดรับแสงนาน 60 วินาที ใช้ค่ารูรับแสง f/18
แม้ว่าการเคลื่อนที่ของเมฆจะขึ้นอยู่กับความเร็วของแรงลมด้วย แต่ก็สามารถถ่ายภาพกลุ่มเมฆเหล่านี้จากระยะไกลโดยเปิดรับแสงนาน 60 วินาทีได้ ภาพนี้ถ่ายด้วยค่าการเปิดรับแสง 60 วินาทีที่รูรับแสง f/11 เนื่องจากเปิดรับแสงนานกว่าปกติ การเคลื่อนไหวของเมฆจึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วย
เคล็ดลับที่ 3 ถ่ายด้วยรีโมทและตัวตั้งเวลา
รีโมทคอนโทรลที่ใช้คือ รีโมทควบคุมการตั้งเวลาถ่ายภาพ TC-80N3 ภาพนี้ถ่ายด้วยการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 60 วินาที
รีโมทควบคุมการตั้งเวลาถ่ายภาพ
TC-80N3
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "Landscapes" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "Water Silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
http://gotoaki.com/
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation