เมื่อใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้เพื่อถ่ายภาพพอร์ตเทรต คุณสามารถสร้างบรรยากาศที่งดงามเต็มอิ่มได้มากกว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ตามองเห็น ในบทความนี้ ฉันจะแนะนำเทคนิคโบเก้บางอย่างที่คุณจะสามารถนำสิ่งรอบตัวมาใช้ในการสร้างสรรค์ภาพที่งดงามน่าประทับใจ (เรื่องโดย: Yuriko Omura นางแบบ: Riyoko Takagi)
หน้า: 1 2
เหตุผลเบื้องหลังการใช้โบเก้ของฉัน
ฉันใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตก็เพื่อถ่ายทอด "บรรยากาศ" อย่างที่พูดถึงตอนต้น เทคนิคนี้เป็นสิ่งสำคัญถ้าคุณต้องการภาพถ่ายที่แสดงบรรยากาศเต็มอิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ตาเรามองเห็น เมื่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวคุณสามารถทำให้เบลอได้ คุณก็สามารถสร้างภาพถ่ายที่มอบความประทับใจแก่ผู้ชมได้ง่ายๆ
เอฟเฟ็กต์โบเก้สามารถใช้ประโยชน์ใน 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ (1) ขับเน้นบรรยากาศที่งดงาม (2) สร้างความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์ และ (3) ใช้เป็นลวดลายในภาพถ่าย สำหรับวิธีแรก สิ่งของรอบตัว อย่างดอกไม้และต้นหญ้า ถูกทำให้เบลอเพื่อสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลผ่อนคลายรอบตัวนางแบบ วิธีที่สองคือการสร้างโบเก้ทรงกลมที่มีทั้งแสงและสี (เช่น ฟองสบู่) รอบๆ ตัวนางแบบเพื่อสร้างความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์ ขณะที่แบบที่สามจะเป็นการสร้างลวดลายโดยการทำให้วัตถุเบลอในรูปทรงต่างๆ ที่แปลกใหม่ (เช่น กิ่งก้านของต้นไม้และเงา) ตามที่พบใกล้ตัวนางแบบ เมื่อเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งจากทั้งสามวิธีนี้มาถ่ายทอดภาพ สิ่งสำคัญที่สุดที่ฉันสังเกต ก็คือ การใส่เอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งในภาพ หากเป็นภาพพอร์ตเทรต หลายคนมีแนวโน้มที่จะสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้แบบนุ่มนวลเบาๆ โดยคิดว่านั่นอาจช่วยเน้นความโดดเด่นให้กับตัวแบบ ส่วนตัวฉัน ฉันรู้สึกว่า บรรยากาศในภาพจะดูแปลกตาเวลาที่วัตถุนั้นเบลอมากขึ้นจนมองรูปทรงเดิมไม่ออก โดยเฉพาะการสร้างภาพเบลอในระยะโฟร์กราวด์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจหากนำเอฟเฟ็กต์นี้มาใช้จนยากจะบอกว่าตัวแบบเดิมมีรูปลักษณ์อย่างไร ถึงจะบอกอย่างนั้น แต่การสร้างภาพเบลอมากจนเกินพอดีก็ทำให้งานขาดความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ฉันแนะนำให้ลองพิจารณาถึงความสมดุลของตัวแบบและปริมาณโบเก้ ในการสร้างเอฟเฟ็กต์เช่นนั้น ฉันใช้เลนส์ซูม 70-200 มม. ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ และถ่ายภาพที่รูรับแสงกว้างสุดพร้อมกับปรับทางยาวโฟกัสเข้าใกล้ฝั่งเทเลโฟโต้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
การสังเกตความลื่นไหลของความเบลอระยะโฟร์กราวด์
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 73 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/100 วินาที)/ ISO 100 / WB: 5,700K
ใบไม้ในระยะโฟร์กราวด์เบลออย่างมาก และมีตัวแบบยืนอยู่อีกฟากหนึ่งของกิ่งใบที่ทอดออกไป
A: แบ็คกราวด์เบลอ
B: โบเก้ที่ลื่นไหลของใบไม้
C: โฟกัส
การสร้างโฟร์กราวด์ให้เบลอมากๆ ด้วยฟองสบู่
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 90 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/100 วินาที)/ ISO 400/ WB: 5,700K
ฉันสร้างโบเก้ทรงกลมสีขาวด้านหน้าตัวแบบด้วยฟองสบู่ โดยตั้งใจที่จะสร้างสรรค์สัมผัสเป็นปุยนุ่มนวลและให้ความรู้สึกน่าอัศจรรย์
A: แบ็คกราวด์เบลอ
B: โฟร์กราวด์เบลอด้วยฟองสบู่
C: โฟกัส
หากคุณตั้งใจที่จะสร้างโฟร์กราวด์ให้เบลอมากๆ ฟองสบู่อาจเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็ค ในภาพนี้ ฉันให้นางแบบเป่าฟองสบู่ปริมาณหนึ่ง ลมอาจทำให้ฟองสบู่พัดลอยไปไกลจนออกนอกกรอบภาพ ดังนั้น จะดีมากถ้าเราถ่ายภาพในวันที่ไม่มีลม ให้นางแบบยืนตรงตำแหน่งที่สามารถสร้างโบเก้ทรงกลมสีขาวได้ ในภาพนี้ ตำแหน่งที่ฉันเลือกอยู่ด้านหน้าต้นไม้ โดยมีโบเก้ทรงกลมที่สร้างจากแสงที่ส่องลอดผ่านใบไม้เข้ามา ฉันวางตำแหน่งกล้องในแนวทแยงให้ต่ำกว่าระดับของฟองสบู่ และให้นางแบบเป่าฟองสบู่โดยหันหน้าเข้าหาเลนส์กล้อง คุณสามารถสร้างความรู้สึกที่งดงามน่าอัศจรรย์ได้เมื่อถ่ายภาพฟองสบู่ในลักษณะของโบเก้ทรงกลมสีขาว ฉันจับโฟกัสที่ดวงตาของตัวแบบ และเปิดรูรับแสงกว้างเต็มที่ที่ f/2.8 ฉากหลังเบลอสีขาวช่วยเพิ่มบรรยากาศเหมือนฝัน ฉันจึงเลือกทางยาวโฟกัส 90 มม. ที่ฝั่งเทเลโฟโต้
การสร้างเท็กซ์เจอร์ในฉากหลังโดยใช้ใบไม้เบลอ
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 73 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/100 วินาที)/ ISO 100/ WB: 5,700K
การทำใบไม้ในฉากหลังให้เบลอจะขับเน้นลวดลายที่ดูแปลกตาด้านหลังตัวแบบให้เด่นชัดขึ้น
A: ใบไม้ถูกทำให้เบลอเพื่อสร้างลวดลาย
B: โฟกัส
ข้อแรก มองหากิ่งก้านของต้นไม้ที่ให้ลวดลายที่เหมาะสำหรับแบ็คกราวด์เบลอ ทางเลือกที่ดีเยี่ยมอันหนึ่งคือกิ่งไม้ที่ห้อยลงมาจากที่สูง หลังจากที่พบตำแหน่งที่เหมาะเจาะแล้ว ให้นางแบบยืนใต้กิ่งก้านเหล่านั้น ในภาพนี้ ฉันวางตำแหน่งกล้องในแนวทแยงมุมให้ต่ำกว่าตัวแบบ และเลือกมุมที่สามารถถ่ายภาพกิ่งก้านของต้นไม้ให้อยู่เหนือนางแบบในลักษณะองค์ประกอบภาพแบบนี้ให้ได้มากที่สุด คุณจะได้ภาพที่สมดุลมากขึ้นเมื่อบอกให้นางแบบเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย ลวดลายที่เกิดขึ้นจะดูน่าสนใจยิ่งขึ้นถ้ารูปร่างของใบไม้บนกิ่งก้านเหนือตัวแบบออกมาเบลอและดูนุ่มนวล ฉันจึงตั้งค่ารูรับแสงไปยังค่าสูงสุดที่ f/2.8 เพื่อให้ได้มุมภาพที่มีกิ่งก้านต้นไม้เหนือตัวแบบในจำนวนที่พอประมาณอยู่ในองค์ประกอบภาพ ฉันเลือกค่าทางยาวโฟกัสเป็น 73 มม.
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1983 หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยในร้านขายกล้อง ปัจจุบัน Omura ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพศิลปินและอัลบั้มภาพถ่าย