การมีดวงอาทิตย์ในภาพถ่ายของคุณมักจะทำให้เกิดปัญหาแสงย้อน แต่อันที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องหลีกเลี่ยงเสมอไป ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เคล็ดลับและการตั้งค่าที่ควรใช้ในกล้องเพื่อถ่ายภาพที่สวยงามน่าทึ่ง นั่นก็คือ แสงจากดวงอาทิตย์อันแรงกล้าสามารถแปรสภาพเป็นแฉกแสง (หรือที่เรียกกันว่าเอฟเฟ็กต์ "แสงจ้าของดวงอาทิตย์") ได้ (เรื่องโดย: studio9)
EOS 5D Mark II/ f/22/ 1/1250 วินาที/ ISO 200
แสงย้อนจากดวงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์อันน่าทึ่งได้!
เราลองมาดูภาพถ่ายสองภาพด้านล่างนี้กัน ทั้งสองภาพนี้เป็นภาพหุ่นยนต์กันดั้มขนาดมหึมาในย่านโอไดบะของกรุงโตเกียว ซึ่งถ่ายในสภาวะย้อนแสงด้วยเอฟเฟ็กต์ภาพถ่ายแบบซิลูเอตต์อย่างนุ่มนวล และมีการรวมดวงอาทิตย์เข้าไว้ในภาพเพื่อสร้างความโดดเด่น อีกทั้งภาพทั้งสองยังถ่ายจากมุมรับภาพที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ภาพไหนที่ทำให้คุณประทับใจมากกว่ากัน
EOS 5D Mark II/ f/5.0/ 1/8000 วินาที/ ISO 100
EOS 5D Mark II/ f/22/ 1/320 วินาที/ ISO 100
แม้ว่าทั้งสองภาพจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์ด้วยเอฟเฟกต์แฉกแสงเหมือนกัน แต่ในภาพที่สองแสงแดดดูสว่างจ้ากว่า และยังให้รัศมีของแสงที่ชัดเจน คุณเองก็สามารถสร้างเอฟเฟกต์แบบนี้ได้ อ่านต่อเพื่อทราบวิธีการได้เลย!
ไอเดียหลักที่ 1: ยิ่งใช้ค่า f ต่ำมากเท่าใด เอฟเฟ็กต์แฉกแสงจะชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
หัวใจสำคัญของเอฟเฟ็กต์แฉกแสงอยู่ที่การตั้งค่ารูรับแสง
ภาพแรกถ่ายที่ f/5.0 ขณะที่ภาพที่สองถ่ายโดยใช้ f/22 นั่นคือความแตกต่างเพียงอย่างเดียว ซึ่งแสดงว่าเมื่อพูดถึงแหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงอาทิตย์ ยิ่งเราใช้ค่า f มากเท่าใด (รูรับแสงแคบลง) จะทำให้รัศมีของแสงแผ่ขยายเป็นวงกว้างยาวออกไปด้านนอกและเด่นชัดมากขึ้นเท่านั้น
ไอเดียหลักที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนรัศมีของแฉกแสงและเลนส์ของคุณ
จำนวนของ "จุด" ที่เอฟเฟ็กต์แฉกแสงของคุณมี (เช่น จำนวนรัศมีของแฉกแสงที่แผ่ขยายจากแหล่งกำเนิดแสง) จะขึ้นอยู่กับจำนวนม่านรูรับแสงของไดอะแฟรมรูรับแสงภายในเลนส์
ม่านรูรับแสงจะเปิดและปิดเพื่อปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ ซึ่งโดยปกติเรียกกันว่า "รูรับแสง" หากจำนวนม่านรูรับแสงที่ต่างกันเป็นจำนวนคู่จะทำให้แฉกแสงมีจำนวนเท่ากัน แต่หากจำนวนม่านรูรับแสงที่ต่างกันเป็นจำนวนคี่จะทำให้จำนวนจุดของแฉกแสงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ในภาพด้านบนสุด มีจุดแฉกแสงอยู่ทั้งหมด 8 จุด ซึ่งแสดงว่าเลนส์ที่ใช้มีม่านรูรับแสงทั้งหมด 8 กลีบ แต่หากใช้เลนส์ที่มีม่านรูรับแสง 7 กลีบ จุดแฉกแสงจะมีเท่ากับ 7 x 2 = 14 ดังนั้น หากคุณให้ความสำคัญกับจำนวนจุดของแฉกแสงที่จะได้รับ ให้พิจารณาถึงข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของเลนส์ที่คุณมีคือจำนวนม่านรูรับแสง ซึ่งมักจะระบุไว้ในแค็ตตาล็อกอย่างเป็นทางการ รวมถึงเว็บไซต์ของผู้ผลิต
เคล็ดลับ 5 ข้อในการสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงด้วยดวงอาทิตย์
1. ใช้โหมด Aperture-Priority (Av)
คุณจำเป็นต้องปรับการตั้งค่ารูรับแสงของคุณ ดังนั้น ให้ตั้งโหมดการถ่ายภาพไปที่โหมด Aperture-priority (Av) จากนั้น ให้หมุนวงแหวนและตั้งค่าตัวเลข f ในกล้องให้สูงที่สุด โดยค่าตัวเลข f นั้นจะแตกต่างกันไปตามเลนส์ที่ใช้ แต่คุณควรตั้งค่าไว้ที่ f/22 เป็นอย่างน้อย เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย
2. ใช้การชดเชยแสงเป็นลบ
เมื่อดวงอาทิตย์สว่างจ้ามาก คุณจะได้ภาพที่มีส่วนที่สว่างจ้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณกึ่งกลางภาพ อันที่จริงแล้ว หากใช้การตั้งค่าแบบปกติ จุดของแฉกแสงอาจสว่างจ้าจนเกินไปด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวและทำให้ดวงอาทิตย์เปล่งประกายสว่างขึ้นในภาพ ให้ตั้งค่าการชดเชยแสงเป็นค่าลบ โดยค่า EV-2 หรือ -3 ถือว่าเหมาะสม
EOS 5D Mark II/ f/22/ 1/1250 วินาที/ ISO 200
ใช้การชดเชยแสงเป็นค่าลบมากขึ้น และคุณจะได้ภาพถ่ายซิลูเอตต์ซึ่งมีเอฟเฟ็กต์ที่เปี่ยมเสน่ห์ในตัวเอง (ต่อไปนี้เป็นบทความเกี่ยวกับ วิธีถ่ายภาพซิลูเอตต์ในสภาวะแสงย้อนด้วยเลนส์เทเลโฟโต้) ในภาพนี้มีจุดแฉกแสงถึง 18 จุด ซึ่งหมายความว่าภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ที่มีม่านรูรับแสงถึง 9 กลีบ
3. ลองถ่ายภาพในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสและปลอดโปร่ง
หากเมฆบดบังดวงอาทิตย์หรือมีหมอกในบรรยากาศจะทำให้แสงแดดกระจายตัว และทำให้รัศมีของแสงที่เกิดจากเอฟเฟ็กต์แฉกแสงดูไม่ชัดเจนและเจิดจ้าเท่าที่ควร ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือลองใช้เอฟเฟ็กต์แฉกแสงจากดวงอาทิตย์ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสและเป็นสีน้ำเงิน
นอกจากนี้ ยิ่งแหล่งกำเนิดแสงมีความเข้มมากเท่าใด (เช่น ยิ่งเข้าใกล้มากเท่าไหร่จุดแสงที่เข้มจะรวมเป็นจุดเดียว) เอฟเฟ็กต์แฉกแสงจะยิ่งเจิดจ้ามากขึ้นเท่านั้น การปิดกั้นแสงจากดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อยจนดูเหมือนว่าแสงลอดผ่านจากเงาของวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง (เช่นในตัวอย่างด้านล่าง) จะทำให้คุณได้ผลภาพที่น่าทึ่งและมีชีวิตชีวา!
EOS 5D Mark II/ f/16/ 1/1000 วินาที/ ISO 160
ในภาพต่อไปนี้ แสงแดดส่องประกายผ่านช่องว่างของประตูทางเข้าศาลเจ้าโทริ หากสภาพการถ่ายค่อนข้างดี คุณควรจะได้เอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่มีความจ้าในระดับเดียวกัน ภาพนี้ยังไม่ได้ผ่านการปรับแต่งแต่อย่างใด
EOS 5D Mark II/ f/22/ 1/15 วินาที/ ISO 800
4. ตรวจดูให้แน่ใจว่าเลนส์ของคุณสะอาด
เมื่อคุณถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงแคบ ภาพที่ได้จะมองเห็นฝุ่นและรอยเปื้อนชัดเจน และจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อคุณเพิ่มดวงอาทิตย์เข้าไปในสมการด้วย เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์จะสะท้อนคราบฝุ่นให้เห็น
ลองใช้กระจกเงาส่องภาพดูอีกที คุณเห็นจุดสว่างใกล้กับแฉกแสงหรือไม่ นั่นคือจุดที่เกิดจากคราบฝุ่นบนเลนส์ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบดังกล่าวบนภาพถ่ายของคุณ ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าผิวเลนส์สะอาด
5. อย่าจ้องมองดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน
การมองดูดวงอาทิตย์โดยตรงอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ แม้ว่าคุณจะมองผ่านช่องมองภาพแบบออพติคอลก็ตาม ดังนั้น จึงไม่ควรจ้องมองดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน
สรุป
ในที่สุดคุณก็ได้ไอเดียหลักและเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพดวงอาทิตย์ให้มีเอฟเฟ็กต์แฉกแสง ซึ่งจะช่วยเน้นรัศมีของแสงที่เจิดจ้าแล้ว ทั้งนี้ จุดแฉกแสงและจำนวนของจุดดังกล่าวจะเห็นเด่นชัดมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับเลนส์ของคุณ แต่สำหรับตรงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก ขอแนะนำให้คุณใช้ค่าตัวเลข f ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงจากแหล่งกำเนิดแสงในภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนได้
เลนส์โปรดที่ผมใช้เพื่อถ่ายภาพเอฟเฟ็กต์ดังกล่าวคือ EF16-35mm f/2.8L II USM เนื่องจากให้เอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่สวยงามเมื่อกำหนดค่าที่ประมาณ f/8 เป็นต้นไป ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการทดลองถ่ายภาพดวงอาทิตย์ต่างๆ มากขึ้น ภาพทั้งสองภาพด้านล่างนี้ถ่ายที่ค่า f/13 โดยใช้เลนส์ EF16-35mm f/2.8L II USM
EOS 5D Mark III/ f/13/ 1/500 วินาที/ ISO 100
EOS 5D Mark III/ f/13/ 10 วินาที/ ISO 200
โดยสรุป แม้ว่าการถ่ายภาพในสภาวะแสงย้อนอาจทำได้ยาก เนื่องจากการได้ระดับแสงที่เหมาะสมเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ผมหวังว่าคำแนะนำเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์แฉกแสงนี้จะช่วยให้คุณสนุกสนานเพลิดเพลินได้
คุณสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงด้วยแฟลชภายนอก หยดน้ำ และเลนส์มาโครด้วยเช่นกัน คลิกที่นี่เพื่อดูข้อมูล
เทคนิคการใช้เลนส์มาโคร: ถ่ายภาพหยดน้ำที่ส่องประกายด้วยเลนส์มาโคร
สำหรับเคล็ดลับและบทช่วยสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์แสงย้อน โปรดดูบทความต่อไปนี้
4 ขั้นตอนในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่มีแสงเข้าทางด้านหลังให้ดูุนุ่มนวลชวนฝัน
เทคนิคของเลนส์เทเลโฟโต้: การสร้างโบเก้ซ้อนกันหลายชั้น
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย