ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 6: การปรับเทียบเครื่องพิมพ์
การปรับเทียบเครื่องพิมพ์หรือการโปรไฟล์เครื่องพิมพ์ เป็นการขจัดข้อผิดพลาดในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้ได้การพิมพ์สีที่ถูกต้องแม่นยำ และเพิ่มความเพลิดเพลินให้กับกระบวนการสร้างสรรค์งานพิมพ์ของคุณ ในบทความนี้ เราจะอธิบายว่าการปรับเทียบเครื่องพิมพ์โดยใช้เครื่องวัดสีนั้นมีวิธีการอย่างไร
ในตอนที่ 2 ของซีรีย์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสีต่างๆ และวิธีที่จอภาพและเครื่องพิมพ์ใช้ระบบสีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงสีสันกันไปแล้ว เพื่อให้ได้สีที่ถูกต้องแม่นยำ เราจะต้องทำการปรับเทียบหรือโปรไฟล์เครื่องพิมพ์และจอภาพ เพื่อให้หน้าจอแสดงและพิมพ์เฉพาะสีสันมีร่วมกันในทั้งสองปริภูมิสี นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือเราต้องทราบว่าการปรับเทียบโปรไฟล์เครื่องพิมพ์นั้นสามารถทำได้ตามชนิดของกระดาษแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษมัน กระดาษเนื้อมันวาว หรือ Canvas medium ซึ่งนั่นหมายความว่าเราจะสามารถถ่ายทอดทิวทัศน์เขียวขจีของทุ่งนาขั้นบันไดในบาหลี หรือความงดงามเจิดจรัสของเจ้าสาวที่มีรอยยิ้มเปี่ยมสุขลงบนกระดาษทุกชนิดได้อย่างแม่นยำและสวยงาม และเติมเต็มมุมมองการสร้างสรรค์ของช่างภาพได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อคุณจดจำรายละเอียดที่สำคัญเช่นนี้ได้แล้ว เราจะอธิบายต่อไปว่าควรปรับเทียบเครื่องพิมพ์อย่างไร
การปรับเทียบเครื่องพิมพ์อย่างแม่นยำด้วยเครื่องวัดสี
ปัจจุบัน มีโซลูชันสำหรับการปรับเทียบสีวางจำหน่ายอยู่ไม่มากนัก เช่น Spyder5 Studio จาก Datacolor, ColorMunki Photo จาก X-Rite ฯลฯ สำหรับในบทความนี้ เราจะอธิบายขั้นตอนการทำงานโดยใช้ ColorMunki Photo ซึ่งโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด
1. เปิดใช้งานซอฟต์แวร์ ColorMunki เลือกตัวเลือก ‘Profile My Printer’ (โปรไฟล์เครื่องพิมพ์ของฉัน) แล้วเลือก ‘New profile’ (โปรไฟล์ใหม่)
2. เลือกเครื่องพิมพ์ของคุณ เช่น Canon PRO-500 series จากรายการแบบหล่นลง
3. ตั้งชื่อชนิดของกระดาษที่คุณจะสร้างโปรไฟล์
4. หน้าจอถัดไปจะแสดงตารางการทดสอบสำหรับพิมพ์
5. คลิกปุ่ม Print (พิมพ์) แล้วกล่องโต้ตอบโปรแกรมควบคุมเครื่องพิมพ์จะปรากฏขึ้นถัดไป
6. เลือกกระดาษที่ต้องการใช้ในส่วน Media Type (ชนิดของสื่อ) เช่น Canon Photo Paper Pro Premium Matte
7. เลือกความเร็วในการพิมพ์และคุณภาพการพิมพ์ที่คุณต้องการใช้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าแถบสีที่ออกมาจะแสดงความหนาแน่นและปริมาณหมึกที่ใช้ในระหว่างการพิมพ์ภาพจริงได้อย่างถูกต้อง
8. ปิด Colour management by the printer (การจัดการสีโดยเครื่องพิมพ์) เนื่องจากโปรไฟล์ที่สร้างขึ้นจากกระบวนการปรับเทียบจะได้ใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ เช่น Adobe Photoshop หรือ Adobe Lightroom เท่านั้น ดำเนินการพิมพ์ภาพถ่าย
9. เมื่อพิมพ์ภาพถ่ายเสร็จสิ้น ทิ้งไว้ให้ภาพแห้งเสียก่อน สำหรับกระดาษที่มีเนื้อมันวาว เวลา 30 นาทีน่าจะเพียงพอ ส่วนกระดาษด้านจะใช้เวลา 10 นาที
10. เมื่อภาพแห้งแล้ว ใช้อุปกรณ์ ColorMunki (ควรเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของคุณผ่านพอร์ต USB) ลากขึ้นลงตามคอลัมน์สีแต่ละคอลัมน์ โดยมีเครื่องหมายบนอุปกรณ์วัดสีเพื่อช่วยในการจัดเรียงแถบสี
11. ซอฟต์แวร์จะอ่านข้อมูลที่สแกน เพื่อบอกคุณว่าจะนำแถบสีในคอลัมน์ใดบ้างมาทำการวัดในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์การปรับเทียบส่วนใหญ่จะแจ้งให้ทราบด้วยว่าการวัดในแต่ละบรรทัดนั้นเสร็จเรียบร้อยหรือจำเป็นต้องทำการสแกนซ้ำอีกครั้ง
12. ทำซ้ำกระบวนการนี้จนกระทั่งแถบสีทั้งหมดได้รับการบันทึกเสร็จเรียบร้อย
13. เมื่อทำการวัดข้อมูลสีทั้งหมดบนตารางการทดสอบแล้ว ColorMunki จะใช้ข้อมูลนี้สร้างงานพิมพ์สีชุดที่สอง ทำซ้ำกระบวนการวัดสีโดยใช้ ColorMunki โปรดอย่าลืมทิ้งให้ภาพพิมพ์แห้งก่อนที่จะเริ่มต้นการวัด
14. เมื่อได้ตารางการทดสอบชุดที่สองแล้ว ตอนนี้ซอฟต์แวร์ก็สามารถสร้างโปรไฟล์เครื่องพิมพ์ที่ไม่ซ้ำใครสำหรับกระดาษที่คุณเลือกไว้ ซึ่งควร "บอก" ปริมาณหมึกทุกโทนสีที่เครื่องพิมพ์ควรใช้สำหรับกระดาษที่คุณต้องการได้อย่างแม่นยำ ซอฟต์แวร์จะตั้งชื่อโปรไฟล์อัตโนมัติโดยใช้ชื่อกระดาษที่คุณใช้ก่อนหน้านี้ หากคุณโปรไฟล์เครื่องพิมพ์ให้ใช้งานได้กับสื่อหลากหลายชนิด วิธีตั้งชื่อเช่นนี้ถือว่าสมเหตุสมผลมากที่สุด
15. เมื่อสร้างโปรไฟล์เครื่องพิมพ์แล้ว ColorMunki จะสามารถตั้งค่าโปรไฟล์นี้เป็นโปรไฟล์เครื่องพิมพ์เริ่มต้นในทุกโปรแกรมที่คุณใช้ในการพิมพ์ เช่น Adobe Lightroom และ Adobe Photoshop
16. ทำซ้ำกระบวนการข้างต้นกับกระดาษชนิดอื่นๆ ที่คุณวางแผนจะใช้งาน เช่น ผืนผ้าใบ กระดาษด้าน ฯลฯ
เคล็ดลับเพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ
เมื่อสร้างโปรไฟล์เครื่องพิมพ์พื้นฐานและทำการปรับเทียบสีบนจอภาพแล้ว เท่ากับว่าคุณได้ดำเนินขั้นตอนการทำงานในการแก้ไขสีไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถปรับแต่งโปรไฟล์เครื่องพิมพ์อย่างละเอียดเพื่อเพิ่มความแม่นยำอีกได้
เราขอแนะนำให้พิมพ์ทดสอบภาพถ่ายที่คัดเลือกมา รวมถึง
- ภาพพอร์ตเทรตสี
- ภาพพอร์ตเทรตขาวดำ
- ภาพทิวทัศน์หลากสีสัน
ตอนนี้โปรไฟล์เครื่องพิมพ์ที่ปรับเทียบใหม่กลายเป็นโปรไฟล์เครื่องพิมพ์เริ่มต้นของซอฟต์แวร์การพิมพ์ เช่น Adobe Photoshop หรือ Adobe Lightroom เรียบร้อยแล้ว ให้คุณดำเนินการพิมพ์ภาพถ่าย (สำหรับเคล็ดลับเกี่ยวกับการดึงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากภาพถ่ายของคุณในระหว่างการพิมพ์ โปรดอ่านบทความห้าตอนแรกของซีรีย์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์นี้)
ตรวจสอบภาพพิมพ์ที่ได้และพิจารณาว่าสีหรือโทนสีของภาพตรงกับสีบนหน้าจอหรือไม่ คุณอาจพบว่ามีสีคลาดเคลื่อนไปจากหน้าจอ อาทิ ภาพขาวดำมีโทนสีหรือสีผิวของภาพพอร์ตเทรตที่เป็นสีเหลืองมากเกินไป เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ควรทำตามขั้นตอนเหล่านี้:
- ไปที่ Profile My Printer (โปรไฟล์เครื่องพิมพ์ของฉัน) บนหน้าจอหลัก
- เลือก Optimise Existing Profile (ปรับโปรไฟล์ที่มีอยู่ให้เหมาะสม)
- เลือกโปรไฟล์เครื่องพิมพ์จากรายการแบบหล่นลง เช่น Canon Photo Paper Pro Premium Matte
- เลือก โหลดภาพถ่าย (Load image) เพื่อนำเข้าภาพทดสอบที่แสดงสีที่มีปัญหา
ตารางการทดสอบใหม่จะถูกสร้างขึ้นด้วยสีที่ใช้ในภาพถ่ายทดสอบ ดำเนินการวัดข้อมูลในตารางตามที่อธิบายข้างต้น จากนั้น ColorMunki จะเพิ่มข้อมูลสีเข้าไปในโปรไฟล์ ซึ่งจะทำให้โปรไฟล์มีความแม่นยำมากขึ้นตามประเภทของภาพถ่ายที่คุณดำเนินการพิมพ์
ในบทความถัดไป เราจะกล่าวถึงบทบาทสำคัญของสื่อกระดาษ และวิธีเลือกกระดาษให้เหมาะกับรูปแบบการถ่ายภาพของคุณ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!