ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 7: การเลือกกระดาษสำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์
นอกจากการแสดงสี (ตอนที่ 3 และ 4) และการปรับเทียบอุปกรณ์ (ตอนที่ 5 และ 6) แล้ว การเลือกกระดาษสำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์มีความสำคัญทั้งในระดับศิลปะและเทคนิค การเลือกกระดาษอย่างเหมาะสมเสริมให้ภาพถ่ายสมบูรณ์แบบ ช่วยยกระดับการสื่ออารมณ์ภาพในแนวศิลป์ และเพิ่มมูลค่าของภาพในสายตาของนักสะสม ในทางเทคนิค กระดาษเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในกระบวนการพิมพ์ภาพถ่าย และเป็นสิ่งที่กำหนดว่าภาพพิมพ์นั้นจะมีความคงทนยาวนานไปอีกหลายปีหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพพอร์ตเทรตของสุภาพบุรุษสูงวัยหรือทิวทัศน์เนินเขาที่เรียงตัวเป็นลูกคลื่นในชนบทอังกฤษ กระดาษที่คุณเลือกใช้มีบทบาทสำคัญมากในการพิมพ์ภาพถ่ายแบบวิจิตรศิลป์
กระดาษอาร์ตที่ดีดูจากอะไรบ้าง
สิ่งที่จะกำหนดว่ากระดาษนั้นๆ เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่แม่นยำและคงทนหรือไม่นั้นมีอยู่หลายองค์ประกอบด้วยกัน สิ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่
- วัสดุของกระดาษ
- เทคโนโลยีการเคลือบ
- สีของกระดาษ
- น้ำหนักของกระดาษหรือ ‘gsm’ (แกรมต่อตารางเมตร)
- ผิวสัมผัสหรือผิวเคลือบ
วัสดุของกระดาษ
กระดาษที่ดีสำหรับการพิมพ์อิงค์เจ็ทนั้นต้องประกอบด้วยชั้นอย่างน้อย 2 ชั้น คือ เนื้อกระดาษและสารเคลือบที่ใช้กับเนื้อกระดาษดังกล่าว เนื้อกระดาษที่ดีที่สุดต้องผลิตจากเส้นใย (เยื่อผ้า) ฝ้าย และเยื่อไม้ หรือผสมกันทั้งสองอย่าง นอกจากนี้ กระดาษที่ผลิตจากเยื่อผ้าที่ทำจากเส้นใยฝ้ายหรือลินิน 100% ยังมีราคาแพงที่สุด เนื่องจากเป็นกระดาษที่ทราบกันดีว่ามีความทนทานนานหลายร้อยปีโดยสีไม่ซีดจาง เปลี่ยนสี หรือเส้นใยเปราะบางลง
สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ กระดาษจะต้องไม่มีส่วนผสมของกรด โดยมีค่า pH เท่ากับ 7.0 หรือมากกว่า เพราะกรดในกระดาษจะเข้าไปรวมกับหมึกบนงานพิมพ์ ทำให้สีเปลี่ยนและซีดลงได้ ผู้ผลิตกระดาษจึงมักระบุค่า pH ของกระดาษไว้บนบรรจุภัณฑ์
ความขาวและความสว่าง
โดยหลักการทั่วไป ยิ่งกระดาษมีความขาวมากเท่าใด ความเปรียบต่างของสีในงานพิมพ์จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น และส่งผลให้งานพิมพ์มีขอบเขตสีที่สดใสขึ้น ดังนั้น ช่างภาพที่ต้องการถ่ายภาพให้มีสีสันสดใสจึงมักเลือกกระดาษสีขาวที่มีความสว่าง ความสว่างของกระดาษหนึ่งแผ่นมักมีค่าอยู่ที่ระหว่าง 1 ถึง 100 โดยที่ 100 เป็นค่าที่ให้ความสว่างมากที่สุด ตัวอย่างเช่น กระดาษปอนด์อเนกประสงค์ที่ใช้ในเครื่องถ่ายสำเนาและเครื่องพิมพ์ในสำนักงานจะมีช่วงค่าความสว่างของกระดาษอยู่ที่ 80 ในขณะที่กระดาษพิมพ์ภาพถ่ายสำหรับอิงค์เจ็ทจะมีค่าอยู่ที่ช่วง 90 กลางๆ ถึงปลายๆ และสามารถสะท้อนแสงได้มากกว่า จึงทำให้ภาพถ่ายดูสว่างขึ้น
เพื่อเพิ่มความสว่างให้กับกระดาษ ผู้ผลิตกระดาษจึงนำกระดาษไปฟอกด้วยคลอรีนหรือใช้สารเรืองแสง (Optical Brightening Agents - OBA) กระดาษที่ผ่านกระบวนการผลิตเช่นนี้อาจไม่คงความสว่างและสีจะเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น หากความคงทนของงานพิมพ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ ควรเลือกกระดาษที่ผลิตโดยไม่ใช้สารฟอกขาวคลอรีนหรือ OBA หากต้องการทราบว่ากระดาษที่คุณใช้มีสารเรืองแสงหรือไม่ ให้ส่องแสง UV ลงบนกระดาษในห้องมืด หากกระดาษสว่างเรืองรอง แสดงว่ามีการเติมสารเรืองแสงเข้าไปในระหว่างการผลิต
ในการมองหากระดาษที่ไม่มีสารคลอรีน คุณต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับศัพท์ที่ผู้ผลิตกระดาษใช้ ตัวอย่างเช่น ‘ปราศจากคลอรีน’ (Chlorine-free) หมายถึง ไม่มีการใช้สารคลอรีน ซึ่งแตกต่างจากการไม่ใช้ก๊าซคลอรีน (Elemental Chlorine-Free - ECF) กระดาษที่ฟอกแบบ ECF นี้จะผลิตโดยใช้สารประกอบคลอรีนไดออกไซด์ จึงควรมองหากระดาษที่ใช้เยื่อไม้ประเภทปราศจากคลอรีนทั้งหมด (Totally Chlorine-Free (TCF))
น้ำหนักของกระดาษ
น้ำหนักของกระดาษมีหน่วยวัดเป็นแกรมต่อตารางเมตร (gsm หรือ g/m2) สำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ ยิ่งกระดาษมีน้ำหนักมากย่อมหมายความว่ากระดาษจะแข็งแรงทนทาน และช่วยป้องกันการม้วนหรือบิดงอได้ ดังนั้น ช่างภาพจำนวนมากจึงนิยมใช้กระดาษที่มีน้ำหนัก 230 แกรมขึ้นไป นอกจากนี้ การใช้กระดาษที่มีน้ำหนักแกรมมากยังเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อพิมพ์งานขนาดใหญ่ เพราะง่ายต่อการจัดการในระหว่างการติดตั้งภาพ อย่างไรก็ดี โปรดทราบว่ามีเครื่องพิมพ์บางรุ่นเท่านั้นที่สามารถรองรับกระดาษที่หนาและมีน้ำหนักมาก เนื่องจากเครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่มักไม่สามารถป้อนกระดาษจากทางด้านหลัง จึงควรมองหาเครื่องพิมพ์ที่รองรับการป้อนกระดาษเข้าตรงๆ อย่างเช่น Canon imagePROGRAF PRO-500
เทคโนโลยีการเคลือบ
กระดาษที่ดีสำหรับการพิมพ์แบบวิจิตรศิลป์ควรได้รับการเคลือบเพื่อให้ได้ภาพพิมพ์ที่ดีที่สุด เทคโนโลยีการเคลือบมีทั้งหมดสามประเภทด้วยกัน
การเคลือบแบบไมโครพอรัส – การเคลือบที่ประกอบด้วยชั้นของวัสดุเซรามิกเนื้อละเอียดที่นำมาบดจนกลายเป็นผงแป้ง โดยกระดาษที่ใช้การเคลือบชนิดนี้จะแห้งเร็ว แต่เนื่องจากลักษณะที่เป็นรูพรุน จึงไม่แนะนำให้ใช้กระดาษชนิดนี้ร่วมกับหมึก Dye-based ink เนื่องจากหมึกจะสัมผัสกับอากาศอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้สีเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป หมึกที่เหมาะกับกระดาษชนิดนี้คือ หมึก Pigment-based ink
กระดาษแบบพองตัวได้ – การเคลือบชนิดนี้ใช้วัสดุโพลิเมอร์ที่พองตัวเมื่อสัมผัสกับหยดหมึกของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท วัสดุเคลือบนี้จะดูดซึมหมึก และช่วยให้สีย้อมสามารถซึมผ่านชั้นบนสุดของกระดาษได้ กระดาษประเภทนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้กับหมึก Dye-based ink เพราะจะให้งานพิมพ์ที่ละเอียดคมชัดและสีไม่ซีดเร็ว
กระดาษเคลือบเรซิ่น (RC) – เป็นกระดาษที่ทำจากเส้นใย ซึ่งนิยมใช้ในงานพิมพ์แบบ Consumer wet ในห้องมืด แต่นับจากนั้นได้นำมาใช้ในวงการการพิมพ์ระบบดิจิตอลอิงค์เจ็ทกันอย่างแพร่หลาย กระดาษประเภทนี้ประกอบด้วยสารตั้งต้นแรกที่ทำจากพลาสติก และปกคลุมด้วยชั้นพอลิเอทิลีนบางๆ อีกสองชั้น จากนั้นเคลือบด้วยชั้นเคลือบแบบพองตัวได้หรือแบบไมโครพอรัสที่ผิวด้านบนของกระดาษเพื่อให้เหมาะสำหรับการพิมพ์ กระดาษ RC เหมาะสำหรับใช้กับหมึกทั้ง Pigment และ Dye-based ink แม้ว่ากระดาษชนิดนี้จะมีความทนทานสูง แต่ช่างภาพจำนวนมากรู้สึกว่ากระดาษคล้ายกับพลาสติกมากเกินไป และขาดสัมผัสและพื้นผิวของวัสดุกระดาษแบบดั้งเดิม
พื้นผิวของกระดาษ (ผิวที่เคลือบกระดาษ)
ผิวเคลือบของกระดาษมีมากมายหลายประเภท โดยจำแนกได้ดังต่อไปนี้
- มัน
- กึ่งเงา มันเงา ซาติน
- ด้าน
โดยทั่วไป ยิ่งผิวของกระดาษเรียบมากเท่าใด ภาพที่ได้ก็จะยิ่งคมชัดมากเท่านั้น ดังนั้น เพื่อขับเน้นสีสันสดใสที่สุดของภาพถ่าย กระดาษแบบมันและกระดาษกึ่งเงานับว่าเหมาะที่สุดสำหรับการพิมพ์ ช่างภาพที่ต้องการพิมพ์ภาพถ่ายขาวดำแบบวิจิตรศิลป์อาจลองพิจารณาเลือกใช้กระดาษแบบด้าน (หรือบางครั้งเรียกว่ากระดาษกำมะหยี่) เพื่อให้ภาพดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น และทำให้โทนสีผิวงดงามน่ามอง โปรดทราบว่ากระดาษแบบมันไม่เหมาะสำหรับใช้กับหมึก Pigmented ink เนื่องจากสีมักจะรวมตัวอยู่บนพื้นผิวและอาจทำให้ผิวมีความมันเงาน้อยลง
เคล็ดลับในการเลือกกระดาษที่เหมาะสำหรับภาพถ่ายของคุณ
- กระดาษต้องเข้ากันกับเทคโนโลยีหมึกที่ใช้ เช่น แบบ Dye หรือ Pigment
- กระดาษควรเหมาะสมกับตัวแบบ เช่น การเลือกใช้สื่อประเภทผืนผ้าใบสำหรับภาพถ่ายแฟชั่นที่มีสีสันสดใสนั้นถือว่าไม่เหมาะสม
- และแน่นอนว่ากระดาษต้องเหมาะกับความชอบส่วนบุคคลของคุณด้วย
สำหรับการผลิตงานพิมพ์ที่มีรายละเอียดมาก เช่น แฟชั่น กระดาษสีขาวสว่างแบบมันเงาอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ขณะที่ภาพทิวทัศน์ที่มีทัศนียภาพอันงดงามอาจดูสวยยิ่งขึ้นหากใช้กระดาษสีน้ำ นอกจากนี้ ภาพพอร์ตเทรตขาวดำก็จะสวยงามยิ่งขึ้น หากพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีสีขาวนวลเล็กน้อย
การพิมพ์บนสื่อทางเลือกใหม่
ในการสื่ออารมณ์ภาพในแนวศิลป์ ช่างภาพบางคนริเริ่มใช้วัสดุที่ไม่ธรรมดาเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นที่ทราบกันดีว่าช่างภาพมักใช้สื่อกระดาษที่ทำจากป่านหรือผ้าฝ้าย ซึ่งปกติใช้สำหรับภาพวาดสีน้ำมันหรือภาพวาดอะคริลิก หรือใช้กระดาษที่ทำจากไม้ไผ่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุที่ไม่ได้ทำจากไม้ เช่น ชานอ้อย (เส้นใยกากอ้อย) กำลังดึงดูดความสนใจของช่างภาพในการขยายโอกาสการสร้างสรรค์ภาพในเชิงศิลป์ นอกจากนี้ ช่างภาพกำลังนิยมใช้วาชิหรือกระดาษดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ทำจากเปลือกต้นไม้ญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ กระดาษเหล่านี้จะมีเส้นใยที่ยาวกว่ากระดาษของตะวันตก งานพิมพ์ที่ได้จึงมีพื้นผิวและสัมผัสที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
เมื่อได้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของกระดาษแล้ว คุณจะสามารถเลือกกระดาษที่เหมาะสมสำหรับโครงการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ครั้งต่อไปของคุณได้
ในบทความต่อไป เราจะมาศึกษาวิธีการสร้างตารางสีเพื่อทดสอบความเหมาะสมของสื่อกระดาษแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!