ด้วยเซนเซอร์ CMOS ขนาด APS-C จึงทำให้กล้องมิเรอร์เลส EOS M สามารถมีขนาดกะทัดรัดพร้อมทั้งให้คุณภาพของภาพสูง นอกจากเลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์เดี่ยวแบบแพนเค้กในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเลนส์ EF-M ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกล้อง EOS M แล้ว เลนส์ซูมมุมกว้างซูเปอร์ไวด์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM ก็เป็นเลนส์ตัวใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในสายผลิตภัณฑ์เลนส์กลุ่มนี้ ในบทความต่อไปนี้ มาดูกันให้ชัดๆ ยิ่งขึ้นถึงเสน่ห์ของเลนส์ซูมมุมกว้างซูเปอร์ไวด์ตัวนี้ ขณะเราท่องเที่ยวไปในฮอกไกโดทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ โดยมีความเขียวชอุ่มสดชื่นของพรรณพืชเป็นธีมหลัก (เรื่องโดย: Masumi Takahashi)
หน้า: 1 2
เลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM
โครงสร้างเลนส์: 12 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม
จำนวนกลีบไดอะแฟรม: 7
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: ประมาณ 0.15 ม.
กำลังขยายสูงสุด: ประมาณ 0.3 เท่า
ขนาดฟิลเตอร์: 55 มม.
เส้นผ่าศูนย์กลาง x ความยาว (สูงสุด): ประมาณ 60.9 x 58.2 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 220 กรัม
เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม (สีเขียว)
เลนส์ UD (สีน้ำเงินเข้ม)
ชุด IS หรือระบบป้องกันภาพสั่นไหว (สีแดง)
โครงสร้างเลนส์
เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมถูกนำมาใช้สำหรับชิ้นเลนส์ชิ้นแรกและชิ้นที่เก้า ส่วนเลนส์ UD ถูกใช้สำหรับชิ้นเลนส์ชิ้นที่เจ็ด เพื่อให้ได้คุณภาพของภาพถ่ายสูงตลอดช่วงการซูม นอกจากนี้ ระบบป้องกันภาพสั่นไหวยังถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับเลนส์ซูมมุมกว้างในซีรีย์เลนส์ EF ซึ่งช่วยสนับสนุนการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ พร้อมให้คุณสมบัติการแก้ไขที่เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ประมาณสามสต็อป
รีวิวเลนส์พร้อมด้วยตัวอย่างจริง เลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM เมื่อประกอบเข้ากับกล้อง EOS M
EOS M/ FL: 14มม./ Aperture-priority AE (1/50 วินาที, f/11, +0.3EV)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
แสงจากอาทิตย์อัสดงลอดผ่านมวลเมฆลงมา เพื่อที่จะเก็บภาพวิวที่ผ่านมาเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ผมถ่ายภาพโดยแตะที่หน้าจอสัมผัสของจอ LCD ด้านหลังเพื่อปรับโฟกัสและการเปิดรับแสง ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ แสงและเงานั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การพยายามจับภาพนาทีที่สำคัญขณะที่ธรรมชาติแสดงลักษณะแปรเปลี่ยนไปทุกวินาที ถือเป็นเรื่องน่าเพลิดเพลินใจอย่างยิ่ง
EOS M/ FL: 11 มม./ Aperture-priority AE (1/100 วินาที, f/11, +0.3EV)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม คุณจะได้ยินเสียงจั๊กจั่นร้องระงมสะท้อนไปทั่วผืนป่าสนญี่ปุ่น จั๊กจั่นลอกครอบซึ่งเริ่มมีให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ ประกอบกันเป็นเส้นนำสายตาขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ในภาพนี้ ผมเข้าไปใกล้จั๊กจั่นมากๆ โดยใช้ฝั่งมุมกว้างของเลนส์ซูมเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจนมากขึ้น
EOS M/ FL: 22 มม./ Aperture-priority AE (1/30 วินาที, f/11, +0.7EV)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ที่ฮอกไกโด แนวต้นวิลโลว์อ่อนสีเขียวสดตัดกับต้นซากุระสีชมพูเข้มเกิดเป็นทิวทัศน์ที่ดูสดชื่น กล้องถูกเล็งจากตำแหน่งที่ตัวแบบได้รับแสงสว่างจากแสงที่เฉียงมาทางด้านข้างเล็กน้อย ทำให้ผมสามารถใส่ท้องฟ้าสดใสเข้าไว้ในฉากหลังของภาพได้ ทั้งรายละเอียดภาพแจ่มชัดและการถ่ายทอดสีสันน่าพึงพอใจ
ถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือโดยใช้คุณสมบัติป้องกันภาพสั่นไหว
ในที่สุดเลนส์ตัวที่สามก็ได้เพิ่มเข้ามาในกลุ่มสายผลิตภัณฑ์เลนส์ EF-M เลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM เป็นเลนส์ซูมมุมกว้างซูเปอร์ไวด์ที่มีมุมรับภาพเทียบเท่ากับทางยาวโฟกัสประมาณ 18 ถึง 35 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. ในที่นี้ ผมทดสอบความสามารถในการใช้งานและประสิทธิภาพในการถ่่ายภาพของเลนส์ด้วยการถ่ายภาพจริงจำนวนหนึ่ง เลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM ซึ่งมีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัด ทางฝั่งมุมกว้างสามารถรองรับการถ่ายด้วยมุมแบบซูเปอร์ไวด์ด้วยทางยาวโฟกัสประมาณ 18 มม. ทำให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ภาพได้ในแบบที่แตกต่างจากเลนส์ซูมมาตรฐานโดยสิ้นเชิง คุณจะชื่นชอบความสะดวกในการพกพาที่ดีเยี่ยมมากๆ เมื่อสวมเข้ากับกล้อง EOS M ทำให้เลนส์นี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ในภาพทดสอบนี้ ผมจงใจใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในองค์ประกอบภาพด้วย แต่ก็พบว่ามีแสงแฟลร์เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และคุณสมบัติความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของเลนส์ซูเปอร์ไวด์ก็ได้รับการแก้ไขอย่างน่าพอใจด้วย
แม้แต่ช่างภาพอาชีพยังพบว่า กล้อง EOS M คู่กับเลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM นั้นเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจเพราะพกพาได้สะดวกมาก ดีไซน์กะทัดรัดทำให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ภาพถ่ายได้จากมุมมองใหม่ๆ
สำหรับผม ฤดูดอกซากุระบานเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งที่สุดช่วงหนึ่งของปี เมื่อมีกล้อง EOS M กับเลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM เป็นเพื่อนคู่ใจ ผมก็ใช้เวลาทั้งวันถ่ายภาพทิวทัศน์ฤดูใบไม้ผลิของฮอกไกโดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ ต้องขอบคุณกล้องกับเลนส์คู่นี้ ที่ให้ทั้งความกะทัดรัดและน้ำหนักเบาทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเลย การถ่ายภาพโดยใช้หน้าจอสัมผัสนั้นทำได้ง่ายดายและชาญฉลาดมาก ทำให้การใช้งานต่างๆ อย่างการเลือกจุดโฟกัสมีความสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับภาพดอกแอรัม (Arum) และดอกดาวเรืองที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางหิมะ หลายๆ ครั้งผมจำเป็นต้องเพิ่มแสงเนื่องจากตัวแบบหลักจะดูมืดลงเพราะความขาวโพลนของหิมะ แต่ด้วยความสว่างและสีสันที่แสดงบนหน้าจอ Live View ได้แบบเรียลไทม์ของกล้อง EOS M ทำให้ผมตั้งระดับความสว่างที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย เพราะกล้องจะปรับการเปิดรับแสงตามบริเวณของภาพที่ผมแตะ ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพเหล่าี้นี้ ช่วยให้ผมสามารถถ่ายภาพได้รวดเร็ว
เพียงแตะที่จุดใดจุดหนึ่งของภาพที่แสดงบนหน้าจอ กล้องจะปรับโฟกัสและการวัดแสงให้ทันที ซึ่งจะช่วยลดความถี่ในการเรียกใช้ฟังก์ชั่นการชดเชยแสง เมื่อถ่ายภาพตัวแบบอย่างดอกไม้สีขาว นอกจากนี้ เฟิร์มแวร์ตัวใหม่ยังเพิ่มความเร็วในการโฟกัสอัตโนมัติของกล้อง EOS M ให้สูงขึ้น ผมจึงมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบได้เต็มที่กว่าเดิม
เฟิร์มแวร์ได้รับการแจกจ่ายให้กับกล้อง EOS M แล้วเพื่อการโฟกัสอัตโนมัติที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ในครั้งนี้ ผมได้เปรียบเทียบกล้อง EOS M ก่อนและหลังการอัพเดตเฟิร์มแวร์ ผลสรุปพบว่าการโฟกัสอัตโนมัติทำได้เร็วขึ้นอย่างมากด้วยการอัพเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นใหม่ เมื่อโฟกัสภาพได้เร็วยิ่งขึ้น ผมจึงให้ความสนใจกับตัวแบบได้มากขึ้น ราวกับว่าผมสามารถสัมผัสวิวที่งดงามน่าตื่นตาตื่นใจทั้งหมดนี้แต่เพียงผู้เดียวผ่านกล้องตัวเล็กๆ ตัวนี้ ด้วยกล้องที่มอบโอกาสให้คุณได้เห็นทิวทัศน์ที่ชัดเจน รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง และมุ่งความสนใจให้กับการถ่ายภาพได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทักษะการถ่ายภาพทิวทัศน์ของคุณจะต้องพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน
* บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากกล้องรุ่นทดลอง ข้อมูลบางอย่างเช่นรูปลักษณ์ของกล้องและคุณภาพของภาพอาจแตกต่างไปเล็กน้อยจากผลิตภัณฑ์จริง นอกจากนี้ สีของตัวกล้อง EOS M ที่นำมาแสดงในที่นี้ ปัจจุบันมีวางจำหน่ายเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
เกิดในปี 1959 ที่ฮอกไกโด Takahashi เริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีภูเขาของฮอกไกโดเป็นธีมหลัก เขาสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายทิวทัศน์ธรรมชาติของ Biei และ Furano ด้วยความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเฉพาะตัวของเขา