สีสันเจิดจ้าของท้องฟ้ายามเย็นช่วยเพิ่มอารมณ์ให้แก่การถ่ายภาพทิวทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในภาพมีดอกไม้และมีแสงย้อนจากด้านหลัง ในบทความนี้ เราจะแสดงภาพถ่ายจากไอเดียทั้งสองแบบ และเคล็ดลับในการถ่ายภาพจากช่างภาพ (เรื่องโดย: Rika Takemoto, Yoshiki Fujiwara)
ภาพที่ 1: ทุ่งดอกป๊อปปี้กว้างใหญ่ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็น
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/25 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
วันที่ถ่ายภาพ: ปลายเดือนพฤษภาคม
ภาพโดย Rika Takemoto
ขั้นตอนที่ 1: ถ่ายภาพลงมาจากตำแหน่งสูง
ผมต้องการถ่ายภาพที่ส่งผลต่ออารมณ์ด้วยการจัดเฟรมให้ทุ่งดอกป๊อปปี้และแสงอาทิตย์ยามเย็นอยู่ด้วยกัน ทุ่งดอกไม้นั้นแผ่ขยายออกไปในแบ็คกราวด์ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความลึก ทีแรกผมจึงถ่ายภาพในระดับสายตาโดยใช้ขาตั้งกล้อง แต่นั่นทำให้องค์ประกอบในเฟรมดูกระจัดกระจาย ผมจึงคิดว่าต้องสร้างจุดสนใจในเฟรมโดยการจัดเฟรมภาพให้ดอกป๊อปปี้ด้านหน้าดูมีขนาดใหญ่ขึ้นและอยู่ใกล้ขึ้น ดังนั้น ผมจึงมองหาจุดที่มีดอกป๊อปปี้สูงๆ ด้านหน้าผม และปรับขาตั้งกล้องให้อยู่ในระดับเอว
ผมมีตำแหน่งถ่ายภาพอยู่ในใจสองสามตำแหน่ง แต่สุดท้ายผมเลือกตำแหน่งนี้เนื่องจากมีความสมดุลทางองค์ประกอบระหว่างความสูงของพระอาทิตย์ เงามืดของภูเขา และดอกป๊อปปี้ที่อยู่ด้านหน้า
ขั้นตอนที่ 2: ใช้การชดเชยแสงเพื่อให้ทั้งภาพมีสีสันสดใส
ผมไปถึงสถานที่ถ่ายภาพราว 6 โมงเย็น แต่ถึงอย่างนั้น บริเวณโดยรอบก็เริ่มมืดแล้ว หากต้องถ่ายภาพโดยไม่ปรับการตั้งค่าใดๆ เลย ท้ายที่สุด ดอกป๊อปปี้ในภาพจะดูมืดเกินไป ผมจึงใช้การชดเชยแสงเพื่อให้ทั้งภาพดูสว่างขึ้น และเนื่องจากผมอยากจะคงการไล่โทนสีของพระอาทิตย์และท้องฟ้าเอาไว้ ผมจึงใช้วิธีลองผิดลองถูกในการกำหนดค่าการชดเชยแสง โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอค่าที่เหมาะสมที่สุดที่ EV+1.3
ผมใช้ค่ารูรับแสงแคบที่ f/16 เนื่องจากต้องการใช้การโฟกัสลึกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ของทุ่งดอกป๊อปปี้ และสร้างเอฟเฟ็กต์แสงกระจาย เพื่อให้เห็นลำแสงของดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน เพื่อทำให้สีแดงของดอกป๊อปปี้และสีฟ้าของท้องฟ้าเข้มขึ้น ผมใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (ฟิลเตอร์ PL)
ภาพเสีย: การถ่ายดอกป๊อปปี้จากมุมต่ำไม่ให้ผลอย่างที่ผมตั้งใจ
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/500 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Rika Takemoto
สำหรับภาพนี้ ผมตั้งใจจะถ่ายดอกป๊อปปี้จากด้านล่าง โดยพยายามให้เห็นพระอาทิตย์ตกด้วย แสงย้อนจากด้านหลังที่ส่องมายังด้านหน้าของดอกป๊อปปี้ทำให้กลีบดอกและขนเล็กๆ บนลำต้นดูเหมือนโปร่งแสง ทำให้ได้ภาพถ่ายที่ดูน่ารักและละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ผมต้องการ ซึ่งก็คือการแสดงให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ของทุ่งดอกป๊อปปี้
ภาพที่ 2: ดอกลิลลี่ที่สว่างไสวจากแสงอาทิตย์ยามเย็น
EOS 6D/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/9, 1/200 วินาที, EV-1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
วันที่ถ่ายภาพ: กลางเดือนมิถุนายน
ภาพโดย Yoshiki Fujiwara
คอยสังเกตและรอจนกระทั่งพระอาทิตย์อยู่เหนือดอกไม้ในแนวนอน
ในภาพนี้ แสงอาทิตย์ส่องผ่านดอกลิลลี่ ทำให้ดูเรืองแสงอย่างนุ่มนวลราวกับมีโคมไฟส่อง
เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านต้นไม้หรือดอกไม้ จะทำให้เห็นสีสันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คุณเคยมองขึ้นไปยังท้องฟ้าโดยมองผ่านยอดไม้ที่มีใบไม้สีเขียวหรือเปล่า ถ้าเคย คุณจะเห็นว่าดวงอาทิตย์เหนือหัวนั้นทำให้สีเขียวของใบไม้ดูสว่างและเจิดจ้ามากกว่าปกติ และนั่นคือเอฟเฟ็กต์ที่ผมต้องการใช้กับดอกลิลลี่ในภาพนี้
ดอกลิลลี่เหล่านี้กำลังเติบโตมาจากตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำบนพื้น ดังนั้น วิธีเดียวที่จะถ่ายให้เห็นมากกว่าหนึ่งดอกคือต้องถ่ายในแนวนอน ดังนั้น ผมจึงรอจนกระทั่งพระอาทิตย์อยู่ในแนวนอนเหนือดอกลิลลี่ก่อนจะถ่ายภาพ (เวลาถ่ายภาพ: 19.45 น.)
ภาพเสีย: สีสันของดอกไม้ดูไม่สดใสนักเมื่อถ่ายภาพในเวลาเย็น
EOS 6D/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/800 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Yoshiki Fujiwara
ภาพนี้ถ่ายเมื่อเวลา 16.45 น. ตำแหน่งที่สูงของพระอาทิตย์บนท้องฟ้าทำให้ยากต่อการได้มุมที่พระอาทิตย์ส่องผ่านดอกไม้ และผมไม่สามารถถ่ายภาพดอกไม้ที่โปร่งแสงและมีสีสันงดงามได้
ต่อไปนี้คือไอเดียในการถ่ายภาพดอกไม้เพิ่มเติม:
ฉันจะถ่ายภาพดอกไม้ให้ดูเกินจริงได้อย่างไร
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
การถ่ายภาพดอกไม้: วิธีสร้างวงกลมโบเก้ที่สว่างจ้าให้สวยแจ่มด้วยเลนส์มาโคร
คุณอาจสนใจ:
4 ขั้นตอนในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่มีแสงเข้าทางด้านหลังให้ดูุนุ่มนวลชวนฝัน
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับ และกลเม็ดต่างๆ ในการถ่ายภาพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
แต่เดิม Fujiwara เคยเป็นนักสโนว์บอร์ดมืออาชีพ ต่อมาได้ผันตัวเข้าสู่อาชีพที่สองในฐานะช่างภาพหลังจากเลิกเล่นสโนว์บอร์ดเพราะอาการบาดเจ็บ เขามุ่งหาวิธีใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติเพื่อสร้างความรู้สึกโปร่งแสง และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาด้วยตนเองทำให้ภาพถ่ายของเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “10 ภาพที่แชร์กันอย่างแพร่หลายของ Tokyo Camera Club”
Rika เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มดูแลเว็บไซต์แชร์ภาพถ่ายในปี 2007 เธอเรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอย่าง Yoshiteru Takahashi ก่อนจะผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ นับแต่นั้นมา เธอก็ได้ถ่ายภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบทั่วญี่ปุ่น (รวมถึงต่างประเทศด้วย)