2 อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้และคาดไม่ถึงสำหรับการถ่ายภาพสุนัข
ช่างภาพสัตว์เลี้ยง Yusuke Yuzawa มาบอกเล่าถึงอุปกรณ์สองชิ้นที่เรียบง่ายแต่สำคัญมาก ซึ่งมีประโยชน์ในการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงของเขา (ภาพโดย Yusuke Yuzawa เรื่องโดย Akiyo Ogawa, Digital Camera Magazine)
EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 177 มม./ Manual exposure (f/3.5, 1/640 วินาที)/ ISO 125/ WB: แสงแดด
1. ใช้ไม้ล่อแมวเพื่อดึงดูดสายตาของสุนัข
ไม้ล่อแมวไม่ได้ใช้ได้กับแมวเท่านั้น เจ้าของสุนัขจำนวนมากไม่ทราบว่าสามารถใช้ไม้ล่อเพื่อดึงดูดความสนใจ (และสายตา) ของสุนัขในระหว่างการถ่ายภาพได้! ท่อนยาวๆ ของไม้ล่อแมวซึ่งมักจะไม่มีในของเล่นสุนัข ช่วยให้คุณดึงดูดความสนใจของสุนัขได้จากระยะไกล
เคล็ดลับ: ถ่ายภาพให้เร็ว
ไม่มีสิ่งใดดึงดูดความสนใจของสุนัขได้นาน แม้ว่าจะเป็นไม้ล่อแมวก็ตาม เมื่อล่อให้สุนัขมองไปยังจุดที่คุณต้องการและเปิดใช้งาน Animal Detection AF แล้ว ให้ลั่นชัตเตอร์โดยใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อไม่ให้พลาดทุกโอกาสในการถ่ายภาพ!
วิธีใช้ไม้ล่อเพื่อให้สุนัขมองตรงมาที่กล้อง
สายตาที่มองตรงมาจะดูมั่นใจมากขึ้นและรู้สึกถึงความผูกพันกันยิ่งขึ้น
ขั้นแรก ใช้ไม้ล่อแมวดึงดูดความสนใจของสุนัข เมื่อสุนัขสนใจคุณแล้ว ให้ขยับไม้ล่อเพื่อให้ของเล่น/วัสดุตรงปลายไม้อยู่เหนือกล้องพอดี
แต่อย่าถือไม้ล่อสูงเกินไป!
หากไม้ล่อสูงเกินไป จะดูเหมือนว่าสุนัขมองไปที่เหนือกล้องแทน
นอกจากนี้ สามารถใช้ไม้ล่อเพื่อให้สุนัขมองไปนอกเฟรมได้ด้วย
EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 158 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/500 วินาที)/ ISO 320/ WB: แสงแดด
ถือไม้ล่อไว้ตรงจุดที่ต้องการให้สุนัขมอง หรือลองหาคนมาช่วยถือให้ หากคุณต้องการใช้ทั้งสองมือจับถืออุปกรณ์ถ่ายภาพ
ควรใช้ไม้ล่อแมวแบบใด
ไม้ล่อแมวใช้วัสดุและมีความยาวหลากหลายแบบ ผมมักจะพกไม้ล่อไปสองสามอันสำหรับการถ่ายภาพแต่ละครั้ง
แนะนำให้ใช้: ริบบิ้นกระดาษแก้ว/ ขนนก
ผมขอแนะนำให้ใช้ไม้ล่อแบบมีริบบิ้นกระดาษแก้วหรือขนนกอยู่ตรงปลาย วัสดุเหล่านี้จะส่งเสียงเสียดสีกันเวลาคุณเขย่า ซึ่งกระตุ้นความสนใจของสุนัข
ใช้ไม้ล่อแบบมีพู่สำหรับสุนัขที่มีประสาทหูไวเกินไป
เพราะเสียงจากริบบิ้นกระดาษแก้วหรือขนนกอาจทำให้สุนัขบางตัวรู้สึกกลัวหรือถูกกระตุ้นมากเกินไป ไม้ล่อแบบพู่อย่างเช่นในภาพด้านซ้ายสามารถใช้แทนได้ดีเพราะไม่ส่งเสียง ขยับพู่เข้าไปใกล้จมูกของสุนัขเพื่อใช้กลิ่นดึงดูดความสนใจ จากนั้น หันไม้ล่อไปตรงจุดที่คุณต้องการให้สุนัขมอง
ข้อควรระวัง: ตรวจดูให้แน่ใจว่าภาพของคุณไม่ได้ถ่ายติดพู่!
2. พรมสีขาวสำหรับถ่ายภาพในที่ร่ม
EOS R5/ RF24-70mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/250 วินาที)/ ISO 640/ WB: แสงแดด
หากคุณประสบปัญหาในการถ่ายภาพในร่มของสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงไว้ให้ออกมาดูดี อาจเป็นเพราะมีแสงไม่เพียงพอ การหาสถานที่ที่มีแสงแดดส่องถึงมากพอมักจะช่วยเพิ่มคุณภาพให้ภาพถ่ายได้อย่างมาก
เคล็ดลับหนึ่งที่ผมมักจะใช้คือ วางสัตว์เลี้ยงไว้บนพรม (หรือผ้าห่ม) สีขาวข้างหน้าต่าง หน้าต่างเป็นที่ที่เหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพในร่ม! แสงด้านข้างจากหน้าต่างทำให้พื้นผิวของขนดูสวยขึ้น และพรมสีขาวจะทำหน้าที่เหมือนรีเฟล็กเตอร์ขนาดยักษ์ ซึ่งปรับส่วนที่เป็นเงาบนหน้าและอกของสัตว์ซึ่งมักจะเกิดจากมุมรับแสงให้ดูสว่างขึ้น
วิธีจัดเตรียมการถ่ายภาพ
1. กระจายแสง: แสงที่ส่องตรงจากหน้าต่างอาจดูแสบตาเกินไป ให้ใช้ผ้าม่านแบบลูกไม้หรือผ้าโปร่งเพื่อกระจายแสงแดดให้ดูนวลตาขึ้น
2. ระยะห่าง: ระยะห่างจากหน้าต่างจะส่งผลต่อความเข้มของแสง ให้วางชุดอุปกรณ์ใกล้กับหน้าต่างเพื่อให้ได้แสงสว่างมากขึ้น แล้วขยับชุดอุปกรณ์ออกห่างจากหน้าต่างเพื่อให้ดูมืดลง
3. เลนส์: หากคุณถ่ายภาพตามลำพัง คุณอาจต้องเข้าไปใกล้สุนัขมากขึ้น ให้เลือกใช้เลนส์ที่มีระยะการทำงานสั้นๆ เช่น เลนส์ซูมมาตรฐาน หากใช้เลนส์เทเลโฟโต้ คุณอาจต้องยืนไกลออกไปจากจุดที่ต้องการ
4. พรมสีขาว: พรมจะทำหน้าที่เป็นรีเฟล็กเตอร์ ซึ่งปรับให้ส่วนที่เงาบนหน้าและอกของสุนัขดูสว่างขึ้น
อ่านเคล็ดลับและไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงได้ที่
ภาพพอร์ตเทรตสุนัข 3 ประเภทที่ถ่ายได้ด้วย Animal Detection AF
การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง: การถ่ายภาพน่ารักๆ ของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดไซตามะเมื่อปี 1980 Akiyo เป็นช่างภาพสัตว์เลี้ยงซึ่งได้รับคุณวุฒิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มากมาย เช่น คุณวุฒิด้านการตัดขนสัตว์ และการฝึกสุนัข ปัจจุบัน เธอเป็นผู้บรรยายในชั้นเรียนถ่ายภาพต่างๆ เป็นหัวหน้าบรรณาธิการของนิตยสารเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงฉบับหนึ่ง และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการสัตว์เลี้ยง
เกิดในโตเกียว ปี 1980 Yusuke เป็นช่างภาพสัตว์เลี้ยงที่ถ่ายภาพสัตว์มากกว่า 500 ตัวต่อเดือน ปัจจุบัน เขาเป็นผู้สอนการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง และเป็นช่างภาพปกนิตยสารสัตว์เลี้ยงและถ่ายภาพแนวเซ็กซี่ นอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เขียนบทและปรากฏตัวในรายการสัตว์เลี้ยงต่างๆ อีกด้วย