เลนส์มุมกว้างเอื้อให้คุณเก็บภาพได้ในมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่คุณสมบัติโดดเด่นประการเดียวของเลนส์มุมกว้าง คุณยังสามารถใช้เลนส์ชนิดนี้เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวที่เปลี่ยนรูปทรงของตัวแบบไป เมื่อคุณใช้เอฟเฟ็กต์นี้ คุณจะเพิ่มเอกลักษณ์ให้กับงานภาพถ่ายของคุณได้อีก (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
Q1: วิธีสร้างเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยว
EOS 70D/ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM/ FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับ 16 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/1250 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
A: ถ่ายภาพระยะใกล้จากตัวแบบ
คุณสมบัติประการหนึ่งของเลนส์คือ วัตถุที่อยู่ใกล้กว่าจะปรากฏขนาดใหญ่กว่า และคุณสมบัตินี้ยิ่งเห็นผลมากขึ้นเมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง เอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวที่เกิดจากเลนส์มุมกว้างเช่นนี้เป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่มักใช้กันเพื่อเน้นรูปทรงของตัวแบบ หลักสำคัญในการสร้างเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวเช่นนี้คือการเลื่อนเข้าใกล้ตัวแบบให้มากๆ คุณสามารถที่สื่ออารมณ์ได้มากขึ้นด้วยการสร้างมุมมองแบบแว่นขยายให้กับสิ่งที่คุณต้องการขับเน้น ตัวอย่างนี้คือภาพที่ถ่าย ณ สถานีรถไฟในสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่ารูปทรงของรถไฟที่เห็นจากด้านหน้าดูมีสมมาตรเท่ากัน แต่ด้านซ้ายของยานพาหนะนี้กลับดูเหมือนยื่นออกมาอันเป็นผลมาจากเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยว
เมื่อถ่ายจากตำแหน่งที่ไกลออกมา ระยะจากกล้องไปยังรถไฟทั้งด้านซ้ายและขวาแทบไม่ต่างกัน เอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวจึงไม่เกิดขึ้นในกรณีนี้
Q2: วิธีขับเน้นความกว้างในภาพ
EOS 70D/ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM/ FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับ 16 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/11, 1/30 วินาที)/ ISO 500/ WB: แสงแดด
A: วางตำแหน่งตัวแบบที่กึ่งกลางภาพ
ในการขับเน้นความกว้างในภาพถ่าย สำคัญที่คุณจะต้องใช้พื้นที่ในระยะโฟร์กราวด์ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแบบจะดูใหญ่กว่าเมื่อวางอยู่ใกล้กล้อง ดังนั้น จึงง่ายกว่าที่จะสร้างเอฟเฟ็กต์ที่มองเห็นได้ว่ามีการดึงขยายความกว้าง ตัวอย่างนี้ถ่ายที่อาร์ตแกลเลอรี่แห่งหนึ่งในเมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ในภาพนี้ ตราสัญลักษณ์กินพื้นที่ส่วนใหญ่ในระยะโฟร์กราวด์เพื่อสร้างความเปรียบต่างกับแบ็คกราวด์ ทำให้รู้สึกถึงความกว้างขวาง เทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้างมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการรวมสิ่งที่อยู่ในระยะโฟร์กราวด์เข้ามา การสร้างความไม่สมดุลในภาพทำให้คุณสามารถสื่อถึงมิติความกว้างได้ดีกว่าภาพในมุมปกติ
หากไม่มีตราสัญลักษณ์ในระยะโฟร์กราวด์ ภาพนี้จะไม่รู้สึกถึงมิติความกว้างได้เลย ไม่เพียงเท่านั้น ภาพยังขาดสัดส่วนที่แสดงความกว้างของพื้นที่ จึงไม่สามารถถ่ายทอดความกว้างที่แท้จริงของสถานที่ถ่ายภาพได้
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation