ถาม-ตอบเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ ลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างและการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เลนส์มุมกว้างทำให้คุณสามารถถ่ายภาพที่มีระยะการมองเห็นกว้าง อย่างไรก็ตาม เลนส์ชนิดนี้ยังมีลักษณะที่อาจทำให้ตัวแบบเกิดความบิดเบี้ยว จึงต้องการความระมัดระวังเมื่อใช้งาน ต่อไปนี้ ผมจะอธิบายเทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้างกับลักษณะฉากแบบต่างๆ (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi, นางแบบ: Natsuki Ota)
หน้า: 1 2
ลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้าง
ลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างประการหนึ่งคือความสามารถในการรวมมิติความกว้างของฉากไว้ในภาพถ่ายโดยมีมุมรับภาพที่กว้าง นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพบิดเบี้ยวที่น่าสนใจเมื่อคุณถ่ายภาพตัวแบบจากระยะใกล้ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้สามารถใช้เพื่อขับเน้นรูปทรงของตัวแบบหรือความลึกของภาพทิวทัศน์ได้ ถึงเช่นนั้นก็จำเป็นต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากความบิดเบี้ยวมักเกิดขึ้นบริเวณขอบภาพ ในการใช้เลนส์มุมกว้างให้มีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือจะต้องควบคุมทั้งมุมรับภาพและความบิดเบี้ยวในภาพไปพร้อมๆ กัน ด้วยวิธีนี้ คุณจะสามารถแสดงถึงพลังในการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายของคุณได้
Q1: ฉันจะสร้างความน่าสนใจให้กับมิติความลึกของถนนได้อย่างไร?
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/320 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
A: ลองจัดองค์ประกอบภาพแนวตั้ง
ในภาพนี้ สิ่งสำคัญคือเราจะใช้ประโยชน์จากมิติความกว้างของภาพได้มากแค่ไหน โดยเลือกว่าจะใช้องค์ประกอบภาพแนวตั้งหรือแนวนอนด้วยความชำนาญ ในตัวอย่างนี้ ผมนำเสนอภาพถนนที่พื้นที่โฟร์กราวด์และท้องฟ้าสีครามไว้ในองค์ประกอบภาพนี้โดยใช้ภาพแนวตั้งเพื่อสร้างอารมณ์ภาพให้กับถนนสายยาวสุดลูกหูลูกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุมรับภาพกว้างมีเอฟเฟ็กต์ในด้านยาวของภาพที่ชัดเจนกว่า หรืออาจพูดได้ว่า คุณสามารถเลือกใช้องค์ประกอบภาพแนวตั้งหรือแนวนอนโดยจงใจเพื่อเน้นมิติ "ความลึก" หรือ "ความกว้าง" นอกจากนี้ การยอมให้ถนนในระยะโฟร์กราวด์กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพทำให้เกิดความเปรียบต่างพร้อมกับจุดบรรจบในระยะไกล ซึ่งเป็นการขับเน้นมิติความลึกของภาพออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
ในองค์ประกอบภาพแนวนอน ความกว้างของมุมรับภาพนั้นใช้ได้สำหรับแนวนอน แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดมิติความลึกที่เป็นลักษณะเด่นของสถานที่นี้ได้
Q2: จะถ่ายภาพอย่างไรไม่ให้ตัวแบบพอร์ตเทรตบิดเบี้ยว?
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/400 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
A: วางตำแหน่งตัวแบบพอร์ตเทรตที่กึ่งกลางภาพ
ด้วยคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้าง ภาพของตัวแบบที่อยู่ใกล้ขอบจะมีความบิดเบี้ยวมากขึ้น ความบิดเบี้ยวเป็นไปตามสัดส่วนความกว้างของมุมรับภาพ และจะยิ่งชัดขึ้นเมื่อทางยาวโฟกัสสั้นลง แม้คุณจะไม่ต้องกังวลมากนักเวลาถ่ายภาพตัวแบบทิวทัศน์ แต่เมื่อถ่ายภาพพอร์ตเทรตหรือภาพความทรงจำโดยใช้เลนส์มุมกว้าง ตัวแบบพอร์ตเทรตต้องไม่อยู่ที่ขอบภาพ มิฉะนั้น ตัวแบบจะออกมาบิดเบี้ยว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการวางตำแหน่งตัวแบบให้อยู่ใกล้บริเวณกึ่งกลางภาพเพราะเป็นที่ที่เกิดความบิดเบี้ยวได้น้อย
เนื่องด้วยคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้าง ใบหน้าและตัวของนางแบบจึงยืดออกด้านข้าง ทำให้ตัวแบบดูบิดเบี้ยวอย่างในภาพนี้ แม้ว่าคุณอาจมีความตั้งใจที่จะถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในระยะแบ็คกราวด์ แต่องค์ประกอบภาพแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อคุณถ่ายภาพพอร์ตเทรต
Q3: ฉันจะใช้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟได้อย่างไร?
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/30 วินาที)/ ISO 2500/ WB: อัตโนมัติ
ระหว่างใช้งานฟังก์ชั่น Live View ผมตั้งกล้องในระดับต่ำใกล้พื้นเพื่อถ่ายภาพเสาจากมุมที่ตั้งชันกว่า จำไว้เสมอว่าต้องพิจารณาความสูงและมุมร่วมกันขณะที่ถ่ายภาพ
A: ให้ความสำคัญกับตำแหน่งถ่ายภาพและมุม
เปรียบเทียบกับเลนส์อื่นที่มีช่วงทางยาวโฟกัสต่างกัน เลนส์มุมกว้างจะทำให้ระยะห่างระหว่างวัตถุที่อยู่ใกล้และไกลเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นจริง จึงเหมาะกับการถ่ายทอดภาพที่แสดงถึงความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม คุณอาจไม่ได้รับผลจากเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟที่ต้องการจากความสูงและมุมปกติ ดังนั้น เพื่อเพิ่มระยะห่างนี้ให้ดูยาวเกินจริง ความลับอยู่ที่การปรับความสูงหรือมุมเพื่อหาตำแหน่งที่ทำมุมตั้งชันกับตัวแบบ ภาพตัวอย่างสำหรับคำถามที่ 3 เป็นภาพถ่ายจากโบสถ์น็อทร์-ดามในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อจัดองค์ประกอบภาพถ่ายแบบ Live View จากมุมต่ำ ผมสามารถจะสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟกับเสาต่างๆ ที่เหยียดสูงจดเพดาน วิธีนี้ช่วยขับเน้นมิติความกว้างของบรรยากาศภายในอาคารสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าแห่งนี้ เราควรรู้ว่าเลนส์มุมกว้างตอบสนองต่อความสูงและมุมการถ่ายภาพได้อย่างมาก ความพยายามอย่างสร้างสรรค์เพียงเล็กน้อยก็ช่วยเปลี่ยนความประทับใจในภาพถ่ายของคุณได้อย่างมาก
ด้านบนนี้คือภาพตัวอย่างที่ถ่ายในระดับสายตา มีเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเล็กน้อยเมื่อตำแหน่งการถ่ายภาพสูงและกล้องไม่ทำมุมสูงชันกับเสา มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายมุมต่ำ
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดังหลายฉบับ เขาจึงได้เดินทางจากทำเลหลัก คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation