สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
ในตอนที่ 1 เราได้เรียนรู้หลักการสองข้อเกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงของเลนส์มุมกว้าง ซึ่งได้แก่ 1. สามารถทำให้เส้นบรรจบเข้าหากัน และ 2. เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นที่ขอบภาพ ในตอนที่ 2 นี้ เราจะมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติเหล่านี้และวิธีการนำไปใช้ได้มากขึ้น (บรรณาธิการโดย studio9)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/9.0/ 1/60 วินาที/ ISO 500
1. การถ่ายภาพท้องฟ้าที่มีเมฆครึ้ม
เมื่อคุณถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยเลนส์มุมกว้าง การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงจะทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ “การขยายภาพลงด้านล่าง” โดยเริ่มจากด้านบนของภาพลงมายังท้องฟ้าส่วนที่อยู่ใกล้กับคุณมากกว่า ก้อนเมฆทำให้เกิดความเปรียบต่างในท้องฟ้า ซึ่งทำให้เห็นเอฟเฟ็กต์นี้ได้ชัดเจนขึ้นอีก จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมท้องฟ้าที่มีเมฆครึ้มจึงดูกว้างใหญ่กว่าท้องฟ้าในวันที่อากาศสดใส
ภาพนี้ถ่ายจากบนเรือที่ย่านมินาโตะมิไรในเมืองโยโกฮามาขณะพระอาทิตย์ตก (FL: 24 มม.) และเพื่อให้ภาพส่งผลต่ออารมณ์มากยิ่งขึ้น พยายามถ่ายท้องฟ้าให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกฎสามส่วน
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/10/ 1/800 วินาที/ ISO 250
ภาพนี้ถ่ายในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา (FL: 16 มม.) การมีกล้องอยู่ในมือขณะที่เห็นก้อนเมฆสวยๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ ท้องฟ้าดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุดเลยใช่ไหม
2. ถ่ายภาพจากมุมรับภาพแนวทแยง
หากต้องการให้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงของเลนส์มุมกว้างทำงานได้อย่างเต็มที่ ให้ลองถ่ายตัวแบบจากมุมทแยง
เพราะนี่คือวิธีการทำงานของเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟ
- การถ่ายภาพจากด้านหน้าตรงๆ ไม่ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเนื่องจากทุกส่วนของตัวแบบจะดูเหมือนมีระยะห่างจากกล้อง (และผู้ชม) เท่ากัน
- การถ่ายตัวแบบจากมุมอื่นจะช่วยเน้นเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟให้ชัดเจนขึ้นเนื่องจากฝั่งหนึ่งของตัวแบบจะอยู่ใกล้กับกล้องหรือผู้ชมมากกว่าอีกฝั่ง
เคล็ดลับ:
1. จัดองค์ประกอบภาพให้ตัวแบบดูยื่นจากด้านนอกเข้าไปในภาพ จะทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงที่เด่นชัดขึ้นที่ด้านข้างของภาพ
2. ถ่ายให้ใกล้ตัวแบบมากขึ้น ยิ่งส่วนที่ใกล้ที่สุดของตัวแบบอยู่ใกล้กล้องมากเท่าใด เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งชัดเจนขึ้นเท่านั้น
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/16/ 20 วินาที / ISO 800
ภาพโรงงานในเมืองคาวาซากิยามค่ำคืน ถ่ายที่ระยะ 23 มม. ผมถ่ายภาพในระยะใกล้มากจนรั้วแทบจะชนกับส่วนปลายของเลนส์ เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงที่ได้จะชัดเจนในส่วนรั้ว แต่เห็นได้ไม่ชัดเจนนักที่ตัวโรงงานเนื่องจากอยู่ห่างจากกล้องและใกล้กับจุดกึ่งกลางภาพ
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/2.8, 1/15 วินาที/ ISO 1600
ผมถ่ายภาพหอยนางรมในจานที่ร้านหอยนางรมแห่งหนึ่ง (FL: 16 มม.) ในภาพนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบจนกระทั่งเลนส์เกือบจะสัมผัสกับเปลือกหอยที่อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ ทำให้เกิดมุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริงที่จานหอยนางรม ทอดยาวจากบริเวณโฟร์กราวด์ไปจนถึงแบ็คกราวด์ ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพเพื่อความสร้างสรรค์ แต่ไม่เหมาะหากคุณต้องการถ่ายภาพให้แสดงรูปร่างต่างๆ ตามความเป็นจริง
3. ทำให้องค์ประกอบต่างๆ ดูกินพื้นที่มากกว่าความเป็นจริง
การสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่เกินจริงด้วยเลนส์มุมกว้างนั้นสามารถทำให้สิ่งต่างๆ ดูใหญ่ขึ้นกว่าความเป็นจริงได้ ลองมาดูภาพประกอบด้านล่างกัน
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L USM/ f/5.6/ 1/1250 วินาที/ ISO 200
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะ 24 มม. จากระยะโฟกัสใกล้ถึงใกล้สุด (0.45 ม.) ของเลนส์ ดูเหมือนภาพนี้ถูกถ่ายในทุ่งดอกไม้ทั้งทุ่งเลยใช่ไหม แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงกลุ่มดอกไม้ในกระถางเล็กๆ ที่มีความลึกประมาณ 30 ถึง 40 ซม. ในสวนเท่านั้น
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/13/ 1/80 วินาที/ ISO 640
นี่เป็นภาพโคลสอัพอีกภาพหนึ่งของดอกไม้จากที่เดียวกันซึ่งใช้เลนส์ซูมมุมกว้าง (FL: 16 มม.) ระยะห่างจากโฟร์กราวด์จนถึงแบ็คกราวด์นั้นดูเกินจริงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดความรู้สึกว่าภาพนี้ถูกถ่ายจากในสวนดอกไม้ขนาดใหญ่
แต่ความจริงแล้ว ทั้งสองภาพถูกถ่ายจากที่นี่:
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/5.0/ 1/100 วินาที/ ISO 100
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะ 16 มม. โดยใช้เลนส์รุ่นเดียวกับที่ถ่ายภาพด้านบน แต่ผมถอยออกมาไกลกว่าเดิมและถ่ายภาพจากมุมที่สูงกว่าภาพก่อนหน้า คุณเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นหรือไม่ ภาพนี้ต่างจากภาพก่อนหน้า เพราะไม่มีจุดสนใจที่แน่ชัด ดูเหมือนเป็นแค่การถ่ายเพื่อให้เห็นว่าฉากหน้าตาเป็นอย่างไรเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธีการใช้เลนส์นั้นมีความสำคัญ
และนี่คืออีกภาพหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่ามุมกว้างสามารถทำอะไรได้บ้าง
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L USM/ f/5.6/ 1/5000 วินาที/ ISO 400
คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพทั้งสวนเพื่อให้มีซากุระอยู่เต็มเฟรม ผมถ่ายภาพนี้โดยเข้าไปใกล้ต้นซากุระต้นหนึ่งและถ่ายภาพที่ระยะ 24 มม.
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้ การถ่ายภาพต้นซากุระ: ควรถ่ายที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้ดี
4. ลองใช้การถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ต่ำ
ถ่ายภาพโดยให้กล้องอยู่ใกล้พื้น นี่ไม่ใช่แค่มุมมองที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพลวงตาซึ่งตัวแบบที่อยู่ในโฟร์กราวด์จะดูมีขนาดใหญ่และตัวแบบที่อยู่ในแบ็คกราวด์ดูมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกัน
มาทบทวนกันอีกครั้ง ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) และมุมกล้องแตกต่างกันอย่างไร
มุมต่ำ: ภาพที่ถ่ายโดยการเอียงกล้องขึ้นด้านบน (ตรงข้ามกับมุมสูงซึ่งตัวกล้องจะเอียงลง)
ตำแหน่งต่ำ: เมื่อกล้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตา
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L USM/ f/8.0/ 1/250 วินาที/ ISO 200
ในภาพด้านบน นอกจากกล้องจะอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำแล้ว ยังเอียงลงไปหาพื้นอีกด้วย จึงทำให้ได้ภาพในตำแหน่งต่ำที่ถ่ายจากมุมสูง ซึ่งเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังเงาเหล่านั้น
คำแนะนำ: ใช้ความระมัดระวังเมื่อต้องถ่ายภาพใกล้พื้นและเอียงกล้องขึ้น เพราะผู้อื่นอาจเข้าใจเจตนาของคุณผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน ควรตรวจดูเสมอว่าไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/4.0/ 1/40 วินาที/ ISO 800
ผมถ่ายภาพนี้โดยวางกล้องลงบนพื้น (FL: 16 มม.) พื้นที่เป็นโฟร์กราวด์ดูมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในแบ็คกราวด์ คุณสามารถใช้เอฟเฟ็กต์นี้ในการสร้างภาพลวงตาที่น่าสนใจได้
5. ทำให้ขาดูยาวขึ้น
จำได้ไหมว่าในตอนที่ 1 เราได้เห็นว่าการขยายเปอร์สเป็คทีฟเกินจริงและเอฟเฟ็กต์การบรรจบกันทำให้อาคารดูลาดลงและสูงขึ้นได้อย่างไร วิธีการเช่นนี้ใช้ได้กับทุกอย่าง รวมทั้งคนด้วย
ภาพมุมต่ำด้านล่างถ่ายจากความสูงระดับเดียวกับเท้าของเด็กที่กำลังยืนคนนี้
EOS 5D Mark III/ f/4.0/ 1/160 วินาที/ ISO 1250
เด็กยักษ์หลุดออกมาแล้ว! การถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างจากมุมต่ำทำให้ขาของเด็กดูใหญ่และยาวขึ้น และใบหน้าของเด็กดูเล็กลงกว่าความเป็นจริง เอฟเฟ็กต์ที่ดูเกินจริงไปมากจนดูเหมือนภาพล้อเลียนนี้อาจเหมาะสำหรับการถ่ายภาพในเชิงสร้างสรรค์ แต่คงไม่เหมาะหากนี่เป็นงานในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต แต่ความลับคือ: ช่างภาพแฟชั่นมักใช้เทคนิคนี้ (ในแบบที่ไม่ชัดเจนเท่า) ในการอวดโฉมรูปร่างของตัวแบบและแสดงสไตล์ของตนเอง
เคล็ดลับ: ระวังอย่าให้ใบหน้าอยู่ตรงขอบภาพ เนื่องจากเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่เกินจริงจะชัดเจนขึ้นตรงขอบภาพและทำให้เกิดการบิดเบี้ยว ควรให้ใบหน้าอยู่ตรงกลางภาพแทน
เลนส์ที่แนะนำ
EF16-35mm f/2.8L III USM: ผมชอบรูรับแสงที่กว้างและเอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่สวยงามใน EF16-35mm f/2.8L II USM เลนส์รุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นเลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำ เลนส์รุ่นใหม่ที่ปรับปรุงมาแล้วนี้ จะให้คุณภาพของภาพที่ดียิ่งขึ้นจนถึงขอบภาพอย่างแน่นอน
EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM: สำหรับกล้อง APS-C นี่คือเลนส์ EF-S ที่มีมุมรับภาพกว้างที่สุดในปัจจุบัน คุณสมบัติการครอปของเซนเซอร์ APS-C ที่ 1.6 เท่า หมายความว่าที่ระยะมุมกว้าง 10 มม. คุณจะได้มุมรับภาพ 16 มม. เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย