คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #7: ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) และมุมกล้องแตกต่างกันอย่างไร
ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) และมุมกล้องคือปัจจัยที่คุณควรนึกถึงอยู่เสมอในการถ่ายภาพ การเปลี่ยนตำแหน่งและมุมกล้องสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของภาพได้แม้ว่าตัวแบบจะคงเดิมก็ตาม ดังนั้น หากเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างตำแหน่ง (ระดับ) และมุมของกล้อง และใช้ตำแหน่งและมุมประเภทต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แล้วจะช่วยในเรื่องการถ่ายภาพได้อย่างมาก (ภาพและเรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) หมายถึง ระดับความสูงของกล้องที่สัมพันธ์กับพื้นดิน ส่วนมุมกล้อง หมายถึง มุมของกล้องที่สัมพันธ์กับพื้นดิน
ในส่วนของตำแหน่งกล้อง หากกล้องอยู่ในระดับเดียวกันกับสายตาของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับพื้นดิน นั่นหมายถึงระดับสายตา หากกล้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตาจะเรียกว่า ระดับต่ำ และทำนองเดียวกัน หากอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าระดับสายตาจะเรียกว่า ระดับสูง เนื่องจากระดับสายตาคือตำแหน่งที่อยู่ในระดับเดียวกับการมองเห็นปกติ ดังนั้นจะสื่อถึงความรู้สึกที่มั่นคงให้กับภาพได้ แต่อย่างไรก็ดี ระดับสายตาอาจทำให้ภาพขาดความน่าสนใจไปได้เช่นเดียวกัน หากถ่ายภาพในระดับต่ำ คุณอาจนำมุมมองของเด็กๆ หรือสัตว์เลี้ยงมาปรับใช้ ซึ่งภาพที่ได้จะแปลกไปจากภาพที่ถ่ายในระดับสายตา ในทางตรงกันข้าม ภาพที่ถ่ายในระดับสูงจะสื่อถึงความรู้สึกโล่งกว้าง ให้ความรู้สึกราวกับคุณกำลังมองภาพบนพื้นที่กว้างๆ ได้ดี
ในส่วนของมุมกล้องนั้น เมื่อคุณตั้งกล้องในลักษณะมองต่ำลงมาจากในแนวนอน ภาพที่ได้จะเรียกว่า ภาพมุมสูง ซึ่งจะช่วยให้คุณบันทึกภาพอาณาบริเวณที่กว้างไกลตั้งแต่ปลายเท้าของคุณไปจนถึงแบ็คกราวด์ของภาพได้ ในทางกลับกัน หากคุณเงยกล้องขึ้นจากระดับปกติ เราเรียกว่า ภาพมุมต่ำ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งเมื่อช่างภาพต้องการสื่อถึงพื้นที่ว่างบนท้องฟ้า เทคนิคทั้งสองอย่างนี้จะช่วยปรับปรุงเอฟเฟ็กต์ของภาพให้ดียิ่งขึ้น เมื่อนำไปผสานรวมกับภาพที่มีมุมมองบิดเบี้ยวอันเนื่องมาจากการถ่ายภาพโดยใช้เลนส์มุมกว้าง
เคล็ดลับที่ 1: ตำแหน่งของกล้อง หมายถึง ระยะห่าง (ความสูง) ระหว่างกล้องและพื้นดิน
ระดับสูง
ผมถ่ายภาพนี้โดยยืดแขนออกพร้อมกับถือกล้องไว้ในมือ ผมตรวจสอบองค์ประกอบภาพผ่านทางหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ ซึ่งถูกปรับหน้าจอให้เอียงลงต่ำ หรือคุณอาจใช้วิธียืนบนม้าวางเท้าหรือบันไดเพื่อถ่ายภาพช็อตนี้ก็ได้
ระดับสายตา
การถ่ายในระดับสายตาให้คุณสามารถถือกล้องได้อย่างมั่นคง ดังนั้น คุณจึงถ่ายภาพด้วยท่าทางสบายๆ ในสภาวะแสงน้อยได้ อย่าลืมตระหนักถึงการจัดองค์ประกอบภาพด้วยเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพดูธรรมดาจนเกินไป
ระดับต่ำ
การถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ใกล้กับพื้นดินอาจเปลี่ยนความรู้สึกของภาพได้อย่างมาก แต่ควรระวังในเรื่องระยะห่างของกล้องกับพื้นดินขณะถ่ายด้วย
เคล็ดลับที่ 2: มุม หมายถึง มุมของกล้องที่สัมพันธ์กับพื้นดิน
มุมสูง
การถ่ายภาพในมุมสูงนั้นเป็นวิธีที่ใช้สื่อถึงความรู้สึกโล่งกว้างตรงหน้าคุณได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้บริเวณที่คับแคบดูกว้างขวางขึ้นอีกด้วย หากคุณถ่ายภาพโดยใช้แสงทางตรง ควรระมัดระวังไม่ให้เงาของคุณเองมาบดบังภาพ
มุมระดับสายตา
ฉากที่อยู่รอบๆ ดูเหมือนว่าจะมารวมกันที่จุดกึ่งกลางของจอภาพ เมื่อต้องถ่ายภาพในมุมนี้จึงควรระมัดระวัง เนื่องจากภาพอาจออกมาดูแปลกตาหากแกนภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอนไม่อยู่ในแนวเส้นที่เหมาะสม
มุมต่ำ
คุณสามารถเน้นให้เห็นถึงความกว้างไกลของภาพที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าการมองเห็นปกติได้ แต่อาจต้องระวังการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอก เนื่องจากการถ่ายลักษณะนี้มักจะมีแสงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในภาพด้วย
เคล็ดลับที่ 3: เลือกใช้ตำแหน่งและมุมกล้องที่ต่างกันสำหรับตัวแบบที่ต่างกัน
ระดับต่ำ + มุมต่ำ: เน้นระดับความสูง
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม. / Aperture Priority AE (f/16, 1/125 วินาที, EV+0.7) / ISO 500 / WB: 5,800K
กลุ่มตึกสูงที่เรียงตัวอย่างหนาแน่นในภาพนี้ถ่ายโดยตั้งกล้องเงยขึ้นบนฟ้าใกล้กับระดับพื้นดินมาก เมื่อเปรียบเทียบกับด้านที่อยู่ครึ่งล่างของภาพ ขอบเขตของภาพในช่วงครึ่งบนนั้นจะมีความกว้างมากกว่า โดยเน้นให้เห็นถึงความสูงของท้องฟ้าและตึกต่างๆ
ระดับสูง + มุมสูง: เน้นความกว้างใหญ่และต่อเนื่องจากแบ็คกราวด์ไปจนถึงโฟร์กราวด์
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม. / Aperture Priority AE (f/9, 1/100 วินาที, EV+1.0) / ISO 250 / WB: 5,800K
ภาพร่องรอยทางเดินของน้ำภาพนี้ถ่ายจากบนเรือที่แล่นอยู่เหนือผิวน้ำ กล้องที่ถ่ายในมุมและตำแหน่งที่สูงใช้สื่อถึงความรู้สึกโล่งกว้างและต่อเนื่องจากเกาะที่อยู่ในแบ็คกราวด์ไปจนถึงโฟร์กราวด์
Kazuo Nakahara
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation