พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (4): การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมและกฎสามส่วน
การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมและกฎสามส่วน คือ กฎพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ยุคการวาดภาพ และยังคงเป็นที่นิยมใช้กันในงานทัศนศิลป์ เราจะมาเรียนรู้เทคนิคนี้เพิ่มเติมในบทความนี้กัน (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
บทความก่อนหน้าในบทความต่อเนื่องชุดนี้:
1. การจัดเฟรมภาพ ระดับแนวนอน และระดับแนวตั้ง
2. ตัวแบบหลัก ตัวแบบรอง และรูปสามเหลี่ยม
3. การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร
การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม: สร้างความมีมิติและความลึก
ในการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมนั้น องค์ประกอบในภาพจะถูกจัดเรียงตามเส้นแนวทแยง การจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้สามารถเน้นเปอร์สเป็คทีฟ สร้างความลึกในภาพ และยังเพิ่มความมีมิติได้อีกด้วย
ตัวอย่างของการจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม
1. เส้นแนวทแยงเดี่ยว
i) การใช้เส้นสายกับพื้นผิวของภูเขา
ผมพบทางลาดชันของภูเขานี้โดยบังเอิญในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง จึงใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อดึงภาพทิวทัศน์ให้ดูใกล้ขึ้น ภาพนี้จัดวางองค์ประกอบให้เส้นทแยงมุมเป็นแนวเดียวกับเส้นสายตามธรรมชาติบนพื้นผิวของภูเขา
ii) รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมตัดกับทิวทัศน์ยามค่ำคืน
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย Canon)
ภาพมุมกว้างธรรมดาๆ ของทิวทัศน์ยามค่ำคืนอาจดูสวย แต่ก็มีภาพที่คล้ายกันอยู่ดาษดื่น สำหรับภาพนี้ ช่างภาพได้ใส่รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของหอชมวิวที่เป็นจุดถ่ายภาพของเขาไว้ในส่วนโฟร์กราวด์ด้วย ภาพที่ได้จึงดูเหนือความคาดหมาย เป็นสไตล์กราฟิก และมีมิติยิ่งขึ้น
เคล็ดลับ: เส้นทแยงมุมไม่จำเป็นต้องอยู่กึ่งกลางพอดี
สำหรับภาพนี้ เส้นทแยงมุม (เส้นสีแดง) ถูกวางไว้ให้ต่ำกว่าเส้นทแยงมุมตรงกึ่งกลาง (เส้นประสีฟ้า) ซึ่งเป็นมุมที่เหนือความคาดหมาย และทำให้ภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
2. การใช้เส้นทแยงมุมที่ตัดกันเพื่อนำสายตาและดึงดูดความสนใจ
เมื่อคุณมีเส้นทแยงมุมตัดกัน 2 เส้น สายตาของผู้ชมจะถูกดึงไปยังจุดที่เส้นตัดกัน คุณสามารถนำวิธีนี้มาใช้ได้เมื่อตัดสินใจว่าจะวางองค์ประกอบสำคัญในการจัดองค์ประกอบภาพไว้ที่ใด
ในตัวอย่างนี้ รูป "X" ซึ่งเกิดขึ้นจากลำและปีกของเครื่องบินถูกจัดวางอยู่ที่ครึ่งบนของแนวเส้นทแยงมุมในภาพ
หมายเหตุ: ยิ่งพื้นที่ด้านล่างเส้นทแยงมุมมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ การจัดองค์ประกอบภาพก็ยิ่งดูมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น
การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน: ประเภทการจัดองค์ประกอบภาพที่มีความสมดุลมากที่สุด
การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ใช้บ่อยที่สุด ในการจัดองค์ประกอบภาพประเภทนี้ เฟรมภาพจะถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน และตัวแบบหลักจะอยู่ในตำแหน่งใกล้กับจุดที่เส้นตัดกันจุดใดจุดหนึ่ง
เคล็ดลับ: เปิดตารางขนาด 3x3
การนึกภาพสามส่วนในเฟรมภาพอาจเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ต้องกังวล เพราะกล้องของคุณมีเส้นนำสายตาในตัว เพียงเปิด แสดงตาราง 3x3 (อ่านคำแนะนำได้จากคู่มือการใช้งานกล้อง) วิธีนี้ยังสามารถช่วยให้คุณเห็นว่าเส้นของคุณเป็นระดับแนวตั้งหรือแนวนอน
ตัวอย่างของการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน
1. การวางตัวแบบบนจุดตัด
ดอกชบาสองดอกที่บานสะพรั่งเคียงข้างกันถูกวางไว้บนจุดสองจุดที่เส้นบนตาราง 3x3 ตัดกัน ช่างภาพยังได้จัดให้มีดอกไม้อีกดอกอยู่ด้านหลังในร่มเงาของใบไม้เพื่อขับเน้นมิติความลึก
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย Canon)
ภาพโคมไฟเพดานในร้านกาแฟนี้อาจดูเหมือนภาพสแนปช็อตที่เรียบง่ายและไร้โครงสร้าง อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าช่างภาพได้จัดวางโคมไฟให้อยู่ใกล้กับจุดตัดบนตาราง 3x3 ซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดองค์ประกอบภาพที่เป็นระเบียบและมีความสมดุล
2. การแบ่งองค์ประกอบภาพในอัตราส่วน 6:3
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย Canon)
ในภาพนี้ ท้องฟ้าและก้อนเมฆ (ตัวแบบหลัก) กินเนื้อที่ 2 ใน 3 ของภาพ และทะเลสาบกับผืนดินกินเนื้อที่ส่วนที่เหลือ การแบ่งองค์ประกอบภาพในอัตราส่วน 6:3 เช่นนี้จึงช่วยสร้างองค์ประกอบภาพที่ดูมั่นคง
3. การผสมผสานกฎสามส่วนกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบใช้คู่สีตรงข้าม
เทคนิคหนึ่งในการจัดองค์ประกอบภาพที่มักจะใช้ร่วมกับกฎสามส่วน โดยเฉพาะในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ก็คือ การจัดองค์ประกอบภาพแบบใช้คู่สีตรงข้าม ในเทคนิคนี้ เฟรมภาพจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กันในแนวตั้งหรือแนวนอน วิธีนี้ทำให้สร้างความรู้สึกมั่นคงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ภาพถ่ายทอดการเกลี่ยสีของท้องฟ้าและแสงไฟ ในภาพนี้ใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบใช้คู่สีตรงข้ามเพื่อขับเน้นความเปรียบต่างให้เห็นชัดเจน
เคล็ดลับ: วิธีทำให้ภาพถ่ายของคุณดูน่าประทับใจยิ่งขึ้น
การจัดองค์ประกอบภาพทั้งตามกฎสามส่วนและแบบใช้คู่สีตรงข้ามเหมาะสำหรับการสร้างภาพถ่ายที่มีความสมดุลและมั่นคง แต่ก็อาจทำให้ได้ภาพถ่ายที่ดูน่าเบื่อได้ง่ายๆ ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการไม่ตกหลุมพรางของการจัดวางตัวแบบบนเส้นและจุดตัดที่ดูจำเจ! แต่ลองหาวิธีต่างๆ ที่ทำให้ตัวแบบดูน่าสนใจยิ่งขึ้นแทน คุณสามารถเริ่มได้โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบหลักกับองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งเราจะมาอธิบายเพิ่มเติมในบทความชุดถัดไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนได้ที่:
การจัดองค์ประกอบภาพที่ง่ายแต่ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 1): กฎสามส่วนและกฎสี่ส่วน
วิธีใช้ทฤษฎีกฎสามส่วนในการถ่ายภาพบุคคลและการถ่ายภาพสตรีท
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย