พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (2): ตัวแบบหลัก ตัวแบบรอง และรูปสามเหลี่ยม
เมื่อคุณตัดสินใจได้แล้วว่าในเฟรมจะมีอะไรบ้าง และแน่ใจแล้วว่าภาพตั้งตรงตามแนวนอนและแนวตั้ง ขั้นตอนถัดมาคือ การตัดสินใจเลือกตัวแบบ คุณต้องการให้ความสนใจของผู้ชมไปอยู่ี่ที่จุดใด ในบทความนี้ เราจะพูดถึงตัวแบบหลักและตัวแบบรอง และในตอนท้าย คุณจะได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพให้ดูมั่นคงด้วย (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
ตัวแบบหลักและตัวแบบรอง: นักแสดงนำและนักแสดงสมทบของคุณ
ตัวแบบหลัก (อันดับแรก) และตัวแบบรองในภาพเปรียบได้กับตัวละครหลักและตัวละครรองในภาพยนตร์ หากความสมดุลของทั้งสองไม่พอดี คุณจะไม่สามารถสื่อถึงสิ่งที่คุณตั้งใจให้ผู้ชมเห็นในภาพได้
ตัวแบบหลัก
ในฐานะที่เป็นนักแสดงนำ ตัวแบบหลักจึงต้องดึงความสนใจของผู้ชมให้ได้มากที่สุด คุณควรทำให้ตัวแบบหลักโดดเด่นโดยคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้อย่างรอบคอบ เช่น
- ให้อยู่ตรงไหน
- ถ่่ายจากมุมใด
- ใช้พื้นที่เท่าใดภายในองค์ประกอบภาพ
ตัวแบบรอง
ในฐานะที่เป็นตัวละครรอง ตัวแบบรองจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมตัวแบบหลัก ซึ่งมักทำได้โดยสร้างสมดุลให้องค์ประกอบภาพ และเพิ่มความน่าสนใจหรือดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังตัวแบบหลักมากขึ้น แต่ตัวแบบรองไม่ควรแย่งความสนใจไปจากตัวแบบหลัก
ดูตัวอย่างภาพที่มีตัวแบบหลักและตัวแบบรองพร้อมคำอธิบายวิธีการถ่ายภาพได้ที่:
การถ่ายภาพอาหารบนโต๊ะให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ใช้ตัวแบบรองเพื่อขับเน้นตัวแบบหลักให้โดดเด่นขึ้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #20: ฉันจะถ่ายภาพดอกไม้ให้ดูเกินจริงได้อย่างไร
ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย
1. ตัวแบบรองดึงดูดความสนใจมากกว่าตัวแบบหลัก
สีแดง: ตัวแบบหลัก
สีฟ้า: ตัวแบบรอง
เมื่อตัวแบบหลักและตัวแบบรองดูมีขนาดเท่ากัน จะได้รับความสนใจที่เท่ากัน ส่วนสิ่งอื่นๆ ในภาพยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยบางอย่าง เช่น สี ก็ดึงดูดใจของผู้ชมได้เช่นกัน สำหรับบางคน สีเขียวอ่อนของตัวแบบรองอาจมีความโดดเด่นมากกว่าตัวแบบหลัก
2. ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวแบบใดเป็นตัวแบบหลักและตัวแบบรอง
สีแดง: ตัวแบบหลัก
สีฟ้า: ตัวแบบรอง
แม้วัตถุทั้งสองจะอยู่ข้างกัน รถแทรคเตอร์กลับได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควรเพราะมีสีที่เข้มกว่า ซึ่งทำให้ดูมีขนาดเล็กลง
วิธีแก้ไข: ให้ตัวแบบหลักเป็นศูนย์กลางและดูมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับตัวแบบรอง
สีแดง: ตัวแบบหลัก
สีฟ้า: ตัวแบบรอง
ในภาพนี้ ผมเข้าไปใกล้รถแทรคเตอร์มากขึ้นเพื่อให้กินพื้นที่ในเฟรมมากขึ้น จึงทำให้รถแทรคเตอร์ดูมีขนาดใหญ่ขึ้นและมองออกได้ง่ายขึ้นว่านี่คือตัวแบบหลัก (ภาพ GIF ด้านล่างเปรียบเทียบภาพแรกที่เสียกับภาพปัจจุบัน)
สิ่งที่คุณโฟกัสมีความสำคัญ
ตัวแบบหลักนั้นจำเป็นต้องอยู่ในโฟกัส ไม่ว่าจะดูมีขนาดใหญ่เพียงใดในภาพ ตัวแบบจะไม่ได้รับความสนใจมากเท่าใดนักหากไม่อยู่ในโฟกัส
ภาพนี้ถูกถ่ายในวันที่มีฝนตก เมื่อจับโฟกัสที่ต้นไม้ เราแทบมองไม่เห็นสายฝนเลย ต้นไม้จึงกลายเป็นตัวแบบหลัก
แต่ในฉากเดียวกัน เมื่อจับโฟกัสไปที่สายฝน ต้นไม้ดูกลืนไปกับแบ็คกราวด์และสายฝนกลายมาเป็นตัวแบบหลักแทน
เคล็ดลับ: ตัวแบบหลักควรอยู่ที่ใดในภาพโฟกัสชัดลึก
เมื่อคุณต้องการให้ทุกองค์ประกอบภายในภาพอยู่ในโฟกัส เช่น ในภาพโฟกัสชัดลึก ให้วางตัวแบบหลักเอาไว้ในตำแหน่งที่เด่นที่สุด โดยให้ตัวแบบรองอื่นๆ อยู่รอบๆ
การจัดองค์ประกอบภาพแบบสามเหลี่ยม: วิธีสร้างความมั่นคงทางการมองเห็นให้กับภาพ
การจัดองค์ประกอบภาพแบบสามเหลี่ยมคือ การสร้างหรือใช้รูปสามเหลี่ยมภายในภาพ สามเหลี่ยมหัวตั้งนั้นเหมาะสำหรับใช้ในการสร้างความมั่นคงเนื่องจากมีฐานกว้าง
ตัวอย่างการจัดองค์ประกอบภาพแบบสามเหลี่ยม
1. ช่อดอกไม้รูปสามเหลี่ยม
รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่เกิดจากช่อดอกไม้เล็กๆ ช่วยให้องค์ประกอบภาพมีความสมดุล
2. โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีหลังคาลาดลง
รูปร่างของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมนี้มีส่วนฐานที่กว้าง และค่อยๆ เรียวลงจนเป็นปลายแหลมที่หลังคาตรงกลาง คุณสามารถใช้เส้นเค้าโครงเหล่านี้เพื่อสร้างสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ในองค์ประกอบภาพได้
3. การจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้รูปสามเหลี่ยมที่ซ่อนอยู่
ต้นไม้ที่อยู่บนพื้นหิมะและเงาของต้นไม้ทำให้เกิดเป็นด้านสองด้านของสามเหลี่ยมมุมฉาก ต้นไม้ทำให้เกิดรูปสามเหลี่ยมได้เอง แต่สิ่งที่มีความสำคัญต่อองค์ประกอบภาพคือ รูปสามเหลี่ยมที่ซ่อนอยู่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า
4. สามเหลี่ยมกลับหัว
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 63 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/1,034 วินาที, EV-1)/ ISO 100/ WB: Manual
รูปสามเหลี่ยมกลับหัวหรือสามเหลี่ยมที่วางตัวในมุมที่น่าสนใจสามารถเพิ่มองค์ประกอบที่น่าสนใจให้แก่ภาพที่ดูธรรมดาได้ เช่น ภาพทะเลสาบในปล่องภูเขาไฟที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS RP
เคล็ดลับ: รูปสามเหลี่ยมสามารถดึงความสนใจไปยังส่วนยอดได้
ขอบแต่ละด้านของรูปสามเหลี่ยมจะทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาของผู้ชมไปยังสิ่งที่อยู่บนยอด หรือมุมใดมุมหนึ่งของรูปสามเหลี่ยม คุณสามารถใช้คุณสมบัตินี้ในการเน้นให้ตัวแบบหลักโดดเด่นขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังอย่าให้มีองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
~~~
เมื่อได้เรียนรู้หลักการเหล่านี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะนำเอาไปปรับใช้อย่างไร! พยายามมองหารูปสามเหลี่ยมในสิ่งต่างๆ ที่คุณเห็น ทั้งรูปสามเหลี่ยมที่มองเห็นได้ชัดเจน และรูปสามเหลี่ยมที่ซ่อนอยู่ ทดลองใช้วิธีต่างๆ กันในการจัดวางตัวแบบหลักและตัวแบบรอง หรือหาวิธีว่าจะใช้รูปสามเหลี่ยมในการดึงดูดความสนใจไปยังสิ่งต่างๆ ในภาพได้อย่างไร หรือคุณอาจนำเอาเทคนิคต่างๆ มาผสมผสานกัน และใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบสามเหลี่ยมในการสร้างสมดุลระหว่างตัวแบบหลักกับตัวแบบรอง
ครั้งหน้า: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (2): “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย