พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #4: โฟกัสชัดลึก
โฟกัสชัดลึกซึ่งทำให้องค์ประกอบทั้งหมดในภาพอยู่ในระยะโฟกัส เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันบ่อยในการถ่ายภาพทิวทัศน์และภาพสตรีท ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับ 4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อโฟกัสชัดลึก ซึ่งคุณควรลองนำไปใช้ในการถ่ายภาพครั้งต่อไป
EOS R6 Mark II + RF14-35mm f/4L IS USM ที่ f/16, 1/20, ISO 125
วิธีทำให้ได้โฟกัสชัดลึก
"โฟกัสชัดลึก" หมายถึง สถานะที่องค์ประกอบทั้งหมดในภาพอยู่ในระยะโฟกัส คุณอาจเรียกเทคนิคนี้ว่าเป็นเทคนิคที่ตรงกันข้ามกับการสร้างโบเก้ก็ได้ เพื่อให้ได้โฟกัสชัดลึก คุณต้องเพิ่ม "ระยะชัด" (พื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัส) ให้มากที่สุด
ระยะชัดถูกควบคุมด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ทางยาวโฟกัส
ระยะชัดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสสั้นๆ
2. รูรับแสง
ระยะชัดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงแคบๆ
3. ระยะการถ่ายภาพ
ยิ่งกล้องอยู่ห่างจากตัวแบบมากเท่าใด ระยะชัดก็จะยิ่งกว้างขึ้น
4. ความลึก
หมายถึงระยะห่างระหว่างองค์ประกอบในส่วนโฟร์กราวด์ กึ่งกลางภาพ และแบ็คกราวด์ ยิ่งฉากดูแบนเรียบ (ระยะห่างระหว่างโฟร์กราวด์กับแบ็คกราวด์ยิ่งน้อย) การโฟกัสชัดลึกจะยิ่งทำได้ง่าย
อีกนัยหนึ่ง วิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งจะทำให้ได้โฟกัสชัดลึกคือ
- ใช้เลนส์มุมกว้าง
- ตั้งค่ารูรับแสงให้แคบที่สุด (ค่า f-stop สูงสุด)
- ตั้งกล้องให้ห่างจากตัวแบบมากที่สุด
- จัดองค์ประกอบภาพให้ฉากดูมีความลึกน้อยลง
เราลองมาดูตัวอย่างของแต่ละปัจจัยกัน
1. ใช้ทางยาวโฟกัสสั้นๆ
ภาพตัวอย่างด้านล่างถ่ายที่จุดเดียวกันโดยใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน แต่ใช้ค่า f-stop เท่ากัน (f/8) โดยกำหนดจุดโฟกัสไว้ที่ตุ๊กตาแพนด้า อาคารในส่วนแบ็คกราวด์มีความคมชัดในภาพที่ถ่ายที่ระยะ 24 มม., ดูนุ่มนวลขึ้นในภาพที่ถ่ายที่ระยะ 47 มม. และเบลออย่างเห็นได้ชัดในภาพที่ถ่ายที่ระยะ 105 มม. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระยะชัดจะยิ่งกว้างขึ้นเมื่อใช้ความยาวโฟกัสสั้นลง
ภาพทุกภาพ: EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM ที่ f/8
24 มม.
47 มม.
105 มม.
2. ใช้รูรับแสงแคบลง
ภาพด้านล่างถ่ายจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ใช้ค่า f-stop ต่างกัน ภาพที่ถ่ายโดยใช้ค่า f/16 มีความคมชัดตั้งแต่ดอกไม้ที่อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ไปจนถึงอาคารที่อยู่ในแบ็คกราวด์ แต่ในภาพที่ถ่ายโดยใช้ค่า f/4 ดอกไม้จะอยู่นอกระยะโฟกัส (เบลอ) นั่นแสดงว่าเมื่อใช้รูรับแสงแคบ คุณจะได้โฟกัสชัดลึกง่ายขึ้น
รูรับแสงแคบ (f/16)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 35 มม., f/16
รูรับแสงกว้างขึ้น (f/4)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 35 มม., f/4
เคล็ดลับระดับมือโปร:
- ควรระวังระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์
วัตถุที่อยู่ใกล้กว่าระยะโฟกัสใกล้สุดจะอยู่นอกระยะโฟกัส ไม่ว่าจะใช้ค่า f-stop เท่าใดก็ตาม
- ใช้ฟังก์ชั่นเช็คระยะชัด
ตามค่าเริ่มต้น กล้องที่แสดงภาพแบบ Live View/EVF จะแสดงระยะชัดเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ไม่ว่าคุณจะตั้งค่า f-stop เท่าใดก็ตาม คุณจึงควรเปิดฟังก์ชั่นเช็คระยะชัดเพื่อดูระยะชัดจริง
ข้อควรจำ: หลักสามประการในการเปิดรับแสง
เมื่อใช้รูรับแสงแคบ คุณจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ และ/หรือความไวแสง ISO สูงๆ เพื่อชดเชยแสง และควรระมัดระวังการสั่นไหวของกล้องและเม็ดเกรนในภาพจาการใช้ความไวแสง ISO สูงเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
3. หามุมกล้องที่มีความลึกน้อยลง
ภาพที่แบนเรียบกว่าสามารถอยู่ในระยะโฟกัสทั้งหมดได้หากระยะชัดของภาพตื้นกว่า ในภาพด้านล่างนี้ ป้ายลูกศรอยู่ใกล้กับแบ็คกราวด์ จึงทำให้ทุกสิ่งในภาพอยู่ในโฟกัสเมื่อใช้ค่า f/4 และถ่ายจากด้านหน้าตรงๆ อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพจากมุมทแยงจะช่วยเพิ่มความลึกให้กับภาพ ดังนั้นด้านหน้าและด้านหลังของภาพที่สองจึงอยู่นอกโฟกัส
ไม่มีความลึก (ด้านหน้า)
มีความลึก (องค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุม)
ทั้งสองภาพ: EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 74 มม., f/4
4. ถ่ายไกลจากตัวแบบมากขึ้น
ภาพต่อไปนี้ถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงเท่ากัน (f/8) และทางยาวโฟกัสเท่ากัน (24 มม.) แต่ถ่ายจากระยะที่ต่างกัน โฟกัสต่างจับไปที่ก้อนหินในทั้งสองภาพ หากคุณคิดว่าอาคารในส่วนแบ็คกราวด์ดูคมชัดมากกว่าในตัวอย่างที่สอง คุณคิดถูกแล้ว ความแตกต่างจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราซูมภาพ โปรดดูภาพที่ครอปตัดด้านล่าง!
ถ่ายใกล้ตัวแบบมากขึ้น
ถ่ายไกลจากตัวแบบมากขึ้น
ทั้งสองตัวอย่าง: EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 24 มม., f/8
อยู่ใกล้ตัวแบบมากขึ้น (ครอปตัด)
ไกลจากตัวแบบมากขึ้น (ครอปตัด)
เมื่อถ่ายภาพใกล้ตัวแบบมากขึ้น ให้เพิ่มค่า f-stop เพื่อรักษาความคมชัดของแบ็คกราวด์ไว้
ยกระดับฝีมือ: แนวคิดสำคัญสำหรับการโฟกัสชัดลึก
1. ระนาบโฟกัสและพื้นที่ในโฟกัส
EOS R50 + RF35mm f/1.4L VCM ที่ 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.) ที่ f/1.4
1) ทุกอย่างที่อยู่ทางซ้ายและขวาของจุดโฟกัสจะอยู่ในโฟกัสด้วยเช่นกัน
เราวางจุดโฟกัสไว้ที่ดอกไม้ เมื่อกล้องโฟกัสที่ระนาบ ส่วนต่างๆ ของม้านั่งทางด้านซ้ายและขวาของดอกไม้จะอยู่ในโฟกัสด้วยเช่นกัน
2) พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังระนาบโฟกัสจะอยู่ในโฟกัสด้วยเช่นกัน
พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในโฟกัส (ระยะชัด) จะขยายไปด้านหน้าและด้านหลังของระนาบโฟกัส แม้ว่าขนาดของระยะชัดจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการที่เราได้กล่าวมา แต่โดยทั่วไป ระยะชัดด้านหลังระนาบโฟกัสมักจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้า
โปรดจดจำแนวคิดเหล่านี้ไว้เมื่อตัดสินใจว่าจะวางจุด AF ไว้ที่ใด!
2. การใช้ค่า f สูงมากจะลดทอนคุณภาพของภาพถ่ายลง
แม้ว่ารูรับแสงที่แคบจะช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ อยู่ในโฟกัสได้มากขึ้น แต่การใช้รูรับแสงที่แคบจนเกินไปอาจส่งผลเสียได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางแสงที่เรียกว่า "การเบลอจากการกระจายแสง" ซึ่งทำให้รายละเอียดต่างๆ ดูคมชัดน้อยลง (“นุ่มนวลขึ้น”)
ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างภาพด้านล่างที่ใช้ค่า f/16 ที่ยังไม่ได้ผ่านการแก้ไข ซึ่งดูนุ่มนวลกว่าตัวอย่างภาพที่ใช้ค่า f/11
ส่วนที่อยู่ในกรอบสีแดงเมื่อขยายใหญ่ขึ้น
EOS R5/ RF50mm f/1.2L USM ที่ ISO 100
วิธีแก้ไข: การแก้ไขการเลี้ยวเบนด้วยซอฟต์แวร์
การเปิดใช้งาน Digital Lens Optimizer หรือการแก้ไขการเลี้ยวเบน ภายใต้ฟังก์ชั่น "การแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์" ในกล้องสามารถแก้ไขการเลี้ยวเบนของภาพในไฟล์ JPEG ได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้การแก้ไขการเลี้ยวเบนได้ หากคุณปรับแต่งไฟล์ RAW ด้วยซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional (DPP) ฟรีจาก Canon
3. การซ้อนโฟกัส
บางครั้งคุณไม่สามารถทำให้ภาพทั้งภาพอยู่ในโฟกัสได้ด้วยการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว คุณอาจต้องใช้เทคนิคการซ้อนโฟกัส ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้การถ่ายภาพหลายๆ ภาพจากเฟรมเดียวกันโดยใช้ระยะโฟกัสที่ต่างกันเล็กน้อย ("การซ้อนโฟกัส") แล้วผสานรวม ("ซ้อน") ภาพเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภาพในขั้นสุดท้ายที่มีความคมชัดตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลัง
คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์: ฟังก์ชั่นการซ้อนโฟกัสในตัวกล้องและฟังก์ชั่น Depth Compositing
กล้องซีรีย์ EOS R หลายรุ่นมีฟังก์ชั่น Focus Bracketing ในกล้องซึ่งสามารถถ่ายภาพแบบคร่อมระยะโฟกัสได้อัตโนมัติ และในบางรุ่นยังมีฟังก์ชั่น Depth Compositing ที่ทำการซ้อนโฟกัสให้กับคุณ นอกจากนี้ คุณยังสามารถวางซ้อนภาพในซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ เช่น Digital Photo Professional ได้ด้วยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
การซ้อนโฟกัส: เทคนิคมืออาชีพที่ทำได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย Focus Bracketing
โฟกัสชัดลึกช่วยให้คุณได้ภาพเช่นนี้!
EOS R8/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/14, 1/125 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ทางยาวโฟกัสสั้นและรูรับแสงแคบช่วยให้ได้โฟกัสชัดลึก
ภาพนี้อยู่ในโฟกัสตั้งแต่หญ้าในส่วนโฟร์กราวด์ไปจนถึงภูเขาที่อยู่ด้านหลัง เพราะใช้ทางยาวโฟกัสสั้นและรูรับแสงแคบ