EOS-1D X Mark II - การใช้เลนส์ภายในกล้องให้เกิด ประโยชน์สูงสุดเพื่อภาพถ่ายคุณภาพสูง
เป็นธรรมดาที่ผู้รักการถ่ายภาพจะต้องการถ่ายภาพที่สวยงามและมีคุณภาพสูง เมื่อวางจำหน่ายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2016 EOS-1D X Mark II ไม่ได้เป็นแค่เพียงกล้องรุ่นเรือธงของ Canon ที่มีประสิทธิภาพเป็นเลิศในการถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถยกระดับคุณภาพของภาพถ่ายให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ในบทความต่อไปนี้ เราจะมาดูกันว่ากล้อง EOS-1D X Mark II ส่งผลต่อการถ่ายภาพอย่างไรบ้าง (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
ประวัติศาสตร์ของกล้อง DSLR ในซีรีย์ EOS นั้นเป็นตัวสะท้อนความก้าวหน้าในคุณภาพของภาพถ่าย
ประวัติศาสตร์ของกล้องดิจิตอลซีรีย์ EOS ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2000 ด้วยการวางจำหน่ายกล้อง EOS D30 ที่มีความละเอียด 3.11 ล้านพิกเซลนั้น เทียบได้กับประวัติศาสตร์ของความก้าวหน้าในด้านคุณภาพของภาพถ่าย 15 ปีถัดมาในปี 2015 เราได้เห็นการมาถึงของยุคแห่งความละเอียดและคุณภาพของภาพถ่ายที่สูงในระดับ "ซูเปอร์" ด้วยการเปิดตัวกล้อง EOS 5DS และ EOS 5DS R ซึ่งมีความละเอียดมากกว่า 50 ล้านพิกเซล
ทั้งคุณสมบัติการแก้ไขต่างๆ ของกล้องและการปรับปรุงคุณภาพของภาพถ่ายของเลนส์ล้วนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การพัฒนาประสิทธิภาพนั้นเป็นไปได้อย่างก้าวกระโดด เมื่อเปิดตัวกล้องรุ่นเรือธงของ Canon ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 กล้อง EOS-1D X Mark II ก็ได้พัฒนาระบบแก้ไขความคลาดแบบทันทีที่มีอยู่ในตัวกล้องให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น และยังมีการติดตั้งฟังก์ชั่น Digital Lens Optimizer ไว้ในตัวกล้องด้วย จุดประสงค์ของคุณสมบัติเหล่านี้ก็เพื่อจัดการกับความคลาดประเภทต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วย ซึ่งการแก้ไขแบบออพติคอลไม่สามารถทำได้ และด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเหล่านี้ ทุกคนจึงสามารถใช้กล้องที่ให้คุณภาพของภาพถ่ายสูงได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ
กล้อง EOS-1D X Mark II เปิดตัวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2016 พร้อมด้วยสเป็คอันยอดเยี่ยม เช่น ถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 16 fps กล้องรุ่นเรือธงนี้เต็มไปด้วยคุณสมบัติสำหรับการแก้ไขแบบดิจิตอลสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการภาพถ่ายคุณภาพสูง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของกล้อง EOS-1D X Mark II คลิกที่นี่
ความคลาดทำให้คุณภาพของภาพถ่ายด้อยลง
ก่อนอื่นผมจะสรุปให้ฟังว่าความคลาดมีผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายอย่างไรบ้าง กล้องทำให้เกิดภาพได้โดยการจับแสงไว้ด้วยเลนส์ และถูกทำให้กลายเป็นภาพถ่ายด้วยเซ็นเซอร์ภาพ หากมองในด้านออพติคอล สถานการณ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือการที่ภาพเกิดขึ้นบนจุดๆ เดียวระหว่างกระบวนการนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความยาวคลื่นที่ต่างกันของแสงและตำแหน่งบนเลนส์ที่แสงเดินทางผ่าน ภาพจึงเกิดเป็นรูปร่างที่ต่างกัน และ/หรือเกิดขึ้นที่ตำแหน่งแตกต่างกัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าความคลาด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายด้อยลง และไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงแค่ไหนก็ตาม เลนส์ทุกตัวจะมีลักษณะอย่างหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ ไม่สามารถทำให้ปราศจากความคลาดโดยสิ้นเชิงได้
การควบคุมไม่ให้เกิดความคลาดนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาเลนส์ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาวัสดุที่ทำจากแก้วสำหรับเลนส์ที่สามารถควบคุมคลื่นแสงได้ ในการประกอบชิ้นเลนส์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในกล้องถ่ายรูป ในระยะหลังนี้ คุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ความต้องการที่จะลดความคลาดลงจึงมากขึ้นตามไปด้วย
ภาพด้านล่างแสดงการเกิดภาพจากแสงที่เดินทางผ่านเลนส์ (นำมาจากเว็บไซต์ของ Canon) หากมองในด้านออพติคอล สถานการณ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือการที่ภาพเกิดขึ้นที่จุดๆ เดียว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแสงที่มีความยาวคลื่นต่างกันจะหักเห หรือเบนออก ณ จุดที่แตกต่างกันภายในเลนส์ จึงเกิดการกระจายขึ้นได้เล็กน้อยระหว่างกระบวนการทำให้เกิดภาพ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าความคลาด ซึ่งทำให้คุณภาพของภาพถ่ายด้อยลง
ด้านบนคือภาพที่ Canon ใช้ในการอธิบายการเกิดความคลาดแบบต่างๆ คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ภาพด้านบนแสดง “ความคลาดทั้งห้าแบบของ Seidel” (ความคลาดสีเดี่ยว) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ยุคที่กล้องใช้ฟิล์ม รวมถึงความคลาดสีด้วย จะเห็นได้ว่า มีสีเพี้ยนและความเบลอของสีเกิดขึ้นตรงส่วนที่ควรจะได้ภาพเป็นจุดเดียว ในบรรดาความคลาดประเภทต่างๆ ที่ทำให้คุณภาพของภาพเหล่านี้ด้อยลงนั้น ความคลาดสีตามแกนและความคลาดทรงกลมจะสังเกตเห็นได้ยากขึ้นหากลดขนาดรูรับแสงลง ในขณะที่ความบิดเบี้ยวและความคลาดสีริมขอบวัตถุ (ความคลาดสีของกำลังขยาย) นั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยการปรับรูรับแสง
ความบิดเบี้ยว – อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดจากจำนวนพิกเซลที่สูง
เมื่อกล้องถ่ายรูปมีปริมาณพิกเซลสูงขึ้น ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกับความคลาดแบบต่างๆ ของเลนส์คือความบิดเบี้ยว ความบิดเบี้ยวเกิดขึ้นเมื่อคลื่นแสงถูกกีดขวางโดยช่องเล็กๆ (รูรับแสง) ทำให้แสงกระจายไปถึงด้านหลังของม่านรูรับแสง จึงทำให้กำลังในการแยกรายละเอียดลดลง ปรากฏการณ์นี้มีมาตั้งแต่สมัยที่ใช้กล้องแบบฟิล์ม แต่ไม่ได้มีการพูดถึงกันอย่างละเอียดเนื่องจากไม่มีโอกาสมากนักที่จะขยายภาพให้เท่าขนาดจริงเพื่อการรับชม แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและเทคโนโลยีความละเอียดสูงในปัจจุบัน การแสดงภาพถ่ายขนาดเท่าของจริงทำได้โดยง่าย จุดบกพร่องในกำลังการแยกรายละเอียดที่เกิดจากความบิดเบี้ยวจึงกลายเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องกล่าวถึง
EOS 5D Mark III/ Aperture-priority AE (f/8 ที่ 1/320 วินาที f/22 ที่1/40 วินาที )/ ISO 100
การทำให้รูรับแสงของเลนส์แคบลงจะจำกัดแสงในบริเวณรอบๆ เลนส์ไม่ให้เข้ามา ดังนั้นจึงสามารถลดการเกิดความคลาดแบบต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การลดขนาดรูรับแสงมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดความบิดเบี้ยวขึ้นแทน ลองดูภาพที่ถ่ายที่ f/22 เป็นตัวอย่าง ประสิทธิภาพในการถ่ายทอดภาพของกล้องและเลนส์ด้อยลงเนื่องมาจากความบิดเบี้ยว ดังนั้น เมื่อคุณลดขนาดรูรับแสงลงเพื่อเพิ่มระยะชัดลึก สิ่งสำคัญคือคุณต้องกำหนดค่า f ที่มีกำลังในการแยกรายละเอียดสูงสุด ตรวจสอบการจัดองค์ประกอบอีกครั้ง จากนั้นจึงจับโฟกัส เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ลดขนาดรูรับแสงมากจนเกินความจำเป็น
วิธีการของ Canon ในการเพิ่มคุณภาพให้ภาพถ่าย
จนถึงตอนนี้ เราได้อธิบายเรื่องความคลาดและความบิดเบี้ยวที่ทำให้คุณภาพของภาพด้อยลงไปแล้ว ซึ่งทาง Canon ยังคงพยายามทำการวิจัยอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาวัสดุที่ทำจากแก้วและเทคโนโลยีประมวลผลภาพเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้บนเลนส์ EF ดังที่จะอธิบายไว้ด้านล่าง ในอดีตนั้น Canon ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ใช้ภายในบริษัทขึ้นมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์เลนส์ L แน่นอนว่าเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้ก็สามารถพบได้ในกล้องรุ่นที่ราคาถูกกว่าของ Canon ด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน Canon ก็ได้พัฒนาคุณสมบัติการแก้ไขตัวใหม่ที่นำประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลมาแก้ปัญหาความคลาดที่เทคโนโลยีออพติคอลไม่ได้สามารถแก้ไขได้ คุณสมบัตินี้มาในรูปแบบของทั้งซอฟต์แวร์ที่แยกออกมา และฟังก์ชั่นภายในตัวกล้อง สำหรับกล้อง EOS-1D X Mark II คุณจะพบคุณสมบัติ Digital Lens Optimizer ภายในตัวกล้อง ซึ่งมีความสามารถในการประมวลผลการแก้ไขขั้นสูงโดยใช้ซอฟต์แวร์นี้
(จากซ้ายไปขวา) เลนส์ฟลูออไรต์ / เลนส์ DO / เลนส์ BR
เลนส์ฟลูออไรต์ – ผู้บุกเบิกการใช้ฟลูออไรต์ในเลนส์ DSLR
ในปี 1969 Canon ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลึกฟลูออไรต์สังเคราะห์เพื่อใช้แทนฟลูออไรต์ธรรมชาติซึ่งมีอยู่บนโลกในปริมาณที่น้อยมากได้ ผลึกเหล่านี้มาพร้อมกับคุณลักษณะทางออพติคอลที่สามารถกำจัดความคลาดสีที่หลงเหลืออยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดปริมาณสีเพี้ยนลง จึงให้ความรู้สึกว่าภาพมีความละเอียดมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีอันสำคัญนี้มาใช้ในเลนส์ EFหลายตัว โดยเฉพาะเลนส์เทเลโฟโต้ ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากความคลาดสีที่หลงเหลืออยู่
เลนส์ DO – ทำให้ความบิดเบี้ยวกลายเป็นข้อดี
ในขณะที่ความบิดเบี้ยวนั้นนับเป็น “ตำหนิทางออพติคอล” Canon สามารถทำให้ลักษณะของตำหนินั้นกลายมาเป็นข้อดีได้ในเลนส์ EF ด้วยการใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์การเบนของคลื่นแสงและการควบคุมทางเดินของแสงให้ตกกระทบที่มุมค่าสูงสุด เลนส์เหล่านี้สามารถกำจัดความคลาดสีซึ่งเกิดและชัดเจนขึ้นจากการลดขนาดของเลนส์ได้ ร่องที่มาในรูปแบบของวงกลมร่วมศูนย์ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึง 10 ไมโครเมตรถูกสร้างขึ้นบนผิวเลนส์เพื่อจำลองคุณลักษณะของฟลูออไรต์และเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม ด้วยการทำเช่นนี้จึงสามารถลดขนาดของเลนส์ เช่น เลนส์เทเลโฟโต้ได้ และยังให้คุณภาพของภาพที่สูงอีกด้วย
เลนส์ BR – ช่วยแก้ไขความคลาดสีได้ดียิ่งขึ้น
ที่แสดงทางด้านซ้ายมือคือเลนส์ BR ซึ่งเป็นเลนส์ที่ปฏิวัติวงการและวัสดุที่ใช้ในการทำเลนส์ ผงที่เห็นคือวัสดุออพติคอลธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตเลนส์ BR เช่น เลนส์ที่อยู่ด้านหน้าของ EF35mm f/1.4L II USM ด้วยการใส่ชิ้นเลนส์นูนด้านหน้าและเลนส์เว้าด้านหลังวัสดุออพติคอลธรรมชาตินั้น Canon จึงสามารถรวมแสงให้ตกกระทบที่จุดเดียวได้สำเร็จ ลักษณะของเลนส์ BR คือสามารถหักเหแสงสีน้ำเงินได้มาก และ Canon ก็กำลังวางแผนจะนำประโยชน์ข้อนี้มาใช้ในการแก้ไขความคลาดสีให้ได้ดียิ่งขึ้น
ไม่ใช้การแก้ไขความบิดเบี้ยว
ใช้การแก้ไขความบิดเบี้ยว
มี Digital Lens Optimizer สำหรับผู้ใช้ EOS ทุกคน
ด้วย Digital Lens Optimizer ที่มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional จึงสามารถแก้ไขความคลาดและความบิดเบี้ยวของเลนส์ซึ่งเป็นสาเหตุของจุดบกพร่องในคุณภาพของภาพถ่ายได้อย่างละเอียด เทคโนโลยีนี้สามารถแก้ไขความคลาดได้ทุกแบบซึ่งระบบการแก้ไขในตัวกล้องไม่สามารถทำได้ คุณสามารถปรับระดับของเอฟเฟ็กต์เพื่อให้คุณภาพของภาพออกมาได้ตรงตามต้องการ Digital Lens Optimizer นับเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์มากและใช้ได้กับกล้องทุกรุ่นในซีรีย์ EOS
EOS-1D X Mark II แก้ปัญหาได้ครบวงจร
เนื่องจากมีตัวเลือกในการประมวลผลภาพมากมายภายในตัวกล้อง EOS-1D X Mark II จึงสามารถปฏิวัติขั้นตอนการทำงานของคุณได้ ตั้งแต่การถ่ายภาพไปจนถึงการประมวลผลภาพ ข้อดีของความสามารถครบวงจรนี้มีนับไม่ถ้วน ต่างจากในอดีต ตอนนี้คุณไม่จำเป็นต้องประมวลผลภาพห่างจากสถานที่ที่คุณถ่ายภาพอีกต่อไป แต่สามารถแก้ไขภาพที่ถ่ายได้เลย ณ ตรงนั้น และคุณยังสามารถส่งหรือแชร์ภาพเหล่านั้นได้ทันทีบนอินเทอร์เน็ต ในหัวข้อต่อไป เราจะมาดูว่าจะสามารถแก้ไขความคลาดแบบทันทีได้อย่างไร และพูดถึงข้อดีในด้านต่างๆ
ความสามารถของระบบประมวลผลภาพ Dual DIGIC 6 + ทำให้การประมวลผลภายในตัวกล้องเป็นไปได้ ระบบนี้สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลจากเซ็นเซอร์ขนาด 20 ล้านพิกเซลและการถ่ายต่อเนื่องความเร็วสูงที่ 16 fps ได้ สามารถปรับแต่งภาพไฟล์ RAW ได้ภายในกล้อง และยังแก้ไขความคลาดได้ในทันที
ได้มีการพัฒนา IC ขึ้นมาเป็นพิเศษ และนำมาใช้เพื่อให้สามารถใช้งานคุณสมบัติการแก้ไขความคลาดต่างๆ ได้ในระหว่างที่ประมวลผลภาพ RAW ในตัวกล้อง ปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้โดยคุณสมบัติการแก้ไขความคลาดในตัวกล้อง เช่น ความคลาดแบบโคม่า เฮโลแบบ sagittal ความบิดเบี้ยวและความคลาดทรงกลม จะได้รับการแก้ไขตามค่าการออกแบบออพติคอล
ข้อดีของการแก้ไขความคลาดแบบทันที
ระบบแก้ไขความคลาดในตัวกล้องนั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณทำงานได้เร็วขึ้น แต่ยังมีประโยชน์มากสำหรับการเพิ่มคุณภาพให้กับงานถ่ายภาพของคุณ ด้วยการแก้ไขตำหนิทางออพติคอลที่ทำไม่ได้ในอดีต ตอนนี้คุณจึงสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพตัวแบบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณสามารถใช้ระยะชัดลึกได้เต็มที่โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดในเรื่องของรูรับแสง คุณสามารถรักษาระดับคุณภาพของภาพเอาไว้ได้ไม่ว่าจะตั้งค่ารูรับแสงไว้เท่าไหร่ จึงเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการวางตำแหน่งตัวแบบและจัดองค์ประกอบภาพให้กับคุณ ทำให้คุณสามารถดึงเอาลักษณะของเลนส์แต่ละตัวออกมาได้
ข้อดีในการถ่ายภาพทิวทัศน์
- สามารถเลือกการตั้งค่ารูรับแสงได้อย่างอิสระ
- สามารถถ่ายภาพขอบฟ้าได้เหมือนจริง
- ลดการกระจายของสีที่ขอบภาพ
นอกเหนือไปจากความเบลอและความบิดเบี้ยวจากการกระจายแสงแล้ว ความคลาดสีริมขอบวัตถุซึ่งไม่สามารถควบคุมได้โดยรูรับแสงยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ภาพทิวทัศน์ของคุณมีคุณภาพด้อยลง ด้วยการแก้ไขความคลาดเหล่านี้ในทันที คุณจะได้ภาพที่คมชัดขึ้นและถ่ายภาพพื้นผิวของก้อนหินหรือรายละเอียดของต้นไม้ได้เหมือนจริงมากขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากการจัดองค์ประกอบที่ง่ายดายยิ่งขึ้นโดยมีโฟกัสอยู่ที่โฟร์กราวด์ คุณจึงสามารถถ่ายทอดความลึกในภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อดีสำหรับการถ่ายภาพตอนกลางคืนและภาพถ่ายสตรีท
- สามารถแสดงรูปร่างของตัวแบบได้อย่างถูกต้อง
- ให้ภาพที่มีความคมชัด
- ถ่ายภาพโดยไม่มีสีเพี้ยน
การแก้ไขความคลาดแบบทันทีทำให้ได้ขอบฟ้าที่สมจริงในภาพตอนกลางคืน และยังทำให้้กล้องสามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวและจับภาพวัตถุขนาดเล็กได้คมชัด จึงง่ายต่อการคำนวณความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมเมื่อคุณต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำโดยการลดขนาดรูรับแสง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถแสดงการเคลื่อนไหวในฉากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในการถ่ายภาพสตรีท การแก้ไขความบิดเบี้ยวแบบทันทีทำให้คุณสามารถจัดองค์ประกอบภาพสำหรับตัวแบบที่ประกอบขึ้นจากเส้นตรงได้ง่ายขึ้น
ข้อดีสำหรับการถ่ายภาพบุคคล
- ไม่มีการลดลงของปริมาณแสงที่มุมภาพทั้งสี่
- สีเพี้ยนปรากฏน้อยลงที่ค่ารูรับแสงสูงสุด
- ลดผลกระทบจากฟิลเตอร์ Low-pass เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดกว่า
ด้วยการใช้คุณสมบัติการแก้ไขแสงสว่างที่ขอบภาพ ปริมาณแสงจะไม่ลดลงที่มุมภาพทั้งสี่แม้จะตั้งค่ารูรับแสงไว้กว้างสุด ซึ่งจะช่วยให้ได้ความรู้สึกที่มีชีวิตชีวา ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขความคลาดสียังช่วยลดสีเพี้ยนที่เกิดจากความคลาดสีตามแกน จึงสามารถถ่ายภาพที่มีความคมชัดได้มากขึ้น การเปิดใช้งานการแก้ไขความบิดเบี้ยวยังช่วยลดผลกระทบจากฟิลเตอร์ low-pass และทำให้คุณดึงเอาจุดโฟกัสออกมาได้ชัดเจนขึ้นในขณะที่ยังคงความรู้สึกนุ่มนวลเอาไว้ในขณะที่รูรับแสงเปิดเต็มที่ ข้อดีเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อคุณใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ และเนื่องจากคุณสามารถตรวจสอบผลจากความคลาดแบบต่างๆ ในภาพได้ทันที คุณจึงสามารถเลือกที่จะเปิดหรือปิดคุณสมบัติการแก้ไขแบบออพติคอลได้ตามต้องการ
ข้อดีสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง
- สามารถแสดงเส้นตรงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
- ทำให้ใช้ระยะชัดลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดสีเพี้ยน
การลดความบิดเบี้ยวช่วยให้ถ่ายภาพวัตถุ เช่น กล่องและขวดไวน์ได้เป็นเส้นตรง และยังช่วยลดสีเพี้ยนที่เกิดจากความคลาดสีเมื่อคุณถ่ายภาพโคลสอัพของดอกไม้หรือเครื่องประดับ นอกจากนี้ การกำจัดผลกระทบจากความบิดเบี้ยวเมื่อรูรับแสงถูกลดขนาดให้แคบลง จะทำให้คุณสามารถแยกแยะได้ระหว่างภาพเบลอที่เกิดจากรูรับแสงและภาพเบลอที่เกิดจากความบิดเบี้ยว ซึ่งจะช่วยให้คุณเลือกการตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่สามารถลดอาการสั่นของกล้องที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อถ่ายภาพโคลสอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของการใช้ DLO ระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW ภายในกล้อง
กล้อง EOS-1D X Mark II นั้นมี IC ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้สามารถใช้การแก้ไขโดย Digital Lens Optimizer (DLO) ได้ในระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW ภายในกล้อง นอกจากการปรับแต่งความสว่างและโทนสีแล้ว ยังสามารถแก้ไขความคลาดได้แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย คุณสมบัติ DLO ในกล้องสามารถแก้ไขผลที่เกิดจากฟิลเตอร์ low-pass ในภาพได้ด้วย จึงช่วยเพิ่มความคมชัดไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ค่ารูรับแสงเท่าใด ข้อมูลก่อนทำการปรับแต่งภาพจะถูกเก็บไว้ ซึ่งคุณสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางได้หากต้องการปรับแต่งภาพให้ละเอียดมากขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ DPP เหล่านี้คือข้อดีเพียงบางส่วนที่จะช่วยยกระดับผลงานของคุณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอนนี้คุณยังสามารถทำงานได้สะดวกสบายมากขึ้นเนื่องจากมีอิสระในการเลือกระหว่างการประมวลผลภาพ RAW ภายในกล้อง หรือใช้ซอฟต์แวร์ DPP ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำภาพถ่ายของคุณไปใช้งาน
คุณสมบัติ Digital Lens Optimizer สามารถใช้ได้ระหว่างการประมวลผลภาพ RAW ภายในกล้อง EOS-1D X Mark II ความคลาดที่กล้องนี้สามารถแก้ไขได้ได้แก่ ความคลาดแบบโคม่า เฮโลแบบ sagittal ความบิดเบี้ยว ความคลาดทรงกลม และภาพบิดเป็นเส้นโค้ง การแก้ไขเหล่านี้ทำงานโดยใช้ค่าการแก้ไขที่คำนวณจากค่าการออกแบบของเลนส์ นอกจากนี้ยังสามารถจัดการกับความคลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามทางยาวโฟกัสได้ด้วย โปรดทราบว่ากล้องนี้ไม่สามารถประมวลผลภาพแบบ S-RAW และ M-RAW ได้
โดยสรุป: Canon สร้างคุณภาพของภาพถ่ายที่สูงได้จากการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีออพติคอลและดิจิตอล
ไม่จำเป็นต้องกล่าวเลยว่า แหล่งที่มาของเทคโนโลยีทั้งหมดนั้นมาจากทักษะและความรู้อันกว้างขวางของช่างเทคนิค ที่ Canon ความรู้เหล่านั้นถูกหลอมรวมเป็นข้อมูลและนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ข้อมูลเหล่านั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ในการแก้ไขเลนส์ด้วยคุณสมบัติการแก้ไขความคลาดภายในกล้อง และใน Digital Lens Optimizer การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีออพติคอลและดิจิตอลนั้นเป็นไปได้อย่างไร้ข้อสงสัยเพราะนี่คือ Canon และเป็นไปได้ว่าการรวมกันของเทคโนโลยีทั้งสองนั้นจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ออพติคอลและความก้าวหน้าของข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขให้สูงขึ้นไปอีกขั้น
Ryosuke Takahashi
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก