เรามักอธิบายลักษณะของเลนส์ตามทางยาวโฟกัส แต่ทางยาวโฟกัสหมายถึงอะไรและส่งผลต่อภาพถ่ายของคุณอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้
คำอธิบายง่ายๆ: ทางยาวโฟกัสบอกให้เราทราบถึงมุมรับภาพ
คำอธิบายง่ายๆ: ทางยาวโฟกัสเป็นตัวบอกมุมรับภาพ
ขณะเลือกซื้อเลนส์ เรื่องแรกๆ ที่คุณต้องตัดสินใจคือทางยาวโฟกัสหรือช่วงโฟกัสที่คุณต้องการ เนื่องจากทางยาวโฟกัสจะเป็นตัวระบุมุมรับภาพ กล่าวคือ ทางยาวโฟกัสจะบอกให้เราทราบว่าเลนส์นั้นสามารถถ่ายฉากที่อยู่ด้านหน้าคุณได้มากเพียงใด
ทางยาวโฟกัสสั้น…
- เก็บภาพในฉากได้มากกว่า (= มีมุมรับภาพกว้างกว่า)
- ทำให้วัตถุที่อยู่ไกลดูมีขนาดเล็กลง (= มีกำลังขยายต่ำกว่า)
ทางยาวโฟกัสยาว…
- เก็บภาพในฉากได้น้อยกว่า (= มุมรับภาพแคบกว่า)
- ทำให้วัตถุที่อยู่ไกลดูใหญ่ขึ้น (= มีกำลังขยายสูงกว่า)
มาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราถ่ายภาพจากตำแหน่งเดียวกันโดยใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน หมายเหตุ: เพื่อให้ง่ายต่อการแสดงภาพประกอบ มุมต่างๆ ที่เห็นในบทความนี้จะเป็นมุมรับภาพในแนวนอน
ที่ระยะ 16 มม. เราสามารถจับภาพด้านหน้าของอาคารสถานีดับเพลิงได้ทั้งหมด รวมถึงถนนและแนวพุ่มไม้ที่อยู่ในโฟร์กราวด์ด้วย เมื่อทางยาวโฟกัสเพิ่มขึ้น รายละเอียดในเฟรมภาพจะดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่โฟร์กราวด์และตัวอาคารถูกครอปออกไปมากขึ้น ระยะ 200 มม. ทำให้เราถ่ายภาพชื่ออาคารและตราสัญลักษณ์ด้านล่างในแบบโคลสอัพได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ทางยาวโฟกัสยังส่งผลต่อลักษณะอื่นๆ ในภาพของคุณด้วย เช่น เปอร์สเปคทีฟและระยะชัด ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 4 แนวคิดเกี่ยวกับเลนส์ที่จะพลิกโฉมภาพถ่ายของคุณ
ประเภทของเลนส์จำแนกตามทางยาวโฟกัส
ประเภทของเลนส์จำแนกตามทางยาวโฟกัส
ประเภทต่างๆ ของเลนส์ที่จำแนกตามทางยาวโฟกัสได้แก่ มุมกว้าง มาตรฐาน หรือเทเลโฟโต้ เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์คือเลนส์มุมกว้างประเภทหนึ่ง ในขณะที่เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางและเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เป็นเลนส์ในประเภทเทเลโฟโต้
ประเภทของเลนส์ | ทางยาวโฟกัส (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) |
มุมกว้างอัลตร้าไวด์ | ไม่เกิน 24 มม. |
มุมกว้าง | ไม่เกิน 35 มม. |
มาตรฐาน | 40 มม. ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 70 มม. |
เทเลโฟโต้ระยะกลาง | 70 ถึง 135 มม. |
เทเลโฟโต้ | มากกว่า 135 มม. |
ซูเปอร์เทเลโฟโต้ | 400 มม. ขึ้นไป |
มุมกว้างอัลตร้าไวด์
RF14-35mm f/4L IS USM ที่ 14 มม., f/8, 0.5 วินาที, ISO 100
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์
เลนส์เดี่ยว: ≤24 มม. (ฟูลเฟรม), น้อยกว่า 15 มม. (APS-C)
เลนส์ซูม: 11-24 มม., 14-35 มม., 15-30 มม. ฯลฯ
การใช้งานโดยทั่วไป: ถ่ายภาพทิวทัศน์ การตกแต่งภายใน
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์สามารถเก็บภาพได้มาก จึงเหมาะสำหรับฉากที่กว้างใหญ่และวัตถุขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แคบที่คุณไม่สามารถถอยหลังไปได้มากนัก
ถ่ายที่ระยะ 16 มม.
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์จะทำให้เกิดมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริง ระยะห่างระหว่างวัตถุจึงดูเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับขอบเขตการมองเห็นที่กว้าง คุณจะรู้สึกได้ถึงความโล่งกว้าง
มุมกว้าง
RF28mm f/2.8 STM ที่ 28 มม., f/5.6, 1/320 วินาที, ISO 100
เลนส์มุมกว้าง
เลนส์เดี่ยว: 28 มม., 35 มม. (ฟูลเฟรม)/ 16 มม., 22 มม. (APS-C)
เลนส์ซูม: หมายรวมถึงเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์และเลนส์ซูมมาตรฐาน
การใช้งานโดยทั่วไป (นอกเหนือไปจากมุมกว้างอัลตร้าไวด์): ถ่ายภาพทิวทัศน์ สารคดี ภาพสตรีท ภาพสแนปช็อต
หากคุณมองออกไปด้านหน้าด้วยตาเปล่า ค่าขอบเขตการมองเห็นที่อยู่ในโฟกัสจะอยู่ที่ประมาณ 50° ถึง 60° เลนส์มุมกว้างคือเลนส์ใดก็ตามที่ให้มุมรับภาพกว้างกว่าค่านั้น เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เป็นเลนส์มุมกว้างชนิดพิเศษ
ถ่ายที่ระยะ 35 มม.
คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้มุมกว้างอัลตร้าไวด์ในการถ่ายภาพสิ่งที่คุณต้องการแสดงให้เห็นในเฟรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฉากและความต้องการของคุณ
ดูวิธีการใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพิ่มเติมได้ที่
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
ภาพโคลสอัพระยะ 24 มม.: 3 แบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อฝึกใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างให้ชำนาญ
มาตรฐาน
RF50mm f/1.2L IS USM ที่ f/1.2, 1/500 วินาที, ISO 200
เลนส์มาตรฐาน
เลนส์เดี่ยว: มากกว่า 35 มม. ถึงประมาณ 60 มม. (ฟูลเฟรม)/ ประมาณ 28 ถึง 35 มม. (APS-C)
เลนส์ซูม: เลนส์ใดก็ตามที่ครอบคลุมช่วง 50-60 มม. (ฟูลเฟรม) หรือช่วง 32 มม. ถึง 40 มม. (APS-C)
การใช้งานโดยทั่วไป: ถ่ายภาพท่องเที่ยว ทิวทัศน์ ภาพสตรีท ภาพพอร์ตเทรต และภาพทั่วไป! เลนส์นี้เป็นเลนส์ที่มีความเอนกประสงค์มากที่สุดประเภทหนึ่ง
เลนส์มาตรฐานหรือเลนส์ “ธรรมดา” จะให้มุมมองที่ใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์มาก เลนส์คิทส่วนใหญ่จะเป็นเลนส์ซูมมาตรฐาน เลนส์ 50 มม. ความไวแสงสูงยอดนิยมอย่าง RF50mm f/1.8 STM คือเลนส์มาตรฐานสำหรับกล้องฟูลเฟรม ในขณะที่ RF28mm f/2.8 STM เป็นเลนส์มาตรฐานที่กว้างขึ้นเล็กน้อยเมื่อใช้กับกล้อง APS-C
RF24-50mm f/4.5-6.3 IS STM ที่ 50 มม., f/8, 1/400 วินาที, ISO 100
คุณจะสังเกตเห็นว่าอาคารดูไม่เอนเข้าหากันที่ด้านบน แต่ส่วนบนของอาคารจะเอนเข้าหากันมากขึ้นหากใช้เลนส์มุมกว้างเนื่องจากมีเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟเกินจริง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของเลนส์มาตรฐานได้ใน:
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาตรฐาน: การใช้มุมมองเพื่อดึงให้คนดูเข้าไปอยู่ในภาพ
ภาพพอร์ตเทรตระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: การสร้างสรรค์ภาพแห่งความทรงจำ
เทเลโฟโต้
RF70-200mm f/2.8L IS USM ที่ 200 มม., f/8, 1/320 วินาที, ISO 100
เลนส์เทเลโฟโต้
เลนส์เดี่ยว: 135 มม. ขึ้นไป (ฟูลเฟรม); 85 มม. ขึ้นไป (APS-C)
เลนส์ซูม: 70-200 มม., 100-300 มม. (ฟูลเฟรม); 55-210 มม. (APS-C)
การใช้งานโดยทั่วไป: ถ่ายภาพธรรมชาติ ภาพพอร์ตเทรต ภาพแอ็คชัน คอนเสิร์ต
เลนส์เทเลโฟโต้ชนิดพิเศษ
เทเลโฟโต้ระยะกลาง: 70 มม. ถึง 135 มม. (ฟูลเฟรม)/45 ถึง 85 มม. (APS-C)
ซูเปอร์เทเลโฟโต้: ดูที่หัวข้อถัดไป
เลนส์เทเลโฟโต้มีมุมรับภาพที่แคบกว่าสายตาของมนุษย์มาก เลนส์ 70-200 มม. จะให้ช่วงทางยาวโฟกัสแบบเทเลโฟโต้ทั่วไป
ทางยาวโฟกัสใดๆ ที่ยาวกว่า 135 มม. เทียบเท่าฟูลเฟรมจะถือว่าเป็นระยะเทเลโฟโต้ อย่างไรก็ตาม ระยะ 70 ถึง 135 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม) ถือว่าเป็นเทเลโฟโต้ระยะสั้นหรือระยะกลาง เลนส์เหล่านี้เป็นเลนส์ที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและภาพผลิตภัณฑ์เนื่องจากมีเปอร์สเปคทีฟที่ดูเป็นธรรมชาติและมีระยะห่างที่ช่วยให้ถ่ายภาพโคลสอัพได้อย่างง่ายดาย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
5 สิ่งที่ควรลองด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
วิธีใช้โบเก้ในโฟร์กราวด์ให้ได้ผลดีเมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
ซูเปอร์เทเลโฟโต้
RF600mm f/4L IS USM บนกล้อง EOS R7 ที่ 600 มม. (เทียบเท่า 840 มม.), f/4.5, 1/4000 วินาที, ISO 640
การถ่ายภาพนกและสัตว์ป่าอื่นๆ ในระยะใกล้จะต้องอาศัยเลนส์เทเลโฟโต้ชนิดพิเศษ นั่นคือ เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ ซึ่งคุณสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์เพื่อให้เข้าใกล้ตัวแบบได้มากยิ่งขึ้น
เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้
เลนส์เดี่ยว:
300 มม. ขึ้นไป (ฟูลเฟรม)/ 200 มม. ขึ้นไป (APS-C)
เลนส์ซูม:
100-300 มม., 100-400 มม., 100-500 มม. (ฟูลเฟรมและ APS-C)
การใช้งานโดยทั่วไป: ถ่ายภาพสัตว์ป่า การแข่งขันกีฬาในสนามขนาดใหญ่ ภาพเครื่องบิน การถ่ายภาพรักษาความปลอดภัย ภาพดวงจันทร์
RF800mm f/5.6L IS USM + Extender RF2x ที่ 1600 มม., f/16, 1/1000 วินาที, ISO 400
คุณต้องใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวมากหากต้องการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบโคลสอัพให้เห็นรายละเอียดโดยไม่ครอปภาพ ภาพด้านบนถ่ายที่ระยะ 1600 มม. โดยใช้เลนส์ 800 มม. และอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ 2 เท่า
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ทำไมเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้จึงจำเป็นต่อการถ่ายภาพกีฬา
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
เรียนรู้เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่แตกต่างกันของเลนส์ได้ที่
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
คำอธิบายทางเทคเนิค: แท้จริงแล้วทางยาวโฟกัสคืออะไร
คำอธิบายทางเทคนิค (ฉบับเข้าใจง่าย): แท้จริงแล้วทางยาวโฟกัสคืออะไร
แสงที่ผ่านเข้ามาในเลนส์จะมาบรรจบกัน (ตัดกัน) ขณะที่เดินทางไปยังเซนเซอร์ภาพ จุดที่แสงมาบรรจบกันนี้เรียกว่า ศูนย์กลางออพติคอลของเลนส์และมีโฟกัสที่คมชัดที่สุด ทางยาวโฟกัสคือระยะห่างระหว่างจุดที่แสงมาบรรจบกันและเซนเซอร์ภาพ
เราจะวัดทางยาวโฟกัสนี้เมื่อเลนส์โฟกัสที่ระยะอนันต์ (ที่ระยะไกลออกไป) ทั้งนี้เป็นเพราะในขณะที่เลนส์โฟกัสไปยังระยะอนันต์ ลำแสงที่ผ่านเข้ามาในเลนส์จะแทบขนานกัน เมื่อจับโฟกัสบนตัวแบบที่อยู่ใกล้เคียง แสงจะผ่านเข้ามาในเลนส์จากมุมหนึ่ง
ตามหลักฟิสิกส์ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นจึงมีมุมรับภาพกว้างกว่า และเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวจึงมีมุมรับภาพแคบกว่า และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราใช้ทางยาวโฟกัสในการระบุมุมรับภาพของเลนส์!