ภาพพอร์ตเทรตระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: การสร้างสรรค์ภาพแห่งความทรงจำ
เลนส์เดี่ยว 50 มม. เป็นหนึ่งในเลนส์ที่มีความสามารถรอบด้านมากที่สุดที่ช่างภาพจะเป็นเจ้าของได้ และมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้หลงรักเลนส์รุ่นนี้ ในบทความนี้ ช่างภาพรายหนึ่งจะมาแบ่งปันวิธีใช้เลนส์ 50 มม. เพื่อถ่ายภาพในสไตล์เฉพาะตัวของเขาเอง ซึ่งแต่ละภาพชวนให้นึกถึงฉากที่ตรงออกมาจากความทรงจำของคนๆ หนึ่ง (เรื่องโดย: Taishi Arashida, Digital Camera Magazine)
50 มม. ที่ f/1.4, 1/2000 วินาที, EV +0.7, ISO 100, WB: อัตโนมัติ
เหตุผลที่ผมชอบใช้เลนส์ 50 มม.
ผมชอบใช้เลนส์ 50 มม. เพราะเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟอ่อนๆ เป็นธรรมชาติที่ได้จากเลนส์นี้ ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพที่ดูเป็นธรรมชาติได้ง่าย
ถ้าให้ผมพิจารณาเฉพาะมุมรับภาพ เลนส์ 35 มม. จะแสดงบริบทในแบ็คกราวด์ได้มากกว่า แต่เอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟที่เลนส์นี้สร้างขึ้นอาจดูไม่เป็นธรรมชาติขึ้นอยู่กับระยะหรือมุมในการถ่ายภาพ เมื่อถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสสั้นๆ จะเกิดเปอร์สเป็คทีฟบิดเบี้ยวอย่างชัดเจนบนใบหน้าของตัวแบบ แต่ในทางกลับกัน ถ้าทางยาวโฟกัสยาวเกินไป ภาพอาจดูราบเรียบไม่มีมิติ
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เลนส์ 50 มม. จะให้ลุคที่ดูสม่ำเสมอกว่า นั่นคือยังคงมีเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟอยู่แต่ไม่มีการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟมากนัก แม้ว่าคุณจะเอียงกล้องก็ตาม
เวลาถ่ายภาพ ผมมักตั้งใจที่จะสร้างภาพซึ่งชวนให้นึกถึงฉากที่ตรงออกมาจากความทรงจำของคนๆ หนึ่ง ผมสามารถถ่ายภาพให้ได้ลุคตามต้องการได้ง่ายขึ้นด้วยมุมรับภาพที่คงที่และคุ้นเคยดีของเลนส์ 50 มม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเลนส์นี้ช่วยให้ได้ลุคที่ดูละมุนละไมเล็กน้อยซึ่งคล้ายกับภาพที่ได้จากเลนส์วินเทจด้วย EF50mm f/1.4 USM คือเลนส์ที่ตอบโจทย์นี้
50 มม. ที่ f/1.4, 1/6400 วินาที, EV +1, ISO 100, WB: อัตโนมัติ
ผมเกิดความรู้สึกสนใจภาพเสื้อที่สะบัดไปมาตามสายลมจากทะเล ภาพนี้ถ่ายโดยเอียงกล้องลงเล็กน้อย ผมระวังไม่ให้เอียงกล้องมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในองค์ประกอบที่เป็นเส้นตรงอย่างรั้วระเบียง เอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟระดับกลางของเลนส์ 50 มม. ช่วยให้ผมใช้มุมกล้องแบบต่างๆ ได้ยืดหยุ่นกว่าที่ทำได้ด้วยเลนส์มุมกว้าง
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพระดับมือโปรในสไตล์ Arashida
50 มม. ที่ f/1.4, 1/3200 วินาที, EV +1, ISO 100, WB: อัตโนมัติ
1. สร้างองค์ประกอบภาพที่ดูเงียบสงบด้วยการควบคุมเส้นนำสายตา
การใช้เส้นนำสายตาเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟและนำสายตาของผู้ชมจะได้ผลดีเป็นพิเศษเมื่อถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งจะได้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริง แต่จะได้ผลไม่ดีนักถ้าถ่ายด้วยเลนส์ 50 มม. ซึ่งมีมุมมองเปอร์สเป็คทีฟที่เด่นชัดน้อยกว่ามาก ผมพยายามไม่รวมองค์ประกอบใดๆ ที่จะเปลี่ยนเส้นนำสายตาของผู้ชม ซึ่งอาจดึงความสนใจของผู้ชมไปที่อื่น ผมจึงตั้งใจสร้างบรรยากาศที่ค่อนข้าง “เงียบสงบมากขึ้น” แทน
2. ใช้ภาพเบลอในส่วนแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์เพื่อสร้างชั้นและมิติ
ผมจะไม่โฟกัสชัดลึกเวลาใช้เลนส์ 50 มม. ผมรู้สึกว่าการที่ทุกอย่างอยู่ในระยะโฟกัสที่คมชัดจะทำให้ภาพดูราบเรียบไม่มีมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเลนส์ 50 มม. มีมุมมองเปอร์สเป็คทีฟที่ไม่เด่นชัดนักอยู่แล้ว ช่างภาพคนอื่นอาจมีวิธีอื่น แต่สไตล์ผมเป็นการใช้รูรับแสงกว้างและสร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์หรือส่วนโฟร์กราวด์ตามความเหมาะสมกับฉาก
---
สไตล์การใช้เลนส์ 50 มม. ของคุณเป็นอย่างไร เล่าให้เราฟังได้ที่ My Canon Story หรือแท็กเราในโซเชียลมีเดียโดยใช้ #canonasia
อ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเลนส์ 50 มม. อย่างเต็มที่ได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาตรฐาน: การใช้มุมมองเพื่อดึงให้คนดูเข้าไปอยู่ในภาพ
EF50mm f/1.8 STM: รีวิวพร้อมเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่มีประโยชน์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Taishi Arashida อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว เขาถ่ายภาพครอบครัวและทิวทัศน์ในเมืองเป็นหลักให้กับสื่อมวลชนภายในประเทศและต่างประเทศ และยังเป็นครูสอนถ่ายภาพอีกด้วย นอกจากนี้ เขาได้เขียนหนังสือสองเล่มคือ Dejitaaru de Firumu o Saigenshitai [การจำลองลุคแบบฟิล์มในสื่อดิจิทัล] และ Kamera ja naku, Shashin no Hanashi o Shiyou [มาคุยกันเรื่องการถ่ายภาพดีกว่าเรื่องกล้อง] ซึ่งทั้งสองเล่มตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Genkosha