EF50mm f/1.8 STM คือ เลนส์เดี่ยวราคาไม่แพงและใช้ง่ายแม้แต่สำหรับผู้เริ่มใช้งาน ทั้งยังมีน้ำหนักเบา จึงใช้งานร่วมกับกล้อง EOS 200D ได้อย่างลงตัว ต่อไปนี้คือวิธีการใช้เลนส์นี้เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้สวยๆ ดูนุ่มนวล (เรื่องโดย: Maiko Fukui)
โบเก้ที่งดงามและนุ่มนวลทำให้การถ่ายภาพสนุกกว่าที่เคย
EF50mm f/1.8 STM มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย และมีราคาไม่แพง คุณสมบัติเหล่านี้จะทำให้เลนส์น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ใช้ที่กำลังมองหาเลนส์ที่คุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด ด้วยความสามารถในการถ่ายภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติและเกิดความบิดเบี้ยวน้อยมาก คุณจะสนุกไปกับการสร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยเลนส์รุ่นนี้ โบเก้นุ่มนวลน่ามองอันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของเลนส์ทำให้แบ็คกราวด์ในภาพอยู่นอกโฟกัสได้ง่าย เพื่อให้ตัวแบบต่างๆ เช่น คนและสัตว์ ดูโดดเด่น และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเลนส์นี้มีประโยชน์แม้แต่สำหรับการถ่ายภาพสตรีทด้วยเช่นกัน
เมื่อใช้กับกล้องที่มาพร้อมเซนเซอร์ APS-C เช่น EOS 200D เลนส์ให้มุมรับภาพเทเลโฟโต้ระยะกลางเทียบเท่ากับ 80 มม. (เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ซึ่งเป็นมุมรับภาพที่แคบกว่าเลนส์ในกล้องฟูลเฟรม คุณจึงสามารถถ่ายภาพโคลสอัพตัวแบบที่อยู่ในระยะไกลได้
ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ให้มุมมองและความรู้สึกที่ต่างออกไปอย่างมาก เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ค่า f/1.8 เลนส์สามารถสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลได้ง่ายทั้งในส่วนแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ จึงสามารถใช้เพื่อสร้างความลึกให้กับภาพถ่าย รวมทั้งถ่ายทอดความรู้สึกเหนือจริงได้เป็นอย่างดี วงกลมโบเก้ที่สร้างจากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดดูงดงามเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะได้คุณภาพและเอฟเฟ็กต์ชนิดเดียวกันด้วยเลนส์คิท นอกจากนี้ เนื่องจากเลนส์นี้เป็นเลนส์ที่มีความสว่าง จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพในสถานที่มืดเช่นกัน
การใช้รูรับแสงกว้างสุดช่วยให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่นุ่มนวล และยังสามารถเพิ่มความคมชัดได้โดยการลดขนาดรูรับแสงลง ไม่มีอะไรดีไปกว่าความตื่นเต้นที่เกิดจากความสงสัยว่าตัวแบบในภาพจะออกมาเป็นเช่นไรเมื่อถ่ายภาพที่ค่า f/1.8 นี่จึงเป็นเลนส์ที่ฉันแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ
เลนส์ตัวนี้จะช่วยให้คุณพบเสน่ห์ใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในหน้าต่างโชว์หน้าร้านตามท้องถนน บางสิ่งที่คุณพบขณะนอนเล่นบนชายหาด หรือแสงสวยงามซึ่งคุณเห็นโดยบังเอิญ คุณสามารถสนุกไปกับการใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้สำหรับสิ่งที่ตนเองสนใจ!
EF50mm f/1.8 STM เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับฉากเหล่านี้:
- ภาพบุคคล สัตว์ ฯลฯ
- เมื่อสถานที่ถ่ายภาพทำให้แบ็คกราวด์ของภาพดูรก และคุณจำเป็นต้องทำให้ตัวแบบหลักดูโดดเด่นมากขึ้น
- ฉากการถ่ายภาพสตรีทที่ต้องการเอฟเฟ็กต์นอกโฟกัสและการสร้างโบเก้
เคล็ดลับเกี่ยวกับเลนส์ 1: เข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นเพื่อสร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ที่นุ่มนวล
เมื่อต้องการเบลอพื้นหลังเพื่อเพิ่มระดับความเบลอสำหรับสร้างโบเก้ ไม่เพียงคุณต้องใช้รูรับแสงกว้างสุดเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างให้ตัวแบบหลักกับแบ็คกราวด์และเข้าใกล้ตัวแบบหลักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ 3: การสร้างโบเก้)
ในภาพด้านล่าง ฉันขยับเข้าใกล้ดอกกุหลาบเพื่อถ่ายภาพใกล้ระยะโฟกัสใกล้สุด (ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด) ภาพนี้ถ่ายจากตำแหน่งที่วางตัวแบบในแสงย้อนครึ่งหนึ่ง เพื่อสื่อภาพกลีบดอกไม้อย่างงดงาม และทำให้แบ็คกราวด์ดูระยิบระยับ ระยะชัดลึกจะตื้นขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างขึ้น (ค่า f ต่ำลง) คุณจึงต้องจับกล้องให้มั่นคงและระวังการใช้ความเร็วชัตเตอร์เพื่อลดการสั่นไหวของกล้อง
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/1,600 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ฉันต้องการให้กุหลาบแสนสวยดูโดดเด่นเป็นตัวแบบหลัก จึงสร้างแบ็คกราวด์เบลอขนาดใหญ่ และขยับเข้าใกล้กุหลาบจนอยู่ในตำแหน่งเส้นนำสายตาพอดี
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/1,600 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ ฉันเข้าใกล้กุหลาบไม่มากพอ แม้จะใช้ค่ารูรับแสงที่ f/1.8 แต่กุหลาบไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้มากนัก ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าตัวแบบดูโดดเด่นจริงๆ จึงต้องขยับเข้าใกล้ให้มากกว่านี้
เคล็ดลับเกี่ยวกับเลนส์ 2: ใช้ประโยชน์จากเลนส์ที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ร่วมกับการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน
วิธีการจัดเฟรมและองค์ประกอบต่างๆ ในภาพถ่ายมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากคุณใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัดมากๆ ในภาพ ควรคำนึงถึงสัดส่วนของโบเก้บนเฟรมภาพ หากคุณถ่ายภาพในแนวนอน ควรวางตัวแบบหลักไว้ที่สัดส่วนประมาณ 1/3 จากกึ่งกลางไปทางด้านซ้ายหรือขวา หากถ่ายภาพในแนวตั้ง ควรวางตัวแบบหลักที่ด้านบนหรือล่างบริเวณกึ่งกลางภาพเพื่อสื่อถึงความเงียบสงบและให้ผลด้านความรู้สึก ด้วยวิธีนี้ ภาพถ่ายของคุณจะดูเหมือนกำลังบอกเล่าเรื่องราว ภาพด้านล่างชวนให้นึกถึงหลอดไฟที่ลอยมาจากมหาสมุทรและพัดขึ้นมาบนหาดทราย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎสามส่วนได้ที่นี่: การจัดองค์ประกอบภาพที่ง่ายแต่ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 1)
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/1,600 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพแนวนอน
เมื่อใช้กฎสามส่วน ตัวแบบหลักจะถูกวางไว้ตรงจุดที่เส้นตัดกันทางขวาล่างของภาพ ฉันลดระดับและปรับตำแหน่งกล้องเพื่อให้หาดทรายจนถึงประกายแวววับของท้องทะเลเข้ามาอยู่ในเฟรม และเติมเต็มพื้นที่ว่างโดยสร้างโบเก้จากการเบลอองค์ประกอบเหล่านี้
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/1,250 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพแนวตั้ง
ฉันถ่ายภาพนี้จากตำแหน่งที่สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้เห็นรูปทรงของขวดได้ดีขึ้น ภาพแนวตั้งช่วยให้ฉันมีโอกาสสร้างพื้นที่ว่างเหนือตัวแบบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงทำให้องค์ประกอบภาพดูหนักแน่นมั่นคงขึ้น
แกลเลอรี่ภาพถ่าย
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/4,000 วินาที, EV+1.0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
เงาที่อาบไล้ไปด้วยแสงอาทิตย์ยามเย็นทำให้เกิดลวดลายศิลปะที่สวยงาม เมื่อใช้เลนส์นี้คู่กับกล้อง APS-C จะได้มุมรับภาพเทเลโฟโต้ระยะกลาง 80 มม. (เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ที่ดูเป็นธรรมชาติและไม่มีความบิดเบี้ยว
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/800 วินาที, EV+1.0)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
แมวในตรอกด้านหลังอยู่ท่ามกลางโบเก้ทั้งในส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ เมื่อใช้ค่า f/1.8 หญ้าและกำแพงในส่วนโฟร์กราวด์จะเบลอจนกลายเป็นโบเก้ที่นุ่มนวล จึงทำให้แมวดูโดดเด่น
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/320 วินาที EV±0)/ ISO 400/ WB: เมฆครึ้ม
ภาพโคลสอัพนี้แสดงแว่นกันแดดที่วางอยู่บนผืนทรายโดยใช้การถ่ายภาพในระยะใกล้ พร้อมกับมีภาพสะท้อนของสิ่งแวดล้อมโดยรอบบนแว่นตาในลักษณะแบบซิลูเอตต์ ฉันตั้งใจสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลในส่วนแบ็คกราวด์เพื่อทำให้แว่นกันแดดดูโดดเด่น
EOS 200D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/400 วินาที, EV-1.0)/ ISO 400/ WB: แสงในร่ม
ภาพนี้สื่อถึงโลกสองใบอันน่ามหัศจรรย์ นั่นคือ ทะเลอย่างที่เราเห็นในด้านครึ่งซ้ายของภาพ และทะเลที่มีแสงอาทิตย์อัสดงสะท้อนดังเห็นได้จากผู้คนที่กำลังข้ามฝั่งในด้านครึ่งขวาของภาพ ซึ่งเราสามารถถ่ายทอดโลกทั้งสองออกมาได้อย่างคมชัดที่ค่ารูรับแสง f/5.6
โปรดดูบทความต่อไปนี้เกี่ยวกับ EF50mm f/1.8 STM:
[ตอนที่ 1] เลนส์น้องใหม่ที่พัฒนาต่อจากรุ่นที่ขายดีอีกรุ่นหนึ่ง
[ตอนที่ 2] พลังการถ่ายทอดภาพที่ดียิ่งขึ้น
เลนส์ฮูด (ขายแยกต่างหาก): ES-68
ข้อมูลจำเพาะ
ทางยาวโฟกัส (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.): 50 มม. (80 มม. เมื่อติดตั้งลงบนกล้อง APS-C)
โครงสร้างเลนส์: 6 ชิ้นเลนส์ใน 5 กลุ่ม
จำนวนม่านรูรับแสง: 7
ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด: ประมาณ 0.35 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.21 เท่า
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: φ49 มม.
เส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด × ความยาวโดยรวม: ประมาณ 69.2×39.3 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 160 กรัม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1983 ในโอซาก้า ช่างภาพ ทำงานในงานถ่ายภาพนิตยสารและโฆษณา เขียนหนังสือ เวิร์คช็อปการถ่ายภาพ และอื่นๆ