Canon เปิดตัวเลนส์ EF50mm f/1.8 STM ที่พัฒนามาจาก EF50mm f/1.8 II เลนส์ที่มียอดขายดีซึ่งผู้ใช้ EOS คงจะคุ้นเคยกันดี ในบทความสองตอนนี้ ผมจะทดสอบความสามารถของเลนส์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก บทความตอนแรกจะบอกเล่าถึงรูปลักษณ์ภายนอกและพลังการถ่ายทอดรายละเอียดของภาพถ่ายเมื่อใช้การตั้งค่ารูรับแสงระดับต่างๆ (เรื่องโดย: Takeshi Ohura)
เปิดตัวเลนส์น้องใหม่ที่พัฒนาต่อมาจากเลนส์ยอดนิยมอย่าง EF50mm f/1.8 II
เลนส์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีถึงคุณภาพของภาพถ่ายระดับสูงแม้มีน้ำหนักเบาและราคาประหยัดอย่าง EF50mm f/1.8 II ตอนนี้มีทายาทแล้ว เลนส์ EF50mm f/1.8 STM ใหม่ใช้โครงสร้างเลนส์หกชิ้นในห้ากลุ่ม แม้โครงสร้างที่ว่านี้ไม่ต่างจากที่ใช้ในเลนส์รุ่นก่อน แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านอื่นๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เลนส์ EF50mm f/1.8 II ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้านั้นวางขายในตลาดมานานถึง 25 ปีและเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้ใช้กล้อง EOS จึงอาจมีผู้ใช้หลายคนคาดหวังให้มีพลังการถ่ายทอดภาพและความสามารถในการใช้งานอย่างที่เลนส์ EF50mm f/1.8 STM จะมอบให้
เลนส์ EF50mm f/1.8 STM ใหม่ มาพร้อมวงแหวนโฟกัสที่กว้างกว่าเดิมและหุ้มด้วยยางชนิดใหม่ สิ่งที่พัฒนาขึ้นสำหรับเลนส์รุ่นนี้ก็คือส่วนฟิลเตอร์ด้านหน้าเลนส์จะไม่หมุนระหว่างขับเคลื่อนระบบ AF ขนาดของฟิลเตอร์คือ 49 มม.
จากซ้าย EF50mm f/1.8, EF50mm f/1.8 II และ EF50mm f/1.8 STM เลนส์ EF50mm f/1.8 รุ่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 1987 ในยุคกล้องฟิล์ม มีความน่าสนใจอย่างมากเพราะมีช่องดูระยะโฟกัสและสเกลบอกระยะชัดลึก รวมไปถึงดัชนีอินฟาเรด (สำหรับการถ่ายภาพอินฟราเรด เรียกอีกอย่างว่าเครื่องหมายอินฟาเรดหรือเครื่องหมายสีแดง)
ท่อเลนส์ EF50mm f/1.8 STM มีขนาด 69.2 มม. (เส้นผ่าศูนย์กลางยาวสุด) x 39.3 มม. (ความยาว) ต่างกับรุ่นก่อนหน้าที่มีขนาด 68.2 มม. x 41 มม. น้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 130 กรัมเป็น 160 กรัม ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขนาดของท่อเลนส์เล็กน้อยและใช้โครงสร้างของเลนส์แบบเดิม แต่เหตุผลหลักที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มอีก 30 กรัมนั้นเป็นเพราะวัสดุที่ใช้ทำเมาท์เลนส์ เลนส์ EF50mm f/1.8 II ใช้วัสดุเป็นพลาสติก ขณะที่เลนส์ EF50mm f/1.8 STM มีการนำเมาท์โลหะมาใช้กับตัวเลนส์เหมือนกับเลนส์รุ่นแรก แม้บางคนจะบอกว่าเมาท์พลาสติกนั้นทำได้ดีเยี่ยมอยู่แล้วในแง่ของความแม่นยำ แต่ผมก็ยังชื่นชอบดีไซน์โลหะแบบใหม่มากกว่า
เมาท์โลหะใหม่ของเลนส์ EF50mm f/1.8 STM ผมเชื่อว่าผู้ใช้ EOS หลายคนจะชื่นชอบการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าด้วยเช่นเดียวกัน
เลนส์ EF50mm f/1.8 STM ผลิตในมาเลเซีย เลนส์ EF50mm f/1.8 รุ่นแรก และ EF50mm f/1.8 II ซึ่งเป็นรุ่นที่สอง ผลิตในญี่ปุ่นทั้งสองรุ่น
ปลายท่อเลนส์มาพร้อมกับเมาท์แบบ Bayonet สำหรับการใช้งานกับฮูดเลนส์ คุณสมบัติที่น่าสนใจของเมาท์แบบ Bayonet คือคุณสามารถประกอบฮูดเลนส์พิเศษ ES-68 (ขายแยกต่างหาก) เข้ากับเลนส์ได้โดยตรง ต่างจากเลนส์รุ่นก่อนๆ ซึ่งต้องมีวงแหวนอะแดปเตอร์จึงจะใช้งานฮูดเลนส์ได้ สำหรับการทดลองใช้งานครั้งนี้ ผมตั้งใจทดสอบเฉพาะตัวเลนส์เท่านั้น ดังนั้น ภาพตัวอย่างทั้งหมดจึงถ่ายโดยไม่ใช้ฮูดเลนส์
กลไกการทำงานที่มีการพัฒนาอย่างหนึ่งคือระบบขับเคลื่อน AF เลนส์นี้ใช้ Stepping Motor ระบบเกียร์ (STM) ซึ่งทำงานเงียบมากเมื่อเทียบกับมอเตอร์ DC หากตั้งใจฟังคุณจะได้ยินเสียงมอเตอร์เบาๆ ระหว่างการใช้งานระบบโฟกัสอัตโนมัติ แต่ไม่สร้างความรบกวน ระหว่างถ่ายภาพเคลื่อนไหว ไมโครโฟนติดกล้องจะไม่เก็บเสียงการทำงานของมอเตอร์
นอกจากนี้ แม้ยังไม่ได้ทำการเปรียบเทียบลงรายละเอียด แต่ผมก็รู้สึกได้ว่ากระบวนการจับโฟกัสทำได้รวดเร็วและราบรื่นมากกว่าเมื่อก่อน เช่นเดียวกับรุ่นก่อนๆ เลนส์ EF50mm f/1.8 STM ไม่มีฟังก์ชั่น Image Stabilizer (IS)
ระยะโฟกัสใกล้สุดลดลงจาก 45 ซม. ของรุ่นก่อนหน้า เหลือ 35 ซม. สำหรับรุ่น EF50mm f/1.8 STM ทำให้กำลังขยายสูงสุดเพิ่มขึ้น 0.15 – 0.21 เท่า จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับการถ่ายภาพโคลสอัพ เลนส์นี้จะเป็นประโยชน์เมื่อคุณต้องการเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นอีกระยะหนึ่ง
ด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดเพียง 35 ซม. จึงทำให้เลนส์ EF50mm f/1.8 STM มีความสามารถในการถ่ายภาพโคลสอัพที่ดีขึ้น
การทดสอบความสามารถในการถ่ายทอดภาพวิวระยะไกลที่การตั้งค่ารูรับแสงระดับต่างๆ
แม้จะมีความเปรียบต่างเพียงพอเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด แต่ดูเหมือนจะขาดความคมชัดของภาพโดยรวมไป อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะนี้สามารถใช้เพื่อสร้างภาพถ่ายพอร์ตเทรตหรือภาพถ่ายสิ่งของบนโต๊ะให้มีเอกลักษณ์เฉพาะได้
ความละเอียดคมชัดที่กึ่งกลางภาพเพิ่มขึ้นมากเมื่อใช้ค่ารูรับแสงมากกว่า f/2.8 ถึงอย่างนั้น ความคมชัดก็ยังคงอยู่ในระดับพอใช้ แม้จะยังไม่ถึงระดับดีเยี่ยมสุดๆ อย่างที่จะได้จากเลนส์แบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้สำหรับกล้องมิเรอร์เลสบางรุ่น
ที่ค่าประมาณ f/4 การถ่ายทอดความละเอียดภาพในบริเวณขอบภาพไม่น่าพอใจนัก แต่ถือว่าคุณภาพยอมรับได้สำหรับเลนส์ระดับนี้ ปัญหาแสงน้อยลงบริเวณขอบภาพดูจะเห็นได้ชัดขึ้น แต่ปัญหานี้แทบไม่ปรากฏเลยที่ค่ารูรับแสง f/4 ความละเอียดคมชัดลดลงเนื่องจากเกิดการกระจายแสงออพติคอลที่ค่ารูรับแสงประมาณ f/11
การถ่ายทอดรายละเอียดภาพที่กึ่งกลางภาพ
ตัดภาพบริเวณที่มีกรอบสีแดงเป็นภาพขนาดเล็กที่แสดงและขยายด้านล่าง การตั้งค่าที่ใช้มีดังนี้
EOS 5D Mark III/ Aperture-priority AE/ ISO 100
f/1.8
f/2
f/2.8
f/4
f/5.6
f/8
f/11
f/16
การถ่ายทอดรายละเอียดภาพบริเวณขอบภาพ
ตัดภาพบริเวณที่มีกรอบสีแดงเป็นภาพขนาดเล็กที่แสดงและขยายด้านล่าง การตั้งค่าที่ใช้มีดังนี้
EOS 5D Mark III/ Aperture-priority AE/ EV+0.3/ ISO 100
f/1.8
f/2
f/2.8
f/4
f/5.6
f/8
f/11
f/16
เกิดเมื่อปี 1965 ที่จังหวัดมิยะซะกิ Ohura จบการศึกษาจากแผนกการถ่ายภาพจากวิทยาลัยศิลปะ มหาวิทยาลัยนิฮอง หลังจากทำงานในแผนกตัดต่อกับบริษัทการวางแผนการออกแบบและนิตยสารรถมอเตอร์ไซค์ เขาผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ เขาเขียนบทความให้กับนิตยสารด้านการถ่ายภาพจากประสบการณ์ในการใช้กล้องดิจิตอลสำหรับการถ่ายภาพโฆษณา นอกเหนือจากการทำงาน เขาชอบดูภาพถ่ายและหาเวลาเยี่ยมชมแกลเลอรี่อยู่เสมอ Ohura ยังเป็นสมาชิก Camera Grand Prix Selection Committee อีกด้วย
ส่งข่าวสารรายวันเกี่ยวกับเรื่องราวของกล้องดิจิตอลและอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ นอกจากนี้ยังเผยแพร่บทความต่างๆ เช่น รีวิวการใช้งานจริงของกล้องดิจิตอล พร้อมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องรุ่นใหม่ๆ