ภาพถ่ายที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศยามเช้า – ฝึกฝนการจัดตัวแบบและองค์ประกอบภาพ
เวลาเช้า เป็นจุดเริ่มต้นของแต่ละวัน เป็นเวลาที่สิ่งต่างๆ มีชีวิตชีวาในบรรยากาศยามเช้าอันแจ่มใส เรามาเรียนรู้วิธีการเลือกตัวแบบและองค์ประกอบภาพที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศเช้าวันใหม่ที่สดใสของคุณในบทความนี้ด้วยกัน (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
หน้า: 1 2
วิธีการถ่ายภาพอรุณรุ่งให้เร้าอารมณ์
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (1/320 วินาที, f/10)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นที่ถ่ายจากบนภูเขา เวลาถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น จำเป็นต้องใช้ความสามารถในการพิจารณาแบบฉับพลันทันที เช่น จะรักษาสมดุลระหว่างท้องฟ้ากับดวงอาทิตย์อย่างไร และจะลดแสงจ้าในภาพอย่างไร
อย่างในกรณีของภาพนี้ ถ่ายด้วยมุมรับภาพ 35 มม. เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความร้อนแรงของดวงอาทิตย์และความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องฟ้า หากเราถ่ายแบบภาพทิวทัศน์ด้วยมุมกว้างอัลตร้าไวด์สักประมาณ 24 มม. โดยไม่ได้พิจารณารอบคอบนัก ภาพดวงอาทิตย์ที่ออกมาจะไม่มีพลังเพราะจะดูเป็นเพียงแค่จุดแต้มเล็กๆ เพื่อให้ได้สมดุลระหว่างดวงอาทิตย์และท้องฟ้า ผมแนะนำมุมรับภาพประมาณ 35-50 มม. หรือหากต้องการเน้นที่ความกว้างของท้องฟ้าหรือสีสันที่เกลี่ยไล่กัน มุมรับภาพอัลตร้าไวด์อาจให้ผลที่ดีกว่า ถ้าคุณต้องการให้ดวงอาทิตย์เป็นตัวแบบหลักและถ่ายภาพโคลสอัพ มุมรับภาพประมาณ 100-200 มม. คือระยะที่เหมาะสม ภาพถ่ายยามเช้ามักจะให้โทนสีฟ้าระดับปานกลาง ดังนั้น ผมจึงตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) ไปที่ "แสงแดด" เพื่อรักษาความเป็นท้องฟ้าสีครามเอาไว้ หากตั้งค่าไปที่สีโทนอุ่นอย่าง "เมฆครึ้ม" ความรู้สึกที่ได้อาจเหมือนภาพดวงอาทิตย์ตกมากกว่า
มาดูภาพอาทิตย์ขึ้นที่ถ่ายจากยอดเขาอีกครั้งหนึ่ง ในภาพนี้ ถ่ายทอดมวลเมฆออกมาได้อย่างสวยงามทรงพลัง เพื่อเก็บรายละเอียดของเมฆให้เต็มที่ ผมตั้งค่ารูรับแสงไปที่ f/10 ผมใช้การเปิดรับแสงแบบแมนนวล เพราะต้องการควบคุมระดับความสว่างด้วยความเร็วชัตเตอร์ เพื่อไม่ให้เกิดบริเวณที่จ้าเกินไปกับภาพดวงอาทิตย์ฉายแสงยามเช้าที่ความสว่างในภาพมักมีความแตกต่างสูง ขณะเดียวกัน ฟังก์ชั่นเตือนบริเวณสว่างโพลน ถูกตั้งค่าไว้ที่ เปิด เพื่อระบุพื้นที่ที่อาจมีแสงจ้าเกินพอดีและบริเวณที่ไม่ควรเกิดแสงจ้า
จุดสำคัญ
ใช้เลนส์มาตรฐานเพื่อขับเน้นดวงอาทิตย์ให้โดดเด่น
เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เราจะขยายเฉพาะดวงอาทิตย์ ขณะที่เลนส์มุมกว้างจะทำให้เห็นดวงอาทิตย์ขนาดเล็กลง ใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM เพื่อถ่ายภาพความสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์กับท้องฟ้า
ตั้งค่า เตือนบริเวณสว่างโพลน ไปที่ เปิด เพื่อตรวจสอบแสงซิลูเอตต์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์
เปิดฟังก์ชั่น เตือนบริเวณสว่างโพลน เพื่อดูบริเวณที่อาจเกิดแสงสว่างจ้าเกินไป เราทำอะไรกับพื้นที่ตรงกลางของดวงอาทิตย์ได้ไม่มากนัก แต่ผมไม่ต้องการให้เส้นขอบระหว่างดวงอาทิตย์กับเมฆสีขาว (บริเวณในเส้นสีแดง) ดูไม่ชัดเจน
เก็บรายละเอียดของเมฆให้คมชัดด้วยค่าการเปิดรับแสง 1/320 วินาทีที่รูรับแสง f/10
ค่าการเปิดรับแสงที่ยอมให้ถ่ายทอดเอาความสว่างของดวงอาทิตย์ออกมาและเก็บเอารายละเอียดของกลุ่มเมฆได้คมชัดคือ 1/320 วินาทีที่ค่ารูรับแสง f/10 ความรู้สึกจากกลุ่มก้อนเมฆถ่ายทอดพลังอันเร้าอารมณ์ให้กับภาพอรุณรุ่งเฉิดฉายภาพนี้
การถ่ายภาพบรรยากาศที่วุ่นวายเร่งรีบในยามเช้า
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (1/4 วินาที, f/22 +0.3EV)/ ISO 200/ WB: หลอดไฟทังสเตน / ฟิลเตอร์ ND
มนุษย์ดูกลืนไปกับตึกอาคารขนาดใหญ่มหึมาในภาพถ่ายมุมต่ำอย่างภาพนี้
ถ่ายภาพผู้คนที่กำลังมุ่งหน้าไปทำงาน
ภาพถ่ายยามเช้าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ลองมองไปตามถนนหนทาง คุณจะพบผู้คนมากมายที่กำลังเริ่มต้นวันใหม่อันสดใสอยู่
ในภาพนี้ ผมตั้งค่า Shutter-Priority AE ไปที่ 1/4 ให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวของผู้คนดูพร่ามัว เป็นการขับเน้นการเคลื่อนไหวของผู้คน ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์จำเป็น เนื่องจากความเร็วชัตเตอร์ 1/10 วินาทีหรือนานกว่านั้นสำคัญต่อการสร้างความเบลอจากการเคลื่อนไหวของผู้คน นอกจากนี้ ฟิลเตอร์ ND ยังจำเป็นเมื่อถ่ายภาพกลางแจ้งในเวลาเช่นนี้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ สมดุลแสงขาว (WB) ถูกตั้งค่าไปที่ "หลอดไฟทังสเตน" ทำให้ได้สีสันโทนเย็นพอประมาณ เพื่อเก็บบรรยากาศในเวลาเช้า
จุดสำคัญ
ใช้ฟิลเตอร์ ND และลดความเร็วชัตเตอร์ลง
รัศมีของแสงอาทิตย์ที่ส่องมาช่วงฤดูร้อนนั้นเจิดจ้าแม้แต่ในยามเช้า ในการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า ให้ใช้ฟิลเตอร์ ND8 และลดความเร็วชัตเตอร์ลงสามขั้น
ทางม้าลายที่ทุกคนออกเท้าเดินพร้อมๆ กันเป็นฉากที่ยอดเยี่ยมสำหรับการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของผู้คน
ถ่ายภาพผู้คนที่กำลังมุ่งหน้าไปทำงานกลางย่านธุรกิจในชั่วโมงเร่งด่วน การถ่ายภาพขณะที่คนกำลังเดินข้ามทางม้าลาย ในจังหวะที่ไฟจราจรเพิ่งสลับเป็นไฟเขียวทำได้ง่ายกว่า เพราะทุกคนจะพากันย่างเท้าออกเดินพร้อมๆ กัน
วิธีการถ่ายภาพบรรยากาศยามเช้า
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 138 มม./ aperture priority AE (f/4, +0.7EV)/ ISO 200/ WB: หลอดไฟทังสเตน
การใช้ต้นหญ้าหรือพืชผักริมทางเท้าเป็นตัวแบบหลัก จะให้คุณได้ภาพถ่ายที่สดชื่นแจ่มใส บ่งบอกถึงบรรยากาศในยามเช้า
การสร้างองค์ประกอบภาพโดยให้พื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ส่วนมีเอฟเฟ็กต์โบเก้
อากาศในยามเช้านั้นสดชื่นและแจ่มใส ชวนให้คิดถึงภาพของความสงบสบายใจ บรรยากาศแบบนี้ถ่ายทอดออกมาได้โดยอาศัยองค์ประกอบภาพ
ลองใช้พื้นที่ว่างเพื่อสร้างความรู้สึกที่สงบผ่อนคลาย การรักษาพื้นที่ว่างในองค์ประกอบภาพไว้อย่างน้อย 2/3 โดยใช้กฎสามส่วนนั้นเป็นวิธีการที่ดี คุณอาจใช้เลนส์เทเลโฟโต้ที่สามารถทำพื้นที่ว่างให้เบลอได้มากขณะเดียวกันก็ยังรักษาตัวแบบให้อยู่ในโฟกัสด้วย หากใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงสว่าง แสงสะท้อนก็จะออกมาเป็นโบเก้ทรงกลมสวย ให้บรรยากาศฤดูร้อนได้อย่างดี จุดสำคัญคือ มองหาจุดที่สว่างในแบ็คกราวด์ของภาพ หากแบ็คกราวด์มืดล่ะก็ โบเก้จะไม่คมชัดและความรู้สึกสดชื่นก็จะไม่เกิดขึ้น
จุดสำคัญ
เลือกแบ็คกราวด์ที่มีเค้าโครงเหมาะสม ง่ายต่อการสร้างโบเก้
เอฟเฟ็กต์โบเก้จะเกิดได้ง่ายขึ้นเมื่อวางตัวแบบให้ห่างจากแบ็คกราวด์มากๆ เท่าที่จะเป็นไปได้และถ่ายภาพในบริเวณที่สว่าง
ให้ทุกอย่างเบลอยกเว้นตัวแบบหลัก เพื่อเพิ่มเอฟเฟ็กต์โบเก้
เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวแบบใกล้แบ็คกราวด์และทุกอย่างเด่นชัดขึ้น ปริมาณโบเก้จะลดลง และภาพถ่ายก็จะดูรกตา ถึงแม้ครึ่งหนึ่งของฉากมีเอฟเฟ็กต์โบเก้ ภาพก็จะไม่สะท้อนบรรยากาศของความสงบออกมา
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง Studio9 อีกด้วย