ภาพทิวทัศน์ – การจัดองค์ประกอบภาพและคุณสมบัติกล้องเพื่อการถ่ายทอดภาพที่ดีที่สุด
กล้อง EOS 5D Mark III ประกอบด้วยฟังก์ชั่น AF สุดล้ำสมัยพร้อมกับฟังก์ชั่นการถ่ายภาพมากมาย ช่างภาพทิวทัศน์มืออาชีพใช้กล้องรุ่นนี้เพื่อสร้างแนวคิดในการถ่ายภาพตัวแบบที่คุณต้องการถ่ายโดยใช้คุณสมบัติอันน่าทึ่งของกล้องตัวนี้ (เรื่องโดย: Michiko Yone)
EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 29 มม./ Manual exposure (4 วินาที, f/16)/ ISO 800/ WB: แสงแดด/ ฟิลเตอร์ PL/ ขาตั้งกล้อง/ Yakushima, Kagoshima Prefecture
แม้ตอนนั้นจะเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิบนเกาะยาคุชิมะ แต่ผืนป่าก็ปกคลุมไปด้วยสีเขียวชะอุ่มเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดเป็นภาพอันงดงามหลังฝนตก ณ จุดนี้ฉันใช้เลนส์ 16-35mm เพื่อให้เห็นถึงบรรยากาศของป่าโดยมีก้อนหินขนาดใหญ่เป็นตัวแบบหลัก
3 วิธีการถ่ายภาพทิวทัศน์ให้น่าประทับใจ
การจัดองค์ประกอบภาพ: ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเน้นความลึก
เซนเซอร์ขนาดฟูลเฟรมของกล้องจะเป็นประโยชน์เวลาถ่ายภาพทิวทัศน์ สำหรับตัวแบบในภาพถ่ายที่ 1 และ 2 ในหน้าถัดไป เสน่ห์ของเซนเซอร์ฟูลเฟรมจะฉายแววอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณมองเห็นได้จากความกว้างของภาพและความมีมิติ จึงขอแนะนำให้คุณจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเพิ่มสัมผัสที่ให้ความลึกและบรรยากาศล้อมรอบในระดับปานกลาง ถ้าคุณกำลังพยายามถ่ายภาพต้นไม้ยักษ์อย่างในภาพที่ 2 หรืออะไรอย่างอื่นที่มีความพิเศษในตัว การซูมเข้ามากเกินไปอาจทำให้ผู้ดูไม่สามารถเข้าถึงขนาดหรือลักษณะที่แท้จริงของตัวแบบก็เป็นได้ ในกรณีเช่นนี้คุณควรให้มีบรรยากาศแวดล้อมเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบด้วย
แสง: หลีกเลี่ยงการเกิดส่วนที่สว่างเกินไปโดยใช้แสงตอนเช้า/เย็น
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ อาจหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดส่วนที่สว่างเกินไปได้โดยใช้แสงแดดอันนุ่มนวลในตอนเช้าหรือตอนเย็น นอกจากนั้น แสงสีแดงในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงพระอาทิตย์ตกยังช่วยให้ตัวแบบดูขึ้นกล้องกว่าเดิมด้วย ในภาพที่ 3 ฉันลองจับภาพแสงแดดยามบ่ายที่ลอดผ่านร่มไม้ลงมาเหมือนกับลำแสงของสปอตไลท์ อย่างไรก็ตาม เมื่อแสงนั้นสว่างเกินไป ฉันจึงใช้คุณสมบัติการถ่ายภาพซ้อนเพื่อลดความเข้มลงจนเหมือนกับการทำเอฟเฟ็กต์ซอฟต์โฟกัส ถ้าไปถ่ายภาพในป่าทึบ ลองตั้งใจหาช่วงเวลาที่แสงส่องทะลุกิ่งไม้ใบไม้แบบแปลกๆ ดู ซึ่งจะทำให้เกิดภาพความเปรียบต่างสูงโดยมีความแตกต่างของปริมาณการรับแสงมาก
การตั้งค่า: ล็อคกระจกเพื่อเลี่ยงการสั่นไหว
ในการโฟกัส ให้ขยายตัวแบบขึ้น 10 เท่าโดยใช้ฟังก์ชั่น Live View แล้วปรับโฟกัสด้วย MF นอกจากนั้นให้ตั้งค่า [เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง] ไปที่ [ใช้งาน] ด้วย โดยมากแล้วขาตั้งกล้องจะถูกนำมาใช้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์แทบตลอดเวลา ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ค่า ISO สูงๆ เมื่อมีโอกาส โดยทั่วไปแล้วให้ตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพไปที่ [RAW+JPEG] สมดุลแสงขาวไปที่ [แสงแดด] และรูปแบบภาพไปที่ [ภาพวิว] สิ่งที่ควรทำเสมอคือการใช้รีโมทคอนโทรล การล็อคกระจกแม้แต่ตอนที่คุณใช้เลนส์ตัวอื่นที่ไม่ใช่เลนส์เทเลโฟโต้ และระมัดระวังให้มากในการป้องกันกล้องสั่นไหว ควรตั้งค่าโหมดการเปิดรับแสงไปที่ [ตั้งค่าเอง] แล้วปรับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ทุกครั้ง
คุณสมบัติแนะนำของกล้อง EOS 5D Mark III
วิธีการถ่ายภาพซ้อนไม่ใช่แค่ใช้ในการแสดงความนุ่มนวลของตัวแบบอย่างดอกไม้เท่านั้น มันยังมีประโยชน์เวลาถ่ายภาพฉากที่มีแสงสว่างแรงๆ อย่างในภาพที่ 3 อีกด้วย โดยปกติแล้วตัวเลือก [เติมแต่ง] จะใช้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ด้วยคุณสมบัติการถ่ายภาพซ้อน การตั้งค่ารูรับแสงและสมดุลแสงขาวจะปรับได้สำหรับภาพซ้อนแต่ละภาพตั้งแต่ 2-9 ภาพได้ทันที
เลนส์ที่แนะนำ
การใช้เลนส์มุมกว้างที่กว้างมากๆ จะช่วยดึงเสน่ห์ของเซนเซอร์ฟูลเฟรมออกมาได้ คุณสามารถใช้ประโยชน์จากมุมมองเปอร์สเป็คทีฟและความบิดเบี้ยวได้ด้วยการเข้าไปใกล้ตัวแบบเพื่อสร้างงานที่ให้ผลทางความรู้สึกที่ชัดเจน
EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Manual exposure (2.5 วินาที, f/16)/ ISO 400/ WB: แสงแดด/ ฟิลเตอร์ PL/ ขาตั้งกล้อง/ Yakushima, Kagoshima Prefecture
ฉันถ่ายภาพแนวตั้งของต้นไม้ที่บังเอิญไปเจอระหว่างทางบนภูเขา การตั้งค่าให้เปิดรับแสงโอเวอร์ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายถึงป่าที่สว่างเจิดจ้าและเต็มไปด้วยม่านหมอก แสงที่สว่างจ้ามีให้เห็นไม่บ่อยนักในเวลาที่ป่าปกคลุมไปด้วยหมอก ช่วยให้คุณสื่อถึงบรรยากาศของฉากนี้ได้
EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Manual exposure (1/15 วินาที, f/4.5)/ ISO 400/ WB: แสงแดด/ การถ่ายภาพซ้อน: [เติมแต่ง]/ ฟิลเตอร์ PL/ ขาตั้งกล้อง/ Yakushima, Kagoshima Prefecture
แสงจากธรรมชาติส่องลงมายังใบไม้แห้งซึ่งค้างอยู่บนหินที่ปกคลุมด้วยมอสส์ ฉันใช้การถ่ายภาพซ้อนเมื่อพิจารณาถึงแสงสว่างแล้ว โดยโฟกัสที่ใบไม้ในภาพซ้อนภาพแรก และสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่ในภาพที่สอง
เกิดเมื่อปี 1967 Yone เริ่มต้นการทำงานในฐานะช่างภาพอิสระตั้งแต่ปี 2004 นับตั้งแต่นั้นมาเธอก็ถ่ายภาพป่าไม้และความงดงามหลากสีสันของญี่ปุ่นโดยอิงแนวคิด “งานที่ถ่ายทอดอารมณ์และสร้างแรงบันดาลใจ” เธอเป็นสมาชิกของสมาคมช่างภาพอาชีพญี่ปุ่น (Japan Professional Photographers Society) และสมาคมถ่ายภาพญี่ปุ่น (Photographic Society of Japan)