พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง
สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาเมื่อถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลคือ ผลกระทบของรูรับแสงที่มีต่อภาพถ่ายของคุณ การเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงจะทำให้ภาพถ่ายที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ เราจะมาศึกษาถึงผลกระทบของค่ารูรับแสงต่างๆ ที่มีต่อระยะชัดโดยการเปรียบเทียบตัวอย่างและเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับ f-stop กัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
รูรับแสงทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์
สิ่งที่พึงจดจำ
- ค่ารูรับแสงมากขึ้น (กล่าวคือ ค่า f ต่ำลง) ขนาดของโบเก้จะใหญ่ขึ้น
- ค่ารูรับแสงต่ำลง (กล่าวคือ ค่า f มากขึ้น) พื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสจะกว้่างขึ้น (ระยะชัด)
- ปริมาณแสงที่เข้าสู่เซนเซอร์จะถูกควบคุมด้วยขนาดของรูรับแสงที่กว้างขึ้น/แคบลง
รูรับแสงช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ได้ โดยเมื่อรูรับแสงกว้างขึ้น ปริมาณแสงจะเข้าสู่เลนส์มากขึ้น และในทางกลับกัน เมื่อรูัรับแสงแคบลง ปริมาณแสงจะเข้าสู่เลนส์ได้น้อยลง ค่าตัวเลขของขนาดรูรับแสงที่แตกต่างกันเรียกว่า ค่า f ซึ่งค่า f มาตรฐาน ได้แก่ f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8… ฯลฯ การเพิ่มขนาดรูรับแสงให้กว้างขึ้นจะเป็นการลดค่า f ให้น้อยลง ขณะที่การลดขนาดรูรับแสงลงจะเป็นการเพิ่มค่า f ให้สูงขึ้น
เมื่อค่า f เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องจะเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ขนาดของพื้นที่ภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสยังเปลี่ยนไปด้วย และยิ่งค่า f ต่ำลงมากเท่าใด พื้นที่ภาพในระยะโฟกัสจะมีขนาดเล็กลงเช่นกัน ในทางกลับกัน หากค่า f มากขึ้น พื้นที่ภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งผลภาพที่ได้จะมีความคมชัดจนถึงส่วนแบ็คกราวด์
เมื่อค่า f มีค่าต่ำที่สุด คุณจะได้ "รูรับแสงกว้างสุด" ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องได้มากที่สุด อีกทั้งได้วงกลมโบเก้ที่ดูสะดุดตามากที่สุด ("ขนาดใหญ่ที่สุด") อีกด้วย
การปรับเปลี่ยนช่วงของพื้นที่ในระยะโฟกัสโดยการปรับค่ารูรับแสง
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/800 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: Manual
f/1.8
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: Manual
f/5.6
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/40 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: Manual
f/16
เมื่อรูรับแสงกว้่างขึ้น ค่า f จะลดลง พื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสของภาพจะลดลง และโบเก้จะดูสะดุดตายิ่งขึ้น (หรือ "มีขนาดใหญ่ขึ้น") ในทางกลับกัน หากรูรับแสงแคบลง ค่า f จะเพิ่มขึ้น และพื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มองเห็นโบเก้ได้ไม่ชัดเจน
แนวคิดที่ 1: ระยะชัดของภาพ
โบเก้จะดูโดดเด่นสะดุดตามากยิ่งขึ้นเมื่อมีระยะโฟกัสที่ใกล้ขึ้น ซึ่งช่วงของโฟกัส (ภาพอยู่ในระยะโฟกัสมากน้อยเท่าใด) นี้เรียกว่า "ระยะชัด" หากช่วงของโฟกัสน้อย เราเรียกว่า "ระยะชัดตื้น" ในทำนองเดียวกัน หากช่วงของโฟกัสกว้าง เราเรียกว่า "ระยะชัดลึก"
EOS 5D Mark III/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/80 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ระยะชัดตื้น f/1.8
EOS 5D Mark III/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/40 วินาที, EV+0.7)/ ISO 4000/ WB: อัตโนมัติ
ระยะชัดลึก f/16
A: ระยะชัดของภาพในส่วนโฟร์กราวด์
B: ระยะชัดของภาพในส่วนแบ็คกราวด์
C: ตำแหน่งโฟกัส
หากเราแสดงอัตราส่วนของระยะห่างระหว่างตำแหน่งโฟกัสถึงระยะชัดในส่วนโฟร์กราวด์ และระยะห่างจากตำแหน่งโฟกัสจนถึงระยะชัดในส่วนแบ็คกราวด์ ว่ากันว่าอัตราส่วนโฟกัสจะอยู่ที่ 1:2 โฟร์กราวด์:แบ็คกราวด์
แนวคิดที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและ f-stop
การตั้งค่าการเปิดรับแสงหรือที่โดยทั่วไปช่างภาพนิยมเรียกกันว่า "f-stop" จะช่วยให้คุณสามารถปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องได้ การตั้งค่าเหล่านี้้เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "EV" หรือค่าการเปิดรับแสงได้เช่นกัน การเพิ่มค่ารูรับแสงขึ้น 1 สต็อปจะลดปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องลงครึ่งหนึ่ง ในทางกลับกัน การลดค่ารูรับแสงลง 1 สต็อปจะเพิ่มปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องมากขึ้นสองเท่า สำหรับกล้อง DSLR ส่วนใหญ่ นอกจาก 1 สต็อปตามมาตรฐานแล้ว คุณยังสามารถตั้งค่าสต็อปที่ระยะ 1/2 และ 1/3 ได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณตั้งค่า 1/3 สต็อป ช่วงของสต็อปทั้งหมดระหว่าง f/2.8 ถึง f/4 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนั้น ช่วงของสต็อปจะกลายเป็น f/2.8→f/3.2→f/3.5→f/4 เมื่อเราใช้ช่วงที่ 1/3 สต็อปจะช่วยให้การปรับแต่งปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องทำได้ดียิ่งขึ้น
ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์: ค่ารูรับแสงกว้างสุดแตกต่างกันในแต่ละเลนส์
เลนส์ซูมมีแบบที่มีช่วงของค่า f อยู่ระหว่าง f/3.5-5.6 ซึ่งเลนส์เหล่านี้เรียกว่า "เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบปรับได้" โดยค่ารูรับแสงจะเปลี่ยนไปตามทางยาวโฟกัส ในกรณีที่เป็นเลนส์ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM รูรับแสง (ค่า f) ที่ระยะมุมกว้าง (24 มม.) จะมีค่า f/3.5 และรูรับแสงที่ฝั่งเทเลโฟโต้ (105 มม.) จะมีค่า f/5.6 ส่วนเลนส์ที่รูรับแสงไม่เปลี่ยนค่าแม้ว่าทางยาวโฟกัสจะเปลี่ยนไปเราเรียกว่า "เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบคงที่"
A: ค่ารูรับแสงกว้างสุด (ระยะมุมกว้าง)
B: ค่ารูรับแสงกว้างสุด (ระยะเทเลโฟโต้)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่า f แต่ละค่าและฉากต่างๆ ที่นิยมใช้กันทั่วไป โปรดดูบทความต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการใช้งานฟังก์ชัน Aperture-Priority:
#1: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงของเลนส์และโบเก้
#2: สร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ให้กับภาพถ่ายครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเป็นมิตร
#3: ความมหัศจรรย์ของ f/2.2 ในการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (Still-life)
#4: การถ่ายภาพใบหน้า (f/2.8)
#5: การตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่สมบูรณ์แบบนอกสถานที่ (f/4)
#6: การตั้งค่ารูรับแสงที่เป็นประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพสตรีท (f/5.6)
#7: การตั้งค่ารูรับแสงเพื่อถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัด (f/8)
#8: ค่ารูรับแสงที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติให้ดูคมชัดและมีระยะชัดลึก (f/11)
#9: ถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัดตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวน์จนถึงแบ็คกราวด์ (f/16)
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation