พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #17: การระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ (โหมด TV)
โหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ คือโหมดการถ่ายภาพที่มีประโยชน์เมื่อคุณต้องการ "หยุด" ตัวแบบที่เคลื่อนไหว หรือในทางกลับกัน หากคุณต้องการถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหวให้เป็นภาพเบลอ อ่านต่อเพื่อเรียนรู้วิธีการใช้งานได้ในบทความนี้! (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
โหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์: ให้คุณสามารถควบคุมการถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหว
สิ่งที่ควรจดจำ
- คุณกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์ และกล้องตั้งค่ารูรับแสง (ค่า f) ให้สอดคล้องกัน
- ช่วงความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถเลือกได้ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละรุ่น
โหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ คือโหมดการถ่ายที่ให้คุณสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่ถ่าย ตัวอย่างเช่น การเลือกความเร็วชัตเตอร์ตามต้องการช่วยให้สามารถ "หยุด" ตัวแบบที่เคลื่อนไหวได้อย่างง่ายดายด้วยความเร็วชัตเตอร์สูง หรือสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
เมื่อคุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการในโหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์แล้ว กล้องจะตั้งค่ารูรับแสงโดยอัตโนมัติเพื่อให้ได้ระดับการเปิดรับแสงที่ดีที่สุด ช่วงความเร็วชัตเตอร์ที่พร้อมใช้งานจะขึ้นอยู่กับกล้องที่ใช้
แล้วคุณมีวิธีเลือกความเร็วชัตเตอร์อย่างไร อันดับแรก ให้สังเกตการเคลื่อนไหวของตัวแบบอย่างใกล้ชิด จากนั้น ตัดสินใจว่าคุณต้องการให้ภาพของคุณ "หยุด" ตัวแบบที่เคลื่อนไหว หรือเน้นการเคลื่อนไหวของตัวแบบด้วยภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว (เป็นสิ่งที่ช่างภาพต้องตัดสินใจทุกครั้ง อ่านได้ในบทความที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพน้ำตก)
หากคุณวางแผนใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ นั่นหมายความว่าแสงปริมาณมากจะเข้าสู่เซนเซอร์ จึงเหมาะสำหรับถ่ายฉากที่สลัวอย่างเช่นภาพในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ความเร็วชัตเตอร์ต่ำยังเหมาะมากกับการเก็บภาพการเคลื่อนที่ของแสง คุณจึงสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อสร้างเส้นแสงจากยานพาหนะหรือเครื่องบินที่กำลังเคลื่อนที่ได้
วงแหวนเลือกโหมดในกล้องของคุณ
หากต้องการใช้โหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ ให้หมุนวงแหวนเลือกโหมดในกล้องไปที่ [Tv]
หน้าจอ Quick Control
A: ความเร็วชัตเตอร์
B: การตั้งค่ารูรับแสง (ค่า f)
ช่างภาพตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ กล้องตั้งค่ารูรับแสง
หลังจากที่คุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์แล้ว กล้องจะตั้งค่ารูรับแสงที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ หากคุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูง คุณจะสามารถ "หยุด" ตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวได้ หากคุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คุณจะสามารถสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบในภาพถ่ายของคุณได้
หากระดับแสงที่ได้ไม่เป็นไปตามต้องการเท่าใดนัก...
ในโหมดระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ เมื่อคุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ ช่วงของค่า f ที่กล้องสามารถตั้งค่าได้จะขึ้นอยู่กับเลนส์ที่คุณใช้ หากคุณเห็นว่าระดับแสงที่ได้ในภาพถ่ายไม่ค่อยเหมาะสม คุณสามารถลองปรับความไวแสง ISO เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
- หากภาพมืดเกินไป เพิ่มความไวแสง ISO
- หากภาพสว่างเกินไป: ลดความไวแสง ISO
ตัวอย่างการใช้งาน 1: เพื่อ "หยุด" และบันทึกภาพช่วงวินาทีสำคัญ
EOS 6D / EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 169 มม./ Shutter-priority AE (f/4, 1/2000 วินาที, EV+0.3)/ ISO 125/ WB: แสงแดด
เพื่อหยุดและบันทึกภาพวัตถุที่เคลื่อนไหว เช่น น้ำที่สาดกระเซ็นจากน้ำพุในจังหวะที่เหมาะสมนี้ คุณจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง โดยอาจลองใช้ค่าอย่างน้อย 1/500 วินาที
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพดังกล่าวได้ที่:
คู่มือตามขั้นตอนสำหรับการถ่ายภาพคลื่นที่สาดกระเซ็นด้วยการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูง
ตัวอย่างการใช้งาน 2: เพื่อสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่ให้ความรู้สึกถึงความเร็ว
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 95 มม./ Shutter-priority AE (f/9, 1/8 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
การสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวจะสื่อถึงความเร็วในภาพถ่าย ในภาพนี้ ผมใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ 1/8 วินาที เพื่อบันทึกภาพสายน้ำไหลเอื่อย ยิ่งภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวชัดเจนมากเท่าใด ความรู้สึกถึงความเร็วและความน่าตื่นเต้นจะสูงขึ้นเท่านั้น
หากต้องการทราบเคล็ดลับและไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ โปรดดูที่:
การตั้งค่ากล้องเพื่อใช้ถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ยอดเยี่ยม
ตัวอย่างการใช้งาน 3: เพื่อบันทึกภาพที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Shutter-priority AE (f/22, 30 วินาที, EV-2.0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เพื่อให้ได้ภาพนี้ ผมถ่ายชิงช้าสวรรค์ที่กำลังหมุนโดยใช้การเปิดรับแสงนาน 30 วินาที การใช้การเปิดรับแสงนานนี้ช่วยให้คุณบันทึกภาพแสงที่กำลังเคลื่อนที่ให้เป็นเส้นแสงที่ยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภาพถ่ายที่แสดงถึงโลกใหม่ที่เหนือจริง ซึ่งไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
ต่อไปนี้คือเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเส้นแสง:
เทคนิคการใช้เส้นแสงมาตรฐาน
เคล็ดลับพิเศษ: ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อป้องกันการสั่นไหวของกล้อง
สำหรับตัวอย่างการใช้งาน 2 และ 3 ด้านบน สิ่งสำคัญคือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเบลอตัวแบบที่เคลื่อนไหวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ความเร็วชัตเตอร์ต่ำทำให้ภาพเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากล้องสั่นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ (ดู "แนวคิดที่ 1" ใน พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #2: ความเร็วชัตเตอร์) ดังนั้น เพื่อไม่ให้ภาพถ่ายเสีย ควรใช้ขาตั้งกล้องถ้าเป็นไปได้
ต้องการเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์หรือไม่ โปรดดูที่บทความเหล่านี้:
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: 3 เคล็ดลับอันยอดเยี่ยมในการถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยแสง
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง
ทำอย่างไรให้ภาพถ่ายกีฬาดูมีพลังมากขึ้น
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชั่นของกล้องและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง โปรดดูที่:
จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง