การถ่ายภาพน้ำตก: ควรหยุดการเคลื่อนไหวหรือเบลอภาพดีกว่ากัน
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพน้ำตก การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์คือสิ่งสำคัญที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งมีผลต่อภาพถ่ายที่คุณได้รับ แน่นอนว่ามีช่างภาพจำนวนมากรู้สึกไม่แน่ใจว่าควรถ่ายภาพเบลอของสายน้ำไหล หรือบันทึกภาพสายน้ำไหลที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเมื่อคุณพิจารณาถึงรูปแบบของน้ำตกและทิศทางของแสงแล้วจะพบว่าการสื่ออารมณ์ภาพในเชิงศิลป์มีหลากหลายวิธีจนแทบนับไม่ถ้วน ในบทความนี้ เราจะมาดูเทคนิคที่เกี่ยวข้องซึ่งสองช่างภาพใช้ในการถ่ายภาพสายน้ำของน้ำตกที่งดงามจับตากัน (เรื่องโดย: Komei Motohashi, Fumio Tomita)
การหยุดสายน้ำไหล: ใช้แสงย้อนครึ่งหนึ่งเพื่อดึงเอาความแรงของน้ำตกชั่วขณะหนึ่งออกมา
1/1,250 วินาที
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/1,250 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1250/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Komei Motohashi
Komei Motohashi กล่าวว่า:
“น้ำตกจะไม่ไหลในอัตราคงที่ แต่ไหลเป็นจังหวะที่แตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับความสูง ปริมาณ แรงดัน และรูปแบบ (แนวตั้ง แนวนอน เป็นชั้นๆ) ของน้ำตก และไหลในอัตราที่เร็วหรือช้าซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในภาพนี้ ผมใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงถึง 1/1,250 วินาที เพื่อบันทึกภาพน้ำตกได้อย่างชัดเจนในชั่วขณะหนึ่ง ภาพนี้ถ่ายจากส่วนล่างของน้ำตกนาชิในจังหวัดวะกะยะมะ ซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น ลำแสงที่ทำให้เกิดแสงย้อนครึ่งหนึ่งช่วยให้น้ำตกที่สาดกระเซ็นดูโดดเด่นน่าประทับใจ อีกทั้งยังสื่อถึงพลังและความแรงของน้ำตก เมื่อเราใช้แสงที่ส่องจากด้านหน้า ภาพจะไม่มีแสงเงาและความมีมิติ ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่สามารถถ่ายทอดความแรงของน้ำตกได้อย่างเพียงพอ”
เคล็ดลับ: ภาพน้ำตกที่ถ่ายโดยใช้แสงย้อนครึ่งหนึ่งและภาพน้ำตกที่ใช้แสงที่ส่องจากด้านหน้ามีความน่าสนใจแตกต่างกัน
แสงที่ส่องจากด้านหน้า
EOS 5D/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 30 มม./ Aperture-priority AE (f/13, 1/20 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Komei Motohashi
เมื่อถ่ายภาพน้ำตก การใช้แสงย้อนครึ่งหนึ่งจะทำให้ตัวแบบของคุณดูโดดเด่นน่าประทับใจ คุณจึงสามารถถ่ายทอดความรู้สึกแบบสามมิติได้ ในทางกลับกัน คุณอาจถ่ายภาพโดยใช้แสงที่ส่องจากด้านหน้าได้หากมีรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้นที่น้ำตก นั่นเป็นเพราะหากไม่มีดวงอาทิตย์ (หรือดวงจันทร์) อยู่ด้านหลังของช่างภาพ รุ้งกินน้ำอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนนักแม้ว่าจะมีอยู่ก็ตาม
การเบลอสายน้ำไหล: ถ่ายภาพระยะใกล้โดยใช้ช่วงเทเลโฟโต้เพื่อเน้นถึงพลังและความมีชีวิตชีวาของน้ำตก
1/30 วินาที
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/30 วินาที, EV±0)/ ISO 4000/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Fumio Tomita
Fumio Tomita กล่าวว่า:
“เมื่อถ่ายภาพน้ำตก ปริมาณน้ำและความเร็วของน้ำตกที่ไหลลงมาจะแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงหรือต่ำ การใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อดึงให้คุณอยู่ใกล้กับน้ำตกมากขึ้นจะทำให้สามารถเปลี่ยนองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้น
เมื่อใช้มุมรับภาพที่กว้าง ส่วนของเฟรมภาพที่ปกคลุมด้วยน้ำตกจะมีขนาดเล็กลง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำไหลได้ยากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเปรียบต่างที่เด่นชัด ช่างภาพมากมายจะเลือกถ่ายภาพน้ำตกในวันที่เมฆครึ้มหรือวันที่มีฝนตก แต่คุณอาจได้ภาพถ่ายที่น่าสนใจในวันที่มีอากาศแจ่มใสขณะที่แสงแดดสาดส่องผ่านน้ำตกได้เช่นกัน โดยการถ่ายภาพน้ำตกที่กระเด็นจากก้อนหินในระยะใกล้ขณะที่แสงแดดส่องกระทบ”
เคล็ดลับ: หากแบ็คกราวด์สว่าง ส่วนที่เป็นสีขาวของน้ำตกอาจถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสีขาวในภาพ
EOS 5D Mark II/ EF17-35mm f/2.8L USM/ FL: 17 มม./ Manual exposure (f/18, 6 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Fumio Tomita
เมื่อถ่ายภาพน้ำตกด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หากแบ็คกราวด์สว่าง สีขาวนุ่มนวลของน้ำตกอาจไม่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ในภาพ ดังนั้น วิธีที่ดีคือควรเลือกแบ็คกราวด์ที่ดูมืดหากสามารถทำได้ นอกจากนี้ อาจเกิดส่วนที่สว่างเกินไปหากคุณเปิดรับแสงมากเกินไปเป็นเวลานานๆ ดังนั้น คุณควรตรวจสอบคำเตือนภาพสว่างบนจอหลังจากถ่ายภาพ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่กรุงโตเกียว หลังจบการศึกษาจาก Tokyo College of Photography เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพภูเขา ก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ เขาเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่น
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่โยโกฮาม่า จังหวัดคานากาวะเมื่อปี 1945 Motohashi ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีห้องมืดที่ Tokyo College of Photography เขากำลังจัดทำคอลเลกชันภาพถ่ายที่มีชื่อธีมว่า "Breath of Nature" (ลมหายใจแห่งธรรมชาติ) ซึ่งเป็นผลงานที่รวบรวมลักษณะเด่นทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่ไม่เหมือนใครของประเทศญี่ปุ่น ผ่านมุมมองทางธรรมชาติที่เขาได้พบในเทือกเขาต่างๆ