การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ช่างภาพมากมายมักพบว่าตนเองรู้สึกสับสนกับข้อสงสัยที่ว่าควรใส่หรือไม่ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในภาพถ่ายดี อีกทั้งประเด็นนี้ยังเป็นการตัดสินใจอีกอย่างหนึ่งที่จะส่งผลต่อสไตล์เฉพาะตัวของช่างภาพอีกด้วย เราลองมาดูกันว่าช่างภาพสองคนจะมีวิธีใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไร (เรื่องโดย Yoshio Shinkai, Minefuyu Yamashita)
ใส่ดวงอาทิตย์: หากทำได้อย่างดีเยี่ยม ท้องฟ้าจะส่องประกายแวววับ
EOS 5DS R/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Aperture-priority AE (f/22, 1/500 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Yoshio Shinkai
Yoshio Shinkai กล่าวว่า
"หลายๆ คนที่อยากถ่ายภาพทิวทัศน์เพื่อเน้นความโดดเด่นของท้องฟ้าที่สวยสดใสมักล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด เพราะการถ่ายภาพในลักษณะนี้จะต้องใช้การถ่ายภาพในสภาวะย้อนแสง แต่อย่าลืมว่าการใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในภาพถ่ายจะทำให้ท้องฟ้าเป็นประกายเจิดจ้ามากขึ้น ซึ่งทำให้ได้ภาพดูมีพลังและน่าสนใจมากขึ้น
เมื่อคุณต้องการใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพ สิ่งที่พึงระวังคือแสงแฟลร์ และการป้องกันตนเองไม่ให้มองดูดวงทิตย์โดยตรงผ่านช่องมองภาพ คุณอาจคิดทบทวนดูว่าจะสลับไปใช้โหมด Live View ดี หรือหาวิธีอื่นๆ เพื่อป้องกันดวงตาของคุณ"
เคล็ดลับ: หากต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ดูนุ่มนวล ให้ตัวแบบอยู่นอกโฟกัสด้วยการเปิดรูรับแสงกว้างสุด
EOS 5DS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 21 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/6000 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: Manual
ภาพโดย Yoshio Shinkai
หากต้องการให้ดวงอาทิตย์ดูสว่างและเจิดจ้ามากยิ่งขึ้น ให้ใช้รูรับแสงที่แคบลง แล้วสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสง ดังเช่นที่ผมทำในตัวอย่างแรกซึ่งถ่ายที่ค่า f/22
หากต้องการให้ดวงอาทิตย์ในภาพดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น ให้เปิดรูรับแสงจนถึงระดับที่ใกล้เคียงกับค่ารูรับแสงกว้างสุด ซึ่งวิธีนี้ผมได้นำมาใช้ในตัวอย่างที่สอง ซึ่งถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 เพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่นุ่มนวลของแสงแดดอันเจิดจ้าในฤดูใบไม้ร่วง
ไม่ใส่ดวงอาทิตย์: หากทำได้อย่างเหมาะสมจะช่วยขับเน้นสีสันของภาพทิวทัศน์
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 17 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 1/125 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Minefuyu Yamashita
Minefuyu Yamashita กล่าวว่า
"เมื่อผมถ่ายภาพทิวทัศน์ ผมมักใช้แสงทางตรงหรือแสงด้านข้างบ่อยขึ้น เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยแสดงสีสันให้ดูสดใสยิ่งขึ้น แต่ผมจะไม่ค่อยใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในภาพถ่ายของผม
เมื่อผมต้องการถ่ายภาพในสภาวะย้อนแสงและไม่ใส่ดวงทิตย์ไว้ในภาพ ผมมักจะซ่อนดวงอาทิตย์ไว้หลังกิ่งก้านของต้นไม้หรือวัตถุอื่นๆ และเผยให้เห็นแสงแดดในระดับที่เหมาะสมเพื่อสร้างจุดเด่นในภาพ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณมีแสงแดดที่เพียงพอสำหรับเติมแต่งรายละเอียด และสื่อถึงสีสันในภาพทิวทัศน์ได้อย่างดี
การที่คุณจะตัดสินใจว่าควรให้ดวงอาทิตย์แสดงอยู่ในภาพมากน้อยแค่ไหน และวิธีที่คุณซ่อน/แสดงดวงอาทิตย์จะส่งผลต่อภาพถ่ายโดยรวมอย่างไรบ้างนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปรับแต่งภาพถ่ายของคุณ"
เคล็ดลับ: การถ่ายภาพด้วยระดับแสงที่เหมาะสมโดยใช้การตั้งค่าของกล้องเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่ทิวทัศน์
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 18 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 1/320 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Minefuyu Yamashita
เมื่อผมใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในภาพถ่าย (ดังเช่นในภาพด้านบน) ผมค่อนข้างระมัดระวังไม่ให้เกิดส่วนที่สว่างจ้าจนเกินไป ผมจึงเปิดรับแสงให้น้อยลงเล็กน้อย แต่การซ่อนดวงอาทิตย์ไว้หลังใบไม้ (ดังเช่นในภาพก่อนหน้านี้) ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันในภาพถ่ายได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องปรับระดับแสงที่กล้องตั้งค่าไว้แต่อย่างใด
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Shinkai เกิดในจังหวัดนากาโน่ เมื่อปี 1953 เขาเริ่มต้นเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับกล้องขนาดใหญ่เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ในปี 1979 ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพให้กับสื่อหลากหลายประเภท ตั้งแต่โปสเตอร์และปฏิทินไปจนถึงแผ่นพับด้านการท่องเที่ยวและนิตยสารถ่ายภาพ
เกิดที่จังหวัดไอชิในปี 1979 หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ เช่น การออกแบบภายในและกราฟิกดีไซน์แล้ว Yamashita ได้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2011 ผลงานของเขาได้ถูกนำไปพิมพ์ในปฏิทินมากมาย